First revision: Aug.16, 2015
Last change: Dec.22, 2019
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 2
คณะราชทูตไทยนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (เมื่อครั้งเป็น "ออกพระวิสุทธสุนทร " ราชทูต) เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2229 (ค.ศ.1686) ต้นฉบับของภาพ "Nicolas III de Larmessin" - Siamese Embassy To Louis XIV, in 1686.
เท่าที่ผ่านมาตามประวัติศาสตร์ คนไทยที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เคยขาดแคลนอาหาร ธรรมชาติเรือกสวนไร่นา มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวนาปลูกข้าวเพื่อบริโภคและจัดแบ่งเป็นภาษี ผลผลิตส่วนที่เหลือก็นำมาใช้สนับสนุนค้ำจุนพระศาสนา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 13 ถึง 15 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในการปลูกข้าวของชาวสยาม บนที่สูงซึ่งมีปริมาณฝนไม่เพียงพอ ต้องได้รับน้ำเพิ่มจากระบบชลประทานที่ควบคุมระดับน้ำในที่นาน้ำท่วม ชาวนาหว่านเมล็ดข้าวเหนียวซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักในภาคเหนือและภาคอิสานปัจจุบัน แต่ในที่ราบน้ำท่วมถึง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวนาหันมาปลูกข้าวหลายชนิด ที่เรียกว่า ข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวนาเมือง (Floating rice) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาวเรียว ไม่เหนียวที่รับมาจากเบงกอล จะเติบโตอย่างรวดเร็วทันพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในที่ลุ่ม.
ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้เติบโตได้ง่าย ผลผลิต (Yield) สูง ทำให้ผลผลิตส่วนเกินนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ในราคาถูก ดังนั้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของที่ราบน้ำท่วมถึง จึงกลายเป็นศูนย์กลางธุรกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับของ "เจ้าศักดินา " ได้มีการเกณฑ์แรงงานขุดลอกคลองให้สะดวกต่อการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะข้าวโดยผ่านเรือหลวงและพ่อค้าวานิชส่งออกไปยังจีน.
พัฒนาการดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงและความประจวบเหมาะทางธรรมชาติ ทำให้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา หาดโคลนระหว่างทะเลและดินแน่นซึ่งไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ถูกถมและเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก ตามประเพณี กษัตริย์ หรือเจ้าศักดินา ผสมผสานกับเหล่าเจ้าลัทธิพราหมณ์ มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อประสาทพรในการปลูกข้าว.
แม้ข้าวจะอุดมสมบูรณ์ในกรุงศรีอยุธยา แต่การส่งออกข้าวก็ถูกห้ามเป็นบางครั้งเมื่อเกิดทุพภิกขภัย เพราะภัยพิบัติธรรมชาติหรือสงคราม โดยปกติข้าว จะนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟื่อยและอาวุธยุทธภัณฑ์จากชาวตะวันตก แต่การปลูกข้าวนั้นมีเพื่อการบริโภคภายในอาณาจักรเป็นหลัก และการส่งออกข้าวนั้น นโยบายของอาณาจักรก็ไม่มีความชัดเจนนัก การค้ากับชาวยุโรปมีความคึกคักในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งโดยแท้จริงแล้วพ่อค้ายุโรปต้องการขายสินค้าอาวุธสมัยใหม่ เช่น ปืนไรเฟิลและปืนใหญ่ เป็นหลัก. โดยนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากป่าในแผ่นดิน เช่น ไม้สะพาน หนังกวางและข้าว โทเม ปิเรส นักเดินเรือชาวโปรตุเกส กล่าวถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า กรุงศรีอยุธยา นั้น "อุดมไปด้วยสินค้าดี ๆ " พ่อค้าต่างชาติส่วนมากที่มายังกรุงศรีอยุธยา เป็นชาวยุโรปและชาวจีน และถูกทางการเก็บภาษี อาณาจักรกรุงศรีฯ มีข้าว เกลือ ปลาแห้ง เหล้าโรง (arrack) และพืชผักอยู่ดาษดื่น.
การค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นชาวฮอลันด้า เป็นหลัก ถึงระดับสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กรุงศรีอยุธยา กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลัก สำหรับพ่อค้าจากจีนและญี่ปุ่น ชัดเจนว่า ชาวต่างชาติ เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการเมืองของอาณาจักรกรุงศรีฯ กษัตริย์กรุงศรีฯ ได้วางกำลังทหารรับจ้างต่างด้าว ซึ่งบางครั้งก็เข้าร่วมรบกับอริราชศัตรูในศึกสงคราม อย่างไรก็ดี หลังจากการกวาดล้างชาวฝรั่งเศส ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ค้าหลักของกรุงศรีอยุธยา เป็นชาวจีน ฮอลันดา จากบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ ก็มีธุรกรรมการค้าอยู่เนื่อง ๆ ระบบเศรษฐกิจของอาณาจักรกรุงศรีฯ เริ่มถดถอยลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือปลาย ๆ สมัยพระเจ้าเอกทัศ.
มาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา
เบื้ย เป็น หน่วยเงินตรา เงินปลีกที่มีค่าน้อยที่สุดในระบบเงินตรา เป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหอยเบี้ยที่มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นำมาใช้เป็นเงินตราเป็นหอยเบี้ยชนิด จั่น และ เบี้ยนาง มีมากบริเวณหมู่เกาะปะการังมัลดีฟ ทางตอนใต้ของเกาะศรีลังกา พ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นผู้นำมาขายในอัตรา 600 ถึง 1,000 เบี้ยต่อเงินเฟื้องหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณเบี้ยที่มีอยู่.
เมื้่อ เบี้ย เป็นหน่วยเงินตราที่มีค่าต่ำสุด เบี้ยจึงเป็นเงินตราในระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนสามารถมี และเป็นเจ้าจองได้ คำว่า "เบี้ย" จึงปรากฎเป็นสำนวนในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก และต่างมีความหมายว่าเป็นเงินตราทั้งสิ้น เมื่อเบี้ยเป็นเงินสามัญที่ทุกคนรู้จักและมีได้ กฎหมายจึงกำหนดการ ปรับปรับจากผู้ที่ทำผิด เบี้ยจึงเป็นชนิดของเงินตราที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองที่พึ่งเงินตราชนิดราคาสูง ๆ น้อยมาก แต่เบี้ยที่เป็นเปลือกหอย เป็นสิ่งที่ไม่ทนทาน มักแตกหักกะเทาะเสียหายได้ง่าย ความต้องการหอยเบี้ยจึงมีอยู่เสมอ ดังนั้นในบางครั้งที่ไม่มีพ่อค้านำหอยเบี้ยเข้ามาขาย จนเกิดขาดแคลนเบี้ยขึ้น ทางการจึงต้องจัดทำเงินตราชั่วคราวขึ้นใช้แทน โดยทำด้วยดินเผามีขนาดเล็ก ตีตรารูปกินรี ราชสีห์ ไก่ และกระต่ายขึ้น ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.2276-2301) เรียกว่า "ประกับ ".
พดด้วง เป็นเงินตราที่มีค่าสูง ทำจากโลหะเงิน ซึ่งได้มาจากการค้าต่างประเทศ บางตามมาตรน้ำหนักของไทย ที่มีมูลค่าเหมาะสมแก่มาตรฐานการครองชีพในแต่ละรัชกาล ได้แก่ ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และไพ สำหรับชนิดหนักตำลึงนั้น เนื่องจากมีมูลค่าสูงเกินไป ส่วนชนิดราคากึ่งบาทนั้น มีมูลค่าไม่เหมาะสมแก่การครองชีพ ไม่สะดวกกับการใช้ จึงผลิตขึ้นน้อยมาก และมีเฉพาะในสมัยอยุธยา ตอนต้นเท่านั้น.
การผลิตเงินพดด้วง เป็นการดำเนินของทางราชการของอาณาจักรฯ ทั้งหมด นับตั้งแต่ชั่งน้ำหนักเศษเงิน ตัดแบ่ง นำไปหลอม เป็นรูปทรงกลมยาวเหมือนลูกสมอจีน แล้วจึงทุบปลายทั้งสองข้างเข้าหากัน ใช้สิ่วบาก ที่ขาทั้งสองข้าง เพื่อให้เห็นเนื้อภายใน ซึ่งต่อมารอยบากนี้ค่อย ๆ เล็กลงจนหายไป แต่เกิดรอยที่เรียกว่า รอยเม็ดข้าวสารขึ้นมาแทน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้น โดยยอมรับเงินพดด้วงว่าเป็น 'เงินตรา" ในหมู่ประชาชน ทั้งเป็นการแสดงถึงความถูกต้องของน้ำหนักและอำนาจหน้าที่ในการผลิตเงินตรา จึงมีการประทับตราของทางการลงบนพดด้วงทุกเม็ดมาตั้งแต่เริ่มแรก.
