MENU
TH EN
First revision: Nov. 04, 2014
Last revision: Nov. 07, 2017
 
เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

พร่างพรายแสง   ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า         เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง         ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย       ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า               ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม       แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา         ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ           ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย         ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง             ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า          มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย       ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย       อยู่จนฟ้ารุ่งราง.


เพลงแสงดาวแห่งศรัทธานี้ แต่งขึ้นขณะเมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจองจำในคุกบางขวาง จิตรมองท้องฟ้ายามค่ำคืนลอดลูกกรงไป ก็แต่งเนื้อเพลงนี้ไป.
จิตร   ภูมิศักดิ์
 

เกิดเมื่อ  25 กันยายน พ.ศ.2473 ณ ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
เสียชีวิตเมื่อ  5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 ณ ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
สิริอายุ 35 ปี
อาชีพ นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักคิด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
1

           จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า มีชีวิตอยู่ในสมัยกึ่งพุทธกาล ระหว่าง พ.ศ.2473-2509. เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและนักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย. จิตรเป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก. มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง. ขณะเดียวกัน จิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด.

          จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ.2509 หลังเข้าร่วมต่อต้านการปกครองด้วยระบบทหาร โดยถูกพวกอาสาสมัครฝั่งตรงข้ามและเหล่าทหารล้อมยิง.2


ประวัติ
          จิตรเป็นบุตรของนายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายการตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจนของรัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม.

          ต่อมาในปี พ.ศ.2479, จิตรติดตามบิดาซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปี พ.ศ.2482 จิตรได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ. และอีก 7 เดือนต่อมา บิดาก็ได้รับคำสั่งย้ายให้ไปรับราชการที่เมืองพระตะบอง มณฑลบูรพา. ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองภายใต้การปกครองของไทย จิตรจึงได้ย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เมืองพระตะบองนั่นเอง.

          ในปี พ.ศ.2490 ประเทศไทยต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด.

          บิดาและมารดาของจิตร ภูมิศักดิ์ แยกทางกัน หลังจากนั้นหลายปีต่อมาบิดาของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้แต่งงานใหม่กับนางสงวน สร้างครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็นหญิง 4 คน และชายคนหนึ่ง (คนกลางเป็นชาย).

          พ่อของจิตร (นายศิริ) เป็นคนที่มีความก้าวหน้าและถือว่าหัวสมัยใหม่มากสำหรับคนในยุคนั้น. ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาเสมอ เช่น กล้องถ่ายรูป ทรานซิสเตอร์ ฯลฯ. และไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก้าวไปพร้อมกับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของบิดาส่วนหนึ่ง เป็นผลส่งต่อมายังแนวคิดของจิตร ให้มีความก้าวหน้าและเปิดโลกทัศน์ที่กว้างกว่าเด็กทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น.

         มีงานฉันท์บทหนึ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนในคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ดังนี้:-

        o  เปรี้ยงปร้างปรึงคนึงสุรอุโฆษ
        ลือระเบิดโสตร สรนั่น
        ครื้นคำรณสกลวิภาวะฉัน
        พลิกผะผกผัน ตระหนก
        ผายอำนาจตรวาดธรตระดก
        พ่างหทัยพก แสยง
        สี่ศรเพลองเถกองสรดำแคง
        พรุ่งพระพรายแสง วะวาบ
        ซร้องเสรอญองค์พระทรงวรนุภาพ
        ปวงประชาอาบ สุชล
        อ้าทรงธรรม์อนันทมหิดล
        ทิ้งประชาชน อนาถ
        ควรฤๅไคลมไหศุริยราชย์
        แลประชาราษฎร์ คณางค์
       ว้าเหว่ไหวฤทัยนิบมิจาง
       โศรกบรู้วาง จะฟื้น
       ร่ำไห้โหยระโรยอุระสอื้น
       สุดจะกล้ำกลืน วิโยค
o
      
      "๒๙ มีน์ ๙๓ งานถวายพระเพลิง"


แนวคิดและการต่อสู้
          ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักดิ์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกจากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่จิตรเป็น สาราณียกร ในกับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2496.
 
          

    
  
กรณี "โยนบก" จิตร  ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ 3
          เมื่อสมัยที่จิตร ภูมิศักดิ์ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 แผนกวิชาอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (สมัยนั้นยังไม่มีการันต์บนตัวอักษร ณ) เมื่อปี พ.ศ.2496. จิตรได้รับการคัดเลือกจากตัวแทนนิสิตคณะต่าง ๆ รวม 6 คณะราว 30 คน ให้เป็น สาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (สจม.) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า สาราณียกรของมหาวิทยาลัย โดยรับหน้าที่เป็นบรรณาณิการ ในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับปิยมหาราชานุสรณ์ 2496 หรือที่มักเรียกกันว่า หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาฯ ซึ่งเป็นที่มาของ "กรณีโยนบก" อันอื้อฉาวและโด่งดังครั้งแรกและครั้งเดียว ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย.

