MENU
TH EN

ดร.ภีมราว รามชี อามเพฑกร (ดร.อัมเบดก้าร์)

จากวรรณะศูทรสู่พุทธศาสนิก
ดร.อัมเบดการ์ หรือ ดร.ภีมราว รามชี อามเพฑกร (Bhimrao Ramji Ambedkar, Ph.D.) (ในเว็บไซต์นี้ จะขอใคร่เรียกท่านว่า "ดร.อัมเบดก้าร์")
  • ดร.อัมเบดก้าร์ ผู้เกิดมาจากสังคมอันต่ำต้อย ต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม ตั้งแต่เกิดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
  • บัดนี้ท่านได้จากไปแล้ว ทิ้งแต่ความดีเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้จดจำและสรรเสริญ
  • ชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่า วิญญาณของ ดร.อัมเบดก้าร์คงยังไม่ไปไหน จะคงอยู่กับพวกเขา คอยช่วยพวกเขา
  • เพราะ ดร.อัมเบดก้าร์ ไม่เคยทิ้งคนจน ไม่เคยลืมคนยาก ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
  • ดังนั้นคำต่อท้ายจากบทสวดสังฆรัตนะ ชาวพุทธในอินเดียจึงอ้างเอา ดร.อัมเบดก้าร์ เป็นที่พึ่ง (สรณะ) ด้วย โดยสวดว่า "พิมพัง สรณัง คัจฉามิ" (พิมพัง เป็นชื่อเดิมของ ดร.อัมเบดก้าร์)
ขอให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุขคติ ไปสู่ภพภูมิที่สูงกว่าด้วยเทอญ (ตามความเชื่อของชาวพุทธ นิกายเถรวาท เฉกเช่นผู้เขียนและผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน)
หากท่านใดมีข้อแนะนำ เพิ่มเติม ปรับปรุง ตัดทอน ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ขอเชิญส่งข้อมูลดังกล่าวมายัง info@huexonline.com ใคร่ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้


 
First revision: June.07, 2012
Last change: Apr.15, 2022

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ความนำ
        พุทธศาสนาถือกำเนิดและเคยยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป แต่ในภายหลังได้กลับสูญสลายไปจากดินแดนมาตุภูมิไปเกือบสิ้น จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ (ตรงกับพ.ศ.๒๔๙๙ ของไทย) {ในอินเดียรวมทั้งเมียนม่าร์ และศรีลังกาเป็นปี ๒๕๐๐ ซึ่งนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี}
        ได้มีชาววรรณะต่ำ ประมาณ ๕ แสนคน ประกาศตนหันมานับถือพระพุทธศาสนา ด้วยการนำของ ดร.อัมเบดก้าร์ (Dr.Babasahed Bhimrao Ramji Ambedkar) จึงได้มีชาวพุทธเกิดขึ้นในอินเดียอีกครั้ง เรียกว่า กลุ่มชาวพุทธใหม่ (New Buddhist) มีมากที่สุดในเมืองนาคปูร์ (บ้างก็เรียกนาคะปุระ-Nagpur เมืองหลวงของรัฐมหาราษฎระ-Maharashta) ตอนกลางของประเทศอินเดีย
        หลังจากนั้นก็ได้มีชาวอินเดียวรรณะต่ำ ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง และได้ประกาศตนเป็นชาวพุทธอยู่หลายเมือง เช่น เมือง นาคปูร์ เมืองคยา และเมืองเดลี เป็นต้น

ที่มา: อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต, ผ่าน Facebook เพจ "ภาษาฮินดีและวัฒนธรรมอินเดีย," วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2565.

       ดร.อัมเบดก้าร์ ท่านเป็นผู้ปลุกมโนธรรมสำนึกของสังคมฮินดู

       ดังมีคำกล่าวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และรัฐบุรุษของอินเดีย "ศรีบัณฑิต ยวาหระลาล เนห์รู" ถึง ท่าน ดร.อัมเบดก้าร์ ไว้ดังนี้

       "เกียรติคุณของ ดร.อัมเบดก้าร์ จะต้องถูกจดจำรำลึกถึงต่อไปตราบนานเท่านาน ในฐานะที่ท่านเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เพื่อล้มล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู ดร.อัมเบดก้าร์ ต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าจำเป็นจะต้องต่อสู้ ดร.อัมเบดก้าร์เป็นผู้ปลุกมโนธรรมสำนึกของสังคมฮินดูให้ฟื้นตื่นขึ้นมาจากความหลับไหล"
        
        ตำแหน่งหน้าที่สูงสุด: รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย
        รางวัล: ได้รับเกียรติอย่างสูงสำหรับรางวัล รัตนะแห่งภารตะ (Bharat Ratna) ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับพลเรือนที่ได้อุทิศตนรับใช้ประเทศชาติ