พดด้วงชนิดหนักหนึ่งบาทในสมัยอยุธยานั้น ประทับตราสองดวง ด้านบนเป็นตราจักรสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ใช้แทนองค์พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นสมมติเทพของพระนารายณ์ ส่วนด้านหน้าประทับตรารัชกาลที่ผลิตเงินพดด้วงขึ้น เท่าที่พบนั้นปรากฎว่ามีตราทั้งสอง ประมาณ 20 แบบ น้อยกว่ากษัตริย์ที่ครองกรุงศรีฯ ซึ่งมีถึง 33 พระองค์มาก เนื่องจากหลายรัชกาลที่ครองราชสมบัติในระยะสั้น ๆ หรือมีพระชันษาน้อย ยังไม่ทันดำริให้ผลิตเงินตรา ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีเพียงตราพุ่มข้าวบิณฑ์เพียงตราเดียวที่ทราบจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loube're) ผู้เข้ามากับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ว่า เป็นตราในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231).
Simon De La Loube're, (21 เมษายน พ.ศ.2185 - 26 มีนาคม พ.ศ.2272)
พดด้วงชนิดอื่น ๆ นิยมตีตราเพียงตราเดียว ได้แก่ ตราสังข์ ช้าง สังข์กระหนก ที่ออกแบบให้ต่างกัน ออกไปในแต่ละรัชกาล นอกจากนี้ยังมีการผลิตพดด้วงทองคำขึ้นใช้บ้าง ในรัชกาลที่มีการค้าเฟื่องฟูมาก แต่ก็เป็นพดด้วงขนาดเฟื้องเท่านั้น และโดยเหตุที่การค้าต่างประเทศผูกผันกับปริมาณเงินพดด้วง โดยตรงอย่างใกล้ชิด เมื่อการค้ารุ่งเรืองมีเงินแท่งเข้ามามาก ทางการก็ผลิตเงินพดด้วงจำนวนมากขึ้นด้วย เพื่อใช้ซื้อสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ ปริมาณเงินพดด้วงที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจึงมีมาก ในทางกลับกัน เมื่อการค้าต่างประเทศซบเซาลง ปริมาณเงินพดด้วงในระบบเศรษฐกิจก็ลดตามไปด้วย ด้วยความเกี่ยวพันกันนี้เอง ปริมาณเงินพดด้วงที่มีตราประจำรัชกาลเดียวกันจะมีจำนวนมากหรือน้อย นอกจากจะบอกให้ทราบถึงความสั้นหรือยาวนานในการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจในแต่ละยุคแต่ละรัชกาล ได้เป็นอย่างดี.
นอกจากนี้การที่ในสมัยอยุธยา มีพดด้วงขนาดตั้งแต่น้ำหนักสลึงลงไปเป็นจำนวนมากที่สุด ในขณะที่พดด้วงขนาดกึ่งบาทและขนาดตำลึงมีการผลิตขึ้นใช้เฉพาะสมัยอยุธยาตอนต้น เท่านั้น และหลังจากนั้นแล้ว ไม่มีการผลิตขึ้นอีก ก็ย่อมแสดงให้เราทราบถึงระดับค่าครองชีพ ตลอดจนฐานะของผู้คนที่อยู่ในระบบไพร่ ตลอดสมัยอยุธยา ได้เป็นอย่างดี.
ระบบมาตราเงินที่สำคัญในสมัยอยุธยา
1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตำลึง
1 ตำลึง เท่ากับ 4 บาท
1 บาท เท่ากับ 4 สลึง
2 สลึง เท่ากับ 1 เฟื้อง
1 เฟื้อง เท่ากับ 4 ไพ
1 ไพ เท่ากับ 100 เบี้ย
2 กล่ำ เท่ากับ 1 ไพ
พัฒนาการทางสังคมและการเมือง
นับตั้งแต่การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ได้อยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งลำดับชั้นทางสังคมชั้นสูง ซึ่งแผ่ไปทั่วอาณาจักรกรุงศรีฯ ด้วยขาดหลักฐานจึงเชื่อกันว่า หน่วยพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในอาณาจักรกรุงศรีฯ คือ ชุมชนหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยครัวเรือนครอบครัวขยาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่กับผู้นำ ที่ถือไว้ในนามของชุมชน แม้ชาวนาเจ้าของทรัพย์สินจะพอใจการใช้ที่ดินเฉพาะที่ใช้เพาะปลูกเท่านั้น ผู้นำ ก็ค่อย ๆ กลายเป็น ขุนนาง ๆ ก็ค่อย ๆ กลายเป็นข้าราชสำนัก (หรืออำมาตย์ ) และผู้ปกครองบรรณาการ (Tributary ruler) ในเมืองที่สำคัญรองลงมา. ท้ายที่สุด กษัตริย์ก็รับเอาวัฒนธรรมฮินดู มาปรับใช้กับวิถีชีวิตและการปกครอง โดยยอมรับว่าตนเป็นพระศิวะ (Siva) หรือไม่ก็พระนารายณ์ (พระวิษณุ) ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ และกลายมาเป็นสิ่งมงคลแก่พิธีปฏิบัติในทางการเมือง-ศาสนา ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก ในบริบทของพระพุทธศาสนาแนวมหายาน เทวราชาเป็นพระโพธิสัตว์ ความเชื่อในเทวราชย์ (Divine Kingship) คงอยู่ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 แม้ถึงขณะนั้น นัยทางศาสนาของฮินดูนั้น จะมีผลกระทบที่จำกัดก็ตาม.
