MENU
TH EN

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ - รัฐบุรุษอาวุโส #2

First revision: Jul.07, 2013
Last revision: Apr.06, 2017
สืบค้น และเรียบเรียงโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

 
บทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
       
        ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1906 กรุงปารีสได้กลายเป็นศูนย์รวมของแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองของสำนักแนวคิดรูปแบบการปกครองต่าง ๆ อาทิ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)07 วลาดิแมร์ เลนิน (Vladimir Lenin)08 ฟรีดริช เองเกลส์ (บ้างก็เขียนว่า เองเงิลส์) (Friedrich Engles)09 ซึ่งต่างเคยมาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ปารีสนี้ ฝรั่งเศสกลายเป็นต้นกำเนิดการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย.

        มีนักศึกษาจากหลาย ๆ ประเทศและหลายทวีปมาศึกษาที่นี่ ต่างได้ศึกษาซึมซับแนวคิดทฤษฎีทางการเมือง ต่างก็ต้องการให้ประเทศของตนเป็นเอกราช รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม มีบุคคลสำคัญหลายท่านที่ต่อมากลายเป็นนักปฏิวัติที่สำคัญ อาทิ โจวเอนไหล เติ้งเสี่ยวผิง โฮจิมินห์ ก็ล้วนแล้วมาศึกษากันที่ฝรั่งเศส มาใช้ชีวิตและเคี่ยวกรำแนวคิดปฏิวัติ.

        ท่านปรีดีได้ศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส จนจบปริญญาเอกในปี พ.ศ.2469 (ค.ศ.1926) และสามารถสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐกิจ (เศรษฐศาสตร์??) และท่านก็ได้พบกับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งได้ลาออกจากราชการทหารมาศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ การพบกันของทั้งสองท่านได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ในเวลาต่อมา.

        ท่านปรีดีเคยเขียนถึงประกายความคิดเริ่มต้นนี้ว่า "ภายหลังที่ได้สนทนากับ ร.ท.ประยูร หลายครั้ง จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin  (Route Henri Martin) ปรารภกันว่า ได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก".

        ในขณะที่ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ท่านได้ร่วมกับเพื่อนอีก ๖ คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ ณ หอพักแห่งหนึ่งย่าน "Rue Du Sommerard" กรุงปารีส

 
            
ย่าน Rue Du Sommerard อยู่ใกล้ ๆ กับวิทยาลัยซอร์บอนน์ มหาวิทยาลัยปารีส    คณะราษฎรเมื่อก่อตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส
 
        ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาวิชาการทหารม้า), หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี - ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส), ภก.ตั้ว ลพานุกรม, นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) และ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (หรือ หลวงพิบูลสงคราม-กำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่)


 
        ทั้งหมดเห็นร่วมกันที่จะลงมือทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" และจับกุมบุคคลสำคัญไว้เป็นตัวประกัน อันเป็นยุทธวิธีเดียวกับที่ใช้ในการปฏิวัติฝรั่งเศสและรัสเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว การยึดอำนาจโดยฉับพลันยังเป็นการป้องกันมิให้มหาอำนาจอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลอยู่ในย่านนี้ ฉวยโอกาสยกกำลังทหารเข้ามายึดครองสยาม ขณะที่เกิดความไม่สงบภายใน.

        ที่ประชุมตกลงกันว่า เมื่อกลับประเทศแล้ว หากก่อการครั้งนี้ล้มเหลว ให้นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งมีฐานะดีกว่าใครเพื่อน เป็นผู้ดูแลครอบครัวของเพื่อน ๆ หากผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับติดคุก หรือตาย.

        ท่านปรีดีปรารถนาที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประเทศเล็ก ๆ อย่างสยาม ให้ยืนหยัดมั่นคงอย่างมีเอกราช และมีศักดิ์ศรีทุกด้าน ท่ามกลางอารยะประเทศและประชาคมโลกยุคใหม่.