ประวัติของ ดร.อัมเบดก้าร์
                      
 
        ดร.พิมเรา รามจี อัมเบดก้าร์ (Dr.Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ (ค.ศ.๑๘๙๑) ณ เมืองมหูม (Mhow), จังหวัดภาคกลาง (Central Province), บริติชราช (British India) (ปัจจุบันอยู่ในมัธยประเทศ-Madhya Pradesh) ประเทศอินเดีย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.๑๙๕๖) ณ เมืองเดลี ประเทศอินเดีย สิริอายุได้ ๖๕ ปี

       ชื่อเต็มเดิมของท่านชื่อ "บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดก้าร์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar)" ท่านถือกำเนิดมาในครอบครัวของคนจัณฑาล หรือ อธิศูทร (เป็นคนนอกวรรณะ 'อวรรณะ' ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณะที่ ๕ ก็ได้ ซึ่ง 'อวรรณะ' นี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ จัณฑาล, หริชน, หินชาติ, ปาริหะ, ปัญจมะ, มาหาร์, และอธิศูทร เป็นต้น

       บิดาท่านชื่อ "รามจิ มาโลชี สักปาล (Ramji Sakpal)" มารดาชื่อ "ภีมมาไพ สักปาล (Bhimabai Sakpal)" บิดาเคยมีอาชีพเป็นทหารมาก่อน เมื่อปลดประจำการแล้ว จึงยึดอาชีพเป็นกรรมกรขายแรงงานที่หาเช้ากินค่ำ มารดาของท่านก็เป็นสตรีในวรรณะจัณฑาลเหมือนกัน บิดามารดาทั้งสองมีบุตรและบุตรีรวม ๑๔ คน ดร.อัมเบดก้าร์นั้น เป็นคนสุดท้อง ต่อมาภายหลังพี่น้องส่วนใหญ่เสียชีวิต เหลืออยู่ด้วยกันเพียง ๕ ชีวิตเท่านั้น
       
       มีเรื่องเล่าว่า๐๕ ลุงของพ่อท่าน ซึ่งไปบวชเป็นสันยาสี๐๖ (ผู้ถือสันโดษตามแนวคิดเรื่องอาศรม ๔ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) อาศัยอยู่ตามป่าเขา ได้มาพำนักในแถบละแวกบ้าน บ้านท่าน "รามจิ" ได้ทราบจากญาติคนหนึ่งว่าหลวงลุงของตนมาพำนักอยู่ใกล้ ๆ จึงไปนิมนต์ให้มารับอาหารที่บ้าน นักบวชสันยาสีนั้นปฏิเสธ แต่ได้ให้พรแก่ "รามจิ" ว่า "ขอให้มีบุตรชาย และบุตรชายของเธอจงมีชื่อเสียงเกียรติยศในอนาคต ได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย". 


การศึกษา
          ท่านสำเร็จการศึกษาจาก: มหาวิทยาลัยแห่งมุมไบ (อินเดีย) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (สหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยลอนดอน และ London School of Economics แห่งสหราชอาณาจักร
 

 
         เมื่อยังเล็กนั้น ดร.อัมเบดก้าร์ มีชื่อเรียกว่า 'พิม (Bhim)' พออายุได้ ๒ ขวบ ท่านก็เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งพร้อมกับพี่ชายอีก ๒ คน อยู่ต่อมาจนอายุได้ ๔ ขวบ มารดาก็ถึงแก่กรรมลาจากไป นับแต่นั้นชีวิตครอบครัวของพิมก็มีแต่เลวร้ายลงไปทุกที อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดมาท่ามกลางความขัดสนและท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม บิดาของพิมก็ไม่ย่อท้อ ทำงานสายตัวแทบขาดเพื่อส่งลูกให้ได้เรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

        ดังนั้นเมื่อพิม เรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว บิดาก็ส่งเสียให้เขาได้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาต่อทันที ชีวิตในโรงเรียนมัธยมของพิม ซึ่งเป็นลูกคนวรรณะจัณฑาลนั้น เป็นชีวิตที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานตัวหนึ่งเลยทีเดียว ความอาภัพของชนชั้นจัณฑาลที่พิมได้ประสบด้วยตัวเองในระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่นั้น มีมากมาย เช่น