                                                                      ท้าทายเทวพิมานตระหง่านนภพิสัย
                                                                เลอทวยสุเทพไทประสิทธิ์
                                                                งามตึกอักษรศาสตร์วิลาสวรวิจิตร
                                                                รื่นรมย์มโนนิตย์ นิรันดร์
                                                                เชิญเนาผองนุชเพียรบำเรียนวิวิธวรรณ
                                                                โดยเจตน์ประจวบบรร- ลุเทอญฯ


                                                                                           จักร ภูมิสิทธิ์
                                                                                           กลอนต้อนรับนิสิตใหม่ ของคณะอักษรศาสตร์.
 
        ในครั้งนั้น จิตรได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ " ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไขหรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุมใหญ่ ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือ ในปี พ.ศ.2497.

        ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นานก็ถูกไล่ออก เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงการวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์ วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน".

        ปี พ.ศ.2498 จิตรกลับเข้ามาเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ.2500 จากนั้นจิตรก็เข้าเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สถาบันค้นคว้าเรื่องเด็กของยูเนสโกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร.

        จากการสอนของจิตร ทำให้หนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ.2500 เป็นหนังสือที่ปฏิวัติแนวคิดเรื่องศิลปะอย่างขุดรากถอนโคน มีการเผยแพร่งานเขียนเรื่อง "ศิลปเพื่อชีวิต" ซึ่งใช้นามปากกาผู้เขียนว่า "ทีปกร" (ต่อมาสำนักพิมพ์เทเวศน์ จึงรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน") หนังสือรับน้องศิลปากรนี้ จัดพิมพ์ 1,000 เล่ม. แต่หลังจากมีการแจกหนังสือดังกล่าว ได้ถูกบรรดานักศึกษาคณะจิตรกรรม ต่อต้านและนำไปทำลายเป็นจำนวนมาก จนเกิดการชกต่อยระหว่างผู้มีแนวคิดแตกต่างกันสองแนวทาง.

        และปีเดียวกันนี้ จิตรได้เขียนบทความชื่อ "บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี" ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนวัฒนธรรมศักดินา โดยเฉพาะวรรณกรรมของชนชั้นสูงในเรื่อง "อิเหนา" และเขียน "เพลงยาวบัตรสนเท่ห์" เพื่อสะท้อนการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น.

        จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความคิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2501 จิตรถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ.

        เนื่องจาก จิตรถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนัก ทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ.2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับการปกครองด้วยระบอบทหาร ในนาม สหายปรีชา ต่อมาด้วยการคุกคามจากอำนาจรัฐ จิตรถูกกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิต ตายด้วยกระสุนปืนที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509.

   
ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ เรียงตามปี พ.ศ. ชื่อผลงาน นามปากกาและหมายเหตุ
 