พระบรมรูปสมเด็ตพระบรมไตรโลกนาถ (สมภพ พ.ศ.1974, ครองราชย์ พ.ศ.1991, สวรรคต พ.ศ.2031),
ณ หน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า
เมื่อ อาณาจักรกรุงศรีฯ มีที่ดินสำรองเพียงพอสำหรับการกสิกรรม อาณาจักรกรุงศรีฯ จึงอาศัยการได้มาและการควบคุมกำลังคนอย่างเพียงพอ เพื่อใช้เป็นผู้ใช้แรงงานในไร่นาและการป้องกันประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของ อาณาจักรกรุงศรีฯ นั้น นำมาซึ่งก ารทำสงครามอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากไม่มีแว่นแคว้นใดในภูมิภาคมีความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี ผลแห่งการรบ จึงมักตัดสินด้วยขนาดของกองทัพ หลังจากที่กองทัพ อาณาจักรกรุงศรีฯ ได้ชัยชนะในแต่ละครั้ง อาณาจักรกรุงศรีฯ ได้กวาดต้อนผู้คนที่ถูกพิชิต กลับมายัง อาณาจักรกรุงศรีฯ ส่วนหนึ่ง ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกกลืนและเพิ่มเข้าไปในกำลังแรงงาน. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( ครองราชย์ พ.ศ.2034-2072 ) ได้สถาปนา ระบบกอร์เว (Corve'e )2 แบบไทยขึ้น ซึ่งเสรีชน (คนไทยที่ทำมาหากินการค้า เกษตรกรรมทั่วไป) จะต้องขึ้นทะเบียนเป็น ข้า (หรือ ไพร่ ) กับเจ้านายท้องถิ่น เป็นการใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ในยามเกิดศึกสงคราม เหนือกว่าไพร่คือ นาย ผู้รับผิดชอบต่อราชการทหาร แรงงานกอร์เวในการโยธาสาธารณะ และบนที่ดินของข้าราชการที่ไพร่สังกัด ไพร่ส่วย จ่ายภาษีแทนการใช้แรงงาน หากไพร่ ชิงชังต่อการใช้แรงงานแบบบังคับภายใต้นาย ไพร่ก็สามารถขายตัว เป็นทาสแก่นายหรือเจ้าที่น่าดึงดูดกว่า ผู้ที่จะจ่ายค่าตอบแทนแก่การสูญเสียแรงงานกอร์เว จนถึงคริสตศตวรรษที่ 19 กำลังคนกว่าหนึ่งในสามเป็นไพร่.
ระบบไพร่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตังแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่ ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพราะหากเจ้านายหรือขุนนางเบียดบังไพร่ไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ ตลอดจนส่งผลให้กำลังในการป้องกันอาณาจักรอ่อนแอ ไม่เป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ระบบไพร่ยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตและความมั่นคงของอาณาจักร.
ความมั่งคั่ง สถานภาพ และอิทธิพลทางการเมืองสัมพันธ์ร่วมกัน พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งสรรไร่นาให้แก่ข้าราชสำนัก อำมาตย์ เจ้าเมืองชั้นในชั้นนอกต่าง ๆ นายทหาร ขุนศึกต่าง ๆ เป็นการตอบแทนความดีความชอบที่มีต่อพระองค์ ตามระบอบศักดินา ขนาดของการแบ่งสรรแก่ข้าราชบริพาร อำมาตย์แต่ละคนนั้นตัดสินจากจำนวนไพร่หรือสามัญชนที่เขาสามารถบัญชาให้ทำงานได้ จำนวนกำลังคนที่ผู้นำหรืออำมาตย์สามารถบัญชาได้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพของอำมาตย์แต่ละคน ลำดับขั้นต่าง ๆ และความมั่งคั่งของอำมาตย์ ที่ยอดของลำดับขั้น กษัตริย์เป็นเสมือนผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักร โดยหลักการแล้วกษัตริย์บัญชาปกครองไพร่จำนวนมากที่สุด เรียกว่า ไพร่หลวง มีหน้าที่จ่ายภาษี รับราชการในกองทัพ และทำงานบนที่ดินของกษัตริย์.
