First revision: Aug.24, 2013
Last revision: Jul.19, 2019
สืบค้นและเรียบเรียงโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง1
รัฐบุรุษอาวุโส
ด้วยคุณูปการที่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องท่านไว้ในฐาน "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุดดังที่ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488 ความว่า
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฎว่า ตลอดเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับพระราชทาน แก่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2488.
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐฯ ให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55.
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ท่านดำรงตำแหน่งตามเดิม.
กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของท่าน ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยม ศักดินา กลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งกลุ่มทหารที่ฝักใฝ่ศักดินา ตลอดจนกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังเจ็บแค้นท่าน อันเป็นผลมาจากการอภิวัฒน์การปกครองไทยเป็นประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายท่านทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของท่านปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน.
ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2489 ภายหลังจากที่ท่านลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้ท่านเป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลก เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแห่งแรก ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมเก้าประเทศตามลำดับ และกลับมาถึงพระนครเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 รวมระยะเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศสามเดือนเต็ม.
ท่านปรีดี-ท่านผู้หญิงพูนศุข และคณะผู้ติดตาม ที่ตึกเอ็มไพร์สเตท มหานครนิวยอร์ค
เมื่อ พ.ศ.2490 ในฐานะแขกพิเศษของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา2
ในปี พ.ศ.2490 มีคำพูดของพลเอก กฤช ปุณณกันต์ หนึ่งในคณะราษฎร์ กล่าวว่า "เมื่อประชาธิปัตย์ผนึกกำลังกับระบบอำมาตย์ ดวงถึงฆาตก็คือนายปรีดี... นอกจากขุมกำลังสำคัญทางการเมืองของระบบอำมาตย์ จะสาดโคลนทางการเมืองด้วยสื่อและข้อกล่าวหาร้ายแรงถึงขั้นลอบปลงพระชนม์ ตามข้อกล่าวหายอดฮิต ปรีดีจะเป็นประธานาธิบดี"
ลี้ภัยรัฐประหาร
ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหาร ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคตลงได้ ประกอบกับการลดบทบาทของกองทัพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกทำเนียบท่าช้างวังหน้า ซึ่งท่านและครอบครัวอาศัยอยู่ แล้วพยายามจะจับกุมตัวท่าน
ทำเนียบท่าช้างวังหน้า (ภาพถ่ายจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา) และ
ภาพอริยาบทการประชุมกับเสรีไทย คนสนิท ทั้งพลเรือนและทหาร บริเวณลานสนามหญ้าในทำเนียบท่าช้างวังหน้า2
เรือลำที่ ฯพณฯ ปรีดีใช้หลบหนี
แต่ท่านก็หลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือ และได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร ท่านจึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังสิงคโปร์ (ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา) จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน.
ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทยเพื่อทำการยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 แต่กระทำการไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง") ท่านจึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย.
กบฏวังหลวง๓
เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ "กบฏวังหลวง" เป็นชื่อเรียกการกบฏที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เกิดขึ้นเมื่อ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองกำลังบัญชาการ (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก "กบฏ" ในครั้งนี้) เวลาประมาณ 16:00 น. เนื่องจากท่านคุ้นเคยกับสถานที่เหล่านี้มาก่อนในช่วงที่ยังมีอำนาจอยู่ โดยเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "แผนช้างดำ-ช้างน้ำ" จากนั้นในเวลา 21:00 น. ได้ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และแต่งตั้ง พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยที่ทั้งนายดิเรกและพล.ร.ท.สินธุ์ มิได้มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้.
ในส่วนของท่านปรีดี ที่ได้หลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ท่านได้แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้ ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนล่วงหน้าว่าอาจมีเหตุเกิดขึ้นได้ เพราะจอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไว้ถึงสองครั้ง เช่น "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุถึงสามวัน รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ขนานนามการซ้อมรบครั้งนั้นว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"
ในระยะแรกนั้น ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฎจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบริเวณคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลาสองยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายรัฐบาลแล้ว.
จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสาทร, สี่แยกราชประสงค์ มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย.
พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุดเวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้งสองฝ่ายก็หยุดยิง
เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เศร้าโศกเสียใจมากกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงขนาดจะยิงตัวตาย เพราะที่ผ่านมานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ไม่เคยมีการกบฏหรือรัฐประหารครั้งไหนที่จะมีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้ แต่ทว่าได้ถูกท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาห้ามไว้ และก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหารสี่อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัมน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น.
กบฎแมนฮัตตัน
เป็นความพยายามของทหารเรือที่จะก่อกบฎเป็นครั้งที่สอง ต่อจากกบฎวังหลวง เมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 นำโดยนายทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" แต่กระทำการไม่สำเร็จ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกบฎได้รับความเสียหายมาก นับเป็นต้นเหตุให้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของทัพเรือลงไปมากจวบจนปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ ไม่เกี่ยวกับ ฯพณฯ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แต่อย่างใด แต่ก็สะท้อนถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพ ความไม่มั่นคงทางการเมืองของไทย ที่อยู่ห่างไกลจากคำว่า "ประชาธิปไตย" ไปทุกขณะ.
ปัจฉิมวัย
หลายปีที่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ยังมีการกล่าวหาว่าท่านสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 เป็นระยะ ๆ ท่านจึงต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฎว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี นอกจากนี้ โดยคำพิพากษาของศาลในกรณีฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับพวก ในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ ท่านจึงได้รับการรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับเงินบำนาญตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางของไทย.
ขณะที่ท่านพำนักอยู่ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่นั้น ท่านได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ว่าจะเป็นท่านประธานพรรคฯ "เหมาเจ๋อตง" นายกรัฐมนตรี "โจว เอิน ไหล" จอมพลเฉินยี่ "เติ้ง เสี่ยวผิง" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ท่านยังได้พบปะสนทนากับผู้กอบกู้เอกราชของชาติในอินโดจีน อาทิ ประธานาธิบดี "โฮจิมินห์" แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) นายกรัฐมนตรี "ฟาม วัน ดง" แห่งเวียดนามเหนือ เจ้าสุภานุวงศ์ ประธานสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปล.) เจ้าสุวรรณภูมา และพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างท่านปรีดีกับประธานาธิบดีโฮจิมินห์นั้น ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยที่โฮจิมินห์ต่อสู้กับฝรั่งเศส.
ณ กรุงปักกิ่ง, จับมือกับท่านประธาน "เหมาเจ๋อตง"
ณ กรุงฮานอย, ถ่ายรูปร่วมกับท่านประธาน "โฮจิมินห์"
ณ กรุงปักกิ่ง, ถ่ายรูปร่วมกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน "โจวเอินไหล"
ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2513 ท่าน "โจว เอิน ไหล" ได้อำนวยความสะดวกให้ท่านปรีดีได้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความช่วยเหลือจากนายกีโยม จอร์จ-ปีโก (Guillaume Georges-Picot) มิตรเก่าที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตถาวรของประเทศฝรั่งเศส ประจำกรุงปักกิ่ง และโดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ท่านปรีดีจึงได้พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายชีวิตอย่างมีความสุขสงบ ท่าปรีดีเป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง "กฎบัตรของพุทธบริษัท" ที่ท่าน "พุทธทาสภิกขุ" ส่งไปให้นั้น ท่านปรีดีจะพกในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต.
ระหว่างที่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ พำนักอยู่ต่างประเทศ มีนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนหลายท่านกล่าวหาว่า ฯพณฯ มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับคดีสวรรคต ฯพณฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยฟ้องผู้กล่าวหาเหล่านั้น ซึ่ง ฯพณฯ ชนะทุกคดี จนต้องออกหนังสือขอขมากันเป็นแถว รวมทั้ง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย.08
เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส.
ท่านปัญญานันทะภิกขุ เป็นประธานในงานฌาปนกิจศพ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 ณ สุสาน Pere Lachaise2
ครอบครัวท่านปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ณ อนุสาวรีย์ฯ หน้าตึกโดมธรรมศาสตร์ เมื่อ 11 พฤษภาคม 25272
อัฐิของ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ลอยในอ่าวไทยตามความปรารถนาของผู้วายชนม์ 2
เกร็ดประวัติท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
- ท่านผู้หญิงเป็น "ลูกพระยา"4 ท่านเกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2455 ที่เมืองสมุทรปราการ เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) และพระยาวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ นาม "พูนศุข" นั้นได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง.
