MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 24: พระเจ้าบรมราชา หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 24: พระเจ้าบรมราชา หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 หรือ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
01.
First revision: May 20, 2018
Last change: Feb.27, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
 

จัดทำไว้เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 สำหรับบรรยาย พร้อมทั้งพาเพื่อน ๆ และครอบครัวเที่ยวอยุธยา เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567.
หมายเหตุ: ภาพที่ใช้ประกอบส่วนใหญ่มาจากตัวละครในซีรี่ทีวีชุดบุพเพสันนิวาส พรหมลิขิต ศรีอโยธยา และฟ้าใหม่ ตลอดจนภาพประกอบอื่น ๆ ที่สืบค้นได้จากทางอินเทอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งประสงค์ที่ใช้เป็นสื่อประกอบความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ มิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด.

 
 

แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาจากชาวตะวันตกสมัยปลายกรุงศรีฯ ที่มา: https://www.geographicus/P/AntiqueMap/Bangkok-bellin-1749,
วันที่เข้าถึง 30 มิถุนายน 2562. 
แผนที่นี้เขียนโดย Jacques-Nicolas Bellin (1703 - March 21, 1772) ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา.
 
       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 หรือ พระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าบรมราชา หรือ ขุนหลวงบรมโกษฐ หรือ เจ้าฟ้าพร หรือ พระบัณฑูรน้อย เป็นกษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 32 (ได้รวม ขุนวรวงศาธิราช ไว้ด้วย เพราะได้ทรงผ่านพิธีราชาภิเษกแล้ว) แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง.
 
   ครองราชย์  พ.ศ.2275-26 เมษายน 2301 (26 ปี)
   ก่อนหน้า  สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
   ถัดไป  สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
   มเหสี  กรมหลวงอภัยนุชิต
 กรมหลวงพิพิธมนตรี
   ราชวงศ์  บ้านพลูหลวง
   พระบิดา  สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)
   พระราชสมภพ  พ.ศ.2223
   สวรรคต  26 เมษายน พ.ศ.2301 (77 พรรษา)
   ถวายพระเพลิง  7 เมษายน พ.ศ.2302


สรุปปมในการสำเร็จโทษเจ้าฟ้ากุ้ง02.
       ถ้ากล่าวกันจริง ๆ แล้วเรื่องลอบเป็นชู้กันนั้น ถึงกับทำให้พระเจ้าบรมโกศลงอาญาพระโอรสที่ทรงตั้งเป็นรัชทายาทถึงพระชนม์ชีพเลยเชียวหรือมีบันทึกของฝรั่งที่ได้ระบุสาเหตุว่าเพิ่มเติมว่า พระองค์ได้รวบรวมกำลังคน และ อาวุธไว้มากมาย จึงเป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญานั้น ความน่าเชื่อถือมีมากขนาดไหน

       จากหลักฐานกล่าวว่า โทษสำหรับเจ้าฟ้ากุ้งนั้นคงผิดมหันต์โทษ โดยแท้จริงแล้วโทษของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นต้องประหาร แต่หากพิจารณาตามที่บันทึกไว้ คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศลดโทษให้เหลือแต่เป็นการโบย แต่เป็นการโบยแบบสาหัสจนสุดท้ายแล้วเจ้าฟ้ากุ้งทนไม่ไหวสวรรคต รวมทั้งเจ้าฟ้าสังวาลด้วย

        ส่วนประเด็นเรื่องพระองค์ท่านทั้งสองจะลักลอบเป็นชู้กันจริงหรือไม่ก็ยังสรุปไม่ได้ พระองค์ท่านอาจถูกใส่ร้ายเพราะด้วยมีศัตรูอยู่หลายคน อาจจะมีการใส่ร้ายพระองค์ท่านเพราะหากพิจารณาตามหลักฐานตามบันทึกโดยแท้แล้วก็มีเพียงเพลงยาวหนึ่งฉบับ (ซึ่งผู้เขียน02. เห็นด้วยกับการนำเสนอของทางละครอย่าง ฟ้าใหม่ ที่นำเสนออย่างกลาง ๆ คือไม่สรุปว่าสุดท้ายเจ้าฟ้ากุ้งลอบเป็นชู้จริงหรือไม่ ให้ผู้ชมคิดพิเคราะห์พิจารณากันเอง)

