MENU
TH EN

ก. บทนำ: อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

Title Thumbnail: ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," เป็นภาพพระเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ก่อนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2562., Hero Image: วัดมงคลบพิตรก่อนบูรณะ, ที่มา: preciousgang.blogspot.com, วันที่สืบค้น 15 มีนาคม 2561.
 
First revision: Mar.15, 2018
Last change: Jan.13, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
ก. บทนำ: อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
 
ภาค 1: หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา:
       ด้วยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 หลักฐานประเภทเอกสารสูญหายไปเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่าเอกสารที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น แต่ก็ยังโชคดีที่มีเอกสารจากชาวต่างประเทศมาช่วยไว้มาก โดยเฉพาะชาวยุโรปที่เคยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา จึงสามารถศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายได้มากขึ้น โดยอาศัยหลักฐานจากต่างประเทศเหล่านี้. 
       การใช้หลักฐานภาษาต่างประเทศนั้น ในด้านหนึ่งถือว่าเป็นข้อดีเพราะสามารถตรวจสอบหลักฐานที่เป็นอิสระจากกันได้มากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของการบันทึกหลักฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อคติ และความรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องที่บันทึก หากจะนำหลักฐานไปใช้จึงต้องผ่านกระบวนการวิพากษ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด จึงกล่าวได้ว่า การขาดหลักฐานเป็นข้อจำกัดของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา.
       จากการศึกษามาใคร่ขอแบ่งหลักฐานให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ออกเป็น
       หนึ่ง) หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และ
       สอง) หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร


       หนึ่ง) หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานเอกสารของไทย และหลักฐานเอกสารภาษาต่างประเทศ
       หลักฐานเอกสารของไทย ส่วนใหญ่เป็น:
  • พระราชพงศาวดาร04
  • พงศาวดาร05
  • คำให้การฉบับต่าง ๆ 
  • กฎหมายตราสามดวง 

      หลักฐานเอกสารภาษาต่างประเทศ อาทิ:
  • หนังสือชุดบันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ
  • เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
  • บันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของ ฟาน ฟลีต
  • ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม
  • สำเภาสุลัยมาน

       สอง) หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร   
     อาทิ: โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัง ป้อม วัด สถูป เจดีย์ โบสถ์ วิหาร เครื่องทองและเครื่องประดับ เรือในขบวนพยุหยาตราชลมารค ฯลฯ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสังคโลก ร่องรอยของอาหารและเครื่องใช้ที่หลงเหลืออยู่ในเรือ ฯลฯ
  • แผนที่กรุงศรีอยุธยาของนานาประเทศ (พม่า และชาวตะวันตก)
  • แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยา (เช่นในหนังสือจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ที่บอกชื่อสถานที่ริมฝั่งน้ำ)

ข้อด้อยของหลักฐานประเภทพระราชพงศาวดาร
หลักฐานประเภทพระราชพงศาวดารมีข้อด้อยอยู่หลายประการ คือ
       ประการแรก เป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์เป็นเวลานาน ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง แม้แต่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งถือว่าเชื่อถือได้มากที่สุด ก็เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่น ๆ ยิ่งเขียนขึ้นหลังจากนั้นมาก.
       ประการที่สอง พระราชพงศาวดารถูกชำระหลายครั้งและไม่ทราบว่าชำระส่วนใดบ้าง ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่ามีการชำระเพราะต้องการ "สร้าง" ประวัติศาสตร์ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ.
       ประการที่สาม การที่เนื้อความหรือแก่นของเรื่องเขียนเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ จึงละเลยการกล่าวถึงราษฎรในสังคม.



พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับต่าง ๆ
       ส่วนใหญ่มักผ่านการ "ชำระ" โดยผู้ชำระไม่บอกว่าชำระเรื่องใดบ้าง ทุกฉบับเขียนขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ในเนื้อหาเดียวกันเป็นเวลานาน บางฉบับเขียนขึ้นเพื่อรับใช้อำนาจใหม่ที่ขึ้นมาแทนที่อำนาจเก่าสมัยอยุธยา และพงศาวดารก็มีการคัดลอกต่อ ๆ กันมา พระราชพงศาวดารสมัยอยุธยามีหลายฉบับดังนี้

       1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (บ้างก็เรียก พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์)

"Luang Prasoet Chronicle of Ayutthaya", ที่มา: commons.wikimedia.org, วันที่เข้าถึง 21 สิงหาคม 2562.
 