ที่ ช่วงปี ชื่องาน นามปากกา หมายเหตุ
1 พ.ศ.2496 จากพญาฝัน-ถึงทยอยใน จักร ภูมิสิทธิ์ หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม ประจำปี 2496 จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
2 "  " กลอนต้อนรับนิสิตใหม่  จักร ภูมิสิทธิ์ "          "
3 "  " ขวัญเมือง NA. "          " - เป็นนวนิยายขนาดสั้น อันสะท้อนถึงเจตคติที่มีต่อสภาพสังคมและการเมืองของไทย ซึ่งถ่ายทอดผ่านตัวละครนาม "ขวัญเมือง" หญิงผู้ยึดเอาภารกิจหน้าที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็น เป้าหมายสำคัญสูงสุดในชีวิตของตน โดยแนวคิดดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วย ทำให้ คน ได้วิวัฒน์พัฒนามาเป็น มนุษย์โดยสมบูรณ์ ได้ ทั้งนี้ ตัวละครหญิงนาม ขวัญเมือง นี้อาจจะเป็นภาพสะท้อน ผู้หญิงในอุดมคติ ของจิตรก็เป็นได้.
4 "  " เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน (กลอนเรื่องแม่)4 ศูล ภูวดล "         " - (ถูกตัดออกไม่รวมเย็บเป็นเล่มของหนังสือ 23 ตุลาฯ) จัดในประเภทกลอนแปด ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนถึงแนวคิดของจิตรที่มีต่อปัญหาทางจริยธรรมในเรื่องเพศของผู้หญิงที่มักชิงสุกก่อนห่าม และบทบาทของความเป็นแม่ โดยกล่าวตำหนิ แม่บางคน ที่ไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกน้อยที่เป็นสายโลหิตของตน ซึ่งเกิดจากความสำส่อน หลงระเริงในรสกามารมณ์อันไม่เหมาะสม
5 "   " การปฏิวัติในฝรั่งเศส NA. "         " - (ถูกตัดออกไม่รวมเย็บเป็นเล่มของหนังสือ 23 ตุลาฯ)
 6    "  " พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติคแก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้
หรือ "ผีตองเหลือง"5
นาครทาส "          "-"ศาสนาพุทธเป็นปรัชญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะเชื่ออย่างมงาย โดยไม่มีเหตุผล" และกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าผู้บัญญัติศาสนาพุทธนั้น เพื่อจะปฏิรูปจิตใจและสังคมมนุษย์ให้อยู่ในความสงบสุข ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน"
7   ความใฝ่ฝันแสนงาม6 NA.  ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2525
 8  พ.ศ.2498-2499 ตำนานนครวัด7  NA.  (สรุปความจากคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2525 สำนักพิมพ์ไม้งาม) มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเขียนก่อนที่จิตรจะเข้าคุก เพราะงานเขียนในคุก มีบางตอนข้อมูลแย้งกับเรื่องนี้ หรือไม่ก็เขียนในช่วงที่เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ปีสุดท้ายและได้เป็นไกด์ของบริษัทบางกอกทัวร์ ซึ่งเป็นช่วงที่จิตรไปนครวัดบ่อย.
9 พ.ศ.2500 ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ทีปกร ดิมชื่อ "ศิลปเพื่อชีวิต" เป็นงานเขียนในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2500 (ต่อมาสำนักพิมพ์เทเวศน์จึงรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน) ซึ่งสั่นสะเทือนวงวรรณกรรมของพวกเผด็จการฟาสซิสต์และศัตรูของประชาชน ที่ได้มอมเมาประชาชนมานาน.
10 พ.ศ.2500 บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี NA. บทความมีเนื้อหาล้อเลียนวัฒนธรรมศักดินา โดยเฉพาะวรรณกรรมของชนชั้นสูงในเรื่อง "อิเหนา".
11 พ.ศ.2500 เพลงยาวบัตรสนเท่ห์ NA. เป็นการสะท้อนการฉ้อราษฎร์บังหลวง.
 12  พ.ศ.2501 คนขี่เสือ8  จิตร ภูมิศักดิ์  งานแปลวรรณกรรมอินเดีย "He Who Rides a Tiger" ของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์. (ฺBhabani Bhattacharya)
 13.1 พ.ศ.2508  ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ9  จิตร ภูมิศักดิ์  ตีพิมพ์ พ.ศ.2519
 13.2    ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม    (ต่อมาพิมพ์รวมเล่มกับ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" เป็นเล่มฉบับสมบูรณ์)
14  พ.ศ.2500  โฉมหน้าศักดินาไทย  สมสมัย ศรีศูทรพรรณ  ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 หนังสือเล่มนี้ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดือดร้อนอย่างหนัก เหมือนถูกน้ำร้อนราดใส่ ถึงกับต้องเขียนหนังสือ "ฝรั่งศักดินา" ออกมาโต้ (ที่มา: ชมรมหนังสือแสงตะวัน. ม.ป.ป.:8-9)
15   ภาษาและนิรุกติศาสตร์    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2519
16   ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2548
17   บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา ทีปกร  
18   ชีวิตและศิลป สมชาย ปรีชาเจริญ  
19 พ.ศ.2505 โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2524
 20   ความเรียงว่าด้วยศาสนา แปล ผลงานของ ศ.ยอร์จ ทอมสัน
 21   ว่าด้วยงานศิลปวรรณคดี แปล ปราศรัยโดย โจหยาง
 22   เสียงเพลงแห่งการต่อต้าน ศรีนาคร  
 23   บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย และภาคผนวกชีวิตและงานของปิกัสโส    
24   สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526
25    โคทาน  แปลในนามปากกา ศรีนาคร วรรณกรรมชิ้นเอกของ เปรมจันทร์ (แปลจบถึงภาคแรก), ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2521
 26    นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา สิทธิ ศรีสยาม  ผนวกกับนิราศหนองคายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2518
 27    บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม ศิลป์ พิทักษ์ชน  ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2517
 28    ความอบอุ่นอันอ่อนหวาน   บทกวี, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2525
 29   คาร์ล มากซ์ (Karl Marx, Biography) แปล  ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2518
 30    พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี    ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2522
31    แม่ (Mother) แปล  ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2519

หากท่านผู้อ่าน มีข้อชี้แนะ เพิ่มเสริม ให้ปรับปรุง หรือตัดทอน เพื่อให้ข้อมูล ประวัติ และรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ของ "จิตร ภูมิศักดิ์" มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอเชิญแจ้งมาได้ที่ info@huexonline.com  จักเป็นพระคุณยิ่ง และใคร่ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้.

อภิรักษ์ กาญจนคงคา


ที่มาและหมายเหตุ:
1. จาก. th.wikipedia.org/จิตร_ภูมิศักดิ์, วันที่สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2557.
2. จากข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า คนที่ยิงจิตรตายนั้น สหรัฐอเมริกาให้รางวัลโดยไปเที่ยวฮาวาย 3 เดือน. ตุลาคม 24
3. จาก. www.reocites.com/thaifreeman/jit/yonbok.html, วันที่สืบค้น 5 พฤศจิกายน 2557.
4. กลอนเรื่องแม่
                       หวังเพียงความย่ามเหลิงระเริงรี่
                  จนเสือกมีทำไมมิได้ฝัน
                  เมื่อดื่มด่ำปลื้มปลักนำรักกัน
                  ใช่หวังปั้นเด็กผีให้มีมา

                       ลูกนั้นหรือคือผลพลอยคนได้
                  จากความใคร่คราวหรรษ์เปลื้องตัณหา
                  เฝ้าทำลายหลายครั้งประดังมา
                  มันทนทายาทเถนได้เดนตาย.


