MENU
TH EN

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ - รัฐบุรุษอาวุโส #3

First revision: July 22, 2013
Last revision: Apr.12, 2019 
สืบค้น เรียบเรียงโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ด้านการศึกษา

        ในขณะที่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ท่านได้สถาปนา "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ และท่านได้รับการแต่งตั้งเป็น "ผู้ประศาสน์การ" (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๙๐) ท่านเป็นคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยแห่งนี้.
 
                     
ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน, ภาพทางอากาศแสดงขอบเขตบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 
ตึกโดม (หรือดินสอโดม) ธรรมศาสตร์ในอดีต "ฟากฟ้าคราม งามประกาย เฉิดฉายโดม"
       
 
ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย
 
 
นักศึกษา มธก. ๑๙ คน ในพิธีประสาทปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘
(นักศึกษารุ่นนี้โอนมาจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม)
 

ผู้ประศาสน์การ คณาจารย์ แขกผู้มีเกียรติ และบัณฑิตในวันพิธีประสาทปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต หน้าตึกโดม ราว ๆ ช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๐-๘๕.๑๔

 
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เปลี่ยนชื่อปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)ภาพถ่าย 2480


        โดยท่านได้เล็งเห็นว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาขณะนั้น มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ประเทศชาติมีความจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน และเพื่อสนองเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวคิดของท่าน จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎร เป็นตลาดวิชา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน" ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า

       "มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น"      

        ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นตลาดวิชาและเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียนกฎหมาย ผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และเปิดกว้างให้ถึงผู้ที่เป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนฯ ผู้แทนตำบล ครู ทนายความ สามารถเข้าเรียนได้ด้วย ซึ่งปรากฎว่าในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง ๗,๐๙๔ คน

        สำหรับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น เบื้องต้นได้ใช้ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๗๘ มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมเป็นที่ของทหาร (และเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้าเดิม) และปรับปรุงอาคารเดิมพร้อมทั้งสร้างตึกโดม (อันหมายถึงปัญญาและความเฉียบแหลม)
 
       มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรก มิได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน หากอาศัยเงินที่มาจากค่าเล่าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผลที่ได้มาจาก ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้น ๘๐% นอกจากนี้ท่านยังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาสน์ของท่านให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อพิมพ์เอกสารตำราคำสอนแก่นักศึกษา นับว่าเป็นสถาบันที่มีเสรีภาพทางวิชาการและเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้นมหาวิทยาลัยฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยมหาวิทยาลัยฯ เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

        ภายหลังที่ท่านต้องลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประสงค์มิให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังขายหุ้นธนาคารเอเชียฯ ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาลจวบจนปัจจุบัน

 
ด้านการต่างประเทศ
        เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ.๒๔๗๘ - ๒๔๘๑) ในเวลานั้น สยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกบังคับให้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ๑๓ ประเทศ ในนามของ "สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเรือ"

       "เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว นายปรีดีก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจอันมีความสำคัญต่อประเทศสยามอย่างยิ่งยวด นั่นคือเป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่รัฐสยาม สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้ " 
15.

       ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ หลังจากได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว รัฐบาลเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาทางยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาลและเศรษฐกิจ ตลอดจนหาทางลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินที่รัฐบาลเก่าได้ทำสัญญาไว้ ซึ่งจากการที่ สยามตกอยู่ภายใต้สัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 13 ประเทศ ฯพณฯ ปรีดี ตระหนักดีว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่งานง่ายที่จะเจรจาให้มหาอำนาจยอมลดผลประโยชน์ของตัวเองลง ฯพณฯ ปรีดี
16 และคณะจึงออกเดินทางโดยเรือโดยสารไปขี้นบกที่อิตาลี ไปพบปะเจรจากับผู้นำประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเซีย อาทิ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์แห่งอิตาลี, ปีแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส, ฮจาล์ มาร์ ซาคท์ ตัวแทนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, เซอร์ แซมมวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ (ผลการเจรจาเงินกู้กับเซอร์ แซมมวล ฮอร์ คือเจ้าหนี้ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ จำนวน ๒,๒๓๐,๓๐๐ ปอนด์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี เหลือเพียง ร้อยละ ๔ ต่อปี), และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในหลายประเทศ, จากนั้น ฯพณฯ ปรีดีก็นั่งเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังกรุงวอชิงตัน เข้าพบ นายคอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งรับปากเรื่องสนธิสัญญาเช่นกัน, จากนั้น ฯพณฯ ปรีดีและขณะเดินทางข้ามทวีปข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังกรุงโตเกียว ฯพณฯ ปรีดีได้เข้าพบจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น และได้เจรจากับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งแสดงความเห็นใจ ยอมยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม.
  