 
         โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นั้น มีวัตถุประสงค์ คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุุหลัก ๖ ประการ คือ
  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

         เมื่อแนวความคิดชัดเจน สมาชิกผู้ก่อการเพิ่มจำนวนมากขึ้น ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) นายควง อภัยวงศ์ (ต่อมากลายเป็นขั้วตรงข้ามในนามพรรคประชาธิปัตย์) นายทวี บุญยเกต ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช อดีตนักเรียนเยอรมันที่ได้เดินทางมาดูงานที่ฝรั่งเศส เข้าร่วมด้วย
 
พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) (12 สิงหาคม 2435 - 1 มิถุนายน 2516) 
เป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือ
10 ที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

        พระยาพหลพลพยุหเสนามีความเห็นเช่นเดียวกัน "ทำอย่างไรหนอ การบริหารบ้านเมืองจึงจะไม่ผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านาย และพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน ทำกันตามอำเภอใจ ไม่ไคร่เอาใจใส่ต่อความเห็นของผู้น้อย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่".

       และตัวท่านพระยาทรงสุรเดชเองก็เคยกล่าวว่า "พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดจนทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..."10

        ท่านปรีดีเดินทางกลับประเทศไทย ขณะเมื่อมีอายุได้ 26 ปี ถือเป็นคนไทยคนแรกที่จบดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นอกจากนี้ยังสอนในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม นับเป็นอาจารย์หนุ่มทางกฎหมายที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในขณะนั้น.

        ท่านปรีดีได้เปิดการอบรมวิชากฎหมายขึ้นที่บ้านถนนสีลม ให้แก่นักเรียนกฎหมายโดยไม่คิดค่าสอน ถือโอกาสเผยแพร่อุดมการณ์ในหมู่ลูกศิษย์และคนรุ่นใหม่ ต่อมาลูกศิษย์วิชากฎหมายหลายคนได้เข้ามาร่วมกับคณะของกลุ่มบัณฑิตและนายทหารจากยุโรป เช่น นายซิม วีระไวทยะ นายสงวน ตุลารักษ์ นายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น.

       หลังจากคณะของกลุ่มบัณฑิตและนายทหารจากยุโรป แต่ละสายได้แยกย้ายกันหาสมาชิก ในที่สุดก็มีทั้งข้าราชการ ทหารและพลเรือน พ่อค้าและประชาชนทั่วไปที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง รวมเป็นคณะผู้ก่อการทั้งหมด 115 คน.

       ย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี ร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่ประกอบด้วยกลุ่มทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นคณะราษฎรโดย ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง (ปลัดกระทรวง) ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

 
 
หมุดทองเหลือง บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า ได้มีการจารึกไว้ว่า
"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

        ผู้ศึกษาขอนำเสนอบทความข้อเขียนจากหนังสือ "ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เปนประวัติการณ์ ซึ่งทุกคนควรรู้" โดยมิได้ตัดทอน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการและการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทความนี้อาจจะกระทบต่อความรู้สึกผู้อ่านบางท่าน สะเทือนต่อเจตคติของผู้อ่านบางคนบ้าง ก็ให้ถือว่า นี่เป็นหลักฐานสำคัญและเป็นข้อเท็จจริงที่บันทึกในระยะใกล้เคียงกับเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มากที่สุดเอกสารหนึ่ง กอปรกับเอกสารนี้ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่แผนกตรวจข่าวสาส์นแห่งคณะราษฎรอีกด้วย และนับเป็นเสี้ยวหนึ่งที่สำคัญของประวัติชาติสยาม เป็นข้อมูลในอดีตอันเป็นฐานรากที่สำคัญเพื่อประกอบการวางแผน กำหนดยุทธศาสตร์ พัฒนา ปรับปรุงหรืออภิวัฒน์ชาติไทยให้เจริญรุดหน้าสืบไป...
 
ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เปนประวัติการณ์ ซึ่งทุกคนควรรู้

คำนำ
        การรวบรวมหนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์เป็นความรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินของคณราษฎร เพื่อที่จะผดุงประเทศสยามให้ก้าวหน้าสู่ความสุขความสมบูรณ์. หนังสือเล่มนี้ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่แผนกตรวจข่าวสาส์นแห่งคณราษฎรด้วยแล้ว และหวังว่าจะเป็นหนังสือที่ให้ความสะดวกในการค้นเรื่องราวต่าง ๆ สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างดี                            บุญเลอ เจริญพิภพ.
            ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕

 
เพลงชาติ
(ร้องทำนองมหาชัย)


สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาภาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

 
 
 


คณราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
        เหตุการณ์อันได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ พระมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้ ต้องนับว่าเป็นประวัติการณ์สำคัญที่สุดของกรุงสยาม ในยุคของการปกครองโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ที่ทรงไว้ซึ่งสมบูรณาญาสิทธิราช และสมควรจะสรรเสริญยิ่งนักว่า เหตุการณ์นั้นได้เป็นไปและยุติลงด้วยอาการราบรื่น ไม่มีการเสียชีวิตเลือดเนื้ออย่างที่ได้เคยปรากฎในเมืองต่างประเทศอยู่เนือง ๆ .

        แท้จริงก็มิใช่เป็นเหตุที่มิได้รู้สึกตัวกันมาก่อนเลย เมื่อเวลาใกล้ ๆ กับที่จะมีงานสมโภชพระนคร และเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสสรณ์ เนื่องในดิถีสมัยอันได้ตั้งกรุงเทพฯ เป็นราชธานีมาบรรจบครบรอบ ๑๕๐ ปี ก็ได้มีเสียงร่ำลือกันนักหนาในเรื่องเหตุการณ์รายนี้ แต่เหตุก็หาได้เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่ พึ่งปรากฎขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ดังทราบอยู่ทั่วกันแล้ว.

        หลังจากยุคมหาสงครามมานี้ หลายประเทศซึ่งได้ปกครองโดยลักขณะราชาธิปไตย ได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยไปสิ้น อาทิคือ ประเทศเยอรมันนี, ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี, กริซ, สเปญ ฯลฯ แต่แทบไม่มีสักประเทศเดียวที่จะหลบหลีกเรื่องเลือดตกยางออกไปได้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า กรุงสยามได้ชนะประวัติการณ์ของโลกสำหรับเหตุการณ์อย่างเดียวกัน กระทั่งต่างประเทศก็ได้ออกเสียงชมเชยกันกึกก้อง.

        คณราษฎร คือคณข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและราษฎรที่ได้ร่วมใจร่วมมือคิดอ่านทำการครั้งนี้ มิได้มีความมุ่งหมายอะไรยิ่งไปกว่าที่จะให้มีการปกครองแผ่นดินโดยกฎพระธรรมนูญ และโดยให้กษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญนั้น กับเพื่อจะกำจัดเรื่องการทำนาบนหลังคน และจัดเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้ฟื้นฟูขึ้นสู่ฐานะอันมั่นคง ตลอดทั้งที่จะหาลู่ทางให้กรรมกรได้มีงานทำเพื่อการอาชีพโดยทั่วหน้า ฯลฯ หาได้มุ่งหมายที่จะชิงราชสมบัติ หรือทำลายล้างราชบัลลังก์และพระบรมราชวงศ์ไม่.

        กรุงสยามกำลังกระทบกระเทือนด้วยความฝืดเคืองตกต่ำรุนแรงเพียงไร ย่อมรู้กันดีแล้ว รัฐบาลชุดก่อนหาสามารถที่จะแก้ไขอย่างไรได้ไม่ นอกจากจะเก็บภาษีอากรให้แรงขึ้น หรือตั้งภาษีใหม่ลงเอาแก่ราษฎร ซึ่งเป็นพวกที่กำลังแร้นแค้นอยู่แล้ว ส่วนพวกเจ้านายที่สมบูรณ์ด้วยโภคกิจ และครอบงำตำแหน่งสูง ๆ มีเสียงในทางออกความคิดความเห็นให้เก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น ไม่มีน้ำใจที่จะยอมเสียสละโดยควรเลย เหตุฉะนี้ ความแร้นแค้นของราษฎรนั่นเอง จึงได้ระเบิดขึ้น จนต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครอง เพื่อกู้ชาติและบ้านเมืองให้พ้นจากหายะนะภัย.


เหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มเกิด
       การยึดอำนาจการปกครองได้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน เริ่มแต่เวลาใกล้รุ่ง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศ์บางพระองค์เสด็จประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน.
 
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ขณะทรงประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

        พอได้ฤกษ์, คณราษฎร คือ ข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือและราษฎรได้ส่งกำลังทหาร สรรพด้วยอาวุธและรถแทง ไปตามวังพระบรมวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางแห่ง มีวังบางขุนพรหม, วังวรดิศ, วังบ้านดอกไม้, วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ เป็นต้น แล้วก็ได้ทูลเชิญท่านเจ้าของวัง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกัน.
 
                  
ภาพถ่ายอภิรัฐมนตรีบางพระองค์ ประกอบด้วย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร),
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ต้นราชสกุลดิศกุล)  และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์  (ต้นราชสกุลจิตรพงศ์) ตามลำดับ

        เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์และพระชายา ประทับอยู่ที่วังไกลกังวลกับพระเจ้าอยู่หัว ส่วนพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและพระองค์เจ้าอลงกฏ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม กับนายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม แม่ทัพที่ ๑ ต่างแยกย้ายกันเสด็จและไปเปลี่ยนอากาศทางชายทะเลก่อนน่านี้แล้ว แต่ท่านเหล่านี้ได้เสด็จกลับและกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

        พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสด็จประทับอยู่ที่วังบ้านดอกไม้ในตอนเช้าวันเกิดเหตุ แต่พอได้ทราบเหตุ ก็รีบเสด็จโดยด่วนโดยรถไฟพิเศษไปยังหัวหินนำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นแล้ว กรมพระกำแพงฯ เสด็จกลับพร้อมกับพระเจ้าอยู่หัว.

 
         
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

        เนื่องแต่การไปของกรมพระกำแพงฯ นั้น ทำให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ทราบเหตุการณ์ทางพระนครดีขึ้น มีข่าวว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เตรียมการจะแข็งเมือง แต่เมื่อคณราษฎรไต่สวนแล้วปรากฎว่าเกิดจากความเข้าใจผิด.

        เหล่าทหารที่มิได้ถูกคณราษฎรเรียกเข้าสมทบด้วยในชั้นต้น คือทหารรักษาวังและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ราบที่ ๑ นอกนั้นได้เข้าสมทบทั้งสิ้น รวมทั้งนักเรียนนายร้อยทหารบกและนักเรียนนายดาพ แต่ทหารรักษาวังกับทหารมหาดเล็กที่กล่าวนี้ ได้ถูกปลดอาวุธในตอนเช้าวันแรกเกิดเหตุทั่วกันแล้ว ส่วนกองบินทหารบกทุกกอง ได้ถูกยึดหมดจะเป็นโดยวิธีใดก็ตาม แต่การได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย.

         เหตุร้ายแรงในวันแรกมีอยู่เพียงรายเดียว คือนายพลตรีพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ ได้ทำการขัดขืนเมื่อคณราษฎรไปเชิญตัว จึงได้ถูกยิงบาดเจ็บ ๔ แห่ง แต่หาได้ถึงชีวิตไม่ และต่อมาอาการก็ได้ฟื้นขึ้นมากแล้ว หวังว่าจะพ้นเขตต์อันตราย.

         ในวันเดียวกันนี้ คณราษฎรได้ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารขึ้น มีสำนักอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นประธาน ในวันนั้นคณราษฎรได้ส่งนายนาวาตรีหลวงศุพชลาศัยไปยังวังไกลกังวลโดยเรือสุโขทัย เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับคืนพระนคร พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จถึงพระนคร โดยรถไฟพิเศษเมื่อเวลาราวเที่ยงคืนวันอาทิตย์ (ที่ ๒๖ มิถุนายน) พร้อมด้วยพระบรมวงศ์และราชบริพารอื่น ๆ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วังสุโขทัย อันเป็นวังเดิมของพระองค์.

