อัศนี พลจันทร01, 02, 05
First revision: Sep.03, 2014
Last change: Sep.16, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
เพลงคิดถึงบ้าน (เนื้อเพลงฉบับดั้งเดิม)
เดือนเพ็ญ แสงเย็นเห็นอร่าม
นภาแจ่มนวลดูงาม
เย็นยิ่งหนอยาม เมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวลชวนใจข้า
คิดถึงถิ่นที่จากมา
คิดถึงท้องนา บ้านเรือนที่เคยเนา
กองไฟ สุ่มควายตามคอก
คงยังไม่มอดดับดอก
จันทร์เอยช่วยบอก ให้ลมช่วยเป่า
โหมไฟให้แรงเข้า
พักไล่ความเยือกเย็นหนาว
ให้พี่น้องเฮา นอนหลับอุ่นสบาย
เรไร ร้องดังฟังว่า
เสียงเจ้า ที่เฝ้าคอยหา
ลมช่วยมา กระซิบข้างกาย
ข้า ยังคอยอยู่ไม่หน่าย
ไม่เลือนเคลื่อนคลาย
คิดถึงมิวาย ที่เราจากมา
ลมเอย ช่วยเป็นสื่อให้
นำรักจากห้วงดวงใจ
ของข้านี้ไป บอกเขาน่านา
ให้เมืองไทยรู้ว่า
ไม่นานลูกที่จากมา
จะไปซบหน้าในอกแม่เอย.
จากหนังสือรำลึกถึงนายผีจากป้าลม พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า 2522.
(ภาพประกอบ เป็นภาพลายเส้นใบหน้านายผี โดย ประยูร จรรยาวงษ์).
อัศนี พลจันทร หรือในนามปากกาว่า นายผี และ สหายไฟ หรือ ลุงไฟ
(15 กันยายน 2461 - 28 พฤศจิกายน 2530 สิริรวม 69 ปี)
นักประพันธ์และนักปฏิวัติชาวไทย รู้จักกันในฐานะผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ (คิดถึงบ้าน)
ภาพด้านขวาเป็นภาพลายเส้นใบหน้านายผี โดย ทองเติม เสมรสุต
ประวัติ
อัศนี พลจันทร (บ้างก็เขียนนามสกุลว่า พลจันทร์) เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2461 ที่บ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาคือ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดาคือ สอิ้ง พลจันทร. (สาแหรกต้นตระกูลของท่านเกี่ยวโยงกับนามสกุล พลกุล และ วงศาไพโรจน)
เมื่อท่านอายุได้เพียง 3 เดือน มารดาก็เสียชีวิต ท่านได้รับการดูแลอุปการะจากคุณย่า ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบ ส่วนปู่ของท่านนั้นเป็นผู้มีอันจะกิน มีกิจการโรงสีและมีที่นาให้เช่า นอกจากนั้นยังค้าทองคำ ค้าเสาและไม้ฝาง ในวัยเยาว์นััน นับว่าท่านเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินศฤงคาร
คุณปู่ได้สอนวิชาพากย์โขนและการต่อสู้ป้องกันตัวให้ โดยเฉพาะการขี่ม้าฟันดาบ ท่านจึงเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาจากเบ้าหลอมที่สมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะเป็นชนชั้นศักดินา แต่ด้วยนิสัยใจคอที่ใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ ท่านจึงชอบพูดเที่ยวคุยกับชาวจีนที่มาเช่าที่ดินปู่ปั้นโอ่ง ได้รู้ถึงความเป็นไปของจีนแผ่นดินใหญ่. ท่านฝึกพูดภาษาจีน หัดใช้ตะเกียบ และทานอาหารที่บ้านชาวจีนบ่อยครั้ง, จนท้ายที่สุด ท่านได้ถอดเครื่องประดับทองรูปพรรณที่คุณย่านำมาสวมให้ทิ้งไป คงเหลือไว้แต่แหวนของแม่ผู้ล่วงลับ บ่งบอกว่าท่านได้เข้าถึงความทุกข์ยากของผู้คน จนมองเห็นความแตกต่างระหว่างชนชั้นได้ ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กชาย.
ในปี พ.ศ.2464 ท่านได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรีจนจบมัธยม 5 (การเดินทางไปกลับนั้น มีรถม้าส่วนตัวและมีพี่เลี้ยงคอยรับส่งด้วย) ต่อมาในปี พ.ศ.2476 ท่านเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (รหัสประจำตัวนักเรียน ส.ก.7014)07. จนจบชั้นมัธยม 8 แผนกภาษา หรือสายศิลป์ เมื่อปี พ.ศ.2478 จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) และได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2483.
ม.8 ง. พ.ศ.2478 "นายผี" อัศนี พลจันทร, ส.ก.7014 (นั่งพื้นแถวหน้าที่ 3 จากซ้าย) ที่มา: หนังสืออนุสรณ์สวนกุหลาบ 2481
สืบค้นจาก Facebook: เพจ "ตำนานบรรดาเรา," วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2561
ส.(แสน) ธรรมยศ "ราชสีห์แห่งนักเขียน"
(11 กรกฎาคม 2457 - 15 พฤษภาคม 2495)
ผู้เขียนหนังสือ "พระเจ้ากรุงสยาม" Rex Siamen Sium.
ในปี พ.ศ.2480 ท่านมีอายุได้เพียง 19 ปี ขณะที่ศึกษาวิชากฎหมายอยู่นั้น (ท่านเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2) ได้เขียนบทความโต้ทัศนะของ ส.ธรรมยศ เกี่ยวกับเรื่อง "นิราศลำน้ำน้อย" (ของพระยาตรัง) ด้วยนามแฝงว่า "นางสาวอัศนี". ระหว่างเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ท่านใช้เวลาส่วนหนึ่งไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติมจากวัดมหาธาตุและหอสมุดแห่งชาติ ความรู้ได้เพิ่มพูนจนภายหลังท่านได้เป็นผู้รู้แตกฉานถึง 7 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน มลายู บาลี สันสกฤต และอูรดู (ภาษาประจำชาติของปากีสถาน และเป็นภาษาหลักของมุสลิมในประเทศอินเดีย) ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อนิจกรรมเพียงไปกี่ปี ท่านได้จัดทำพจนานุกรมภาษาจีนโบราณ แต่ต้นฉบับได้สูญหายไประหว่างหลบหนีการล้อมปราบของกองกำลังรัฐบาล.
ความสนใจในปัญหาบ้านเมืองก็คงเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงปี พ.ศ.2479-2483 ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจรัฐภายหลังการสละราชสมบัติของในหลวงรัฐกาลที่ 7. เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว หนีไม่พ้นที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต้องใส่ใจ ยิ่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นมันสมองของคณะราษฎร กำลังอยู่ในเกมการช่วงชิงอำนาจด้วยแล้ว. ท่านจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย.
ภาพจาก www.oknation.net (วันที่สืบค้น 15 กันยายน 2557)
การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2484 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศสงครามอินโดจีน เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2484 นั้น. แม้ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อนักศึกษาส่วนหนึ่งต้องการเดินขบวน และท่านก็ไม่อาจใช้เหตุผลหว่านล้อมชักจูงได้สำเร็จ ท่านจึงตกลงเป็นผู้ถือธงนำขบวนเองโดยบอกกับเพื่อนนักศึกษาว่า ทิ้งเพื่อนไม่ได้ ถ้าจะผิดก็ผิดด้วยกัน อันเป็นคุณธรรมที่ติดตัวท่านไปจนตลอดชีวิต แม้ในยามที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นอัยการหรือกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คุณธรรมอันสำคัญนี้ก็ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่เสมอ.