       เป็นพระราชพงศาวดารฉบับที่ได้ชื่อว่าแม่นยำมากที่สุดและเชื่อว่าไม่ผ่านการชำระ บันทึกเหตุการณ์สมัยอยุธยาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลสมเด็จพระนริศ หรือ พระนเรศมหาราช พ.ศ.2147 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้รวบรวมพระราชพงศาวดารฉบับนี้จาก จดหมายเหตุโหร และเอกสารต่าง ๆ จากหอหนังสือเมื่อ พ.ศ.2223.
       พระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้ชื่อตามหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษณ์ เปรียญ) ผู้พบสมุดไทยต้นฉบับจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งและนำมามอบให้หอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2450.
       เนื้อหาของพระราชพงศาวดารที่พบนี้ยังไม่ครบถ้วน เข้าใจว่าเนื้อความคงจะขาดไปหรืออาจจะมีอีกสักเล่มหนึ่ง เพราะกล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ.2147 เมื่อสมเด็จพระนเรศหรือพระนริศมหาราช ยกพยุหยาตราชลมารค จากป่าโมกและทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่ ต.เอกราช ตั้งทัพชัยที่ ต.พระหล่อ และเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองหลวง ต.ทุ่งดอนแก้ว โดยไม่ได้กล่าวถึงผลของการสงครามในครั้งนี้ ลักษณะการบันทึกเป็นแบบสังเขป คือกล่าวโดยสรุป สั้น และกระชับแต่ได้ใจความ.

       2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอสมุดวชิรญาณ เลขที่ 222, 2/ก 125 จ.ศ.845-846 และพระราชพงศาวดารฉบับหมายเลข 223, 2/ก 104 จ.ศ.801-803 หรือเรียกว่า พงศาวดารฉบับปลีก เป็นพระราชพงศาวดารอีกฉบับที่เชื่อว่าไม่ผ่านการชำระ พระราชพงศาวดารฉบับแรกพบเมื่อ พ.ศ.2514 โดยนายไมเคิล วิเคอรี ต่อมาใน พ.ศ.2521 อุบลศรี อรรถพันธุ์ ค้นพบเนื้อความอีกส่วนหนึ่งที่อ้างว่าต่อกันได้พอดีกับฉบับ 222 ที่พบก่อนหน้านั้น แต่ ไมเคิล วิเคอรี วิเคราะห์ว่า พระราชพงศาวดาร 223 อาจเขียนขึ้นก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบยศขุนนางก่อนและหลังการปฏิรุปการปกครองในรัชสมัยนั้น อย่างไรก้ดีคุณอุบลศรีได้รวมพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับนี้เข้าด้วยกันในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอสมุดวชิรญาณ สันนิษฐานว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.
       เนื้อความเท่าที่เหลืออยู่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะกล่าวถึงเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เหตุการณ์ก่อนที่จะมีพิธีโสกันต์สมเด็จพระราเมศวร บรมไตรโลกนาถบพิตร ในศักราช 801 ปีมะแม สาระที่น่าสนใจในพระราชพงศาวดารฉบับนี้คือ แสดงให้เหฌนการปกครองแผ่อำนาจของกรุงศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือดังที่มีการกล่าวถึงสงครามกับเขมร และการขยายอำนาจไปทางตะวันตก คือ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งไม่พบรายละเอียดเช่นนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น

       3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)06 เชื่อว่าเป็นพระราชพงศาวดารที่น่าจะคัดลอกมาจากฉบับที่บันทึกไว้ในสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ หากจะมีการแก้ไขดัดแปลงบ้างก็คงทำเฉพาะบางตอนเท่านั้น พระราชพงศาวดารฉบับนี้มีบานแผนก07 บอกไว้ชัดเจนว่าได้ชำระใน จ.ศ.115708 หรือ พ.ศ.2338 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 แต่อาจจะถูกชำระมาแล้วในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะมีบานแผนกใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือว่า "เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกษฐ์ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป"09 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อใช้พระราชพงศาวดารฉบับนี้คือ มีการแก้ไขศักราชทำให้คลาดเคลื่อนไปหลายสิบปี ซึ่งไม่ทราบว่าเหตุใดผู้ชำระจึงแก้ไขเช่นนี้

       4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ หรือ ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัย ร.1 ผู้ชำระคือสมเด็จพระพนรัตน์หรือพระพิมลธรรมแห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นักประวัติศาสตร์คนสำคัญสมัยรัชกาลที่ 1 และสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้ชำระต่อจากสมเด็จพระนพรัตน์ บางครั้งเรียกพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวง เนื่องจากสมเด็จพระพนรัตน์ทรงทำงานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ร.1
 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนฯ ในสมัย ร.4 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ใน ร.1 ที่มา: popeyemg.blogdpot.com, วันที่เข้าถึง 30 สิงหาคม 2562

       พระราชพงศาวดารนี้ใช้ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นหลัก มีการแก้ไขเพิ่มเติมและแทรกเรื่องใหม่เข้าไป และได้รวม พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ซึ่งพระมหาธรรมธิราชมุนีเขียนไว้เข้าไปด้วย โดยแก้ข้อความตอนท้ายแล้วแต่งต่อลงมาจนถึง พ.ศ.2335.