        (๑)   ช่วงปิดเทอมคราวหนึ่ง พิมและพี่ชาย ๒ คนได้ชวนกันออกเดินทางไปหาบิดา ซึ่งทำงานอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ในระหว่างทางพวกเขาได้จ้างเกวียนคันหนึ่งให้ไปส่ง แต่พอเดินทางไปได้ไม่ไกลนัก คนขับเกวียนก็ทราบจากการสนทนาว่าเด็กทั้งสามเป็นลูกคนจัณฑาลชั้นต่ำ เขาจึงไล่เด็กทั้งสามลงจากเกวียนในทันที เพราะเขามีความเชื่อว่าคนจัณฑาลจะนำอัปมงคลมาสู่ตัวเขาและเกวียน ดังนั้นพิมและพี่ชายรวมสามชีวิตก็ไม่มีทางเลือก ต้องลงมาเดินด้วยเท้าจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตลอดทางตั้งแต่บ่ายจนถึงเที่ยงคืน ไม่มีอะไรตกถึงท้องพวกเขาทั้งสาม เพราะไม่ว่าจะไปหาน้ำดื่มจากที่ไหน ก็จะถูกไล่ตะเพิดเหมือนเป็นตัวเสนียดจัญไร

        (๒)   คราหนึ่งพิมได้ไปตัดผม พอช่างตัดผมหรือ 'กัลบก' ทราบว่าเขาเป็นลูกคนจัณฑาล ก็ไล่ตะเพิดเขาออกจากร้านไป พร้อมทั้งบริภาษตามหลังออกมาอีกว่า "เขายินดีตัดขนให้กับสัตว์ดิรัจฉาน แต่เขาจะไม่ยอมให้กรรไกรของตนเองแตะต้องผมของพวกคนจัณฑาลอย่างเด็ดขาด" นับแต่นั้นมา พี่สาวคนหนึ่งของพิมก็ได้กลายเป็นช่างตัดผมประจำตัวเขาไปโดยปริยาย

        (๓)   ที่โรงเรียน พิมจะถูกกำหนดให้นั่งอยู่หลังห้อง หรือให้นั่งอยู่กับพื้น แยกต่างหากจากเด็กคนอื่น ๆ เขาไม่มีสิทธิจะอ่านโคลง กลอนภาษาสันสกฤตเหมือนเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นที่วรรณะสูงกว่าอย่างวรรณะพราหมณ์เท่านั้น

 

       ครูประจำชั้นจะไม่ยอมแตะต้องสมุด หนังสือ หรือแม้แต่เดินเฉียดกรายมาใกล้พิมเป็นอันขาด เพราะเขาเชื่อว่าพิมเป็นตัวอัปรีย์จัญไรที่ใครเข้าใกล้หรือสัมผัสแล้วจะมีมลทิน ขณะที่อยู่ในโรงเรียนนั้น หากพิมเกิดกระหายน้ำขึ้นมา พิมไม่มีสิทธิจะไปตักน้ำดื่มด้วยตนเอง เพราะเขาเกรงว่าพิมจะไปทำให้บ่อน้ำนั้นอัปมงคล หากพิมทนกระหายน้ำไม่ไหวจริง ๆ พิมจะต้องเป็นผู้ร้องขอให้เพื่อนคนใดคนหนึ่งที่มีใจอารี ไปตักน้ำมาให้ แล้วเขาจะค่อย ๆ รินน้ำลงใส่ปากตนเองอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อมิให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของพิมไปกระทบถูกภาชนะใส่น้ำเข้า หรือไปสัมผัสกับผู้ที่มีเมตตาที่ได้รินน้ำใส่ปากให้เขา

      
(๔)   ที่โรงเรียนนั้น ครูทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ไม่ว่าพิมจะเดินไปทางไหน ฝูงชนจะแตกออกเป็นทางและจากนั้นเสียงสาปแช่งก่นด่าเยาะเย้ยถ่มถุยก็จะตามมา จนดูเหมือนกับว่าพิมเป็นสิ่งสกปรกที่เขาโยนขึ้นมาจากท่อข้างถนนก็ไม่ปาน ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมนั้น พิมรู้สึกเหมือนอยู่ในนรก และเพราะต้องทนอยู่ท่ามกลางสภาพสังคมอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมในทุกเรื่องเช่นนี้เอง พิมจึงเตือนตนเองอยู่เสมอว่า

       "สักวันหนึ่ง เราจะต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นไป เพื่อให้พ้นจากภาวะอันต่ำต้อยนี้ให้ได้ และการที่จะทำเช่นนั้นได้ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือจะต้องตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด เพราะด้วย 'การศึกษา' เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ"


