พระราชวังหลวงในกรุงศรีอยุธยา
First revision: Jul.05, 2018
Last change: Jul.29, 2021
พระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา มีเนื้อที่ราว 150 ไร่ ตั้งอยู่ด้านเหนือของเกาะเมือง ติดกับกำแพงเมืองทางทิศเหนือและแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันอาคารต่าง ๆ ในบริเวรพระราชวัง ได้พังทลายไปเกือบหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แค่ซากฐานอาคารที่ก่อด้วยอิฐเท่านั้น.
ที่มา: https://pantip.com/topic/35348749/comment1, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2561.
ครั้นเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งสามองค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี.
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่งสามองค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่งสององค์แรก.
มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระมหาปราสาทสามองค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี.
อาคารสำคัญในเขตพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา,
ที่มา: www.trendsmap.com/twitter/tweet/968878255439724544, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2561.
1. พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ 2. พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท
3. พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ 4. พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
5. พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ 6. เขตพระราชฐานชั้นใน
7. วัดพระศรีสรรเพชญ์ 8. วิหารพระศรีสรรเพชญ์ดาณาณ
9. ศาลาลูกขุน
ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีกสององค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ และพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์.
ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมีพระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้นหกองค์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310.
พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครนั้น ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา
จาก facebook ห้อง "Mr.You Design", วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2564.
พระบรมมหาราชวังระยะหลังนั้น มีป้อมรอบพระราชวังแปดป้อม ประตูน้ำสองประตู ประตูบก 20 ประตู พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเขตต่าง ๆ ดังนี้
- บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก
เขตพระราชฐานชั้นนอก หรือท้องสนามหน้าจักรวรรดิ เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ และส่วนราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง ศาลาบัญชี ศาลาขุนนาง คลังปืนใหญ่ และโรงราชรถเป็นต้น
- บริเวณเขตพระราชฐานชั้นกลาง
เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทสามหลัง ได้แก่พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของคลังมหาสมบัติ โรงช้างเผือก โรงม้า เป็นต้น
เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ โรงเครื่องต้น และที่อยู่ของฝ่ายใน นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งตรีมุข ในปัจจุบันพบเป็นซากฐาน เมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้สร้างพลับตรีมุข เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงกษัตริย์ในวาระที่พระองค์ครองราชย์ครบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ.2451 ซึ่งเป็นเวลายาวนานเสมอด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา.
สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ อันเป็นที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ ได้แก่ คลังศุภรัตน์ คลังพิมาณอากาศ คลังวิเศษ โรงราชรถ คลังแสง เป็นต้น เช่นเดียวกับหอพระเทพบิดร และหอพระมณเฑียรธรรม.
สวนองุ่น เป็นสวนหลวงประจำพระราชวัง มีตำหนักสระแก้ว ตำหนักสวนกระต่าย และตำหนักศาลาลวดตั้งอยู่ บริเวณนี้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงประจำพระราชวัง
ที่มา: facebook ห้อง: ประวัติศาสตร์อยุธยา, วันที่เข้าถึง 1 ตุลาคม 2562.
1. พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นปราสาทจตุรมุข ยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ สามาถมองเห็นข้ามกำแพงวังไปเห็นแม่น้ำ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนพยุหยาตราชลมารค และการซ้อมกระบวนยุทธ์ทางน้ำ เมื่อพระองค์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชา โปรดฯ ให้อัญเชิญพระบรมสพจากเมืองลพบุรีมาไว้ ณ พระที่นั่งนี้.
2. พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2175 โดยสร้างเป็นปราสาทตรีมุขที่มุมกำแพงชั้นในของเขตพระราชฐานติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์" ต่อมาพระเจ้าปราสาททองทรงพระสุบินว่า สมเด็จพระอมรินทราธิราช เสด็จลงมานั่งแทบพระองค์และตรัสให้ตั้งจักรพยุหแล้วจึงหายไป เมื่อพระองค์เสด็จออกขุนนางทรงตรัสเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งหลายฟัง พระมหาราชครูปุโรหิตโหราพฤฒาจารย์ทูลว่า พระนามพระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์ที่พระราชทานนามนั้น เห็นไม่ต้องนามสมเด็จพระอมรินทราธิราชซึ่งลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห ซึ่งจักรพยุหนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิไชยสงคราม จึงขอให้นำนามจักรนี้ให้เป็นนามของมหาปราสาทว่า "พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท" สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้เปลี่ยนนามมหาปราสาทตามคำกราบบังคมทูลของโหราพฤฒาจารย์.