       หากผู้ศึกษาต้องการทราบเรื่องของสมเด็จพระเพทราชากับสมเด็จพระเจ้าเสือ ควรค้นคว้าจากพระราชพงศาวดารฉบับใด?
       ควรศึกษา พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ช่วงก่อนบานแผนก เพราะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าข้อความตั้งแต่รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นงานที่ชำระในสมัยกรุงธนบุรี จึงกล่าวถึงสมเด็จพระเพทราชาและสมเด็จพระเจ้าเสือใกล้เคียงความเป็นจริง ส่วนข้อความหลังบานแผนกไปแล้วนั้น เป็นงานที่ชำระใหม่ในสมัย ร.1 ซึ่งเชื่อกันว่าผู้นำในสมัยนี้ต้องการอธิบายการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา จึงพยายามชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาจนถึงรัชกาลสุดท้ายพระเจ้าเอกทัศน์ ผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม จนทำให้บ้านเมืองต้องล่มสลายในที่สุด
       พระราชพงศาวดารอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เชื่อว่าเนื้อความตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระยังไม่ได้ถูกชำระ.

         5. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม พระราชพงศาวดารฉบับนี้ถูกชำระโดยฝ่ายวังหน้าสมัย ร.1 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ร.2) เนื้อความกล่าวถึงพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และการดำเนินนโยบายในการขึ้นครองราชย์ของ ร.1 เริ่มต้นเนื้อเรื่องที่การสร้างเมืองสวรรคโลกและพิษณุโลก รวมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ในเมืองทั้งสอง ซึ่งการดำเนินเรื่องเหมือน พงศาวดารเหนือ ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) ขุนนางในฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเรียบเรียงขึ้นหลังจากชำระพระราชพงศาวดารฉบับนี้แล้ว
          พระราชพงศาวดารกรุงสยาม นี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม เพราะเป็นพระราชพงศาวดารฉบับเดียวที่พบในประเทศอังกฤษ โดยมีผู้มอบให้ บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ประเทสอังกฤษ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2491 ต่อมาศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ไปพบเข้า จึงถ่ายไมโครฟิล์มส่งกลับมาให้กรมศิลปากร.

         6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)10 พระราชพงศาวดารฉบับนี้ผ่านการตรวจและแก้ไขโดยใช้ฉบับพระพนรัตน์เป็นหลัก ข้อความส่วนใหญ่จึงเหมือนกับ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ ยกเว้นข้อความจากปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ11 ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเขียนภายใต้ราชวงศ์บ้านพลูหลวงและคงไม่ได้ถูกชำระในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นพระราชพงศาวดารฉบับเดียวที่กล่าวถึงเหตุการณ์สมัยปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างค่อนข้างแม่นยำ ในขณะที่ฉบับอื่นคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับหลักฐานชั้นต้น เช่นไม่กล่าวว่าเจ้าฟ้าอภัยเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.
ที่มา: sites.google.com, วันที่เข้าถึง 31 สิงหาคม 2562.

       นอกจากนี้ยังมี พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เรียบเรียงและพระองค์ทรงตรวจแก้ไข นับว่าเป็นพระราชพงศาวดารที่เชื่อถือได้ยากที่สุด เพราะเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์มากที่สุด (ทรงร่วมกันแต่งตำนานกรุงสยามเริ่มความตั้งแต่การสร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงราชวงศ์จักรี) การจะนำมาใช้จึงต้องระมัดระวังมาก

       และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับนายแก้ว มีเนื้อความสั้น ๆ เฉพาะรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ.
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (9 ก.ค.2351 - 14 ส.ค.2414), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 4 กันยายน 2562

        7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์สองเล่ม หรือ พระราชพงศาวกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเลย์ เนื่องจากนายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)12 มิชชันนารีชาวอเมริกันเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2406 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องจากพิมพ์เย็บเป็นสองเล่ม จึงเรียกว่า พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพิมพ์สองเล่ม
         ในบานแผนกของพระราชพงศาวดารฉบับนี้บอกให้รู้ว่าเรียบเรียงขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2393 และหมอบรัดเลย์อ้างว่า พระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วโดยพระศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เป็นพระอาลักษณ์ในขณะนั้น
         เนื้อความคล้ายกับ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) แต่ต่างกันในส่วนข้อความตอนปลาย โดยพระราชพงศาวดารฉบับนี้จบลงที่ พ.ศ.2335 ตอน ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชยกกองทัพไปช่วยเมืองทวาย.