                        
       ท่าน ดร.ปรีดีกับเซอร์ แซมมวล ฮอร์ รมต.ต่างประเทศ อังกฤษ
(ขณะเตรียมเข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จที่ ๖ พ.ศ.๒๔๙๐)
,
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์แห่งอิตาลี และ
จักรพรรดิฮิโรฮิโต แห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น        

 
       ตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ดำรงตำแหน่ง ท่านได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ ๑๓ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ, สเปน, โปรตุเกส, เดนมาร์ก, สวีเดน, อิตาลี, เบลเยี่ยม และนอร์เวย์ ตามลำดับ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ ๒ ประเด็น คือ

        ๑.   สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ คนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล
        ๒.   ภาษีร้อยชักสาม คือ รัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๓ ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควร จะได้นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ

        โดยใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และมีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ

        ฯพณฯ ปรีดีได้นั่งทำงานในกระทรวงใหญ่ ๆ หลายกระทรวงที่มีข้าราชการในสังกัดหลายหมื่นคน ขับเคลื่อนนโยบายลำบาก ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงต่างประเทศ ที่มีข้าราชการร้อยกว่าคน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 ขณะที่มีอายุได้ 35 ปี.

        หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของสิงคโปร์ กล่าวยกย่อง ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดอกเตอร์ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโทนี อีเดน" ผู้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ.

     

 
ด้านการคลัง

      ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รายได้จากภาษีของรัฐศักดินาส่วนใหญ่เก็บจากชาวนา ซึ่งมีทรัพย์สมบัติน้อยอยู่แล้ว แทนที่จะเก็บตามความสามารถทางฐานะของบุคคล อยุติธรรมที่สุดเห็นจะเป็นภาษีรัชชูปการ อันเป็น "ส่วย" ที่ราษฎรไพร่ต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา ฯพณฯ ปรีดี มีความตั้งใจอยู่แล้วว่า จะต้องแก้ไขปัญหาภาษีที่อยุติธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หลักหกประการของคณะราษฎร แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้จะเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาแล้วก็ตาม.
      เมื่อ ฯพณฯ ปรีดี เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ.2481 ท่านมีอายุได้ 38 ปี ในรัฐบาล พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ฯพณฯ ปรีดี ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า จะปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ยกเลิกภาษีอากรที่ขูดรีด เช่น ภาษีรัชชูปการ อากรค่านา ซึ่งถือเป็นเงิน "ส่วย" ที่ราษฎรจะต้องเสียให้แก่ศักดินา และได้สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" คือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีมาก อันได้แก่ภาษีรายได้ ร้านค้า ธนาคาร สุรา อากรมหรสพ ฯลฯ
    


        เมื่อท่านได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๔) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้.

        ๑.  ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
        ๒.  จัดระบบเก็บภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
        ๓.  ออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นระบบภาษีที่ก้าวหน้า กล่าวคือ ผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก หากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ.

       ฯพณฯ ปรีดี เคยได้กล่าวไว้ว่า "ความอัตคัดขัดสนของชาวนามีอีกมากมายหลายประการที่แสดงว่า ชาวนาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่ชาวนาก็มีภาระที่ต้องเสียเงินรัชชูปการ ถ้าไม่มีเงินเสียก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานประมาณปีละ 15-30 วัน และยังต้องเสียอากรที่นา..."
17.
 