       การลักลอบคบชู้กับพระสนมมีโทษถึงประหารอยู่แล้ว ตามที่กฎมณเฑียรบาลระบุว่า "..อนึ่งผู้ใดทำชู้ด้วยแม่พระสนม ให้ฆ่าผู้นั้นเสีย 3 วันจึ่งให้ตาย ส่วนหญิงนั้นให้ฆ่าเสียด้วย" ข้อหานี้เรื่องเดียวก็โทษถึงตายแล้ว เจ้าฟ้าสังวาลเป็นถึงพระมเหสีฝ่ายซ้ายไม่ได้เป็นแค่พระสนม โทษยิ่งทวีหนักขึ้นไปอีก การที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงขอพระราชทานชีวิตไม่ทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ก็กล่าวได้ว่าเป็นการผ่อนปรนจากข้อกฎหมายลงมาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชอาญาที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรต้องรับนั้น การสำเร็จโทษไปเลยนั้น น่าจะทรงทรมานน้อยกว่า

       ส่วนข้อหาอื่น ๆ ปรากฏในรายงานของ นิโกลาส บัง หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ ประจำสยาม ส่งไปถึงเมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1757 (พ.ศ.2300) หลังเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรสิ้นพระชนม์ประมาณปีหนึ่ง

      ช่วงต้นของรายงานระบุว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพระประชวรเป็น (ซิฟิลิส) จนไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นเวลานาน พระองค์ทรงปฏิบัติต่อข้าไทในกรมตั้งแต่ไพร่ถึงขุนนางคนสำคัญอย่างโหดร้าย นอกจากนี้ยังทรงขัดแย้งกับ (เจ้าสระแก้ว) ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงกรมหมื่นสุนทรเทพที่มีที่ประทับอยู่ที่ตำหนักสระแก้ว โดยระบุว่าทรงมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องช้าง และเจ้าสระแก้วทรงมีพฤติกรรมโอ้อวดไม่เหมาะสม จนในเดือนเมษายน (พ.ศ.2299) เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงยกกำลังไปล้อมวังเจ้าสระแก้วไม่ให้ผู้ใดเข้าออก แต่เจ้าสระแก้วหลบหนีเข้าพระราชวังหลวงไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้.

       ความตอนนี้ใกล้เคียงกับพงศาวดารที่ระบุว่า "ณเดือน 6 ปีกุรสัปตศก (จ.ศ.1117 พ.ศ.2298) ฉลองวัดพระยาคำ อนึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นโรคชราค แต่ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึง 3 ปีเศษ วันหนึ่งมี พระบันทูลให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งขึ้นเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ลงอาชญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้าง เพลากลางคืนให้คนเข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลาค่ำเสด็จประชุมอยู่ที่ข้างโรงเตียบ ต่อเพลากลางวันจึงเสด็จไปอยู่ณตำหนักสระแก้ว ได้ประมาณ 9 วัน 10 วัน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง"

       นายบัง (นิโกลาส บัง) ระบุว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงยกกำลังไปยังพระราชวังหลวงเพื่อจับกุมตัวเจ้าสระแก้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรับสั่งให้ปิดประตูวังห้ามไม่ให้เข้า จึงต้องเสด็จกลับวังหน้า ภายหลังจึงมีรับสั่งเรียกให้มาเข้าเฝ้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรจึงต้องเสด็จมาแบบไม่เต็มพระทัย ทรงถูกปลดอาวุธนอกพระราชวัง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีรับสั่งถามสาเหตุที่ทรงกระทำรุนแรงกับเจ้าสระแก้ว รวมถึงการใช้อำนาจพยายามจับกุมในขณะที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ทรงตอบ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธ มีพระราชโองการให้ขังเดี่ยว จำห้าประการ ห้ามใครพูดคุยด้วยนอกจากจะมีพระราชโองการ ในขณะที่เสวยจะมีขุนนางสองคนเฝ้าอยู่ แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไม่ได้เสวยมากนักในช่วง 3 วัน.

       ในระหว่างนี้มีการฟ้องร้องเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหลายข้อหา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ เจ้าสระแก้ว (เจ้ากรมจิตรสุนทร) ออกญาจักรี และพระคลัง ร่วมกันสอบสวน (ควรสังเกตว่าสององค์เป็นเจ้าสามกรมที่เป็นอริกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร) เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยน 20 ที แล้วเฆี่ยนอีกยกหนึ่ง 20 ที จากนั้นจึงนาบพระบาท.

       ซึ่งใกล้เคียงกับพงศาวดารที่กล่าวว่า "จึงมีพระราชโองการสั่งมหาดเล็กให้ออกมาเชิญเสด็จไปณตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์ แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถามกรมพระราชวังรับเป็นสัตย์ วันแรมค่ำหนึ่งเดือน 5 ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ 20 ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม 2 ค่ำเฆี่ยน อีกยกหนึ่ง 20 นาที แรม 3 ค่ำอีกยกหนึ่ง 20 ที แล้วให้นาบพระบาท..."