ด้วยปณิธานที่ก่อรูปขึ้นในใจ
       จากปณิธานนี้เอง ส่งผลให้พิม กลายเป็นเด็กเรียนดีที่สอบได้คะแนนสูงสุดในทุกวิชาในทุกภาคการศึกษา อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโลกจะแล้งซึ่งความยุติธรรม วันหนึ่งครูของพิมที่มีวรรณะพราหมณ์ได้สังเกตว่า แม้พิมจะเป็นคนวรรณะจัณฑาลชั้นต่ำ เขาก็เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนจนน่ายกย่อง ซ้ำยังมีความทรหดอดทน ขยันหมั่นเพียรไม่ระย่อท้อถอย แสดงแววตาทอประกายให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวให้เห็นอยู่เสมอ จากการสังเกตจนค้นพบความดีที่ซ่อนอยู่ในตัวของพิม บวกกับความมีมนุษยธรรมในหัวใจ ครูท่านนั้นจึงคอยช่วยเหลือพิม ด้วยการแบ่งอาหารให้เขารับประทานในบางมื้อ และก็ท้ายที่สุดท่านก็ยินดีให้พิมใช้นามสกุลของท่านเอง แทนนามสกุล 'สักปาล' (ซึ่งเป็นนามสกุลที่ใครทราบก็รู้ว่าเป็นของวรรณะจัณฑาล) ตั้งแต่นั้นมาพิมจึงมีนามสกุลใหม่ว่า "อัมเบดก้าร์"

        จาก พิม สักปาล เป็น พิม อัมเบดก้าร์ ทำให้เขามีความมานะเพียรพยายามเพิ่มขึ้นทวีคูณ วิริยะอุตสาหะตั้งใจเรียน จนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนที่ดีเยี่ยมในทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษจะโดดเด่น มีคะแนนสูงกว่าวิชาอื่น ๆ และด้วยความตั้งใจที่จะพ้นจากสภาพความเป็นคนวรรณะต่ำให้ได้นี้เอง เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมแล้ว พิมกับบิดาก็หาทางเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอมเบย์จนสำเร็จ

       แต่โชคร้ายก็ยังไม่หมดไป เพราะแม้ในช่วงแรกที่เขาเข้าเรียนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขามีวรรณะจัณฑาล (ด้วยนามสกุลอัมเบดก้าร์ ทำให้ไม่ใครสงสัยถึงวรรณะที่แท้จริงของเขา) แต่ต่อมาไม่นานนัก ความลับก็ถูกเปิดเผย ความเลวร้ายต่าง ๆ ก็ถาโถมเข้าใส่พิมอีกเช่นเคย อาจารย์หลายท่านไม่ยอมแม้แต่จะมองหน้าเขา เพื่อนร่วมชั้นก็หลีกห่างจากเขา หรือแม้แต่คนขายน้ำในโรงอาหารก็ไม่ยอมขายน้ำให้เขา และรุนแรงถึงขั้นเจ้าของร้านอาหารไม่ยอมให้เขาไปซื้ออาหารในร้าน

       แม้เหตุการณ์จะเลวร้ายเพียงใด พิมก็ยังแข็งแกร่งและมุ่งมั่น ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้ บิดาของพิมก็วิ่งเต้นขอทุนจากองค์กรต่าง ๆ ให้พิมได้มีโอกาสเรียนในระดับสูงขึ้นไป แล้วท้ายที่สุด "มหาราชาแห่งแคว้นบาโรด้า" ก็ให้ทุนการศึกษาแก่พิม จนในที่สุด พิมมีกำลังใจเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ในปี พ.ศ.๒๔๕๕
               
ศยาจิเรา กาเอควาดที่ 3 มหาราชาแห่งแคว้นบาโรด้า (Sayajirao Gaekwad III - Maharaja of Baroda)

สั่งสมภูมิปัญญาก่อนคิดการใหญ่
       ช่วงเวลาที่อัมเบดก้าร์ยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ประเทศอินเดียได้ตกเป็นประเทศราชหรืออาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ คนอินเดียถูกกดขี่ข่มเหงในแทบทุกด้าน กลุ่มคนที่รวมตัวกันต่อต้านอังกฤษ ก็จะถูกจับไปประหาร กระทำทารุณกรรมและถูกจับกุมขังอยู่ตลอด อัมเบดก้าร์ ตระหนักถึงปัญหาจากการที่อินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษนี้เป็นอย่างดี

       อัมเบดก้าร์จึงตั้งปณิธานว่า "ในชีวิตนี้ เรามีภารกิจที่จะต้องทำ 2 อย่าง คือ หนึ่ง) ทำลายระบบวรรณะ และ สอง) ช่วยให้อินเดียเป็นเอกราชหลุดพ้นจากการยึดครองของอังกฤษ" แต่การที่จะทำให้ภารกิจทั้งสองประการนี้บรรลุผลได้นั้น มีอยู่หนทางเดียวคือตัวเขาจะต้องเรียนให้สูงที่สุด มิเช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีเครื่องมือ (หรือฐานะ) ที่จะทำงานอันหนักหน่วงและมีความสำคัญยิ่งนี้ได้