อย่างไรก็ดี การเกณฑ์กองทัพขึ้นอยู่กับมูลนาย ที่บังคับบัญชาไพร่สมของตนเอง มูลนายเหล่านี้จำต้องส่งไพร่สมให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกษัตริย์ในยามศึกสงคราม ฉะนั้นมูลนายจึงเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองของอยุธยา มีมูลนายอย่างน้อยสองคนก่อรัฐประหารยึดราชบัลลังก์มาเป็นของตน ขณะที่การสู้รบนองเลือดระหว่างกษัตริย์กับมูลนายหลังจากการกวาดล้างข้าราชสำนัก พบเห็นได้บ่อยครั้ง.
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงกำหนดการแบ่งสรรที่ดินและไพร่ที่แน่นอนให้แก่ข้าราชการในแต่ละขั้น ลำดับชั้นการบังคับบัญชา ซึ่งกำหนดโครงสร้างสังคมของประเทศ กระทั่งมีการนำระบบเงินเดือนมาใช้แก่ข้าราชการในสมัยรัตนโกสินทร์.
พระสงฆ์อยู่นอกระบบนี้ ซึ่งชายไทยทุกชนชั้นสามารถเข้าสู่ชนชั้นนี้ได้ รวมถึงชาวจีนด้วย วัดได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงนี้ ชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา และไม่นานก็เริ่มควบคุมชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นสั่งสมเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา.
พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้รวบรวมธรรมศาสตร์ (Dharmashastra) ประมวลกฎหมายที่อิงที่มาในภาษาฮินดูและธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ธรรมศาสตร์ ยังเป็นเครื่องมือสำหรับกฎหมายไทยกระทั่งปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มีการนำระบบข้าราชการประจำที่อิงลำดับชั้นบังคับบัญชาของข้าราชการที่มีชั้นยศและบรรดาศักดิ์มาใช้ และมีการจัดระเบียบสังคมในแบบที่สอดคล้องกัน แต่ไม่มีการนำระบบวรรณะในศาสนาฮินดูมาใช้.
หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระนเรศ) ทรงประกาศอิสรภาพจากราชวงศ์ตองอู (Taungoo Dynasty) พระองค์ทรงจัดการรวบรวมการปกครองประเทศอยู่ใต้ราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยา โดยตรง เพื่อป้องกันมิให้ซ้ำรอยพระราชบิดา ที่แปรพักตร์เข้ากับฝ่ายราชวงศ์ตองอู เ มื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงยุติการเสนอชื่อเจ้านายไปปกครองหัวเมืองของราชอาณาจักร แต่แต่งตั้งข้าราชสำนักที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายที่พระมหากษัตริย์ส่งไป ฉะนั้น เจ้านายทั้งหลายจึงถูกจำกัดอยู่ในพระนคร การช่วงชิงอำนาจยังคงมีต่อไป แต่อยู่ในสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์.
เพื่อประกันการควบคุมของพระองค์เหนือชนชั้นเจ้าเมืองใหม่นั้น พระนเรศ มีกฤษฎีกาให้เสรีชนทุกคนที่อยู่ในระบบไพร่มาเป็นไพร่หลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งจะเป็นผู้แจกจ่ายการใช้งานแก่ข้าราชการ วิธีการนี้ในทางทฤษฎี ทำให้กษัตริย์ผูกขาดแรงงานได้ทั้งหมดเบ็ดเสร็จ กษัตริย์ได้ครอบครองที่ดินทั้งหมดด้วย ตำแหน่งเสนาบดี และเจ้าเมือง และศักดินาที่ติดอยู่กับตำแหน่ง โดยปกติเป็นตำแหน่งที่ตกทอดถึงทายาทในไม่กี่ตระกูลที่มักมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์โดยการแต่งงานระหว่างกัน ข้ามไขว้ตระกูล อันที่จริงกษัตริย์ไทยได้ใช้การแต่งงานบ่อยครั้ง เพื่อเชื่อมไมตรีระหว่างกษัตริย์กับตระกูลต่าง ๆ ที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผลของนโยบายนี้ ทำให้เจ้าจอมของกษัตริย์มักมีหลายสิบองค์.
หากแม้จะมีการปฏิรูปโดยสมเด็จพระนเรศ ก็ตาม ประสิทธิภาพของรัฐในอีก 150 ปีต่อมาก็ยังขาดเสถียรภาพ พระราชอำนาจนอกที่ดินของกษัตริย์ แม้จะมีความเด็ดขาดในทางทฤษฎี และในทางปฏิบัติจะถูกจำกัดโดยความหละหลวมของการปกครองพลเรือน อิทธิพลของศูนย์กลางรัฐและกษัตริย์อยู่ไม่เกินพระนคร เมื่อเกิดสงครามกับพม่า หัวเมืองต่าง ๆ ทิ้งพระนครอย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังที่บังคับใช้ไม่สามารถเกณฑ์มาป้องกันพระนครได้โดยง่าย กรุงศรีอยุธยา จึงไม่อาจต้านทานผู้รุกรานได้.