         พระบรมวงศ์ที่ถูกเชิญไปประทับ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันชั่วคราว กับผู้ที่ถูกกักโดยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ในระวางนั้นที่สำคัญก็คือ:-
  • สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต.
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์.
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. [แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้รับโอกาสให้เสด็จกับวังได้ในวันหลังต่อมา]
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ รองเสนาบดีกลาโหม.
  • หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เจ้ากรมตำรวจภูบาล.
  • นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก.
  • นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม แม่ทัพที่ ๑.
  • นายพลตรีพระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน.
  • นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจฯ.
        ตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจฯ นั้น ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้แต่งตั้งให้นายพันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ เป็นผู้ทำการแทน.

        สถานที่ทำการของรัฐบาลบางแห่งได้อยู่ในควบคุมของคณราษฎรมาตั้งแต่วันแรก เช่นสถานีวิทยุ, ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข, กรมรถไฟหลวง ฯลฯ พระบรมมหาราชวัง และสวนสุนันทา ก็ได้อยู่ในความอารักขาของคณราษฎรเช่นเดียวกัน.

         การกระทำของคณราษฎร ไม่ทำให้การงานทั้งหลายหยุดชงักลงอย่างไร เป็นแต่ในวันต้นนั้น ทะบวงการต่าง ๆ ได้ปิดหมด แต่วันหลังก็ได้เปิดทำการต่อไปดังปกติ ส่วนการค้าขายในท้องตลาด ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเลย ทั้งความรู้สึกของประชาชน ก็เป็นไปอย่างธรรมดา เสมือนว่าไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ประชาชนและทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าเมื่อทราบเหตุได้พากันไปที่หน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้าเนืองแน่น ณ ที่นั้นคณราษฎรได้อ่านประกาศแถลงการณ์ให้ราษฎรฟังตลอดวัน.

        การตรวจตรารักษาพระนครได้เป็นไปอย่างแข็งแรงและได้ผลเป็นทื่เรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นเลย ชาวต่างประเทศก็อยู่เย็นเป็นสุข มิได้ถูกใครข่มเหงคะเนงร้ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ตามหัวเมืองก็ไม่มีข่าวเหตุการณ์ใด ๆ ด้วยเหมือนกัน สรุปรวมความว่า คณราษฎรได้ทำงานสำเร็จด้วยความราบรื่นทุกอย่างทุกประการ ปราศจากการเสียชีวิต เลือดเนื้อ, ปราศจากเหตุตื่นเต้นตกใจ ฯลฯ ฝ่ายประชาชนก็ได้ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดีทั่วหน้ากัน.

        ต่อไปนี้เป็นสำเนาคำประกาศของคณราษฎร สำเนาโทรเลขต่าง ๆ, รายงานการประชุม, พระราชกำหนดนิรโทษ, กฎพระธรรมนูญ, และเรื่องการเปลี่ยนแปลงภาษีอากรบางประเภท, กับสำเนาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งได้รวบรวมลำดับเรื่องให้ติดต่อกัน นับแต่วันเริ่มแรกเกิดเหตุตลอดมาจนถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๑๔๗๕.

 
         
ประกาศคณราษฎร

ราษฎรทั้งหลาย
         เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม ทรงตั้งแต่งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจจริต มีการรับสินบลในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงินผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดั่งที่จะได้เห็นจากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถจะแก้ไขให้ฟื้นฟูขึ้นได้.

        การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่อื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยแทนเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการภาษีใด ๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดหรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว.

        รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวง ไม่ซื่อตรงต่อราษฎ มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไปหาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหาคำหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีให้พวกเจ้าได้กินว่า ราษฎรยังมีเสียงการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่เจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน.

        ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิบและกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคืองชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุงรัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้วและทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการผู้น้อย นายสิบและเสมียนเมื่อได้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึ่งจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อย ๆ ไป เงินมีเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองซุดโทรมให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย.

        เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้วจึ่งรวมกำลังกันตั้งเป็นคณราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างมีประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้ว - ตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จะต้องวางโครงการ อาศรัยหลักวิชชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอด เช่น รัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว หลักใหญ่ ๆ ที่คณราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า :
  1.  จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมืองในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง.
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษฐร้่ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก.
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก.
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่).
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น.
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร.
        ราษฎรทั้งหลาย จงพร้อมใจกันช่วยคณราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นอันการขัดขวางต่อคณราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณราษฎรนี้เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอารยะ" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า.
 
การวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
        ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เป็นผู้ให้กำเนิดรับธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่.

        ในขณะเดียวกัน ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ท่านมีบทบาทด้านนิติบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย และจากการที่ท่านได้รับการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ท่านจึงสนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครอง และก็เป็นผู้นำเอาวิชา "กฎหมายปกครอง" (Droit Administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวนี้ั ได้แสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎร สามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการและเจ้าอย่างแท้จริง.

 
                                      

        เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านได้ผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ที่ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครองอีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมในทางอำนาจนิยมของรัฐไทยยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาลปกครองของท่าน จึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด.
 
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 1 (ดำรงตำแหน่ง 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 - 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 รวม 193 วัน)

        ความยุ่งยากหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดของคณะราษฎร เริ่มตั้งแต่ที่ ฯพณฯ ปรีดีมีส่วนในการเสนอชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลังจากก่อการอภิวัฒน์ได้สำเร็จ เพราะแม้แต่ในคณะผู้ร่วมก่อการยังมีสภาพเหมือนสนิมเกิดแต่เนื้อในตน ดั่งความเห็นของทศ พันธุมเสน บุตรชายของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ "เค้าโครงเศรษฐกิจนี่เป็นการทุบหม้อข้าวของเจ้านายขณะนั้น เพราะกิจการของรัฐ ที่ดินบางส่วนจะเป็นของรัฐ ไม่เป็นของส่วนตัว ตอนนั้นอำนาจเงินของพวกเจ้านายอยู่ที่-ที่ดิน และส่วนมากคณะรัฐมนตรีเป็นพวกขุนนางเก่าก็ไม่เห็นด้วย และพระยามโนฯ สามารถเกลี้ยกล่อมนายทหารทั้งหมด ยกเว้นพระยาพหลฯ ได้ว่าพวกพลเรือนนี่หัวรุนแรง อาจารย์ปรีดีตอนหลังก็ยอมรับว่า เป็นความผิดที่ไม่พิจารณาลักษณะนิสัยของพระยามโนฯ ก่อนที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พอเป็นแล้วก็ดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตากำจัดอาจารย์ปรีดีท่าเดียว".      

ฯพณฯ ปรีดี ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ นอกจากท่านเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎร และเป็นผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศ และ ฯพณฯ ยังเป็นอนุกรรมการผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และเป็นผู้ยกร่าง พระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรกในปี พ.ศ.2475 ซึ่งริเริ่มให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งได้เท่าเทียมกับผูู้ชาย นับเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ากว่าประเทศฝรั่งเศสที่เพิ่งให้สิทธิสตรีมีสิทธิเช่นนี้ได้ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2.

เมื่อ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งเขาได้ชี้แจงไว้ว่า

        "การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าไก้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ"

 
 
 
        ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังได้วางหลักการประกันสังคม คือ ให้การประกันแก่ราษฎรทั้งหลาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่จะได้รับความอุปการะจากรัฐบาล หากไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ ๓ แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" แต่แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม.