การทำงาน
อัศนีเริ่มรับราชการครั้งแรก เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2484 โดยเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี หรือ อัยการฝึกหัด ชั้นจัตวา อันดับ 7 อัตราเงินเดือนที่กองคดี กรมอัยการ 50 บาท สมัยพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นอธิบดี (คนที่ 6) ทำให้ผลงานในนามนายผีก็หยุดชะงักลง. ซึ่งชีวิตส่วนใหญ่ของอัยการต้องสัมผัสโดยตรงกับความทุกข์ยากของประชาชน เพราะผู้คนที่ผ่านมาในชีวิตอัยการไม่ว่าในฐานะผู้เสียหาย จำเลย พยาน ตลอดจนวงศาคณาญาติ ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวมาบอกเล่าให้อัยการได้รับฟังและรับรู้ อัยการที่มีพื้นฐานด้านจิตใจเช่นท่านอัศนี ย่อมซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย เมื่อผนวกเข้ากับบริบทของสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นเบ้าหลอมให้ท่าน พัฒนาการเป็น "นายผี - มหากวีแห่งประชาชน" ได้อย่างสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา.
วิบากกรรมในเส้นทางการเป็นข้าราชการของท่านก็เริ่มขึ้น เมื่อมีคดีหนึ่งที่อัยการไม่กล้าฟ้อง เพราะจำเลยเป็นน้องชายของผู้เรืองอำนาจทางการเมือง ภาระการฟ้องก็ตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน. คดีนี้ฝ่ายโจทย์ชนะเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้ท่านโดยสั่งย้ายไปอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นไซบีเรียของเมืองไทย.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2485 ท่านมีอายุเพียง 24 ปีเศษได้ถูกย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานี โดยแต่งตั้งให้เป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดปัตตานี (ซึ่งวิมล พลจันทร ผู้เป็นภริยาเรียกว่า ถูกเนรเทศ) มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 80 บาท แต่ช่วงนั้นประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงครามเอเซียมหาบูรพา การเป็นอยู่จึงต้องกระเบียดกระเสียร ต้องเหวี่ยงแหหาปลามากินเอง ส่วนที่เหลือยังเผื่อเจือจานแก่เพื่อนบ้าน ซื้อไก่มาเลี้ยงเอาไข่ และซื้อแพะมาเลี้ยงไว้รีดนม.
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2487 นายผีได้เริ่มเขียนบทกวีใน นิกรวันอาทิจ (สะกดตามภาษาวิบัติในสมัยนั้น) ด้วยบทความที่ชื่อ "ทำไมนายผีจึงหายตัวได้" โดยแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าเหตุที่นายผี หยุดเขียนไประยะหนึ่ง ก็เพราะเกิดมีนักกลอน "ขนัดถนน" คนที่เป็นกวีที่แท้จริงจึงจำต้องหลบไปเสีย และออกบทกวีใน นิกรวันอาทิจ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสร้างชาติของท่านผู้นำในน้ำเสียงหยามหยัน จึงเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ และโดนคำสั่งห้ามตีพิมพ์อีกในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง06.
วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนั่งเขียนหนังสือเพลินอยู่นั้น (บางแหล่งกล่าวว่าเป็นต้นฉบับของหนังสือ "ภควัทคีตา" - ต่อมาลงพิมพ์ในอักษรสาสน์ นับแต่ฉบับเดือนตุลาคม 2493 โดยแปลจากภาษาสันสกฤต06), แพะย่องเข้ามากินต้นฉบับหมดไปหลายแผ่น ในเวลาต่อมาท่านจึงมีฉายาว่า "อัยการแพะ" ซึ่งเป็นคำเรียกติดปากของชาวบ้านไปโดยปริยาย ที่ปัตตานีนี้เองท่านได้มีโอกาสลงมาคลุกคลีกับชาวบ้านร้านถิ่น ได้พยายามศึกษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ฝึกอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ตลอดจนการไม่ทานหมูตามอย่างมุสลิม กระทั่งท่านเคยสวมหมวกกาบีเยาะห์ด้วยซ้ำ ท่านได้รับปันส่วนไม้ขีดไฟมาจากทางการ แบ่งไว้ใช้เองบางส่วน นอกนั้นนำไปแบ่งปันให้ชาวบ้านสองครัวเรือนต่อหนึ่งกลัก ความรักที่ท่านมีให้ต่อประชาชนชาวปัตตานี จึงไม่มีกำแพงชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม มากั้นกลาง.
ตำรวจจับชาวปัตตานีจำนวนมากมาเปรียบเทียบปรับ สังเวยลัทธิชาตินิยม ในข้อหาฝ่าฝืนรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น กินหมาก ไม่สวมหมวก นุ่งโสร่ง เป็นต้น พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีเปรียบเทียบปรับมาขอความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา. ท่านได้ใช้ความกล้าหาญสั่งว่าการเปรียบเทียบปรับไม่ชอบซึ่งมีผลเท่ากับสั่งไม่ฟ้อง ต้องคืนค่าปรับให้กับผู้ต้องหาทุกคน ด้วยเหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่รู้ภาษาไทย ไม่เข้าใจกฎหมายไทย. รัฐนิยมขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและขัดต่อหลักความยุติธรรม ใช้บังคับไม่ได้ ท่านเลือกยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ แทนที่จะเป็นผู้กดขี่เสียเอง. ทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วทั้งปัตตานีและในกรมอัยการ เพราะอัยการท้องที่อื่นล้วนให้ความเห็นชอบกับการเปรียบเทียบปรับทั้งสิ้น เมื่อท่านถูกย้ายไปสระบุรี จึงเป็นการพลัดพรากท่ามกลางหยาดน้ำตาของประชาชนที่ท่านรักและรักท่าน.
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ท่านทำงานและคลุกคลีกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นปัตตานีนั้น, ท่านได้ยืนหยัดทำหน้าที่เคียงข้างสามัญชนผู้เสียเปรียบ ท่านได้สร้างความครึกโครมไว้หลายคดี โดยเฉพาะการสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านกว่า 50 คนที่โดนจับด้วยข้อหาไม่สวมหมวกตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทั่งได้ก็ถูกสั่งย้ายด้วยทางการระแคะระคายว่า ให้การสนับสนุนชนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งนี้ให้ไปที่สระบุรี
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2487, ท่านได้ถูกคำสั่งย้ายให้มาเป็นอัยการผู้ช่วยที่สระบุรี, ท่านปฏิเสธไม่รับเลี้ยงจากพ่อค้า โดยอ้างว่าเป็นมุสลิมต้องเคร่งครัดเรื่องอาหารการกิน เพื่อปิดประตูที่พ่อค้าจะเข้าถึงตัวอัยการได้ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ การเลี้ยงอาหาร แม้พ่อค้าบางคนแม้ไม่มีธุรกิจผิดกฎหมาย แต่การมีสัมพันธ์ที่ดีกับอัยการหรือผู้พิพากษา ถือว่าได้มากกว่าเสีย ถ้ามีธุรกิจผิดกฎหมายด้วย ก็ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง. ท่านได้ใช้ชีวิตร่วมกับ วิมล พลจันทร (ต่อมามีชื่อเรียกในบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ว่า "ป้าลม") ที่บ้านพักหลังเก่าซึ่งไม่มีใครกล้ามาอยู่ ด้วยเพราะต้นมะขามใหญ่หลังบ้านเคยมีคนผูกคอตาย.
วิมล พลจันทร หรือฟองจันทร ทะเลหญ้า (ป้าลม)
ในปี พ.ศ.2488, ครอบครัวพลจันทรก็มีสมาชิกเพิ่มเป็นลูกสาวอีกหนึ่งชีวิต ทำให้ปกติแล้วเงินเดือนที่ได้รับก็ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว ยิ่งทำให้อัตคัตไปอีก ทั้งงานเขียนก็ยากที่จะลงพิมพ์เพื่อหวังเป็นรายได้มาจุนเจือได้อีก ป้าลมผู้เป็นภรรยาก็ต้องออกตระเวณซื้อกล้วย ถั่วหรือข้าวโพดจากไร่มาขาย บางครั้งบางคราวก็ต้องไปไกลถึงพุทธบาทซึ่งอยู่ห่างจากสระบุรีราว 20 กิโลเมตร.