       ข้าราชการสำคัญในวังหน้าถูกจับและ "ถูกทรมานจนสารภาพ" ซัดทอดเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหลายข้อหา ได้แก่
       1. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีรับสั่งให้ทำกุญแจสำรองสำหรับพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน และพระตำหนักของพระมเหสีและฝ่ายใน เพื่อที่จะได้ทรงลักลอบเข้าไปในยามวิกาลและในยามที่ไม่สมควร.
       2. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีรับสั่งให้ข้าหลวงที่ทรงไว้วางพระทัยซื้อปืนไฟและดาบมาเก็บไว้สำหรับใช้ก่อการในอนาคต.
       3. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงมีส่วนในการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมากรวมถึงพระสงฆ์ รวมถึงลงพระราชอาญาผู้คนอย่างรุนแรงด้วยการตัดมือ ตัดนิ้ว หรือถอนฟัน (บทลงโทษเหล่านี้มีในกฎหมายอาชญาหลวง จึงไม่น่าจะผิดปกติเท่าไรนัก ยังปรากฏในพระราชกำหนดเก่าว่าแม้แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็เคยโปรดให้ลงพระราชอาญาถอนฟันหมื่นภัยณรินในข้อหาเรียกพระยมราชสั้น ๆ ว่า 'พระยม') เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทราบความโหดร้ายของพระราชโอรสจึงโปรดให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอีก 50 ที.

       ซึ่งควรสังเกตว่าคำให้การเหล่านี้มาจากการทรมาน และผู้สอบสวนก็เป็นอริกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรด้วย ในเรื่องความน่าเชื่อถือคงต้องวิเคราะห์กันต่อไป

       นายบัง (นิโกลาส บัง) รายงานต่อไปว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงสารภาพว่าทรงใช้กุญแจที่ทำขึ้นลักลอบไปทำชู้กับเจ้าหญิงฝ่ายใน 4 องค์ (2 ใน 4 คือเจ้าฟ้าสังวาลและเจ้าฟ้านิ่ม) เจ้าหญิงเหล่านี้ถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยน 50 ที จึงสารภาพว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงวางแผนยึดครองราชสำนักและจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหมด พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธ โปรดให้เฆี่ยนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรอีก 50 ที และนาบพระนลาฏ พระกร พระเพลา สุดท้ายเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เจ้าหญิงทั้งสี่ และขุนนางคนสำคัญของวังหน้าบางคนทนพระราชอาญาไม่ได้ก็สิ้นพระชนม์และถึงแก่ความตาย.

       ในความเห็นของผู้เขียน 02. เห็นว่าเรื่องวางแผนก่อกบฏนี้ฟังดูเกินจริงไปบ้าง เพราะโดยสถานะวังหน้าก็เสมือนรัชทายาทอยู่กลาย ๆ อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะชิงราชสมบัติ ข้อหาหลักน่าจะมีแต่เรื่องคบชู้มากกว่า มิฉะนั้นคงมีการประหารชีวิตผู้คนอีกจำนวนมาก และเชื้อสายเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหลายองค์ไม่น่าอยู่รอดมาได้โดยไม่ถูกกวาดล้าง น่าจะเป็นตามพระราชพงศาวดารที่ระบุว่า

       "แลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกลาโหม คบหากับมารดาเจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง 700 จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย 3 องค์ 7 องค์ 700 จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ยกเสีย 2 ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ 230 ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา 60 ทีแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสสั่งว่า ให้เฆี่ยนยก 30 ที ไปกว่าจะครบ 230 ที แล้วให้เข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาพร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ เจ้าฟ้าสังวาลนั้นให้เฆี่ยนยกหนึ่ง 30 ที อยู่ 3 วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้นเฆี่ยนอีก 4 ยกเป็น 180 ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนารามทั้งสององค์"

       และถ้าหากเชื่อตามพงศาวดารที่ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสัญญากับเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิต พระราชมารดาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเมื่อก่อนจะสิ้นพระชนม์ว่า “ถ้าไม่กบฏแล้วก็ไม่ฆ่า” การที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงขอชีวิตเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไว้ไม่ให้สำเร็จโทษก็คงเป็นเพราะเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรถูกกล่าวหาว่าคบชู้มากกว่าจะเป็นการก่อกบฏ.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 17 กรกฎาคม 2564.
02. จาก. Facebook เพจ "กลุ่ม..ผู้ใฝ่เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์," ด้วยความเคารพ ได้เกลาสำเนาบางส่วน ต้องขออนุญาตไว้ ณ ที่นี้, วันที่เข้าถึง 17 กรกฎาคม 2564.

 
info@huexonline.com