        ขยายความ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" ฯพณฯ ปรีดี ได้ทำงานสำคัญชิ้นแรก โดยดูแลงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อสานต่ออุดมการณ์คณะราษฎรที่ว่า "วัตถุประสงค์ของการอภิวัฒน์ครั้งนี้ คือต้องการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ราษฎรมีชีวิตดีขึ้น" งานแรกคือการช่วยเหลือราษฎรที่แบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกภาษีอากรนาเกลือ ลดและเลิกอัตราเก็บค่าที่สวน ได้ออก พรบ.พิกัดเก็บเงินค่านาเพื่อคุ้มครองเกษตรกรมิให้สิ้นเนื้อประดาตัว ออก พรบ.ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร เพื่อจำกัดสิทธิอันเอารัดเอาเปรียบของนายทุนน้อยใหญ่ต่าง ๆ ออก พรบ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา และออก พรบ.ภาษีเงินได้ ซึ่งใช้อัตราภาษีก้าวหน้า ใครมีเงินได้มากก็เสียมาก.

       ในช่วงระยะนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้ ฯพณฯ ปรีดี เป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ แนวความคิดสหกรณ์เต็มรูปแบบ ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี วางหลักประกันสังคมให้ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อไม่สามารถ ทำงานไม่ได้ เจ็บป่วย ชราภาพ พิการ หรือเป็นผู้เยาว์ รัฐก็จะอุปการะเลี้ยงดู นั่นก็คือ "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" ข้างต้นนั่นเอง.

        ด้วย "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" นี้เอง รวมทั้ง ฯพณฯ ปรีดีได้เสนอให้มีการตั้งธนาคารแห่งชาติ ออกสลากกินแบ่งเพื่อระดมทุนให้แก่รัฐบาล ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากศักดินากลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มอำนาจเก่า ฯพณฯ ปรีดีได้เสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจต่อนุกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมากลั่นกรอง พิจารณา ส่วนใหญ่เห็นชอบ ขณะที่เสียงส่วนน้อย คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิศาลวาจา พระยาทรงสุรเดช และ พลโทประยูร ภมรมนตรี ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเจ้าและขุนนางยังเป็นผู้กุมอำนาจ เมื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ฯพรฯ ปรีดีจึงลาออกจากตำแหน่ง.

        ขณะนั้นในสายตาของชนชั้นสูง ถือว่า ฯพณฯ ปรีดี เป็นตัวอันตราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งจึงร่วมมือกับทหารบางกลุ่ม ทำการยึดอำนาจด้วยการปิดสภา และออก พรบ.คอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ออกแถลงการณ์ประณาม ฯพณฯ ปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถูกบีบให้ออกนอกประเทศ ท่านต้องระหกระเห็จไปประเทศฝรั่งเศส ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตาม พรบ.คอมมิวนิสต์ ฉบับ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ ในขณะนั้นที่ท่านมีอายุได้ ๓๓ ปี.

       ต่อมาเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ.2476 คณะราษฎรนำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ 

       ประมาณห้าเดือนเศษ ๆ คือวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านได้เดินกลับสยาม ได้มาสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ขณะนั้นการสะกดคำยังไม่มีการันต์ที่ ณ เณร) ด้วยการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์.

      อีกสองวันต่อมา คือวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖, ท่านได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในคณะรัฐมนตรี ภายใต้รัฐนาวาของ "นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา".

 

     ในปลายเดือนตุลาคมนั้นเอง (๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๖) สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม.

      วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ เมื่อท่านมีอายุได้ ๓๗ ปี สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมิได้เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา.



 
การกระจายอำนาจการปกครอง
        ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

        เมื่อท่านเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๔๗๘) ท่านได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้ง "เทศบาล" ทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ และจัดตั้งกรมโยธาเทศบาล เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขง โดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่ สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ.


        ฯพณฯ ปรีดียังมีส่วนสำคัญในการสถาปนา คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายแผ่นดิน พยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครอง ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทำให้ราษฎรสามารถตรวจสอบอำนาจฝ่ายปกครองได้ แต่ไม่อาจทำได้สำเร็จในห้วงเวลานั้น ต่อประเทศไทยก็ได้มีศาลปกครอง หลังจากที่ ฯพณฯ ปรีดีนำเสนอ เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง 62 ปี.