ในการทำงานภาคราชการนั้น, ท่านเริ่มมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2491 ร้อยเอกประเสริฐ สุดบรรทัด ซึ่งได้คบหากับท่านอย่างฉันท์มิตรนั้น ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี แต่ถูกข้าหลวงตัดสิทธิ์ ท่านจึงได้ร้องเรียนไปถึงกรมอัยการ. แต่แล้วในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ท่านถูกย้ายไปประจำที่อยุธยา ด้วยเหตุว่าคุณอาญาติผู้ใหญ่ของท่าน เป็นหัวหน้าอัยการอยู่ที่นั่น จะช่วยควบคุมดูแลมิให้ก่อเรื่องได้. ในปีถัดมา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2492, ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นข้าราชการชั้นโท.
ขณะเดียวกันบทบาททางการเมืองของท่านยิ่งก้าวไกลกว่าคือ ทั้งโดยเปิดเผยและปิดลับ เมื่อเปลื้อง วรรณศรี จะมาปราศรัยหาเสียงที่อยุธยา. ท่านได้เป็นธุระขออนุญาตจากข้าหลวงให้เอง แต่ครั้นถึงวันปราศรัย นายอำเภอกลับไม่ยอม โดยอ้างว่าข้าหลวงไม่อนุญาตแล้ว. จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น จังหวะหนึ่งท่านเอื้อมมือไปจะเกาหลัง (บ้างก็ว่าเกาสะเอว) นายอำเภอเข้าใจคิดว่าจะชักปืนออกมายิง, นายอำเภอได้รีบปั่นจักรยานออกไป การปราศรัยจึงมีขึ้นได้.
จากกรณีนั้นมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาสอบสวน นายอำเภอถูกย้าย เช่นเดียวกับท่าน ซึ่งถูกคำสั่งย้ายด้วยตามหลังเมื่อเดือนกรกฎาคม กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย. ครั้นถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองจำนวนมาก จากเหตุการณ์ "กบฎสันติภาพ" ท่านเองได้ถูกตำรวจไปคอยดักจับที่บ้าน จึงต้องร่อนเร่หลบซ่อนอยู่นอกบ้าน กระทั่งเย็นวันหนึ่ง ท่านได้แอบเข้าไปเก็บเสื้อผ้าเอาลูกเล็กสองคนมากอด สั่งภรรยาให้ซื้อผ้าห่มกันหนาวให้ลูก แล้วก็หายตัวไปนับแต่บัดนั้น. ทั้งยังยื่นหนังสือลาป่วยติดต่อกันสามเดือนไปยังหน่วยงานต้นสังกัด แต่ไม่ทันครบระยะก็ยื่นหนังสือลาออกในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2495 ในสมัยที่หลวงอรรถปรีชาชนูปการเป็นอธิบดีกรมอัยการ (คนที่ 9). ถือว่าท่านเป็นอัยการได้เพียง 11 ปีเศษ และต้องหลบลี้หนีภัยคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมาด้วยวัย 35 ปี.
ท่านได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้ 10 ปี (ก่อตั้งเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2485) ถือว่าท่านเป็นสมาชิกพรรคฯ ในยุคแรก ๆ.
ในปี พ.ศ.2504 ได้ปรากฎตัวอีกครั้งในฐานะ สหายไฟ โดยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในยี่สิบคนของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และในปีเดียวกัน นายครอง จันดาวงศ์ และนายทองพันธ์ สุทธิมาศ ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 สั่งประหารชีวิต ทำให้ศูนย์กลางการนำของ พคท.ต้องย้ายออกจากจังหวัดพระนครไปที่อื่น. ทำให้ท่าน (สหายไฟ) และภริยา (สหายลม) ซึ่งต้องจำใจฝากลูก 4 คนไว้กับญาติเพื่อติดตามสามีไปสู่โลกที่มีแนวคิดใหม่ ต้องเร่ร่อนไปอยู่กรุงฮานอย เวียดนามเหนือ ก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเวลาต่อมา. ท่านต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาลไทยตั้งแต่เวลานั้น. ภายหลังท่านถูกส่งไปกรุงปักกิ่ง ศึกษาทฤษฎีการเมืองเพื่อกลับมาเป็นมันสมองของ พคท. ในนาม "สหายเฉินจิ้นเหวิน".
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 "วันมหาวิปโยค" จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้ครองอำนาจสืบต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นิสิตนักศึกษาพลังสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมีอิสระเสรีในการแสวงหา. ผลงานของท่าน และนามปากกาอื่นถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง "อีศาน", "เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า" ,"ความเปลี่ยนแปลง", "ภัควัทคีตา", "ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน" และผลงานอื่นได้ถูกนำไปศึกษา จนทำให้ "นายผี" เป็นมหากวีที่นิสิตนักศึกษายุคนั้นเทิดทูนให้เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ นักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลงานของท่านในเวลาต่อมา.
เพียง 3 ปีผ่านไป เมื่อถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝันหวานของนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็จางหายไป ได้มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาอย่างรุนแรงด้วยรูปแบบต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเสียชีวิตที่สนามหลวง. ส่วนใหญ่ถูกล้อมจับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกนำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน แล้วถูกปล่อยชั่วคราวออกมา และต้องจารึกว่าภายหลังผู้ต้องหากลุ่มนี้ราว 2,500 คนเศษ. นายประเทือง กีรติบุตร อธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น ใช้ความกล้าหาญสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด แต่ผู้นำนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐบาลหลอกไปจับกุมก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ถูกดำเนินคดี และศาลพิพากษาจำคุก ภายหลังพ้นโทษเพราะได้รับการนิรโทษกรรม.
นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั้งที่ถูกปล่อยตัวพ้นข้อหาและที่หลบหนีได้ไม่ถูกจับกุม ภายหลังต่างหวาดกลัวภัยคุกคามจากอำนาจรัฐ ได้ทยอยกันหลบหนีเข้าไปร่วมงานกับ พคท. หลายคน (รวมทั้งคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา และ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับท่าน ที่พวกเขาใฝ่ฝันอยากได้พบ. ซึ่ง "นายผี" หรือ "สหายไฟ" ได้เติมไฟแห่งปัญญาแก่พวกเขาจนลุกโชน นายผีในวัย 60 ปีเศษ ได้เป็นบรมครูด้านกวีนิพนธ์ วรรณคดีสากลและภาษาศาสตร์ของคนไทยอย่างหาใครเทียบได้ยาก ไม่รวมถึงทฤษฎีการเมืองทั้งหลายที่เขาศึกษามากว่า 20 ปีจนตกผลึก.
ประเสริฐ จันดำ ได้บันทึกความทรงจำส่วนนี้ไว้ว่า "ต้นปี 2522 ผมเพิ่งกลับจากเดินทางไปทำงานที่เขต 8 เชียงรายไม่นานวัน มีข่าวว่าทางการลาวจะปิดพรมแดน และพลพรรคคอมมิวนิสต์ไทยต้องโยกย้ายกลับประเทศตน ความเป็นพี่น้องทางสากลหมางเมินกันแล้ว เท่าที่นักรบปลายแถวอย่างผมได้รับรู้ก็คือ พรรคไทยเป็นลูกน้องจีน ส่วนพรรคลาวเป็นลูกน้องเวียดนามและโซเวียต ไปด้วยกันไม่ได้เสียแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นแยกทางกันเดินเสียจะดีกว่า".