 
       ในด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี ได้คาดการณ์ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในไม่ช้า เงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งประเทศไทยใช้เป็นทุนสำรองเงินตรา อาจจะลดค่าลงได้ ท่านได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงสรุปได้ว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่ง ซึ่งน่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และเห็นว่าอังกฤษซึ่งอยู่ในภาวะสงครามกับเยอรมนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๒ นั้น มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเซียแปซิฟิกในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย อันจะกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ท่านจึงได้จัดการนำเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่ง ซื้อทองคำแท่งหนัก ๑ ล้านออนซ์ (บางข้อมูลว่า ๒๗๓,๘๑๕ ออนซ์)17 ในราคาออนซ์ละ ๓๕ ดอลล่าร์สหรัฐ นำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลล่าร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุด แม้ว่าเป็นระยะใกล้จะเกิดสงครามเต็มทีแล้วก็ตาม ทองคำแท่งจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทจวบจนปัจจุบัน.

        เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตรา อันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ท่านได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งท่านเคยได้ปรารภไว้แล้ว แสดงในเค้าโครงเศรษฐกิจฯ มาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยได้จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ.
 

วังบางขุนพรหม ปัจจุบันคือที่ตั้งของ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 
        ต่อมาจึงได้จัดตั้ง "ธนาคารชาติไทย" ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ปัจจุบันคือ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" เพื่อหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์. ทั้งนี้เนื่องมาจาก ฯพณฯ ดร.ปรีดี ได้เขียนไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า ให้มีธนาคารชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ คอยควบคุมธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ออกพันธบัตร รักษาทุนสำรองเงินตรา แต่ความคิดนี้ถูกฝรั่งที่ปรึกษา และคนไทยด้วยกันเองขัดขวาง ในปีนั้นไทยมีธนาคารพาณิชย์เพียงไม่กี่แห่ง และเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด การที่มีแบงก์ชาติคอยควบคุม แบงก์พาณิชย์จึงไม่ใช่เรื่องจะกระทำได้ง่าย และต่างชาติที่เป็นเจ้าของธนาคารก็เกรงว่า แบงก์ชาติที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จะไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของพวกตน.

        แต่ ฯพณฯ ดร.ปรีดีพิจารณาว่า การที่จะสถาปนาประเทศชาติให้มีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มีความเจริญทัดเทียมชาติอื่นอันเป็นนานาอารยประเทศ จำเป็นต้องมีธนาคารชาติไทย ท่านจึงได้วางรากฐานอย่างจริงจัง จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน แล้วเร่งฝึกเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารงาน ต่อมาจึงได้จัดตั้งธนาคารชาติไทย หรือเป็นที่รู้จักกันในนามธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐโดยสมบูรณ์.

        ในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2485 รมว.กระทรวงการคลัง พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ได้กล่าวในพิธีว่า:-
"การตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทย เป็นความดำริที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้มีมาแล้วแต่ช้านาน เมื่อปี 2483 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้วางรากฐานลงไว้ โดยจัดตั้งสำนักธนาคารชาติไทยเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจ อันอยู่ในหน้าที่ของธนาคารกลางไปก่อนบางประเภท และเตรียมการจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นต่อไป การงานของสำนักงานธนาคารชาติไทยได้เจริญมาเป็นลำดับ ด้วยอาศัยปรีชาสามารถของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นเป็นสำคัญ".  

 
บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
        ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 - ค.ศ.1945 หรือ พ.ศ.๒๔๘๒ - พ.ศ.๒๔๘๘) จะอุบัติขึ้น ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" (The King of the White Elephant) เพื่อสื่อเจตคติด้านสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฎในภาพยนตร์ที่ "นตฺสนฺติปรํ สุขํ" (สุขใด เสมอด้วยความสงบสันตินั้น ไม่มี) ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี
            
โปสเตอร์ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มภาษาอังกฤษ เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" และ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ กำลังดูทีมงานสร้างภาพยนตร์ พ.ศ.๒๔๘๓
 
 
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยที่หน้ากระทรวงกลาโหม
แก่นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องเอาดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓
 
 
ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่สะพานพระราม ๖๗.๑

        
ภาพจากซ้ายไปขวา ภาพแรก กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ณ บริเวณอ่าวมะนาว  ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ (ค.ศ.1941)๗.๒
ภาพที่สอง กองทัพญี่ปุ่นขณะบุกภาคใต้ของไทย (จ.ยะลา จ.ปัตตานี)๗.๓

 
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นใหม่ แทน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ คือ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์

 
ธงประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มให้มีขึ้นครั้งแรกใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ.๒๔๗๙

        และต่อมาเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่านหนึ่ง คือ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ดังนั้นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์

        อีกสองปีต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้ง ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้.


หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
       เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ สงครามมหาเอเชียบูรพาก็ปะทุขึ้น เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และรวมไปถึงดินแดนในครอบครองของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในวันรุ่งขึ้น "กองทัพพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตของญี่ปุ่น" ได้ยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทยทางอินโดจีนของฝรั่งเศส          

 
ภาพถ่ายจากเครื่องบินของกองทัพอากาศญี่ปุ่น ขณะเริ่มโจมตี "ฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ "
โดยกลางภาพเป็นเหตุการณ์ขณะที่ตอร์ปิโดกำลังพุ่งเข้าใส่ เรือรบ "ยูเอสเอส โอคลาโฮมา"

 
        รัฐบาลสยามภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ในที่สุดสยามก็ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น (มา จากแนวคิดของนายพลญี่ปุ่นท่านหนึ่ง "ฮะชิโร อะริตะ" ที่ว่า The Greater East Asia Co-prosperity Sphere - วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา) และ ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕. ซึ่งเรื่องนี้นั้น นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายเสรีนิยม ต่างมีความเห็นที่แตกต่างและถกเถียงกันมาก บ้างก็ว่าการประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร เป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ.๒๔๘๒.

       แต่หากพิจารณาในมุมของกำลังทหาร ศักยภาพของไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี "จอมพล ป. พิบูลสงคราม"  ท่านมีทางเลือกอื่นอีกหรือ? ที่จะไม่ร่วมวงค์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น  อย่างเช่น กรณี ที่ทหารญี่ปุ่นกระทำการที่โหดร้ายต่าง ๆ กับนานาประเทศในเอเชียแปซิฟิก อาทิ การนองเลือด(การข่มขืน) ที่นานจิง , การยึดคาบสมุทรเกาหลี, การตั้งประเทศใหม่ "แมนจูกัว" โดยให้อดีตจักรพรรดิจีน 'ไอ่ชิง เจี่ยวเหร่อ ฟูยี" เป็นจักรพรรดิหุ่นเชิด, การที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปห้องประชุมรัฐมนตรีของไทยที่ "ตึกเหลืองยาวสวนกุหลาบ"  ขู่และยื่นคำขาดให้ไทยยอมแพ้ เพื่อเป็นทางผ่านในการกรีฑาทัพเข้าพม่าและจะเข้าตี "บริติช อินเดีย" (British India) ของจักรวรรดิอังกฤษต่อไป หากไทยไม่ยอมแพ้ ก็จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เป็นต้น.

          

 
"หญิงสาวชาวเกาหลี" ที่เป็นทาสกามหรือเป็น "Comfort Women"๑๐ แก่เหล่าทหารแนวหน้าของกองทัพญี่ปุ่น


       
"ฟูยี" หรือพระนามเต็ม "ไอ่ชิง เจี่ยวเหร่อ ฟูยี" จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน และ  แผนที่ประเทศแมนจูกัว (Manchukuo)

 
ตึกเหลืองยาวสวนกุหลาบ ถนนตรีเพชร ซึ่งช่วงหนึ่งเป็นสถานที่ราชการใช้ประชุม
คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล จอมพล.ป.พิบูลสงคราม (๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ - ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗)

 
        ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฎ โดยเป็นผู้นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" (Free Thai Movement) ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ {สมาชิกขบวนการที่มีชื่อเสียง๑๑ ๑) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี, ควง อภัยวงศ์, อดุล อดุลเดชจรัส, หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก), ดิเรก ชัยนาม, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ปรีดี พนมยงค์ (รู้ธ), ทวี บุณยเกตุ, มจ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (อรุณ), หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), สงวน ตุลารักษ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม เย็นยิ่ง),  สิทธิ เศวตศิลา, อนันต์ จินตกานนท์, เตียง ศิริขันธ์, ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์} ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ท่านไม่ยอมรับและร่วมลงนามในประกาศสงครามดังกล่าว ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย
 
ตราขบวนการเสรีไทย
 
         
เสรีไทยที่สำคัญบางท่าน จากซ้ายไปขวา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี,
พันตรี ควง อภัยวงศ์ และ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส,
 
             
ศ.พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์, มจ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา

 
        มีกระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เพิ่มขึ้นและกระจายไปให้หมู่ประชาชน แต่รัฐบาลก็ (บ้างก็ว่า "ถือว่ามีความชอบธรรม" บ้างก็ว่า "จำต้องกระทำ") ได้ทำการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศไทย ก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกรานจึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ.

      ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในรหัสนามว่า "รู้ธ" (Ruth) ทำงานในสองบทบาทตลอดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือ.
  • ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
  • ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
  • ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น.
       ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้แจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวนแปดหมื่นคนทั่วประเทศ พร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘.

       เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมจำนน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทย ไม่ต้องวางอาวุธ และให้รีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น๑๒.


ประกาศสันติภาพ
       วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย 

         
ภาพแรก: บรรดาเหล่าเสรีไทยกว่า ๘,๐๐๐ นาย ได้เดินสวนสนามประกาศสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน,
ภาพที่สอง: สามท่านที่อยู่กลางภาพ (จากซ้ายไปขวา) คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ศ.พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์

 
        เนื่องจากการประกาศสงครามครั้งนั้นเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชน ชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประเทศไทยได้ตัดสินใจให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ เมื่อก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง ประเทศไทยไม่ปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านั้นและพร้อมที่จะจัดการส่งมอบคืน ให้ดังเดิม ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อสงครามสงบลง การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นโมฆะ โดยสหรัฐอเมริการับรอง ต่อมาปีพ.ศ.๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๑๖ สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสันติภาพ”๑๓.
      
       สุนทรพจน์ของท่านบางตอน ในวันที่เสรีไทยทั่วประเทศได้เดินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน มีดังนี้...
 
       "...ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล...

        ...วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสิ้นสุด กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง...ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง วึ่งแม้แต่ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ ๑๗ ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถจะทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี"
 
 
       เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้ว ท่านได้ขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทย เพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยเสด็จกลับถึงพระนครวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี ที่ไปเฝ้ารับเสด็จดังนี้.

       "ท่านปรีดี พนมยงค์

        ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้"
การ์ดวันเกิดที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระราชทานแก่ ฯพณฯ
(ที่มา: Facebook, Sinsawat Yodbangtoey, วันที่สืบค้น 31 ตุลาคม 2559)

 
ที่มาและคำอธิบาย:
๑.   จาก. th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์, วันที่สืบค้น ๒๘ เม.ย.๒๕๕๖, เวลา ๐๕:๓๓ น.
 