    แต่ใช่ว่างานชิ้นนี้ของจิตรจะกล่าวตำหนิแต่ผู้หญิงที่ทำผิดทำนองครองธรรม แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญผู้หญิงที่ถนอมกล่อมเลี้ยงดูลูกน้อยของตนด้วยความรักว่าเป็น แม่ที่แท้จริง ส่วนแม่ที่ตัดสินใจทำลายชีวิตลูกน้อยของตนด้วยการทำแท้ง และแม่ที่ทอดทิ้งไม่เหลียวแลลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดนั้น จิตรเสนอว่า ควรได้รับการประณามว่าเป็นเสมือน อาชญากร หรือ หญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน ดังกลอนบทที่ว่า...

                       อันรสร่านซ่านดิ้นคือสินจ้าง
                  ที่ตอบต่างเงินตราให้มารศรี
                  ซื้อเด็กคน...ปรนสบายให้หลายที
                  แล้วคุณมีต่อใครที่ไหนรา !

                       ไอ้เรื่องกลุ้มอุ้มท้องที่เบ่งโย้
                 ลามกก็โขนั้นก็จริงหรอกหญิงจ๋า
                 แต่สินจ้างรายได้เราได้มา
                 ต้องใจกล้าลงทุนสมดุลย์กัน

                       พระคุณแม่แท้ใช่ที่ได้เบ่ง
                อยู่ที่เล็งรักถนอมเหมือนจอมขวัญ
                แม้รีดแกล้งแท้งทำระยำยัญ
                เธอมีทัณฑ์ฐานฆ่า...อาชญากร

                       ถ้าแม้นใคร่ใจที่จะมีลูก
                ฤทัยผูกรักล้ำทั้งพร่ำสอน
                อุตส่าห์เลี้ยงกล่อมถนอมนอน
                ขอกราบกรนั่นแหละแม่ที่แท้จริง

                      แต่เธอคลอดทอดทิ้งแล้ววิ่งหนี
                ไม่รู้ชี้เป็นตายหรือชาญหญิง
                ไม่แลเหลียวเจียวหลังเพราะชังชิง
                เธอคือหญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน.


5. "ผีตองเหลือง" นับเป็นงานเขียนชิ้นแรกของจิตร ที่ได้นำเอา ปรัชญาสำนักมาร์กซิสต์ คือ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (History materialism) กับวัตถุนิยมไดอะเลคติค หรือ วัตถุนิยม (Dialectical materialism) มาใช้ศึกษาวิเคราะห์พระพุทธศาสนาของไทย.

 

        ซึ่งจิตรน่าจะเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยมตามปรัชญาลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ความคิดของสตาลินและเหมาเจ๋อตุงในช่วงที่เรียนอยู่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่างปี พ.ศ.2493-2494 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในเรื่องทรรศนะความคิดเห็น โดยจิตรได้ศึกษาเรียนรู้ ความคิดใหม่ นี้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนิตยสารรายเดือนอักษรสาสน์ ที่มีคุณสุภา ศิริมานนท์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ อันมีเนื้อหาสนับสนุนและเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมตามแนวความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์.

        ดังนั้นนิตยสารอักษรสาสน์นี้ จึงเปรียบประหนึ่งอาหารสมองชั้นเลิศของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น จนครั้งหนึ่ง จิตร ถึงกับเอ่ยปากว่า "ไม่ต้องสงสัยที่อักษรสาสน์จะต้องมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน".

        แต่เรา (นิยม ประชาธรรม์ ผู้เขียนใน www.reocites.com/thaifreeman/jit/yonbok.html) กลับพบว่าความรอบรู้ใน ปรัชญาปฏิวัติ สำนักมาร์กซ์ของจิตร ในช่วงที่เขียนความเรียง ผีตองเหลือง นี้ ยังคงสับสนและอ่อนด้อย ไม่ลุ่มลึกเท่านักศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินรุ่นใหญ่อย่าง ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สมัคร บุราวาส, อัสนี พลจันทร, เปลื้อง วรรณศรี, สุภา ศิริมานนท์ และอุดม สีสุวรรณ เป็นอาทิ.

        ครั้งหนึ่ง จิตรได้เคยปรารภกับทวีป วรดิลก นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า เจ้าของนามปากกา ทวีปวร ถึงงานเขียนของตนในช่วงที่เป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัยอย่างไม่สู้จะพอใจเท่าใดนัก โดยกล่าวว่า "ตอนนั้นความคิดของผมยังสับสน ยังไม่อาจชี้ให้เห็นชัดเจนว่าทางออกที่ถูกต้องเป็นอย่างไร" และ "ผมยังไม่สู้จะเข้าใจปัญหาต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ ที่เขียนไปผิดทั้งนั้น".