"เหตุการณ์ทุกอย่างในป่าเขา เรามักคาดไม่ถึง การปิดลับกระทำกันอย่างเข้มงวด ถือเป็นวินัยเหล็กข้อหนึ่งทีเดียว ความรู้สึกตอนนั้นของผมมันบอกไม่ถูก ตื่นเต้นที่จะได้พบ "มหากวี" ที่เคยอ่านแต่ผลงานของท่าน รูปหรือเห็นแต่ลายเส้นใส่แว่นตาโต มีจุด ๆ บนใบหน้า ออกเมล์เที่ยวนี้คุ้มค่าจริง ๆ".
"ผมมองเห็นชายสูงอายุคนนั้น ร่างเล็กเกร็ง ผิวคล้ำ ใส่แว่นหนาเตอะ ท่าทางอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อมีคนแนะนำ ท่านพูดว่า "เรานักเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน" นี่แสดงว่าลุงไฟหรือนายผีต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับพวกเราอยู่สมควร แม้แต่คนเล็ก ๆ อย่างผม ครับ, ผมก็รู้สึกปลื้มใจเป็นธรรมดาของคนหนีตาย พลัดบ้านพลัดเมืองมาแล้วได้พบคนที่มีชื่ออุโฆษนามขจรอย่างท่าน".
และ สุรชัย จันทิมาธร ได้บันทึกความทรงจำไว้ว่า "ชื่อเสียงของเขาหอมกรุ่นอยู่ในความรู้สึกของเรา เป็นคนลึกลับมาแต่ไหนแต่ไร แล้ววันหนึ่งเราได้พบเขาในบริเวณที่ราบเล็ก ๆ ในเขตภูเขาสลับซับซ้อนทางตอนเหนือของลาว เรารู้แต่ว่ามันคืออาณาบริเวณที่เรียกว่าแขวงหลวงน้ำท่า ที่นี่เป็นแนวหลังที่ห่างไกลแนวหน้ามากโข พลพรรคคอมมิวนิสต์มีทั้งเด็กเล็ก ตลอดจนพ่อบ้านแม่เรือนและคนแก่".
"แล้วในบ่ายวันหนึ่งของการพักผ่อน เขาก็ปรากฎตัวไล่ ๆ กับอุดม สีสุวรรณ ในระดับสหายนำเช่นผู้เฒ่าทั้งหลาย ความรู้สึกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เหมือนได้เคยรู้จักกันมาหลายสิบปี เขารู้จักการทำงานของเราค่อนข้างดี เขากระตือรือร้นที่จะทำความรู้จักกับคนรุ่นเยาว์ด้วยท่าทีกันเองและอบอุ่น".
"ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนรอบรู้ศิลปะวิทยาการระดับนำอีกคนหนึ่ง มีความรู้ถึง 7 ภาษา แต่ผมจำไม่ได้ว่าภาษาอะไรบ้าง อ่านวรรณคดีระดับโลกมาหลายต่อหลายเล่มเกวียน เวลาพูดคุยจะสามารถยกข้อความ หรือความคิดของประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีต่าง ๆ ประกอบ ส่วนมากจะเป็นของรัสเซียและแถบยุโรปกลาง".
"ผู้รอบรู้ทางศิลปะวรรณคดีที่สำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย เมื่อมานั่งประจำสำนักทฤษฎี ค้นคว้าหนังสือทฤษฎีว่าด้วยการปฏิวัติ ก็ดูจะมีจุดอ่อนตรงอารมณ์ความรู้สึกยังไม่สัมพันธ์กับงานที่ตัวเองทำ จึงมีความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจการนำการชี้นำความคิดทางการเมือง สหายไฟมักถูกสหายนำทางด้านทฤษฎีตำหนิวิจารณ์ฉายาของเขาอย่างหนึ่งที่ชาวนานักปฏิวัติบางคนมอบให้ ก็คือ ศักดินาปฏิวัติ".
ท่านได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 ในแขวงอุดมไซ สปป.ลาว และได้นำกระดูกกลับสู่แผ่นดินแม่ เมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2540.
ผลงาน
นามปากกาของท่าน "นายผี" ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2484 ในนิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน (ก่อตั้งโดย จำกัด พลางกูร และ สด กูรมะโรหิต โดยมี จำนง สิงหเสนี เป็นบรรณาธิการ) ซึ่งท่านเป็นคนควบคุมคอลัมน์กวี เพียงช่วง 2-3 เดือน นาม "นายผี" ก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย (นับตั้งแต่นิตยสารเอกชนฉบับแรกได้วางจำหน่ายเมื่อ 11 มกราคม 2484) แม้ว่าจะเป็นเนื้อหา ทางความคิดซึ่งสะท้อนสังคมในแง่มุมกว้าง ๆ กับกวีด่าว่าเสียดสีผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เหมาะสม และการโต้ตอบกับกวีฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ และ หลวงบุญยมานพพาณิชย์ (นายสาง) เกี่ยวกับทัศนะในโลกวรรณศิลป์และกวีไทย.
จากซ้ายไปขวา : จำกัด พลางกูร (30 ตุลาคม 2457 - 7 ตุลาคม 2486) เลขาธิการขบวนการเสรีไทยในประเทศ และ
สด กูรมะโรหิต (27 เมษายน 2451 - 17 กุมภาพันธ์ 2521) ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ ลูกแม่รำเพย - นักเขียนนวนิยายไทยที่มีชื่อเสียง
ในช่วงปี พ.ศ.2484-2487 นั้น, รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกวรรณคดีสาร เพื่อเป็นเครื่องมือโฆษณานโยบาย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ในวรรณคดีสารนั้น มีบทกวีกว่าครึ่งเล่ม มุ่งยกย่องนายกรัฐมนตรีและชักชวนให้ผู้อ่านคล้อยตามนโยบายดังกล่าว ยิ่งในฉบับที่ตรงกับวันเกิดนายกรัฐมนตรีและภริยา วรรณคดีสารนี้จะเต็มไปด้วยบทกวีอวยพรวันเกิดทั้งเล่ม ซึ่งก่อให้เกิดนักกลอนร้อยแก้วร้อยกรองขึ้นมาหลายท่าน ที่เป็นเจ้าประจำ อาทิ พ.ท.หญิงละเอียด พิบูลสงคราม, อรุณ บุญยมานพ, มนตรี ตราโมท และ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นต้น.
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2487, ท่านได้เขียนบทกวีด้วยนามแฝงนายผี ใน นิกรวันอาทิจ (สะกดตามแบบภาษาวิบัติในสมัยนั้น)03 ด้วยบทความที่ชื่อ "ทำไมนายผีจึงหายตัวได้" โดยแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าเหตุที่นายผีหยุดเขียนไประยะหนึ่ง ก็เพราะเกิดมีนักกลอน "ขนัดถนน" คนที่เป็นกวีที่แท้จริงจึงจำต้องหลบไปเสีย และออกบทกวีในนิกรวันอาทิจ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสร้างชาติของท่านผู้นำในน้ำเสียงหยามหยัน จึงเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าพนักงานที่ดูแลด้านการพิมพ์ และโดนคำสั่งห้ามตีพิมพ์อีกในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง.
ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ.2489 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาล ฯพณฯ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กำลังประสบภาวะวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต. คอลัมน์ "วรรณมาลา" ต้องประสบปัญหาจากเจ้าพนักงานตรวจข่าวมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่. ภาวะการณ์ต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลาย ท่านจึงได้กลับมาเขียนบทกวีวิพากษ์วิจารณ์สังคม และนโยบายของรัฐด้วยท่วงทำนองที่ค่อนข้างรุนแรงก้าวร้าว. แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนาธิปไตย ขาดเป้าหมายทางการเมืองอย่างชัดเจนของรัฐบาล.