๒.   เมื่อครั้งที่ผู้ศึกษาเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่นั้น เคยได้ฟังสัมมนาโดยมีท่าน ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร่วมกับอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ได้บรรยายให้นักศึกษา (กลุ่มนักกิจกรรมบนตึก อมธ. ฟัง ราว ๆ ปี พ.ศ.๒๕๒๖) ได้กล่าวอธิบายในทำนองและในเนื้อความที่ว่า "ท่านปรีดีได้แนวการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยมาจาก สำนักราชบัณฑิตของฝรั่งเศส (Institut de France) ที่แบ่งออกเป็น ๕ สำนัก หนึ่งในสำนักนั้นก็คือ The Acade'mie des sciences morales et politiques (อ่านว่า akademi de sjas meral e politik)" โดยทั้ง ๕ สำนักราชบัณฑิตของฝรั่งเศส จะมีวัตถุประสงค์ศึกษาและอภิปรายทางด้าน Mental philosophy, law and jurisprudence, political economy and statistics, general and philosophical history, and politics, administration, and finance. รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้ใน en.wikipedia.org/wiki/Acade'mie_des_Sciences_Morales_er_Politiques, วันที่สืบค้น ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖.
๓.   จาก. www.pridi-phoonsuk.org/gallery/show-picture/, วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖.
๔.   ปรับปรุง เพิ่มเสริมและตัดทอนจาก. www.tu.ac.th/default.tu/about/about.html, วันที่สืบค้น ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖.
๕.   จาก. www.reocities.com/thaifreeman/pridi/pridi.html., วันที่สืบค้น ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖.
๖.   จาก. www.pridi-phoonsuk.org/gallery/show-picture/?picture_id=73, วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๖.
.๑   จาก. th.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย, วันที่สืบค้น ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖.
๗.๒  จาก.ข้อมูลใน Facebook "ประวัติศาสตร์ตาม Timeline", วันที่สืบค้น ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖.
๗.๓  จาก.ข้อมูลใน Facebook "ยะลาเมื่อวันวาน", วันที่สืบค้น ๘ กันยายน ๒๕๕๗.
๘.   จาก. th.wikipedia.org/wiki/ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์_(ประเทศไทย), วันที่สืบค้น ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖.
๙.   จาก. หนังสือ Rape of Nanking แต่งโดย Iris Chang, ISBN 0-465-06835-9, สำนักพิมพ์ Basic Books, ค.ศ.1997.
๑๐.  เรื่องหรือคำว่า "Comfort Women" เป็นเรื่องร้าวลึกมาก ระหว่างสอง(สาม)ประเทศ คือ เกาหลี(ทั้งเหนือและใต้)และญี่ปุ่น  คำนี้ถือเป็นคำที่ไม่สุภาพ และกระทบกระเทือนจิตใจชาวเกาหลี จวบจนปัจจุบัน (ผู้ศึกษาไม่ขอลงรายละเอียดในเรื่องนี้ ท่านใดผู้สนใจสามารถค้นคว้าศึกษาได้ด้วยตนเอง).
๑๑.  จาก. th.wikipeida.org/wiki/ขบวนการเสรีไทย, วันที่สืบค้น ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖. (ชื่อในวงเล็บ ตัวอักษรสีน้ำเงิน เป็นรหัสที่ใช้เรียกในขบวนการเสรีไทย).
๑๒.  ประเด็นนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมากในบรรดาประเทศพันธมิตรใหญ่ ๆ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ถึงท่าที "การเอาตัวรอดของไทย" ต่างจะเอาค่าปรับค่าปฏิกรณ์สงครามในฐานะที่ไทยเป็นฝ่ายอักษะซึ่งเป็นผู้แพ้สงครามให้ได้ แต่ไทยก็ได้รับการปกป้องจากสหรัฐอเมริกา "อย่างมีเงื่อนไข" และนี่คือปฐมบทในการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำไปสู่สงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นการลากประเทศไทยเข้าไปในวังวนของ "สงครามเวียดนาม" ในระยะต่อมา.
๑๓.  ปรับปรุงจาก. nntworld.prd.go.th/variety/august/peace/, วันที่สืบค้น ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖.
๑๔. จาก. Facebook ที่แอดมินท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า "แฉ...ความลับ" เนื้อหากล่าวร้ายท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุขอย่างไม่มีมูลความจริง เรียนตรง ๆ ผมรับไม่ได้ และก็แปลกใจที่บรรดาลูกแม่โดมทั้งหลาย ทำไมนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมจ้วงจาบให้ร้ายท่านผู้ประศาสน์การเช่นนี้, วันที่สืบค้น ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗.
15.  จาก. http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=put-at-the-corner&month=06-2009&date=18&group=15&gblog=9,
 คำกล่าวของ สันติสุข โสภณศิริ (กรรมการสถาบันปรีดี), วันที่สืบค้น 6 เมษายน 2560
16., 17.  จาก. http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=put-at-the-corner&month=06-2009&date=18&group=15&gblog=9,
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันหนึ่งได้มีการพิจารณาเงินกู้จากต่างประเทศ ในรัฐบาลสมัยสมบูรณาฯ ที่เคยใช้วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยการรีดภาษีจากประชาชนให้มากขึ้น และกู้เงินจากต่างประเทศ เมื่อตรวจสอบดูแล้ว ปรากฎว่าเงินกู้จากอังกฤษเสียดอกเบี้ยแพงมาก นายปรีดีจึงเสนอว่า "ผมจะเดินทางไปเจรจาเรื่องดอกเบี้ยเอง ขณะเดียวกันก็จะหาทางแก้ไขสัญญาต่าง ๆ กับนานาประเทศ และสร้างสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นด้วย", วันที่สืบค้น 6 เมษายน 2560.




 
humanexcellence.thailand@gmail.com