       ทันทีที่พิมได้เดินทางมาศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ท่านก็ได้อุทิศตนให้กับการศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านอ่านหนังสือไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๘ ชั่วโมง มุ่งมั่นที่จะตักตวงเอาความรู้วิทยาการต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ภายในเวลา ๒ ปี ท่านก็สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ไม่เพียงท่านจะศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะเมื่อมีเวลาว่าง ท่านก็จะเสาะหาซื้อหนังสือเก่าสะสมไว้ใช้เป็นอาหารสมองให้แก่ท่านเองไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ เล่ม


กลับสู่มาตุภูมิ
       หลังสำเร็จการศึกษา ท่านได้เดินทางกลับประเทศอินเดีย และตั้งใจกลับไปทำงานสนองคุณท่านมหาราชา แห่งบาโรด้า แต่ทันทีที่ข่าวการเดินทางกลับของท่านแพร่สะพัดออกไป ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดมารอรับท่านที่ท่าเรือและสถานีรถไฟเลย ไม่มีบ้านพักที่ไหนในเมืองบาโรด้ายินยอมให้ท่านเข้าพัก ซ้ำเมื่อเดินทางมาถึงสำนักงานของมหาราชาผู้เป็นเจ้าของทุน ทุกคนในสำนักงานต่างแสดงอาการรังเกียจอย่างเปิดเผย และในวันหนึ่งหลังจากที่ท่านได้กลับมาจากที่ทำงาน ท่านก็พบกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพร้อมปืนล้อมห้องพักที่ท่านเช่าไว้ พร้อมทั้งขู่ให้ท่านย้ายออกภายใน ๘ ชั่วโมง

เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กลับมาสอนในวิทยาลัยซิดนาห์ม
        ท่านได้ทำงานในหลาย ๆ เรื่อง หลังจากจบการศึกษาที่อเมริกาแล้ว ท่านได้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยซิดนาห์ม เมืองบอมเบย์ ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมา ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าชายแห่งเมืองโครักขปูร์ ซึ่งเป็นผู้มีพระทัยเมตตาเช่นเดียวกับมหาราชาแห่งบาโรด้า ซึ่งปรารถนาที่จะถอนรากถอนโคนความอยุติธรรม ที่สังคมฮินดูกีดกันคนในวรรณะอื่น ๆ ได้ทรงอุปถัมภ์ให้คนอธิศูทร มารับราชการในเมืองโครักขปุร์ แม้นายควาญช้าง พระองค์ก็เลือกจากคนอธิศูตร เจ้าชายแห่งโครักขปูร์ ได้ทรงอุปถัมภ์ในการจัดทำหนังสือพิมพ์ "ผู้นำคนใบ้" ของท่าน ดร.อัมเบดก้าร์ ซึ่งเป็น เช่น อุปถัมภ์ค่ากระดาษพิมพ์ และอื่น ๆ ซึ่งท่านไม่ได้เป็นบรรณาธิการเอง แต่อยู่เบื้องหลังและเขียนบทความลงตีพิมพ์

        ในบทความชิ้นหนึ่งมีถ้อยคำที่น่าสนใจว่า "อินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สังคมฮินดูนั้นช่างสูงส่งประดุจหอคอยอันสูงตระหง่าน มีหลายชั้นหลายตอน แต่ไม่มีบันไดหรือช่องทางที่จะเข้าไปสู่หอคอยอันนั้นได้ คนที่อยู่ในหอคอยนั้นไม่มีโอกาสที่จะลงมาได้ และจะติดต่อกับคนในหอคอยเดียวกันในอีกชั้นหนึ่งก็ทำไม่ได้ ใครเกิดในชั้นใดก็ตายในชั้นนั้น"
 

        ท่านได้กล่าวถึงว่า สังคมฮินดูมีส่วนประกอบอยู่สามประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่า พระเจ้ามีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าท่านกำลังเห็น พระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่

        ดร.อันเบดก้าร์ มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวหลาย ๆ อย่างในอินเดียขณะนั้น ท่านเป็นอธิศูทรคนแรกที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ท่านเป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุมในโลกสภา โดยการอนุมัติของ ดร.ราเชนทรประสาท ให้ชี้แจงอธิบายต่อผู้ซักถาม ถึงบางข้อบางประเด็นในรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์บางฉบับลงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า "ดร.อัมเบดก้าร์ ทำหน้าที่ชี้แจงอธิบาย เรื่องร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้ร่วมประชุม ประดุจพระอุบาลีเถรเจ้า วิสัชชนาข้อวินัยบัญญัติ ในที่ประชุมปฐมสังคายนา ต่อพระสงฆ์ ๕๐๐ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ฉะนั้น" และท่านเป็นผู้ต่อสู้เพื่อทำลาย ความยุติธรรมที่คนในชาติเดียวกันหยิบยื่นให้กับคนในชาติเดียวกันแต่ต่างวรรณะกันเท่านั้น