ในระหว่างปี พ.ศ.2489-2490 ในคอลัมน์ "วรรณมาลา" หนังสือพิมพ์สยามนิกร "นายผีคือใคร?" อธิบายความหมายของนามปากกานี้ ที่มักมีผู้เข้าใจเป็นความหมายถึง "ผี" ว่า
นายผีใช่ภูตเพื่อ ผลีผลาม
เพราะใช้ชื่อนายผี ผิดแท้
คือองค์อิศวรสาม เนตรนั่นนะพ่อ
นายพวกผีเพื่อแก้ เก่งผี
นายปวงปีศาจต้อง ภูเต ศวรแฮ
ปีศาจบดีทวี ภูตไหว้
กบาลเหล่ากเล วรห้อย คอฮา
รุทรากษเล็งร้ายให้ ฉิบหาย
ผิเป็นผีเพื่อผู้ บาปผละ
เป็นภาพผีฟ้าฝาย แผ่นฟ้า
ผินโกรยแก่บุณยสะ สมบาป
คือพวกผีข้าอ้า อดสู
ทั้งยังมีคำอธิบายศัพท์ต่าง ๆ ไว้ในตอนท้ายของโคลงว่า
ภูเตศวร คือ ภูต(ผี) อิศวร(เจ้าฤๅนาย) ก็คือ นายแห่งผี ปีศาจบดี คือ ปีศาจ(ผี) บดี(เจ้าฤๅนาย) ก็คือนายแห่งผี(อีก)
รุทรากษ คือ รุทร (พระอิศวรผู้เป็นนายผี) อักษ(ตา) ก็คือตาพระอิศวรที่มีอยู่สามตา หน่วยที่นลาฏนั้น เปิดขึ้นเป็นไฟไหม้พิภพได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นฤษีตาไฟ และเพราะเหตุที่ได้เผาพระกามมอดไหม้ไปเป็นพระอนงค์ จึงเสียงล้อกันว่า นายผีย่อมทำลายกาม แต่รูปกาม, อาตมันยังอยู่.
ในช่วงปี พ.ศ.2490-2491, ท่านได้ย้ายมาเขียนประจำในคอลัมน์ "อักษราวลี" ของหนังสือรายสัปดาห์ "สยามสมัย" บทกวียิ่งเพิ่มความแข็งกร้าว โจมตีบุคคลทางการเมืองรายตัว ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พลโทกาจ เก่งสงคราม, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น. ทำให้ท่านยิ่งถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล ถึงขนาดมีคำสั่งให้กำราบกวีปากกล้าคนนี้เสีย แต่ท่านก็มิได้กลัวเกรง เขียนกวีท้าทายไปบทหนึ่งว่า
ใครใดในโลกนี้ เป็นไฉน
ใช่พ่อนายผีไย ขยาดเว้น
ทำชั่วบ่ชอบใจ จักด่า
ทำชอบชนเชยเต้น แต่งแกล้งกลอนสวย.
การที่ท่านต้องรับภาระเป็นอัยการ ระหกระเห็จไปในหลายจังหวัด (ปัตตานี สระบุรี อยุธยา) ทำให้ท่านแทบไม่มีบทกวีในนามนายผีออกมาสู่โลกวรรณศิลป์เลย. มีช่วงระยะเวลาหนึ่ง ท่านใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีแปล ภควัทคีตา จากภาษาสันสกฤต.
ภควัทคีตา นั้นถือได้ว่าเป็นแก่นสำคัญของปรัชญาฮินดู อันเป็นตอนหนึ่งของมหากาพย์ภารตยุทธ ที่รจนาโดยฤๅษีกฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส เมื่อ 1,600 ปี หรือราว ค.ศ.400 จากภาษาสันสกฤตมาเป็น "สยามพากษ" (ต่อมาลงพิมพ์ในอักษรสาสน์ นับแต่ฉบับเดือนตุลาคม 2493). และได้จัดพิมพ์เป็นเล่มในระยะต่อมา. ท่าน "อัศศิริ ธรรมโชติ" กวีซีไรท์ กล่าวถึง ภควัทคีตา ไว้ว่า "แม้ว่าจะได้มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิแปลมาหลายท่านแล้ว ผมก็รักและลึกซึ้งกับต้นตำรับของ อิททรายุธ ไม่ห่างหาย โดยเฉพาะกับข้อคิดบทวิจารณ์ของท่านเองที่ "ปลุกไฟ" ใน "สงครามอรชุน" ณ ทุ่งคุรุเกษตร ประเทศอินเดีย เมื่อกว่าสองพันปีก่อน ให้ผมเห็นคุณค่าความหมายในวรรณคดี".
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพแรก - ปกหนังสือ "ภควัทคีตา" แปลจากภาษาสันสกฤต โดย อินทรายุธ (นายผี)
ภาพที่สอง - สุภา ศิริมานนท์ และ จินดา ศิริมานนท์ ภริยา.
ในระหว่างปี พ.ศ.2492 - 2495 ถือเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของท่าน, ท่านใช้เวลาส่วนหนึ่งช่วยทำนิตยสาร "อักษรสาส์นรายเดือน" ที่ สุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการ "นิกรวันอาทิจ" เปิดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแสดงทัศนะในด้านศิลปวรรณคดีและการเมือง. ทั้งนี้ท่านยังคงเขียนให้กับสยามนิกรและสยามสมัย ควบคู่กันไป. บทกวีและเรื่องสั้นของท่าน ช่วงนี้ได้ขยายขอบเขตเนื้อหาจากการวิพากษ์วิจารณ์ การเมืองและรัฐบาลในแนวคิดเกี่ยวกับ ความแตกต่างระหว่างชนชั้น การกดขี่ขูดรีด และความอยุติธรรมในสังคม. กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์สตรีเพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง. ท่านได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความรักในรูปแบบใหม่ คือความรักระหว่างชนชั้นและความรักในมวลชน. นอกจากนี้ ยังมีบทกวีแสดงแนวคิด ปลุกเร้าประชาชนผู้ยากไร้ และชนชั้นกรรมาชีพให้ตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของตน.
มีหลายบทบาทที่โดดเด่น อาทิ "สันติภาพก่อนเพื่อ", "ความร้อน", "กำลังอยู่ที่ไหน", "ทารุณกรรมกลางที่ราบสูง" โดยเฉพาะบทกวีที่ "อีศาน"04 ซึ่งลงพิมพ์ในสยามสมัย เดือนเมษายน พ.ศ.2495 นับเป็นบทที่ลือเลื่องในหมู่คนรุ่นหลัง กระทั้งกลายเป็นตัวแทนของท่าน "นายผี" ไปแล้ว ยิ่งเฉพาะท่อนท้ายสุด ดังนี้:-
ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
แผ่นอกที่ครางครึ้ม ขยับแยกอยู่ตาปี
มหาห้วยคือหนองหาน ลำมูลผ่านเหมือนลำผี
ย้อมชีพคือลำชี อันชำแรกอยู่รีรอ
แลไปสดุ้งปราณ โอ้!อิศาน ฉะนี้หนอ
คิดไปในใจคอ บ่ค่อยดีนี้ดังฤๅ
พี่น้องผู้น่ารัก น้ำใจจักไฉนหือ
ยืนนิ่งบ่ติงคือ จะใคร่ได้อันใดมา
เขาหาว่าโง่เง่า แต่เพื่อนเฮานี่แหละหนา
รักเจ้าบ่จางฮา แลเหตุใดมาดูแคลน
เขาซื่อซิว่าเซ่อ ผู้ใดเน้อนะดีแสน
ฉลาดทานเทียมผู้แทน ก็เห็นท่าที่กล้าโกง
กดขี่บีฑาเฮา ใครนะเจ้า? จงเปิดโปง
เที่ยววิ่งอยู่โทงโทง เทียวมาแทะให้ทรมาน
รื้อคิดยิ่งรื้อแค้น ละม้ายแม้นห่าสังหาร
เสียตนสิทนทาน ก็บ่ได้สะดวกสบาย
ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย คือเลือดหลั่ง ลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอิศานสิ้น อย่าซุด, สู้ด้วยสองแขน
พายุยิ่งพัดอื้อ ราวป่าหรือราบทั้งแดน
อิศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดเหนอ?