ที่มาและคำอธิบาย:
๐๑.  จาก. th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์, วันที่สืบค้น ๒๘ เม.ย.๒๕๕๖, เวลา ๐๕:๓๓ น.
๐๒.  จาก. en.wikipedia.org/wiki/Rue_Du_Sommerard, วันที่สืบค้น ๐๗ ก.ค. ๒๕๕๖.
๐๓.  จาก. "ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เปนประวัติการณ์ ซึ่งทุกคนควรรู้" โดย นายสอน ประทีปณกลาง  และ นายเบ่งกี่ เขียวหวาน, บรรณาธิการ คือ บุญเลอ เจริญพิภพ., โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, พระนคร, ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕
๐๔.  อภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ ๗ ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นมี ๔ ท่าน ประกอบด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ.
๐๕.  จาก. www.pridiinstitute.com, วันที่สืบค้น ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖.
06.   ปรับปรุงจาก. www.bloggang.com/viewdiary.php?id=put-at-the-corner&month=06-2009&date=18&group=15&gblog=8, วันที่สืบค้น 29 มกราคม 2560.
07.   จาก. en.wikipedia.org/wiki/Karl_Marx, คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เป็นทั้งนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักหนังสือพิมพ์ และ นักสังคมนิยมเชิงปฏิวัติ ชาวเยอรมัน, ท่านเกิดในครอบครัวของชนชั้นกลางที่เมือง Trier เยอรมัน ต่อมาท่านได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง และปรัชญาเชิงเองเกลเลี่ยน (Hegelian philosophy). ท่านเกิดเมื่อ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1818 และอนิจกรรมเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ.1883 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ศพท่านได้นำไปฝังไว้ที่ สุสานไฮเก็ท กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร., วันที่สืบค้น 29 มกราคม 2560.
08.   จาก. en.wikipedia.org/wiki/Vladimir_Lenin, วลาดิแมร์ อิลยิช อุลยานอฟ (Vladimir Ilyich Ulyanon) หรือเป็นที่รู้จักว่า สหายเลนิน (the alias Lenin) เขาเป็นนักปฏิวัติ นักคอมมิวนิสต์ นักการเมือง และนักทฤษฎีการเมืองชาวรัสเซีย ท่านเกิดเมื่อ 22 เมษายน ค.ศ.1870 ที่เมือง Ulyanovsk รัสเซีย และอนิจกรรมเมื่อ 21 มกราคม ค.ศ.1924 ที่เมือง Gorki Leninskiye, รัสเซีย ท่านสูงเพียง 1.65 เมตร ศพท่านได้นำไปฝังไว้ที่ Lenin's Mausoleum, มอสโคว์, รัสเซีย, วันที่สืบค้น 30 มกราคม 2560.
09.   จาก. en.wikipedia.org/wiki/Friedrich_Engels,  ฟรีดริช เองเกลส์ (บ้างก็เขียนว่า เองเงิลส์) (Friedrich Engles) ท่านเป็นนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์สังคม นักหนังสือพิมพ์ และนักธุรกิจชาวเยอรมัน ท่านร่วมก่อตั้งทฤษฎีมาร์กซิสต์ กับคาร์ล มาร์กซ์ ท่านเกิดเมื่อ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1820 ที่ Wuppetal เยอรมนี ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 5 สิงหาคม ค.ศ.1895 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, แนวคิดของท่านมีอิทธิพลต่อ วลาดิแมร์ เลนิน Slavoj Zizek เหมา เจ๋อตุง และอื่น ๆ, วันที่สืบค้น 30 มกราคม 2560.  
10.   หนึ่งในสีทหารเสือสำคัญที่ร่วมก่อการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 จนประสบความสำเร็จนั้น ดังภาพข้าง (จากซ้าย) ประกอบด้วย

 
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช, พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ และ พ.ท.พระยาประศาสน์พิทยายุทธ
(ที่มา. th.wikipedia.org/wiki/พระยาทรงสุรเดช, วันที่สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2560)
 
11.  จาก. http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=put-at-the-corner&month=06-2009&date=18&group=15&gblog=9, วันที่สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2560.
12.   พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
 
 


 
info@huexonline.com