        จิตรได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ช่วยจุดประกายให้เขียนความเรียง ผีตองเหลือง ไว้ในตอนท้ายของบทความว่า "เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าผ่านไปทางย่านชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้เห็นกระถางมังกรใบใหญ่ ตั้งอยู่บนทางเท้า ในกระถางใบนั้นบรรจุทรายไว้เต็ม บนพื้นทรายมีเหรียญดีบุกราคาต่าง ๆ เรียงรายเปะปะเต็มไปทั้งพื้นหน้า ตรงกลางกระถางมีไม้ระกำขนาดเขื่องปักชลูดขึ้นไป และบนไม้ระกำนั้นมีแขนงไม้เล็ก ๆ ปักแผ่เป็นรัศมีโดยรอบ ตรงปลายของแขนงไม้นี้ติดธนบัตรใบละยี่สิบบาทบ้าง สิบบาทบ้าง และยังมีธนบัตรใบละบาทเป็นบริวารพราวไปหมด เห็นจะไม่ต้องให้ข้าพเจ้าอธิบายก็ได้ว่า เขาทำบุญอวดกัน ถ้าข้าพเจ้าบังเอิญเกิดศรัทธาลงกระถางกับเขาบ้างสักร้อยบาท ครุฑแดงของข้าพเจ้าก็คงจะได้รับเชิญไปปาฎิหารย์ลอยระริกอยู่บนยอดไม้สูงของไม้ระกำนั้นอย่างไม่มีปัญหา และถ้าข้าพเจ้าบ้า ๆ บอ ๆ อย่างคนบางคน ก็คงยิ้มแก้มแทบแตกที่ได้บริจาคธนบัตรใบละร้อยบาทไปติดยอดกระถางสีแดงแจ๋ข่มรัศมีใบอื่น ๆ ทั้งปวง ได้สาสมกับประเพณีทำบุญเอาหน้า และถ้าบ้าบอต่อไปอีกสักส่วนหนึ่ง ก็คงได้นั่งสร้างวิมานว่า ชาติหน้าคงจะสุโขสโมสรกับที่ทำบุญไปตั้งร้อยบาท".

        "ระหว่างหยุดหน้าร้อน ข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมบ้านทุกปี จำได้แม่นยำว่า ทุกวันต้องมีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งประเคน เทิ้งบ้องกลองยาวที่แขวนเฉวียงบ่าดังครืนโครมเป็นจังหวะกับฆ้องแตก ๆ ใบย่อม กรายเข้ามาแถวละแวกที่เราอยู่ ข้างหน้าของคนหมู่นี้มีชายคนหนึ่งประคองพานแว่นฟ้ารองรับเครื่องไตรจีวร อีกคนหนึ่งถือขันลงหินสำหรับรับเงินที่ชาวบ้านศรัทธาบริจาค คุณย่าคุณยายละแวกนั้นดูรู้สึกว่า ช่างไม่เบื่อที่จะคลี่ชายพกหยิบเงินปลีกขึ้นจรดเหนือหัว แล้วหย่อนลงไปในขันลงหินนั้นเลย พวกเราหลายคนคุ้นหน้าพวกนี้ดี รู้ดีว่าเขาหากินโดยเที่ยวหลอกลวงประชาชนว่า เขาเป็นคณะที่เที่ยวทำการเรี่ยไร เพื่อบวชนาคอนาถาตระเวณแห่กันไป เข้าหมู่บ้านโน้นออกหมู่บ้านนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ตกเย็นก็แบ่งรายได้กันแล้วก็พากันไปกินเหล้าเมายาหยำเป พวกชาวบ้านอย่างเรา ๆ ถึงแม้จะรู้ความจริงกันบ้าง เราก็ไม่ค่อยกล้าพูดหรือแฉโพยขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีอิทธิพลมืดอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เอะอะขึ้นก็รังแต่จะเสียเวลาทำมาหากินเปล่า ตกลงเขาก็พากันเอ้อระเหยลอยชายมาใช้ความงมงายในเรื่องนรกสวรรค์ของชาวบ้านเป็นเครื่องยังชีพได้ตามสบายตลอดปี".

        "ข้าพเจ้าจำได้แน่นแฟ้นอีกเหมือนกันว่า ทุกวันนี้ต้องมีสุภาพบุรุษในเรือนร่างสีเหลืองโกนศีรษะโล้น ลอออ่องมาเที่ยวยื่นกระดาษแบบพิมพ์บอกบุญเรี่ยไร ซึ่งเรียกกันว่า "ฎีกา" ให้แก่ชาวบ้าน จุดประสงค์ก็เพื่อรวบรวมเงินไปปลุกสร้างอาคารสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมครึคระหลอกลวงประชาชน ซึ่งเรียกกันว่า "ศาลา" บ้าง สร้างที่พำนักกันโอ่โถง เรียกว่า "กุฎิ"บ้าง และคนพวกนี้มิได้ย่างกรายเข้ามาเพียงวันละครั้ง แต่วันละอย่างน้อยถึงสองหรือสามครั้ง ซึ่งเราก็รู้ไม่ได้และไม่เคยนึกอยากจะรู้ว่า เขามาจากสำนักไหนกันนัก ในละแวกบ้านที่ข้าพเจ้าถือเป็นแดนเกิดนั้น สภาพก็เช่นเดียวกับบ้านนอกคอกนาทั่ว ๆ ไป