ช่วงชีวิตของอัศนี พลจันทร มีงานเขียน บทกวี ออกมาสู่โลกวรรณศิลป์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ อีศาน ที่ลงพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ลือเลื่อง เสมือนเป็นตัวตนของนายผี. ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ บทกวีนี้ว่า ตีแผ่ความยากเข็ญของชีวิตและปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างเพียบพร้อม มีพลัง ทั้งเชิดชูท่านว่าเป็น มหากวีของประชาชน.
หลังจากที่ท่านลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2495 ท่านยังซ่อนตัวอยู่ในพระนคร. โดยในขณะนั้นท่านได้มีผลงานวรรณกรรมออกมาหลายเรื่อง ได้แก่ "ความเปลี่ยนแปลง", "เราชะนะแล้วแม่จ๋า" เป็นต้น.
ผลงานของท่านปรากฎอีกครั้งระหว่างเดือนมีนาคม 2496 - พฤษภาคม 2497 เป็นเรื่องสั้นจำนวนสี่เรื่อง ลงพิมพ์ในสยามสมัย รายสัปดาห์ ต่อมาปี พ.ศ.2501 ได้มีบทความปรากฎในนิตยสารสายธาร และบทกวีในปิยมิตรวันจันทร์ กระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2502 ก็หยุดไป. และมีเรื่องสั้นส่งมาตีพิมพ์อีกในปี พ.ศ.2503 ก่อนจะหายตัวไปจากพระนคร.
เพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ ที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้น ด้วยเพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของท่านเอง ซึ่งได้รับการยกย่องว่า หากนับเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรจะเรียกได้ว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต. ด้วยเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียง ขับขานในวาระต่าง ๆ มากที่สุดเพลงหนึ่งในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉย ๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา ด้วยเพลงคิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ นี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของท่านระบือไกล เป็นที่ีจดจำในวงกว้าง.
ช่วย พูลเพิ่ม ได้บันทึกว่า ผลงานของท่านที่มีอยู่ทั้งหมด คือ ร้อยกรองไม่น้อยกว่า 316 บท บทความมีทั้งด้านภาษา วรรณคดี การประพันธ์ ศิลปวัฒนธรรมวรรณคดี ศาสนา กฎหมาย สังคมและการเมือง ทรรศนะเกี่ยวกับสตรี สารคดี เรื่องสั้น 34 เรื่อง งานแปล เช่น พระเจ้าอยู่ไหน ภควัทคีตา จิตรา และ กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง อื่น ๆ เช่น อหังการของกวี เป็นต้น. ส่วนนามปากกาของท่านมีหลากหลาย ดังนี้ นายผี, อินทรายุธ, กุลิศ อินทุศักดิ์, ประไพ วิเศษธานี, กินนร เพลินไพร, หง เกลียวกาม, จิล พาใจ, อำแดงกล่อม, นางสาวอัศนี, น.น.น., ศรี, สายฟ้า, อ.พ., อ.พลจันท์, อัศนี พลจันทร ธ.บ., อุทิศ ประสานสภา และ อ.ส..
ผลงานของท่านได้มีการกล่าวถึง และจัดตีพิมพ์กันใหม่มากขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516.และผลงานอื่นได้ถูกนำไปศึกษา จนทำให้ "นายผี" เป็นมหากวีที่นิสิตนักศึกษายุคนั้นเทิดทูนให้เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตรได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลงานของท่านในเวลาต่อมา.
เพียงสามปีผ่านไป เมื่อถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝันหวานของนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็จางหายไป เพราะได้มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาอย่างรุนแรงด้วยรูปแบบต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเสียชีวิตที่สนามหลวง ส่วนใหญ่ถูกล้อมจับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกนำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน แล้วถูกปล่อยตัวชั่วคราวออกมา และต้องจารึกว่าภายหลังผู้ต้องหากลุ่มนี้ราว 2,500 คนเศษ นายประเทือง กีรติบุตร อธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น ใช้ความกล้าหาญสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด แต่ผู้นำนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งถูกรัฐบาลหลอกไปจับกุมก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ถูกดำเนินคดี และศาลพิพากษาจำคุก ภายหลังพ้นโทษมาเพราะกฎหมายนิรโทษกรรม.
ถนนหนังสือปีที่ 1 ฉบับที่ 6 กันยายน 2526 ได้บันทึกคำพูดของสุภา ศิริมานนท์ ที่กล่าวถึง "นายผี" ไว้ว่า "ตอนนั้น (ยุคนิกรวันอาทิตย์) อนาคิสต์ กุลิศ อินทุศักดิ์ (หนึ่งในนามปากกาของท่าน) อนาคิสต์ทั้งนั้น อนาคิสต์ไม่ใช่ของเลว ขวางโลกไว้ก่อน ตะเข้ฟาดหางเข้าไว้ มันเหมาะกับเมืองไทย บ้าดี บ้าดีชะมัด สนุกฉิบหาย อย่างบางเรื่องของกุลิศ อินทุศักดิ์ ตัวละครกระโดดเข้าหน้าต่างมา นอนเอาตีนชี้เพดาน ใครหนอมาสีเพลงของบีโธเฟนนัมเบอร์ไนน์ แล้วนัมเบอร์ไนน์มันสูงสุด นั่นและผี ผมอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อยากให้หยุดไว้แค่นั้น เขาไม่หยุด เดี๋ยวนี้ผมยังชอบเขา ยังเอา "พระเจ้าอยู่ที่ไหน" (นายผีแปล) มาพิมพ์ตอนงานอายุครบ 60 เขาควรอยู่ในเมือง การไปอยู่ในป่าเป็นการลดสมรรถนะของเขา ที่ควรจะแหลมก็แหลมไม่ออก ดูอย่างพี่กุหลาบอยู่เมืองจีน 18 ปี ไม่ได้เขียนสักตัว อยู่เป็นพรรค มันต้องละลายตัวเองลงสู่ระดับเดียวกับเขา แหลมไม่ได้ ตัวเราจะคิดอะไรให้มันแหลมก็อย่าไปยุ่งกับเขา เราก็เสียเขาก็เสีย นักประพันธ์ชอบอยู่คนเดียว ทำงานคนเดียว โดย trait ของเขา".
เดือนเพ็ญกลับบ้าน
ปี พ.ศ.2518 ประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยขบวนการคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ได้ใช้กำลังหลักจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม. ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องตัดสินใจว่าจะใช้ทฤษฏี "โดมิโน" สายโซเวียตที่ยึดแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าสนับสนุน หรือจะยึดตามอย่างสายจีน ที่เน้นใช้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชาติ ปลุกเร้าอุดมการณ์รอจนกว่าจะเกิดความสุกงอมทางความคิดในประชาชาตินั้น ๆ เอง.
ส่วนหนึ่งรับข้อเสนอของคอมมิวนิสต์สายโซเวียต เตรียมการปฏิวัติโดยกองกำลังตลอดแนวลำน้ำโขง อันเชื่อมต่อประเทศไทย. ในฐานะระดับนำคนหนึ่ง, สหายไฟได้คัดค้านการใช้กองกำลัง ยืนยันการเปลี่ยนแปลง ปฏิวัติประเทศต้องเกิดจากเงื่อนไขของสังคมไทย และโดยคนไทยด้วยกันเอง. จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สหายไฟ ต้องถูกจำกัดการเคลื่อนไหวตลอดเวลาของการอยู่ในลาว กระทั่งสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างจีนและเวียดนาม ถึงขั้นแตกหัก. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นคอมมิวนิสต์สายจีน จึงต้องเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากลาว และสหายไฟได้กลับเข้ามาที่ฝั่งไทยในปี พ.ศ.2522.