 

ดร.ราเชนทร์ ประสาท (Dr.Rajendra Prasad) ประธานาธิบดีคนแรกของอินเดีย
           (ชาตะ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๗ - มรณะ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๖)
                

ก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
        โดยแท้จริงแล้ว ท่านอัมเบดก้าร์ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนามาก่อนหน้านี้แล้ว จากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้อ่านพุทธประวัติที่เขียนโดยท่านพระธัมมานันทะ โกสัมพี๐๗ ชื่อว่า "ภควาน บุดดา" (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ท่านพบว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อรังเกียจในเรื่องวรรณะ ไม่ปิดกั้นการศึกษาพระธรรม ให้ความเสมอภาคและภราดรภาพแก่คนทุกชนชั้น ซึ่งในจิตใจท่านนั้น มีความเป็นชาวพุทธอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่านต้องการทำให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คือ การได้ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ พร้อมกับพี่น้องชาวอธิศูทร ในงานฉลองพุทธชยันติ (Buddhajayanti).
 
          
พระธัมมานันทะ โกสัมพี (ขณะเป็นฆราวาส) (Acharya Dharmananda Kosambi)๐๗

ในการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
        ส่วนในการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะนั้น ดร.อัมเบดก้าร์ ได้นำชาววรรณศูทร ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปูร์ สาเหตุที่ท่านเลือกเมืองนี้ แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่ ๆ อย่างมุมไบ (บอมเบย์) หรือเดลี ท่านได้ให้เหตุผลว่า "ผู้ ที่ทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนาตอนแรก ๆ นอกจากพระสงฆ์ คือ พวกชนเผ่านาคซึ่งถูกพวกอารยันข่มเหง ต่อมาพวกนาคได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนพวกนาคนั้นเลื่อมใส ได้ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่ว เมืองนาคปูร์นี้เป็นเมืองที่พวกนาคตั้งหลักแหล่งอยู่"

         คำกล่าวของท่านอัมเบดก้าร์มีมูลอยู่ไม่น้อยและจะว่าไปแล้ว หลังจากพระพุทธศาสนาเริ่มถูกทำลายจากอินเดีย เมืองนาคปูร์เป็นเมืองที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่มาก และเป็นเมืองที่มีชนชั้นศูทรหรือคนวรรณะต่ำอยู่มากอีกด้วย ดังนั้นศูนย์กลางพุทธศาสนิกชนในอินเดียปัจจุบันที่เป็นคนวรรณะศูทร จึงอยู่ที่เมืองนาคปูร์

 

 
        ในการปฎิญาณตนเป็นพุทธมามกะจำนวน ๕ แสนคน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๐ (๒๔๙๙ ของไทย) นั้น มีพระภิกษุอยู่ร่วมในพิธีเป็นสักขีพยานด้วย ๓ รูป คือ พระสังฆรัตนะเถระ (Ven. M. Sangharatana Thera) พระสัทธราติสสะเถระ (Ven. S. Saddratissa Thera) และพระปัญญานันทะเถระ (Ven. Pannanand Thera) ในพิธีมีการประดับธงธรรมจักรและสายรุ้งอย่างงดงาม ในพิธีนั้น ผู้ที่จะปวารณาตัวเองเป็นพุทธมามกะได้กล่าวคำปฏิญาณตน และได้กล่าวคำปฎิญญาณ ๒๒ ข้อของ ดร.อัมเบดก้าร์ ดังนี้:-

     ๑.  ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
     ๒.  ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
     ๓.  ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
     ๔.  ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
     ๕.  ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้นคือคนบ้า
     ๖.  ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตรแบบฮินดูต่อไป

     ๗.  ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
     ๘.  ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างอีกต่อไป
     ๙.  ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
    ๑๐.  ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน

    ๑๑.  ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน
    ๑๒.  ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทิศโดยครบถ้วน
    ๑๓.  ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
    ๑๔.  ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยของของคนอื่น

    ๑๕.  ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
    ๑๖.  ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
    ๑๗.  ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
    ๑๘.  ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนโดยให้ทาน ศีลและภาวนา

    ๑๙.  ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่ทำให้สังคมเลวทราม แบ่งชั้นวรรณะ
    ๒๐.  ข้าพเจ้าเชื่อว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
    ๒๑.  ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพุทธศาสนานั้น เป็นการเกิดใหม่อย่างแท้จริง
    ๒๒.  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด


 