- เมื่อปี พ.ศ.2461 ท่านผู้หญิง (ด.ญ.พูนศุข ณ ป้อมเพชร์) มีอายุได้หกขวบ ก็ย้ายครอบครัวมาอยู่ในพระนคร เข้าเรียนโรงเรียนฝรั่งที่โก้และแพงมาก ณ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ มีรถเปิดประทุนจากบ้านไปรับ-ส่งตลอด.
5
- วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2471, ท่านผู้หญิง (นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์) ได้เข้าพิธีสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ บุตรนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์. มีบุตรและธิดารวมหกคน คือ นางสาวลลิตา พนมยงค์, นายปาล พนมยงค์, นางสาวสุดา พนมยงค์, นายศุขปรีดา พนมยงค์, นางดุษฎี บุญทัศนกุล และนางวาณี สายประดิษฐ์.
ภาพด้านซ้าย: ภาพถ่ายที่หัวหิน ท่านปรีดีอุ้มคุณลลิตา ท่านผู้หญิงพูนศุขอุ้มคุณปาล
- วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475, ท่านผู้หญิงพูนศุข ไม่ทราบมาก่อนเลยว่า ท่านปรีดีผู้เป็นสามีนั้นเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรที่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะท่านปรีดีต้องการรักษาความลับ จึงหลอกภรรยาว่าช่วงนั้นจะไปบวชที่อยุธยา.6
- คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2490, คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและตามล่า ฯพณฯ ปรีดี โดยใช้ปืนกลกราดยิงเข้าไปในทำเนียบท่าช้าง ซึ่งขณะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขกับลูก ๆ อยู่ในบ้าน ท่านผู้หญิงได้ตะโกนออกไปว่า "อย่ายิง อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก".6
- วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2511, วันครบรอบ 40 ปีแห่งการสมรส ฯพณฯ ปรีดีได้เขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิง โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฎขึ้นแก่มวลราษฎรไทย".6
- ปี พ.ศ.2545, ในวัย 90 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข ยังคงมีความทรงจำดีเลิศ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบ มิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกันรำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตรายช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้นด้วยความขอบคุณ".6
- คำสั่งถึงลูก ๆ ทุกคน6
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
- นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
- ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
- ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
- ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
- มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
- ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
- เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
- ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
- หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำสาธารณกุศล
- ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่
จงมีความสุขความเจริญ
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ 172 สาธร 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541
เมื่อแม่ (ท่านผู้หญิง) มีอายุครบ 86 ปี 9 เดือน
- ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 02:04 นาฬิกา ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริรวม 95 ปี 4 เดือน.7
ที่มาและคำอธิบาย:
1. จาก. th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์, วันที่สืบค้น 24 สิงหาคม พ.ศ.2556.
2. จาก. www.pridi-phoonsuk.org/gallery/show-picture/, วันที่สืบค้น 24 สิงหาคม พ.ศ.2556.
3. จาก. th.wikipedia.org/wiki/กบฎวังหลวง, วันที่สืบค้น 27 สิงหาคม พ.ศ.2556.
4. จาก. www.pridiinstitute.com, แสดงไว้ว่า "ข้อมูลจากนิตยสาร "สารคดี" ปีที่ 23 ฉบับที่ 269 กรกฎาคม 2550", วันที่สืบค้น 12 กันยายน พ.ศ.2556.
5. ภาพจาก. www.spcthai.com, วันที่สืบค้น 12 กันยาน พ.ศ.2556.
6. จาก. www.pridiinstitute.com, วันที่สืบค้น 12 กันยายน พ.ศ.2556.
7. จาก. th.wikipedia.org/พุนศุข_พนมยงค์, วันที่สืบค้น 12 กันยายน พ.ศ.2556.
8. จาก. Pong Tai on Twitter, วันที่สืบค้น 20 มกราคม พ.ศ.2560.
9. จาก. http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=put-at-the-corner&month=06-2009&date=17&group=15&gblog=1, วันที่สืบค้น 12 สิงหาคม 2560.