ปี พ.ศ.2526 หลังวันครบรอบวันเกิดสหายไฟไม่นาน ได้เกิดศึกภูเมี่ยงขึ้นในเขตน่านเหนือ ด้วยความเสียหายอย่างหนัก ทำให้สหายไฟต้องเดินทางข้ามลำน้ำโขงไปเจรจาขอซื้อข้าวกับกรรมการกลางเขตหงสาของลาว. ขณะนั้นเกิดการแตกพ่ายของฐานที่มั่นเขต 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน ในยุทธการล้อมปราบของรัฐบาลไทย นับตั้งแต่การแตกหนีเข้าสู่ฝั่งลาวในครั้งนั้น, สหายไฟและพลพรรคสหายที่หนีเข้าสู่ลาว ถูกปลดอาวุธและจำกัดบริเวณ ขณะที่ป้าลม (วิมล พลจันทร - ภรรยา) ติดตามขบวนใหญ่ซึ่งเคลื่อนลงเขตน่านใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของความพลัดพรากตลอดกาล และป้าลมจึงได้คืนกลับสู่นาครในเวลาต่อมา.
การกลับสู่เมืองไทยของป้าลมนั้น เป็นผลพวงโดยตรงจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 สมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผู้ใช้นโยบายการเมืองนำการทหารได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ในขณะที่สหายไฟกลับไม่ประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศลาว ทั้ง ๆ ที่สหายนำหลายคนกลับประเทศแล้ว อาจเป็นเพราะเขายังต้องอยู่ต่อสู้ทางความคิดภายใน พคท.ต่อไป เพื่อปกป้องประเทศไทยจากการรุกรานของต่างชาติ และเป็นภาระหน้าที่สุดท้ายที่เขาแบกเอาไว้ด้วยบ่าทั้งสองข้างอย่างเข้มแข็งเช่นทุกครั้ง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ร้ายแรง.
นับแต่ปี พ.ศ.2526 ซึ่งพลัดพรากจากกัน สหายไฟอยู่ฐานที่มั่นฝั่งลาว มีบรรดาเยาวกวี ปัญญาชนหนุ่มสาว ต่างแวะเวียนมาปรับทุกข์ ในความขัดแย้ง สถานการณ์ปฏิวัติ สหายไฟผู้เฒ่าจะตรวจงานเขียน พร้อมคำวิจารณ์และให้กำลังใจ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มส่อเค้าความขัดแย้งทางความคิด. ระอุด้วยบรรยากาศอันเกิดการแย่งชิงการชี้นำความคิดทางการเมือง บรรยากาศเช่นนั้นเองที่สร้างความเบื่อหน่ายให้แก่เหล่าปัญญาชนปฏิวัติ กระทั่งแปรมาเป็นการตั้งคำถาม และตรวจสอบเป้าหมาย เมื่อรัฐบาลไทยเสนอทางเลือกด้วยนโยบาย 66/2523 ทำให้ส่วนใหญ่ตัดสินใจคืนสู่นาคร ในขณะที่หลายคนตัดสินใจไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยตามนโยบายดังกล่าวถึง 25,884 คน ทั้งที่เป็นนิสิต นักศึกษา ชาวนา กรรมกร ปัญญาชน และประชาชนทั่วไป.
ที่นั่นสหายไฟดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มักโดนตำหนิและวิจารณ์จากสหายนำด้านทฤษฏีว่าเป็นศักดินาปฏิวัติบ้าง ก็ว่าเป็นปัญญาชนนายทุนน้อย หรือไม่ก็เป็นวีรชนเอกชน ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของสหายไฟ ที่สุรชัย จันทิมาธร บันทึกไว้ว่า "เขาเป็นคนหัวแข็งดื้อรั้น สิ่งใดไม่ถูกเขาจะสู้หัวชนฝา" ขณะอยู่ที่ลาว สหายไฟต้องได้รับความเจ็บปวดจากโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) ช่วงที่มีอากาศหนาวมัก จะล้มหมอนนอนเสื่อ กระดุกกระดิกไม่ได้ด้วยปวดตามกระดูกข้อต่อ และเจ็บป่วยด้วยโรคกระเพาะเรื้อรังอันกลายมาเป็นมะเร็งในลำไส้. กระทั่งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 สหายไฟได้เสียชีวิตลงที่แขวงอุดมไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. อีกหลายปีต่อมาป้าลมได้ข่าวเป็นที่แน่ชัดว่าสหายไฟหรือนายผีได้เสียชีวิตแล้วจริง ป้าลมปรารถนานำกระดูกของท่านกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง. ด้วยฐานะตำแหน่งสหายไฟในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นมีความสำคัญ อีกทั้งกระบวนทัศน์ (Paradigm) ถูกจัดนับอยู่ฝ่ายโต้แย้ง ผนวกกับการเมืองของภูมิภาคอินโดจีนอันซับซ้อน ถึงแม้ว่าสหายไฟจะละร่างไปแล้ว ทว่าเพียงกระดูกที่เหลืออยู่ ก็เปรียบเสมือนพลังอันยังบรรจุเต็มด้วยศักยภาพมากพอที่จะส่งผลกระทบหรือเกิดปัจจัยเคลื่อนไหวบางอย่าง.