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มีลักษณะเป็นปราสาทโถง มีสามชั้น สำหรับเป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่มหรสพ และการยกทัพพยุหยาตราผ่านบริเวณสนามไชยซึ่งอยู่หน้าพระที่นั่ง.
3. พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท
พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่งสำคัญอีกพระที่นั่งหนึ่งในเขตพระราชวังโบราณ พระนครศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนักและเป็นที่รับรองอาคันตุกะแขกบ้านแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก รับรองราชทูต ฯลฯ พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงฯ แก่พม่าเมื่อปี พ.ศ.2310 ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน และกำแพงบางส่วนเท่านั้น.
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระนครศรีอยุธยา เป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยากำลังเจริญเติบโตเป็นมหานครขนาดใหญ่ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังที่ประทับซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ไปสร้างใหม่ทางตอนเหนือติดกับกำแพงพระนครและแม่น้ำลพบุรี ส่วนในเขตพระราชวังเดิมนั้นได้ทรงถวายให้เป็นเขตพุทธาวาส หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าพระที่นั่งองค์แรกที่ทรงสร้างขึ้นในพระราชวังหลวงแห่งใหม่คือ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท สร้างขึ้นราว พ.ศ.1991-2031 โดยเริ่มแรกเป็นพระที่นั่งไม้ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นอิฐในภายหลัง.
ครั้นถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงให้เจ้าพระยากลาโหม เป็นแม่กองดำเนินการปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทซึ่งชำรุดอยู่นั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ปิดทองส่วนยอดทั้งหมด.
หลังเสียกรุงฯ ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงดำริที่จะฟื้นฟูกรุงเก่าเสียใหม่ เป็นดั่งเช่นในสมัยที่กรุงศรีฯ เป็นราชธานีอยู่ โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทเป็นปราสาทแรกขึ้นใหม่ บนรากฐานเดิมในวังหลวง เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานคำจารึกพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ก็สร้างไม่เสร็จ ด้วยเพราะสิ้นรัชกาล ต่อมาในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้เก็บรักษาพระราชวังหลวงไว้เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ตามแบบนานาอารยะประเทศที่ได้เก็บรักษาของและสถานโบราณไว้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อที่สร้างไว้ออก แล้วย้ายไปสร้างพระมหาปราสาทชั่วคราวเพื่อการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกแทน
ความงดงามในสายตาชาวต่างชาติ
คณะราชทูตลังกาได้กล่าวถึงความงามของพระปราสาทองค์นี้ไว้ว่า "เมื่อถึงเขตพระราชวัง เห็นปราสาทราชมณเฑียรที่ปิดทองอร่าม เจ้าพนักงานนำทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังผ่านประตูสองชั้น ที่ประตูนั้นประดับประดาไปด้วยสีทอง เมื่อล่วงประตูชั้นที่สองเข้าไป ก็ถึงพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท สองข้างมุขพระที่นั่ง มีรูปภาพต่าง ๆ ตั้งไว้คือ รูปหมี ราชสีห์ รากษส (อ่าน ราก-สด) โทวาริก (ผู้รักษาประตู - มักเป็นยักษ์ถือกระบอง) นาค พิราวะยักษ์ (พระพิราพ หรือ องค์พระไภราวะ - เชื่อว่าเป็นภาคหนึ่งของพระอิศวร เป็นครูยักษ์) รูปทั้งหลายเหล่านี้ปิดทองเหลืองอร่ามทั้งหมด ตรงรูปหมู่ขึ้นไปเป็นราชบัลลังก์สูงประมาณ 10 คืบ (พระที่นั่งบุษบกมาลา) ตั้งเครื่องสูงรอบราชบัลลังก์" จะเห็นได้ว่า พระที่นั่งพระองค์นี้นั้น มีพระที่นั่งบุษบกมาลา ซึ่งคล้าย ๆ กับพระที่นั่งบุษบกมาลาในมหาจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งล้วนปิดทองทั้งองค์ งดงามมาก.
4. พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ แต่เดิมเป็นพระที่นั่งมังคลาภิเษก สมัยสมเด็จพระนเรศ ทรงใช้สำหรับรับรองราชทูตเมืองละแวก (กัมพูชา) สมเด็จพระเอกาทศรถทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีประเวศพระนคร ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งถูกฟ้าผ่าจนไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้รื้อและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นทดแทนในปี พ.ศ.2179 พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีมุขหน้าและหลังยาว แต่มุขข้างสั้น ด้านซ้ายของพระที่นั่งมีโรงช้างเผือก
ที่มา: https://pantip.com/topic/35348749/comment1, วันที่สืบค้น 10 กรกฎาคม 2561.
5. พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์มหาปราสาท หรือ "พระที่นั่งท้ายสระ" สร้างในสมัยพระเพทราชา เมื่อ พ.ศ.2230 อยู่บริเวณฝ่ายในด้านท้ายวัง ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์หลายพระองค์ ได้แก่ พระเพทราชา พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่บนเกาะที่มีสระน้ำกว้าง 6 วา ล้อมรอบขอบสระ ด้านนอกมีกำแพงแก้วสูง 6 ศอก ล้อมรอบอาคารพระที่นั่งเป็นทรงจัตุรมุข เครื่องยอดเป็นมณฑป มีพรหมพักตร์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก กลางสระด้านเหนือมีพระตำหนักมีที่ให้พระมาเทศน์มหาชาติคำหลวงทุกปี กลางสระด้านตะวันออกเป็นพระที่นั่งไม่มีหลังคา เป็นพระที่นั่งทรงดาว กลางสระด้านใต้เป็นพระที่นั่งโถง เพื่อประทับโปรยข้าวตอกเลี้ยงปลาในสระ ด้านตะวันตกมีอ่างแก้ว มีภูเขาจำลอง มีน้ำตก อาคารหลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ.
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ สร้างขึ้นกลางสระในเขตพระราชฐานชั้นในติดกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก น้ำจากคลองท่อไหลเข้ามายังคูรอบพระที่นั่งทางประตูอุดมคงคา และน้ำที่ใช้แล้วจะไหลกลับคืนไปยังคลองท่ออีกครั้งหนึ่งทางประตูชลชาติทวารสาคร มีจดหมายเหตุของชาวต่างชาติสามฉบับที่กล่าวถึงพระที่นั่งหลังนี้ว่า มีอยู่แล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิโคลาส์ แชร์แวส์ ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ในลานชั้นในสุด เพิ่งสร้างใหม่ประดับด้วยทองคำ เป็นที่สังเกตได้ง่ายต่างจากพระที่นั่งองค์อื่น โดยมีแผนผังเป็นรูปกากบาท หลังคาพระที่นั่งประดับด้วยฉัตรหลายชั้น อันเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน กระเบื้องที่ใช้มุงนั้นเป็นดีบุก งานสถาปัตยกรรมที่ปรากฎอยู่ทุกด้านทุกมุมนั้นงดงามมาก พระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระราชินี พระธิดา และพระสนมซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ดูจากด้านนอกแล้ว ก็เห็นว่างดงามดี หันหน้าเข้าสู่อุทยานทำนองเดียวกัน
6. พระที่นั่งตรีมุข
ที่มา: painaidii.com, วันที่เข้าถึง 11 ธันวาคม 2562.
พระที่นั่งตรีมุข
#กรุงเก่าของชาวสยาม ว่าด้วยเรื่อง #หลักแห่งพระนคร
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง เป็นเอกสารยุคปลายกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีเนื้อหาเป็นเรื่องเรื่องเล่าจากความทรงจำ สันนิษฐานว่ารับการคัดลอกและเรียบเรียงจากต้นฉบับในหอหลวง
เอกสารบรรยายสภาพกรุงศรีอยุธยาโดยละเอียดข้อมูลเหล่านี้เมื่อสำรวจศึกษาพื้นที่แล้วพบว่ามีคำถูกต้องแม่นยำ ในส่วนหลังของเอกสารบรรยายถึงโบราณราชประเพณี ได้แก่ ธรรมเนียมถือน้ำ พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า พิธีโสกันต์ ว่าด้วยเครื่องยศสำหรับศพ แบบอย่างการพระเมรุ ยังมีบรรยายถึงตำแหน่งยศพระราชาคณะฐานานุกรม มีตอนทีว่าด้วยพระพิไชยเสนา เป็นตำราสอนข้อความประพฤติของราชการ ตอนสุดท้ายเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนหลาย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โดยตอนหนึ่งได้กล่าวโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นสิ่งที่เคารพนับถือของผู้คนในกรุงศรีอยุธยา ความดังนี้
"อนึ่งสิ่งซึ่งเปนหลักเปนประธานพระนคร แลเปนที่เฉลิมพระเกียรติยศกรุงศรีอยุธยานั้นคือ พระที่นั่งมหาปราสาทยอดปรางค์ 3 ยอดยอดมณฑป 11 ยอด รวมเปน 14 องค์ เปนพระราชมณเฑียรของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์สืบมา #พระมหาปราสาทยอดปรางค์ สามองค์นั้นคือ พระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท องค์ 1 นี้มียอดเป็นปรางค์ 5 ยอด ภายหลังเพลิงไหม้จึ่งทำใหม่เปลี่ยนนามว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท องค์ 1 แลพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท มียอดปรางค์ยอดเดียว องค์ 1 ทั้งสององค์นี้อยู่ในพระราชวังหลวงกับพระที่นั่งนครหลวง ปราสาทยอดปรางค์ยอดเดียว เปนที่ทรงประทับร้อนแรมอยู่นอกพระนครทิศตะวันออกเปนย่านไปพระพุทธบาทองค์ 1"