ที่มาและคำอธิบาย:
๐๑. จาก. www.phuttha.com และ en.wikipedia.org/wiki/Caste_system_in_india; วันที่สืบค้น ๙ มิถุนายน ๒๕๕๕, วรรณะ (Varnas) ทั้ง ๕ ในอินเดีย: วรรณะทั้ง ๔ ระบบวรรณะเกิดจากพวกอริยะ หรือ อารยัน ซึ่งเข้ามารุกรานชนพื้นเมืองในอินเดียครั้งทำสงครามกับเจ้าของถิ่นเดิม ซึ่งเรียกว่าพวก มิลักขะ (หรือทัสสยุ หรือทราวิฑ) จนได้รับชัยชนะ พวกมิลักขะต้องถอยร่นลงไปทางใต้ เหล่าอริยะจึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะ
      โดยถือว่าวรรณะทั้ง ๔ เกิดมาจากอวัยวะของพระพรหมที่ต่างกัน และพระพรหมได้กำหนดหน้าที่ให้วรรณะทั้ง ๔ ต่าง ๆ กันไปเรียบร้อยแล้ว วรรณะใหญ่ ๆ ในศาสนาพราหมณ์มีอยู่ ๔ วรรณะ ดังนี้
       ก. วรรณะพราหมณ์ (Brahmins หรือมักจะเรียกว่า Brahman) เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม มีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ มีหน้าที่กล่าวมนต์ ให้คำปรึกษากับพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนสอนมนต์ให้แก่คนทั่วไป ส่วนพวกที่เป็นนักบวชก็ทำหน้าที่สอนไตรเภทและประกอบพิธีทางศาสนา
       ข. วรรณะแพศย์ (Vaishyas) เกิดจากพระเพลา (ตัก) ของพระพรหมมีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือ สีเหลือง เป็นพวกแสวงหาทรัพย์สมบัติได้แก่พวกพ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร
       ค. วรรณะกษัตริย์ (Kshatriyas) เกิดจากพระอุราของพระพรหม และถือว่าสืบเชื่อสายมาจากพระอาทิตย์ สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีแดง ซึ่งหมายถึงนักรบ ทำหน้าที่รบเพื่อป้องกันหรือขยายอาณาจักร รวมทั้งเป็นนักปกครอง เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือคณะผู้ปกครองแบบสามัคคีธรรม
       ง. วรรณะศูทร (Sudras) เกิดจากพระบาท (เท้า) ของพระพรหม มีสีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือ สีดำหรือสีอื่น ๆ ที่ไม่มีความสดใส มีหน้าที่เป็นกรรมกร ลูกจ้าง ยังมีคนอีกวรรณะหนึ่งวึ่งถือว่าเป็นพวกต่ำสุด คือ จัณฑาล
      จ. จัณฑาล (Outcaste, The untouchables ในประเทศไทยบ้างก็เรียก "กาลกิณี") เป็นลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกัน ถือเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งจะถูกรังเกียจและเหยียดหยาม ไม่มีคนในวรรณะอื่นคบหาสมาคมด้วย