สิบปีต่อมาหลังจากการเสียชีวิตของสหายไฟ คือในปี พ.ศ.2540 ป้าลมร่วมกับกลุ่มมิตรสหายซึ่งศรัทธาในตัวของท่าน เช่น กลุ่มเครือข่ายเดือนตุลาฯ, กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิต, กลุ่มนักเขียน ได้ติดต่อนำกระดูกนายผีกลับบ้าน ด้วยการติดต่อผ่านสถานทูตและประสานกับสมาคมมิตรภาพไทย-ลาว และในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ป้าลม พร้อมด้วยสุรชัย จันทิมาธรและแสวง รัตนมงคลมาศ ข้ามฝั่งลำน้ำโขง เข้าสู่เวียงจันทน์ จึงได้พบกับภาพถ่ายสุดท้ายของท่าน เป็นภาพชายชราในลักษณะอ่อนโรยด้วยอายุและเชื้อไข้ ผมสีดอกอ้อเพิ่มมากกว่าที่เคยเห็น ทว่านัยน์ตานั้น ยังเปล่งประกายบริสุทธิ์เยี่ยงเดียวกับคืนวันเก่าก่อน ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายโดยทางการเวียดนาม เมื่อครั้งเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลฮานอย ก่อนหน้าการเสียชีวิตไม่ถึงเดือน คำแรกของป้าลม ที่เอ่ยออกมาต่อรูปถ่ายนายผีคือ "คุณอัศ กลับบ้าน !! "
นายผี กลับถึงถิ่นแผ่นดินแม่ ณ จุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
นายผี สัมผัสแผ่นดินแม่ เมื่อยืนยง โอภากุล วางอัฐิของท่านลงบนขอบสะพานฯ
เวลา 11:15 น.ของวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ท่านกลับถึงแผ่นดินแม่ ณ จุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ด้วยรถตู้สีเทา ท่านมาในกระเป๋า STOW AWAY CLASSIC สีเขียว นำทางโดยพระภิกษุสามรูป ถือสายสิญจน์ผูกโยงเข้ากับกระเป๋า จากสะพานมิตรภาพฯ ก็มุ่งสู่วัดศรีสุมังค์ มีแว่วเสียงเพลงในท่วงทำนองคึกคัก เร่งเร้า ทว่าเนื้อหา ชวนสะเทือนใจ ว่า
"อายุหกสิบห้าไม่มีอาก้าจะสะพาย มีแล้ก็แต่คาร์ไบน์ ถึงปืนไม่ร้ายแต่ใจยังจำ จับปืนขี้เมี่ยง มองเมียงมือคลำ ปังคะมำลงมา นัดหนึ่งคนหนึ่ง นิ้วตึงอกแตก เลือดทะลักซักแหลก และกับเลือดหกตุลา..คม ห้าขวบหย็อย ๆ อยู่ข้างหน้า หกสิบห้าเหย่า ๆ ตามหลัง ทางภูดูยาวเหยียดหยัด ต้องการสมรรถพลัง สองขาพาไป จะปะอะไรก็ช่าง ถึงปู่ล้มหลานยัง เสียงปืนยิงปังก้องพนา... เอ๋ย พนม ปัง ปัง ปัง.. ก้องพ คนล่าสัตว์ - กินนร เพลินไพร
หลังพิธีสวดบังสกุล, ได้นำกระดูกซึ่งอาบน้ำยาไว้ เกือบสมบูรณ์ทุกชิ้นส่วน ออกจากกระเป๋ามาจัดวางบนผ้าขาว ทำพิธีรดน้ำศพ ต่อเมื่อบรรจุกระดูกลงในโลงไม้ ป้าลมดึงผ้าแพรสีแดงเลือดนกฝืนใหญ่ออกมา ประดับด้วยดาวเหลืองดวงใหญ่ห่มคลุมร่าง "ลุงไฟ" อีกชั่วโมงถัดมา โลงสีขาวถูกยกขึ้นรถคัดเดิม ขบวนต้อนรับนายผีคืนถิ่น แผ่นดินแม่ละจากฝั่งโขง มุ่งหน้าสู่นครราชสีมา โดยมีรถนำขบวน จากกองปราบปรามพิเศษ คอยอำนวยความสะดวก นับเป็นประจักษ์พยานยืนยัน ถึงห้วงเวลาอันสงบสันติ แม้ครั้งหนึ่งท่านจะยืนอยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาลไทย ถึงขั้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้ แต่เมื่อกลับถึงวันเวลาที่เขากลับมา ท่านได้รับทั้งเกียรติและการคารวะ.
คารวะรำลึกถึง ท่านอัศนี พลจันทร
เพราะเกิดมา เพื่อต่อสู้ ผู้กดขี่ ตราบจนสิ้น อินทรีย์ เป็นผุยผง
อุดมการณ์ ที่สานฝัน ยังมั่นคง จักดำรง สืบทอด ตลอดกาล
เป็นเปลวไฟ นำทาง ไปข้างหน้า ส่องวิถี ชี้มรรคา แก่ลูกหลาน
ทั้งจักได้ จดจำ เป็นตำนาน ไว้เล่าขาน เพื่อมวลชน ได้ยลยิน
เป็นกองหน้า เป็นแบบอย่าง ถึงที่สุด เป็นพลัง ที่ก้าวรุด ไม่สุดสิ้น
เก่าจากไป ใหม่เกิดมา เป็นอาจิณ จนตราบสิ้น ผองพาล มารสังคม
บทกวีจาก "สัจจาภิรักษ์" กวีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
อ่านโดยสหายชาวนา ณ จุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2540
คืนวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ณ สนามฟุตบอล สถาบันราชภัฏนครราชสีมา บทเพลง "คิดถึงบ้าน" ถูกขับขาน ร่วมกันด้วยน้ำเสียงของคนกว่าสามหมื่นคน อาจเป็นการขับขานบทเพลงนี้ ซึ่งกระหึ่มดังมากที่สุดในจำนวนนับแสน นับล้านเที่ยว ซึ่งเพลงบทนี้ ได้รับการขับขานมาตลอดห้วงเวลา 4 ปี นับแต่คาราวานนำมาบันทึกเสียงไว้ใน อัลบั้ม "บ้านนาสะเทือน" เมื่อปี 2526 ปีเดียวกับที่เจ้าของบทเพลงพลัดพรากจากถิ่นแผ่นดินเกิด
หลังพิธีเผาในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2541 ท่านได้นอนอย่างสงบภายในอนุสรณ์สถานซึ่งสลักคำว่า "เดือนเพ็ญ" ไว้บนพื้นหินอ่อนกลางไร่อ้อยของคู่ชีวิต ณ จังหวัดกำแพงเพชร สงบลงในความเชื่อมั่นที่ว่า เพ็ญนั้นคงยังเด่นดวง ตราบใดที่สังคมยังเหลื่อมล้ำ และมีคนลุกขึ้นต่อกรกับความไม่เป็นธรรม...
แสงไฟไหม้ดับไม่ลับมอดเลย สายลมเจ้าเอยช่วยฝัน โหมไฟให้เปล่งปานแสงตะวัน หัวใจไม่หวั่นผวาหวาดเลย คิดถึงคนยากคนทุกข์อย่างเคย ห่วงเอย... ห่วงใยห่วงหา
ตอบเดือนเพ็ญ - สุรชัย จันทิมาธร
หากท่านผู้อ่าน มีข้อชี้แนะ เพิ่มเสริม ให้ปรับปรุง หรือตัดทอน เพื่อให้ข้อมูล ประวัติ และรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ของ "นายผี" มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอเชิญแจ้งมาได้ที่ info@huexonline.com จักเป็นพระคุณยิ่ง และใคร่ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้.
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ที่มาและคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/อัศนี_พลจันทร, วันที่สืบค้น 3 กันยายน 2557.
02. ปรับปรุงจาก. web.archive.org/web/20020204020423/www.geocities.com/thaifreeman/pe/pe.html, วันที่สืบค้น 3 กันยายน 2557.
03. จากการที่ได้รับฟังมาจากมารดาของผู้ศึกษา, การที่ภาษาไทยในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูแปลก ๆ ออกจะวิบัตินั้น ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของกองกำลังทหารญี่ปุ่น เพื่อไปยังบริติชเบอร์ม่า (British Burma) และบริติชมาลายา (British Malaya) นั้น ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานด้านกำลังเสบียง ได้พยายามศึกษาภาษาไทย แต่พบว่าเข้าใจและสะกดยากด้วยรากภาษาและการเขียนมีภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาประเทศเพื่อนบ้านประสมประสานอยู่ด้วย จึงให้ยกเลิกการเรียนภาษาไทย ให้ไทยหันมาใช้ภาษาญี่ปุ่นให้หมด. จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงแก้ไขใช้กุศโลบายให้ธำรงความเป็นภาษาไทยไว้ จัดให้ภาษาไทยอ่านง่าย ๆ ตามเสียงสะกด (ไปก่อนในช่วงที่ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน) ภาษาเขียนของไทยจึงยังคงมีอยู่จวบจนปัจจุบัน.
04. จาก. สยามสมัย, ปีที่ 5, ฉ.256, 7 เมษายน 2495.
05. ปรับปรุงจาก. เว็บไซต์ของมูลนิธิอัศนี พลจันทร (นายผี), assaneepollajan.com , วันที่สืบค้น 8 กันยายน 2557.
06. จาก. www.baanjomyout.com, วันที่สืบค้น 9 พฤศจิกายน 2560.
07. จาก. Facebook เพจ "ตำนานบรรดาเรา," วันที่เข้าถึง 16 กันยายน 2564.
ภาพที่แสดงใน Gallery นั้น
ขอขอบคุณ เพจใน facebook "หวลรำลึกถึงนายผี อัศนี พลจันทร, สหายไฟ อัศนี พลจันทร," วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2561.