แล #พระที่นั่งมหาปราสาทยอดมณฑป 11 องค์ นั้นคือ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มียอดมณฑปเก้ายอด องค์ 1 พระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาท มียอดมณฑปห้ายอด องค์ 1 พระที่นั่งสุริยามรินทร์มหาปราสาท มียอดมณฑปห้ายอด องค์ 1 พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว องค์ 1 พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศมหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว องค์ 1 พระที่นั่ง พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว องค์ 1 พระที่นั่งไอยสวรียมหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียวองค์หนึ่ง พระที่นั่งคชประเวศมหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว พระที่นั่งองค์นี้อยู่นอกพระนครที่เพนียดจับช้าง องค์ 1 พระที่นั่งไอยสวีย์ทิพยอาศน์มหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียวเปนที่ประทับร้อนแรมอยู่ที่พระราชฐาน เกาะบางปะอินนอกพระนครทิศใต้ องค์หนึ่ง พระที่นั่งสุทไธสวรีย์มหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว องค์หนึ่ง พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท มีมณฑปยอดเดียว สององค์นี้เปนที่ประทับร้อนแรมอยู่ในพระราชฐานที่เมืองลพบุรี เปนที่ประทับนอกพระนครกรุงศรีอยุธยา รวมมหาปราสาทในกรุงเก้าองค์ นอกกรุงห้าองค์ รวมทั้งสิ้นเปนสิบสี่องค์ เปนที่ทรงประทับของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์"
#พระมหาธาตุ ที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา 5 องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม 1 พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ 1 พระมหาธาตุวัดราชบูรณ 1 พระมหาธาตุวัดสมรโกฎ 1 พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย 1 #พระมหาเจดีย์ฐาน ที่เปนหลักของกรุง 5 องค์ คือ พระมหาเจดีย์วัดสวนหลวงสพสวรรค์ 1 พระมหาเจดีย์วัดขุนเมืองใจ 1 พระมหาเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทย 1 พระมหาเจดีย์วัดภูเขาทอง สูงเส้นห้าวา 1 พระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลสูงเส้น 5 วา 1"
*********
#พระมหาพุทธปฏิมากร ที่มีพระพุทธานุภาพเปนหลักกรุงนั้น ๘ องค์ คือ พระพุทธศรีสรรเพชรดาญาณยืนสูง ๘ วา หุ้มทองคำทั้งองค์อยู่ในพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชร ๑ พระพุทธสิหิงค์ นั่งคัดสมาธิเพชรหน้าตัก ๔ ศอก หล่อด้วยนาคชมภูนุชอยู่ในพระมหาวิหารยอดปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีสรรเพชร ๑ พระพุทธบรมไตรภพนาถ นั่งสมาธิหน้าตักศอกคืบ หล่อด้วยทองคำทั้งแท่งทรงเครื่องต้นอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชร ๑ พระพุทธสยมภูวนาญาณโมฬี นั่งสมาธิหน้าตัก ๑๖ ศอก หล่อด้วยทองเหลืองอยู่ในพระมหาวิหารยอดมณฑปในวัดสุมงคลบพิตร ๑ พระพุทธบรมไตรโลกนาถศาสดาญาณ นั่งสมาธิหน้าตักหกศอก หล่อด้วยทองเหลืองอยู่ในวัดโคก ๑ พระพุทธเจ้าทรงนางเชิง ทรงนั่งสมาธิหน้าตัก ๑๐ ศอก อยู่ในพระวิหารวัดพระนางเชิง ๑ พระพุทธคันธาราษฎร์ นั่งสมาธิหน้าตักศอกหนึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ลอยน้ำมาแต่ปักษ์ใต้เชิญไว้ในวิหารวัดธรรมิกราช มีพระพุทธานุภาพมากขอให้ฝนตกก็ได้ ๑ พระพุทธจันทน์แดงอยู่ในพระวิหารวัดพระศรีสรรเพชร ๑ รวมเป็น ๘ องค์"
*********
"พระพุทธไสยาศน์วัดป่าโมกข ยาวเส้นห้าวา ๑ พระพุทธไสยาศน์วัดพระนอนจักศรี ยาว ๑๖ วา ๑ พระพุทธไสยาศน์วัดขุนอินประมูลยาว ๑๘ วา ๑ พระพุทธไสยาศน์วัดโพธิ์อรัญญิก ยาว ๑๕ วา ๑ พระประทม พระประโทน เปนพระมหาธาตุใหญ่ อยู่ที่แขวงเมืองนครไชยศรีสององค์ รอยฝ่าพระบรมพุทธบาทอยู่เขาสุวรรณบรรพต ๑ พระปัตวีเปนพระบรมพุทธฉาย อยู่ในเงื้อมเขาน้อยยางกรงในป่า แขวงเมืองสระบุรี ๑ สิ่งที่นี้เปนศรีพระนครกรุงศรีอยุธยาสืบมาแต่โบราณ"