       บ้านหลังคาแฝด ฝาก็ฝาแฝด พื้นเรือนเป็นไม้ขัดแตะ แต่ละหลังโกโรโกโสจะพังมิพังแหล่ด้วยอายุอานาม พวกเรามีผ้าหยาบ ๆ พอปกปิดส่วนอุจาดตาของร่างกายกันคนละชิ้นสองชิ้น ดำรงชีวิตกันอย่างแร้นแค้น แต่พวกที่มายื่นฎีกาให้แก่เรานั้น บางพวกมีผ้าห่มแพรสีไพลผืนใหญ่ ใส่รองเท้าหนังสานรัดส้นราคาคู่ละหลายสิบบาท มีย่ามสีสดปักลวดลายงามตา ขนาดที่ถ้าเราจะซื้อสักใบหนึ่ง บางทีจะต้องอดข้าวกันนับปี ที่พำนักของเขาน่ะหรือ หลังคากระเบื้องเกล็ด บางหลังแถมเคลือบไว้เป็นเงาวาวปลาบตาฝากระดาน เสาไม้จริงต้นใหญ่ พื้นขัดมัน และเรือนโรงโอ่โถงนั้นออกจะคับแคบเกินไป ถ้าเขาจะต้องยัดเยียดกันอยู่หลังละตั้ง

       สองสามคน เขาก็จะวิ่งไปพิมพ์ฎีกามาบอกบุญเรี่ยไรขอเงินจากเรา... เราพวกที่แทบจะไม่มีหลังคาคุ้มหัวกระบาล... ไปสร้างมัน   เพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกหนึ่ง สองสาม สี่หลัง และเวลาที่พวกเราซึ่งยังงมงายซื่อหลงเชื่อในชาตินี้ชาติหน้า ควักเงินออกจากไถ้ด้วยมืออันสั่นเทามอบให้เขา เขาก็จะดึงเชฟเฟอร์ด้ามทองอร่ามตาออกมาเขียนใบสำคัญให้เราถือไว้ชมบุญของตัวเอง พฤติการณ์ดูเป็นทำนองเดียวกับการขายใบล้างบาปของพระในคริสตศาสนาสมัยโน้นไม่มีผิด ดูเขาไม่มียางอายเอาเลยที่พากันมารุมเบียดเบียนคนที่แทบจะไม่มีเบี้ยพอยาไส้อย่างพวกเรา"

6. "ความใฝ่ฝันแสนงาม" จิตร ได้บอกเล่าถึงครอบครัวตนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่สิ่งที่รับกลับเป็นความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ซึ่งประสบการณชีวิตดังกล่าวได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้จิตรได้เขียนบทความวิจารณ์พุทธศาสนา ในนามของ ผีตองเหลือง ดังเนื้อความที่ว่า

        "อีกข้อหนึ่งที่ชีวิตระยะนี้สอนให้ก็คือเรื่องทำบุญ แม่ทำบุญมาแต่เล็ก ไปวัด ตักบาตร รับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ ฯลฯ แต่ในระยะที่ยากจนและจะหาเงินส่งลูกนี้ สวดมนต์ภาวนาเท่าไร บุญแต่หนหลังก็ไม่ช่วยเลย มีแต่ยิ่งลำบาก ยากจน ยิ่งอด ๆ อยาก ๆ จะกินแต่ละคำก็ต้องคิดหน้าคิดหลังว่าหาพอให้ลูกแล้วหรือยัง ถ้าวันนี้ยังหาไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายของลูก ก็ต้องพยายามกินแต่น้อยเข้าไว้ อะไรที่พออดได้ก็อดเอาเสียเลย แม่เห็นว่าความปรารถนาของแม่ที่จะส่งเสียลูกเป็นของดี เป็นของถูกต้องทำไมบุญไม่ช่วย ? ส่วนที่คนเลว ๆ เสเพล คดโกง ทำไมรวย ? ยิ่งกว่านั้นในระยะนั้นก็มักถูกพระมาบอกบุญเรี่ยไร แจกฎีกาทอดกฐิน สร้างกุฏิ สร้างศาลา ฯลฯ บ่อย ๆ แม่จึงเริ่มรู้สึกว่าตนเองอยู่ห้องแถว พื้นผุ จะเดินก็ต้องเลือกเหยียบ หลังคาก็รั่วพรุนแล้วทำไมพระจึงยังมาเรี่ยไรเอาเงินที่หายากแสนยากไปปลูกกุฏิอยู่สบาย ๆ ฯลฯ ความรู้สึกนี้ค่อย ๆ สั่งสมมา และตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาจากหนังสือต่าง ๆ มากขึ้น ๆ กว้างขวางขึ้น ได้นอนคุยกันทุกคืน ปรับทุกข์กันทุกคืน ในที่สุดเราก็เลยเลิกทำบุญกันเสียที พอกันทีกับเรื่องทำบุญกับพระภิกษุ และเลิกกันเด็ดขาดมาแต่นั้น (ยกเว้นบางคราวที่เลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาความปรกติในสายตาคนทั่วไปไว้) สำหรับแม่นั้น ภาคภูมิใจมากในการได้ส่งเสียให้ข้าพเจ้าเรียนจนนถึงขั้นมหาวิทยาลัย (ขณะนั้นเริ่มเข้าปีที่ ๑) และเมื่อได้เข้าใจแล้วว่าประเพณีบวชของไทยนั้น มาจากพ่อแม่แต่ก่อนต้องการจะให้ลุกได้ร่ำเรียนรู้หนังสือ รู้หลักศีลธรรม ที่จะเรียนได้มีแต่ตามวัด จึงให้บวช เมื่อแม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าสูงสุดแล้วในเมืองไทย ก็เป็นอันว่าลูกได้เรียนมากยิ่งกว่าที่จะไปเรียนในวัดเสียอีก จึงได้ตกลงใจกันเด็ดขาดอีกอย่างหนึ่งว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องบวช เพื่อให้แม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองอย่างที่เชื่อ ๆ กัน"