๐๒. ปรับปรุงจาก. www.indiandream.com; วันที่สืบค้น ๕ เมษายน ๒๕๕๖.
๐๓. จาก. บทความลำดับที่ ๑๒๔๘ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org), ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐.
๐๔. ผู้ศึกษามีความเห็นว่า เป็นการปฏิวัติความคิด การปฏิบัติครั้งยิ่งใหญ่อย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งเมื่อมองในมุมของคนไทยที่มีความเชื่อแบบ "พุทธ พราหมณ์ ผี" จะเกิดอาการตะลึงมาก (ถึงมากที่สุด) เพราะชาวบ้านร้านตลาดเมืองไทยของเรานั้น มีความเชื่อความศรัทธาปะปนกันคละไปหมด สามารถกล่าวได้ว่าเลอะเทอะ เช่น บูชาจตุคามรามเทพ บูชาพระพิฆเณศ  กุมารทอง พระราหู พระนางสุพรรณกัลยา และเลยเถิดจนถึงบูชาชูชก ฯลฯ (หากพิจารณาในเชิงจิตวิเคราะห์แล้ว นั่นคือ คนไทยป่วย ต้องการที่พึ่ง ต้องการหลุดพ้นจากความยากจนความลำบาก ภาระหนี้สิน (ในและนอกระบบ) ความฝึดเคือง โงหัวไม่ขึ้น จึงต้องการหาสิ่งยึดสิ่งช่วยเหลือที่พึ่งให้หลุดจากปัญหาที่เผชิญอยู่ประจำ วันให้ได้ อาจต้องยอมกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ต้องการสวรรค์ที่จับต้องได้เดี๋ยวนี้ในโลกนี้ โลกหน้าค่อยว่ากันใหม่)
๐๕. จาก. krooair.blogspot.com/2009/08/blog-post_25.html, วันที่สืบค้น 12 กันยายน 2559.
๐๖. จาก. https://th/wikipedia.org/wiki/อาศรม_4, วันที่สืบค้น 12 กันยายน 2559. "สันยาสี เป็นผู้ถือสันโดษตามแนวคิดเรื่อง อาศรม 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตามหลักธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มี 4 ขั้นตามวัยของผู้ปฏิบัติดังนี้ (พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล 2548:71-72)
       1) พรหมจรรยะ  คือ ขั้นการศึกษาเล่าเรียนของผู้อยู่ในวัยการศึกษา จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมที่ว่าด้วยการศึกษา เรียกผู้อยู่ในขั้นนี้ว่า "พรหมจารี"
       2) คฤหัสถยะ คือ ขั้นตอนการครองเรือน หลังจากสำเร็จการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมที่ว่าด้วยการครองเรือน เรียกผู้อยู่ในขั้นนี้ว่า "คฤหัสถ์"
       3) วานปรัสถยะ คือ ขั้นการแยกตัวออกไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า หลังจากครองเรือนจนมีสมบัติพอสมควร ครอบครัวมีฐานะมั่นคงและมีลูกหลานผู้จะสืบตระกูลได้แล้ว เรียกผู้อยู่ในขั้นนี้ว่า "วานปรัสถ์"
       4) สันนะยาสะ คือ ขั้นการออกบวช หลังจากออกไปบำเพ็ญธรรมอยู่ในป่าพอสมควรและมีศรัทธาแก่กล้าถึงกับเสียสละทุกอย่าง เรียกผู้อยู่ในขั้นนี้ว่า "สันยาสี". 
๐๗.  จาก. www.kamat.com/kalranga/itihas/kosambi.htm, dhammathai.org/buddhism/india/chapter11_1.php และ en.wikipedia.org/wiki/Darmananda_Damodar_Kosambi, วันที่สืบค้น 12 กันยายน 2559, พระธัมมนานันทะ โกสัมพี (Acharya Darmananda Damodar Kosambi, Oct.9,1876-June 24, 1947), "ท่านธัมมนานันทะ โกสัมพีเป็นนักปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญองค์หนึ่งในยุคฟื้นฟูพุทธศาสนา ท่านเกิดที่เมืองกัว รัฐมหาราษฎร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2419 เป็นลูกคนเล็กสุดในห้าคนของครอบครัว สมัยเด็กท่านประทับใจในเรื่องราวของพระพุทธองค์จากหนังสือสำหรับเด็ก เมื่อโตขึ้นจึงได้เริ่มศึกษาภาษาสันสกฤตและพุทธศาสนาที่เมืองปูนา และพาราณสี ต่อมาเดินทางสู่เนปาล เพื่อศึกษาพุทธศาสนา แต่ท่านก็ต้องผิดหวัง เพราะเนปาลไม่ใช่ดินแดนพุทธศาสนา ท่านจึงกลับมาที่พุทธคยา มีพระหลายรูปแนะนำให้ท่านไปศึกษาที่ศรีลังกา แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่นั่นโดยมีท่านสุมังคลามหาเถระเป็นอุปัชฌาย์ ต่อมากลับคืนสู่อินเดียเกิดความเบื่อหน่าย ได้ลาสิกขาจนต่อมาแต่งงานที่บ้านเดิม กระทั่งได้บุตรหนึ่งคน คือ ดี.ดี. โกสัมพี หลังจากนั้นท่านได้กลับมาอุปสมบทใหม่ ใน พ.ศ.2453 ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับจากสหรัฐมายังมาตุภูมิอินเดียแล้ว ท่านได้สร้างพุทธวิหารขึ้นที่บอมเบย์ (มุมไบ) เมื่อ พ.ศ.2480 ได้เรียกชื่อวิหารนี้ว่า "พหุชนพุทธวิหาร" ท่านได้เริ่มเขียนหนังสือหลายเล่ม ที่สำคัญคือ
ภควาน บุดดา (Bhagavan Buddha) เป็นภาษามราฐิ (Marathi) (เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลอินโด-อารยัน-Indo-Aryan language ใช้เป็นทางการในรัฐมหาราษฎระและรัฐใกล้เคียง ใช้อักรเทวนาครี-Devanagari) ด้วยหนังสือที่ท่านเขียนนี้เอง ส่งแรงบันดาลใจให้ ดร.อัมเบดก้าร์ สนใจหันมานับถือพุทธศาสนาในภายหลัง ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้มอบพหุชนพุทธวิหารให้สมาคมมหาโพธิ์แห่งอินเดียเป็นผู้ดูแล ส่วนตัวท่านก็มาพำนักที่สารนาถและมรณภาพ ณ ที่นั่น เมื่อ 14 มิถุนายน 2490. 
humanexcellence.thailand@gmail.com