*********
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งสามองค์ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับ หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ๗ พระองค์ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๙๘ ปี
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม อันได้แก่พระที่นั่งสามองค์แรกนั้นให้เป็นเขตพุทธาวาสโดยขนานนามว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานใหม่ในพื้นที่ทางด้านเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ใกล้กับแม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทขึ้นเป็นพระที่นั่งสององค์แรกโดยในพื้นที่นี้มีการก่อสร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกขึ้นด้วย ต่อมาพระที่นั่งองค์นี้เกิดเพลิงไหม้ จึงได้มีการสร้างพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาทขึ้นแทน พระที่นั่งทั้งสามองค์นี้จึงเป็นหลักของพระราชวังหลวง และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์จำนวน ๑๖ พระองค์ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๘๒ ปี
ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีกสององค์ ได้แก่ พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์
ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้น พระราชวังหลวงในสมัยอยุธยาตอนปลายจึงมีพระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น ๖ องค์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ๑๐ พระองค์ รวมเป็นระยะเวลา ๑๓๗ ปี จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐
จากข้อมูลในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวงนี้ พระมหาปราสาทและโบราณวัตถุต่างๆ ได้สูญสลายไปแล้ว แต่ก็ยังหลงเหลืออยู่ เช่น พระมหาธาตุ พระมหาเจดีย์ และพระนอน ซึ่งได้รับการบูรณะให้คงสภาพอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน
*********
#เชิงอรรถ
หอหลวง คือหอหนังสือหลวงตั้งอยู่ภายในพระราชวังหลวงโบราณ โดยมีหออาลักษณ์ตั้งอยู่ใกล้กัน หอหลวงเป็นสถานที่เก็บรักษาเอกสารราชการในสมัยโบราณ ได้แก่ ต้นฉบับตัวเขียนที่เป็นตำรา กฎหมาย จดหมายเหตุ พงศาวดาร และวรรณคดีต่างๆ โดยมีเจ้าพนักงานดูแลรักษาดูแลรักษา ทั้งงานด้านเอกสารภาษาและหนังสือ เอกสารที่เก็บอยู่ที่หอหลวงจึงเรียกว่า หนังสือหอหลวง
หอหลวงในสมัยอยุธยาในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุว่าอยู่ในสระมุมกำแพงสวนกระต่ายและมีหออาลักษณ์ตั้งอยู่ใกล้กันที่ริมกำแพงสวนกระต่าย
*********
#เอกสารอ้างอิง
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พลับพลาตรีมุข ในการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในสมัยรัชกาลที่ 5 ณ ฐานเดิมพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในระหว่างปี 2450-2451 เป็นช่วงเวลาที่มีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี เสมอด้วยเวลาการครองราชย์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
ในงานพระราชพิธีประกอบด้วยการพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 การพระราชกุศลอุทิศถวายพระมหากษัตริย์ในอดีตทั้งในกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี การบวงสรวงสังเวยเทวดาและสมโภชพระพุทธรูปฉลองพระองค์บูรพกษัตริย์ อีกทั้งข้าราชการและประชาชนในมณฑลกรุงเก่าก็ยังได้ร่วมกันจัดงานพิธีถวายชัยมงคลและจัดแสดงมหรสพต่างๆ ถวายทอดพระเนตรด้วย จึงนับได้ว่าพระราชพิธีรัชมงคลที่จัดขึ้นที่เมืองกรุงเก่าในครั้งนี้ เป็นพระราชพิธีรัชมงคลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ข้อมูลจากเพจ
s. phormma's colorizations
ภาพเก่าลงสี
7. พระที่นั่งทรงปืน
ที่มา: Facebook: ห้อง "มองหลายมุม เรื่องกรุงเก่า" จากผู้ใช้นามว่า "คือชีวิต คือลมหายใจ", วันที่เข้าถึง 30 มกราคม 2563.