กลุ่มชาติพันธุ์
ในช่วงปลายพุทธศตรวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยา มีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งนับชายหญิงและเด็กอย่างครบถ้วน แต่ลาลูแบร์ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากมีผู้หนีการเสียภาษีอากรไปอยู่ตามป่าตามดงอีกมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทยสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งบรรพบุรุษของไทยสยาม ปรากฎหลักแหล่งของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะไดเก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีหลักแหล่งแถบกวางสี คาบเกี่ยวไปถึงกวางตุ้งและแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนามตอนบน ซึ่งกลุ่มชนนี้มีความเคลื่อนไหวไปมากับดินแดนไทยในปัจจุบันทั้งทางบกและทางทะเลและมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างไม่ขาดสาย. ในยุคอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหลังปี พ.ศ.1100 ก็มีประชากรตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรพื้นฐานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มชนอพยพลงมาจากบริเวณสองฝั่งโขงลงทางลุ่มน้ำน่านแล้วลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก แถบสุพรรณบุรี ราชบุรี ถึงเพชรบุรีและเกี่ยวข้องไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในส่วนนี้ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยามว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชนชาติเดียวกัน.
เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยา พูดจาด้วยภาษาอย่างเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน คือ พวกที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งกับกวางสี และด้วยความที่ดินแดนแถบอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกัน จึงเกิดการประสมประสานทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาจนไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน และด้วยการผลักดันของรัฐละโว้ ทำให้เกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพนคร ภายหลังปี พ.ศ.1700 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่าง.
ภาพชาวสยามจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ พ.ศ.2236
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยา เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อน ตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อค้าขาย ในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา... " ซึ่งมีการเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยปะปนกันโดยไม่จำแนกว่า ชาวสยาม ในจำนวนนี้มีชาวมอญอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา , สมเด็จพระนเรศวรมหาราช(พระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มหาราช)) , สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง , สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอู จนในปี พ.ศ.2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา จำนวนมาก โดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยา ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอย ชาวเขมรอยู่วัดค้างคาว ชาวพม่าอยู่วัดมณเฑียร ส่วนชาวตังเกี๋ยและชาวโคชินไชน่า (ญวน) ก็มีหมู่บ้านเช่นกัน เรียกว่าหมู่บ้านโคชินไชน่า นอกจากนี้ชาวลาวก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวร ครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวลาวเชียงใหม่ส่งไปยัง จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และจันทบุรี และในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี พ.ศ.2204 ได้เมืองลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงแสน และได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่ง เป็นต้น โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร และนอกจากกลุ่มประชาชนแล้ว กลุ่มเชื้อพระวงศ์ที่เป็นเชลยสงครามและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งเชื้อพระวงศ์ลาว เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ (Chiamay) เชื้อพระวงศ์พะโค (Banca) และเชื้อพระวงศ์กัมพูชา.
นอกจากชุมชนชาวเอเชียที่ถูกกวาดต้อนมาแล้ว ก็ยังมีชุมชนของกลุ่มผู้ค้าขายและผู้เผยแพร่ศาสนาทั้งชาวเอเชียจากส่วนอื่นและชาวตะวันตก เช่น ชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะอยุธยา ใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งภายหลังบ้านปลาเห็ดได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเซนต์โยเซฟ หมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำระหว่างหมู่บ้านชาวมอญและโรงกลั่นสุราของชาวจีน ถัดไปเป็นชุมชนชาวฮอลันดา ทางใต้ของชุมชนฮอลันดา เป็นถิ่นพำนักของชาวอังกฤษ มลายู และมอญจากพะโค นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนของชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกลิงก์ (คนจากแคว้นกลิงคราษฎร์ จากอินเดีย) ส่วนชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่มักสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยาม จีน และมอญ ส่วนชุมชนชาวจาม มีหลักแหล่งแถบคลองตะเคียนทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า ปทาคูจาม มีบทบาทสำคัญด้านการค้าทางทะเล และตำแหน่งในกองทัพเรือ เรียกว่า อาษาจาม และเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่า พระราชวังสัน .
โขนต้องเจรจาด้วยเสียงเหน่อ ซึ่งถือเป็นสำเนียงหลวงเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา
ภาษา
สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยา มีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบาง ซึ่งสำเนียงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยา ทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฎรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบ อยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็ก ๆ ของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยา และถือว่าผิดขนบ .
ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยา ปรากฎอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง มาแต่ดึกดำบรรพ์ และภายหลังได้พากันเรียกว่า โคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้น และโคลงสี่สุภาพ โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาว ส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้าง.
ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเล อันเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังกว่า จึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยา ก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศ จึงรับคำในภาษาต่าง ๆ มาใช้ เช่นคำว่า กุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ บ้างก็เรียกกุลฮับ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้ และยืมคำว่า ปาดรี (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวง เป็นต้น.
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย.อาณาจักรอยุธยา มักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยา
ป้อมของโปรตุเกสที่เมืองมะละกา ช่วง พ.ศ. 2173 (ค.ศ.1630)
พ.ศ.2054 ทันทีหลังจากที่โปรตุเกสยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (กษัตริย์องค์ที่ 10 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ) หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยา แล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาสน์ถึงกษัตริย์ของโปรตุเกส (King of Portugal Manuel I) ด้วย ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้ อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ.2135 ได้ให้พวกดัทช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว.
ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (Cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของดัทช์และอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยา ไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยา ได้ใช้ดัทช์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป.
เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)
อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ.2207 ดัทช์ใช้กำลังบังคับเพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่น เดียวกับการเข้าถึงการค้าอย่างเสรี คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) (เจ้าพระยาวิชเยนทร์) 03 นักผจญภัยชาวกรีกผู้เข้ามาเป็นเสนาบดีต่างประเทศในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กราบทูลให้พระองค์หันไปพึ่งความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส วิศวกรฝรั่งเศสก่อสร้างป้อมค่ายแก่คนไทย และสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี นอกเหนือจากนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการแพทย์ ตลอดจนนำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ทรงสนพระราชหฤทัยในรางานจากมิชชันนารีที่เสนอว่า สมเด็จพระนารายณ์ อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้.
อาณาจักรอยุธยา มีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา .
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของฝรั่งเศสกระตุ้นให้เกิดความแค้นและความหวาดระแวงแก่หมู่ชนชั้นสูงของไทยและพระในศาสนาพุทธ ทั้งมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดกรุงศรีอยุธยา เมื่อข่าวสมเด็จพระนารายณ์ กำลังจะเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้สังหารรัชทายาทที่ทรงแต่งตั้ง (พระปีย์ หรือ ออกพระปีย์ หรือ หม่อมปีย์ (เกิด:? - อสัญกรรม พ.ศ.2231) เป็นพระโอรสบุญธรรมของพระนารายณ์มหาราช ) คริสเตียนคนหนึ่ง และสั่งประหารชีวิตฟอลคอน รวมทั้งมิชชันนารีอีกจำนวนหนึ่ง การมาถึงของเรือรบอังกฤษยิ่งยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นอีก พระเพทราชา เมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขับชาวต่างชาติออกจากราชอาณาจักร รายงานการศึกษาบางส่วนระบุว่า อยุธยา เริ่มต้นสมัยแห่งการตีตัวออกห่างพ่อค้ายุโรป ขณะที่ต้อนรับวาณิชจีนมากขึ้น แต่ในการศึกษาปัจจุบันอื่น ๆ เสนอว่า สงครามและความขัดแย้งในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้พ่อค้ายุโรปลดกิจกรรมในทางตะวันออก อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ ยังทำธุรกิจกับอยุธยา อยู่ แม้จะประสบกับความยากลำบากทางการเมือง.
อยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติมีตลาดน้ำ-บก, ในเมือง-นอกเมือง, ย่านการผลิต 04
อยุธยาไม่มีประวัติศาสตร์สังคม จึงไม่มีการค้านานาชาติ มีแต่สงครามกับเพื่อนบ้าน เมื่อไม่ศึกษาการค้านานาชาติ ก็อธิบายไม่ได้ว่าอยุธยาเติบโตมาอย่างไร? เพราะอะไร? แล้วมั่งคั่งจากไหนจึงสร้างวัดวาอารามใหญ่โต และแน่นขนัดทั้งในเกาะและนอกเกาะเมือง สุดท้ายไม่รู้จะทำยังไงเลยสรรเสริญส่ง ๆ ไปว่า "อยุธยายศยิ่งฟ้า" เพราะ "ลอยสวรรค์" ลงมาตั้งบนดิน อยุธยาศูนยืกลางนานาชาจิ ผม (สุจิตต์) เคยรวบรวมแล้วเรียบเรียงไว้ง่าย ๆ ในหนังสืออยุธยา ยศยิ่งฟ้า (พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2552) จะคัดมาแบ่งปันไว้ ต่อไปนี้
การค้านานาชาติ
อยุธยาเป็น "ศูนย์กลางการค้านานาชาติ" ที่พ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตกมาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้า ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ "ส่งผ่าน" สินค้าจากตะวันออกไปตะวันตก และจากตะวันตกไปตะวันออก พร้อมทั้งขาย "ของป่า" จากภูมิภาคอุษาคเนย์ให้จีนและฝรั่งด้วย. บรรยากาศความเป็น "ศูนย์กลางการค้านานาชาติ" ของกรุงศรีอยุธยามีอยู่ในกลอน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า
เป็นที่ปรากฎรจนา สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวาณิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคนิต
ประชาราษฎร์ปราศจากจากภัยพิษ ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ที่กลอนเพลงยาวบอกว่า "ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวาณิช " และ "ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาอยู่อัคนิต " เป็นพวกไหนบ้าง? เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในพระนครศรีอยุธยาว่ามี "พิริยหมู่แขกขอมลาวพม่าเมงมอญ มสุมแสงจีนจามชวานานา ประเทษทังปวง " และยังมีร่องรอยอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ตอนหนึ่งว่า
"ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เปนมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุปลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช แลพวกลูกค้าแขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศ ฝรั่งเสศ ฝรั่งโลสง โปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา " (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ตามรายชื่อในคำให้การฯ จะเห็นว่ามีพ่อค้า "นานาชาติ" เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจริง ๆ คือ สำเภทจีน (เรือจีน) สลุปแขก (เรือแขก) กำปั่นฝรั่ง (เรือฝรั่ง) ประกอบด้วย พ่อค้าจากเมืองต่าง ๆ คือ แขกกุศราช (เมืองคุชราตในอินเดีย) แขกสุรัด (เมืองสุราษในอินเดีย) แขกชวา (เกาะชวา) มลายู (มลายู) แขกเทศ (ไม่รู้เป็นพวกไหน) ฝรั่งเสศ (ฝรั่งเศส) ฝรั่งโลสง (ไม่รู้ฝรั่งที่ไหน) โปรตุเกศ (โปรตุเกส) วิลันดา (ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์) อิศปันยอน (สเปน) อังกฤษ (อังกฤษ) ฝรั่งดำ (สงสัยเป็นพวกตะวันออกกลาง?) ฝรั่งเมืองลังกุนี (ไม่รู้ว่าเป็นพวกไหน) แขกเกาะ (คงเป็นพวกหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น "มักกะสัน")
กำปั่นฮอลันดาสลักบนแผ่นจารึกทองแดงที่ชาวดัตท์ในประเทศไทยร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ.2499 ประดับโบราณสถานที่ตั้งบ้านฮอลันดา จ.พระนครศรีอยุธยา.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก . th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรอยุธยา, วันที่สืบค้น 16 สิงหาคม 2558.
02. หมายถึง แรงงานเกณฑ์ (ฝรั่งเศส: Corve'e ) เป็นแรงงานไม่เสรี มักไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีฐานะทางสังคมต่ำ และรัฐหรือผู้ที่เหนือกว่า (เช่น ชนชั้นสูงหรือขุนนาง) การเกณฑ์แรงงานเป็นการเก็บภาษีอากรรูปแบบเก่าแก่ที่สุดและแพร่หลายที่สุด แรงงานในระบบแรงงานเกณฑ์ ยังมีอิสระโดยสมบูรณ์ในหลายด้าน นอกเหนือจากการใช้แรงงานของตน และงานนั้นมีเว้นระยะโดยปกติ ซึ่งมีกำหนดเป็นจำนวนวันหรือเดือนที่แน่นอนในแต่ละปี เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการชดเชย หรือได้รับการชดเชยไม่เต็มที่ ระบบแรงงานเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องอาศัยประชากรที่มีที่ดิน พืชผลหรือเงินทุน ดังนั้นแรงงานเกณฑ์จึงมักเป็นที่นิยมในเศรษฐกิจที่ขาดแคลนเงินทุน กอร์เวแรงงานเกณฑ์ ยังพบมากในเศรษฐกิจที่การแลกเปลี่ยน ยังเป็นวิธีการค้าเป็นปกติ หรือในเศรษฐกิจยังชีพ.
03. คอนแสตนติน ฟอลคอน ได้แต่งงานกับมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา(Maria Guyomar de Pinha) แต่มักจะเรียกกันว่า มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ซึ่งภายหลัง เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลายอย่าง.
04. จาก . www.matichon.co.th/news/205555, โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ, วันที่สืบค้น 23 กรกฎาคม 2559.