7. ตำนานนครวัด
 

 
        จากหนังสือ "รมยสาร" หมวด ISSN 1686-0101 ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม) ปี 2556. ผศ.บุณย์เสนอ ตรีวิเศษ ได้เสนอบทปริทัศน์หนังสือเรื่อง "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ของจิตร ภูมิศักดิ์ ถึงประเด็นที่ควรขยายความคือ "ขอม" ซึ่งคนส่วนมากมักเข้าใจว่าเป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของ "เขมร" ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนในเนื้อหาภาคสนาม ของหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด.

        บุณย์เสนอ ตรีวิเศษ (2556: 97-98) ได้สรุปว่า "จิตรไม่พบภาษาใดที่ใช้คำ "ขอม" หมายถึงชาวเขมรแห่งประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน และที่สำคัญชาวเขมรกัมพูชา ไม่เคยเรียกตัวเองว่า "ขอม" กล่าวคือ ขอม กับกัมพูชา ไม่มีความสัมพันธ์กันในฐานะเครือญาติหรือความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ เรื่องนี้หากใครได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือ "ตำนานแห่งนครวัด" ซึ่งเป็นงานของจิตร ภูมิศักดิ์อีกเช่นเดียวกันจะยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า "ขอม" ไม่ใช่เขมร ซึ่งได้ล่มสลายจากดินแดนแถบนี้แล้ว".

        "ตำนานนครวัด" เป็นหนังสือที่สามารถขยายความต่อเนื่องจากข้อสังเกตข้างต้นได้เป็นอย่างดี เหมาะที่ผู้สนใจควรได้อ่านเพิ่มเติมต่อเนื่อง หลังจากที่ได้อ่านความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ฯ เพราะมีสาระอธิบายความเป็นมาจนกระทั่งถึงกาลล่มสลายของอาณาจักรขอม อันเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา หลายคนสงสัยในมูลเหตุแห่งการล่มสลายของอาณาจักรแห่งนี้ เพราะดูจากสิ่งปลูกสร้างที่หลงเหลือให้เราได้ชื่นชมขณะนี้ ไม่น่าจะมีศัตรูใดสามารถมีชัยเหนือนครวัดได้.

        จิตรพยายามค้นหาความจริงแห่งการล่มสลายของ "นครวัด" ด้วยการค้นคว้าตามหลักวิชาการและใช้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ด้านศาสนา ความรู้ด้านอักษรโบราณที่จารึกข้อมูลไว้ ตลอดจนความรู้จากข้อมูลด้านคติชนวิทยาผ่านตำนานปรำปราต่าง ๆ นำเสนอได้อย่างลงตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งนับว่าใช้ข้อมูลที่หลากหลายและรอบด้านกลั่นกรองออกมาเป็นเหตุผลเพื่ออธิบายมูลเหตุที่นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เกินใครจะสามารถแย่งชิงเอาได้.

        นอกจากหนังสือเล่มนี้จะทรงคุณค่าทางด้านเนื้อหาแล้ว จิตรได้ทำให้หนังสือน่าอ่าน เพราะเขียนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับนวนิยายกล่าวคือ เป็นงานประวัติศาสตร์สนทนาที่เขียนขึ้นอย่างสนุกสนานในรูปแบบกึ่งนวนิยายบันทึกการท่องเที่ยว ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นก่อนเข้าคุกเมื่อปี พ.ศ.2501 เพราะงานเขียนในคุก มีบางตอนข้อมูลแย้งกับเรื่องนี้ หรือไม่ก็เขียนในช่วงที่เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ปีสุดท้ายและได้เป็นไกด์ของบริษัทบางกอกทัวร์ อันเป็นช่วงที่จิตรไปนครวัดบ่อย (สรุปความจากคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก).