 
 
ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01.  ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา: ชุดถาม-ตอบเสริมความรู้สาระประวัติศาสตร์, ผศ.ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, สำนักพิมพ์สารคดี, พิมพ์ครั้งที่ 1, มี.ค.2560.
02.  อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์, กำพล จำปาพันธ์, สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, พิมพ์ครั้งที่ 1, ต.ค.2559.
03.  รู้เรื่องพระพุทธรูป: ที่มา คติความหมาย ศิลปกรรม ทุกยุคทุกสมัย, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, สำนักพิมพ์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรกฏาคม 2560.
04.  พระราชพงศาวดารเป็นงานวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ที่กษัตริย์ได้ให้บันทึกหรือรวบรวมเรื่องราวในราชอาณาจักร จึงเป็นงานเขียนเพื่อเทิดพระเกียรติทางอ้อม จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นเพียงบันทึกเรื่องประวัติของราชวงศ์ที่ครองกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น จุดมุ่งหมายของการจดจึงไม่ได้มุ่งหมายที่จะจดพัฒนาการแห่งสังคมไทยในรับเอกภาพทั้งมวลตามแบบของประวัติศาสตร์
ตัวอย่างจาร จารึก สมุดไทยดำ, ที่มา: kingkarnk288.wordpress.com, วันที่สืบค้น 12 สิงหาคม 2561.
     ต้นฉบับสมุดไทยดำ บันทึกเรื่องราวพระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรภาษาไทยรูปแบบหนึ่ง

05.  พงศาวดารแตกต่างกับพระราชพงศาวดาร คือ พงศาวดารเน้นเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ราชอาณาจักร เช่น สงขลา ปัตตานี ฯลฯ และเมืองที่เป็นเพื่อนบ้าน เช่น พม่า มอญ ญวน ฯลฯ ส่วนพระราชพงศาวดาร เน้นการเขียนเรื่องราวของกษัตริย์ที่ศูนย์กลาง คือที่กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ.
06.  เรียกชื่อตามพันจันทนุมาศ (เจิม) ข้าราชการในกรมเลขาธิการของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำมามอบให้แก่หอสมุดวชิรญาณเมื่อ พ.ศ.2450 สันนิษฐานว่าได้ต้นฉบับมาจากเมืองนครศรีธรรมราช
07.  บานแผนก เป็นคำนาม หมายถึงบัญชีเรื่องหรือสารบาญ
08.  จ.ศ. คือจุลศักราช เป็นศักราชที่พระสังฆราชบุพโสระหัน ชาวพม่า คิดขึ้นใช้ จ.ศ.1 ตรงกับ พ.ศ.1182 ท่านผู้นี้เมื่อสึกจากสมณเพศแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ครองราชย์อยู่ที่เมืองพุกาม ในประเทศไทยมีการใช้จุลศักราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
09.  ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 39 {ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 (ต่อ) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)}, (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512), หน้า 214-215.
10.  เรียกชื่อเป็นเกียรติพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เนื่องจากบุตรชายของท่านคือนายจิตร เป็นผู้นำมามอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.2451.
11.  นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา; (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2521), หน้า 8.
12.  หมอบรัดเลย์, นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) เป็นนายแพทย์มิชชันนารีอเมริกันยุคบุกเบิกที่เข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2378 เปิดสำนักงานรักษาคนเจ็บและแจกยารักษาโรคอยู่ที่วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร - ย่านเยาวราช) ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เรือนเช่าของเจ้าพระยาพระคลังใกล้วัดประยุรวงศาวาส
Dan beach Bradley, M.D. ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 13 กันยายน 2562  ชาตะ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2347 เมืองมาร์เซลลัส (Marcellus), นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา มรณะ 23 มิถุนายน พ.ศ.2416 จังหวัดพระนคร, สยาม
 
       งานสำคัญของหมอบรัดเลย์คือ การนำวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมารักษาผู้ป่วยและเผยแพร่ในวงการแพทย์ของไทย ในปีที่เข้ามาเมืองไทยหมอบรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์อักษรไทยจากประเทศสิงคโปร์มาด้วย และเริ่มพิมพ์หนังสือสอนศาสนาภาษาไทยเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนของปีถัดมา.





PHOTO GALLERY:
ภาพที่ 01: ภาพบุคคล กับป้อมประตูข้าวเปลือก ราว พ.ศ.2517, เครดิตที่มา และผู้ถ่าย.


 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com