        หนังสือเล่มนี้ (สรุป ณ พ.ศ.2554) พิมพ์ครั้งที่ 6 ในวาระครอบรอบ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 10 ตอน ดังนี้:-
  • เหตุแห่งหายนะ
  • ความขัดแย้ง
  • เพื่อนบ้าน
  • ผู้สร้าง
  • ทายาท
  • กาเฟเสียมเรียบ
  • พิษณุโลก
  • เพลงศึก
  • ระเบียงประวัติศาสตร์ และ
  • กุญแจแห่งพิมาย
       ส่วนการจัดพิมพ์ครั้งที่ 5 ของสำนักพิมพ์อมรินทร์ เมื่อ กันยายน 2551 ได้เพิ่มภาคผนวกที่สำคัญ เป็นหนังสือหายาก คือ วารสารแห่งสมาคมค้นคว้าวิชาประเทศไทย ฉะบับภาษาไทยเล่ม 2 พฤษภาคม 2485 กรุงเทพฯ. "ปราสาทหินเขมรสร้างเพื่ออะไร" โดยพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย (ทรงเรียบเรียงจากเรื่อง "La destination fune'raire des grands monuments khme'rs" ของ ยอร์ช เซเดส์) และ
      "พระเจ้าชยวรมันที่ 7 และต้นเหตุของนามว่านครชัยศรี" โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต.



8. คนขี่เสือ
 

        เป็นเรื่องราวของการตีแผ่และชำแหละศาสนาและจารีตของอินเดียในยุคที่ยังไม่ได้มีการรวมประเทศ เรื่องราวของคนชนชั้นต่ำที่พลิกฟ้ากลายมาเป็นเป็นคนชั้นสูงง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เหล่าคนมีเงินแต่ขาดสติก็พร้อมที่จะมาจูบแทบเท้า รวมไปถึงเรื่องราวความลำบากและการถูกกดขี่ของชนชั้นกรรมาชีพในยุคนั้น. (ที่มา บล๊อก "จิตร ภูมิศักดิ์" ใน Facebook โพสต์เมื่อ July 29, 2012.)

9. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ.

 
 
        (ที่มา. http://www.openbase.in.th/ , วันที่สืบค้น 28 พฤศจิกายน 2557) เป็นหนึ่งในหนังสือหายาก โดยนักคิดนักเขียนผู้เป็นอัจฉริยะที่สุดคนหนึ่งที่สังคมไทยเคยมีมา จิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่จิตรได้แต่งขึ้นไว้ขณะถูกจำคุกลาดยาว ต้นฉบับรอดจากการทำลายในยุคตุลา 2519 ด้วยการเก็บฝังดิน. แม้ยังเขียนไม่เสร็จดี แต่ก็ได้รับการกล่าวขานไว้ว่า เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน.

         สารบัญ
         คำนำ
  • ภาคที่ 1 พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์.
  • บทที่ 1 ร่องรอยของ "สยาม" ในปัจจุบัน.
  • บทที่ 2 ชานและชาม.
  • บทที่ 3 ชานและสยาม.
  • บทที่ 4 ร่องรอยของสยามในจารึกพะม่า.
  • บทที่ 5 สฺยํ ในจารึกจามปา.
  • บทที่ 6 สฺยํ ในจารึกเขมร.
  • บทที่ 7 สฺยํ และ เสียม.
  • บทที่ 8 จะตามหา สฺยํกุกฺ อย่างไร.
  • บทที่ 9 ชาวเสียมแห่งลุ่มแม่น้ำกก แหล่งอารยธรรมไทยสมัยก่อนยุคสุโขทัย.
  • บทที่ 10 นี่เสียมกุกฺ!.
  • บทที่ 11 สฺยํ ในจารึกสมัยก่อนนครหลวง.
  • บทที่ 12 สยามและอัสสัม.
  • บทที่ 13 โกสามพี และลาวเฉียง.
  • บทที่ 14 สยามในความรับรู้ของจีน.
  • บทที่ 15 ที่มาของสยาม สมมุติฐานทางนิรุกติศาสตร์และทางสังคม.
  • บทที่ 16 ที่มาและความหมายของสยามตามความเห็นในอดีต.
  • บทที่ 17 สยาม - ความเป็นมาในภาษาไทย.
  • ภาคที่ 2 ชื่อชนชาติและฐานะทางสังคม.
  • บทที่ 1 ลักษณะสองด้านของชื่อชนชาติ.
  • บทที่ 2 มิลักขะ - กิราต - นิษาท - ทาส และนาคผู้ยืนหยัดประกาศความเป็นคน.
  • บทที่ 3 วิญญาณมนุษย์.
  • บทที่ 4 ความสัมพันธ์ทางสังคมกับชื่อชนชาติ.
  • บทที่ 5 ข่า และปรัชญาแห่งความเป็นทาส.
  • บทที่ 6 ลาวเทิง - ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้.
  • บทที่ 7 ไท-ไต ชื่อที่ยืนยันความเป็นคน.
  • บทที่ 8 ไท-ไต และคนเมือง ปฏิกริยาตอบโต้ของชาติไต.
  • บทที่ 9 วิวัฒนาการของคำว่า ไท และ ลาว.
  • บทที่ 10 ทางโน้มแห่งความหมายของคำสยาม "สยาม".

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com