MENU
TH EN

วินเซนต์ แวน โกะห์

ภาพ: สแตรี่ไนท์ (Starry Night) เขียนเมื่อ ค.ศ.1889, ที่มา: www.theartstory.org/artist-van-gogh-vincent-artworks.htm,
วันที่สืบค้น: 31 ธันวาคม 2017
First revision: Dec.31, 2017
Last revision: May 10, 2018
สืบค้นและเรียบเรียงโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
        ผมไปดูหนังเรื่อง Loving Vincent เมื่อค่ำวันคริสตมาสที่ผ่านมาที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ด้วยทราบจากคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์วิจารณ์ภาพยนต์นี้ และมีความสนใจกับศิลปินท่านนี้เป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจไปชม หนังฉายตอนทุ่มครึ่ง มีคนชมไม่มากนักแต่สังเกตดู มีจำนวนไม่น้อยที่ออกแนวติสต์ หรือนักศึกษาด้านศิลปะอะไรทำนองนั้นมาดูกันพอสมควร
        Loving Vincent01 เป็นหนังที่สร้างจากภาพวาด โดยให้จิตรกรสไตล์ Post-Impressionism แนวแวนโก๊ะห์จำนวน 125 คนวาดภาพบนผ้าใบแคนวาสกว่า 1,000 ชิ้น เป็นภาพวาดสีน้ำมัน ล้อตามสไตล์แวนโก๊ะห์ ด้วยเทคนิค สีสัน และฝีแปรงแรง ๆ ปาดป้ายเป็นเส้นดูพลิ้วไหว กอปรกับมีนักแสดงจริงมาแสดงตามบทแล้วถ่ายเป็นหนังที่เป็นภาพวาด และใช้ภาพจริงของแวนโกะห์ มาประกอบอีก 130 ภาพ หนังดูเหมือนภาพฝันและดูเพลินจนเหมือนนั่งชมงานของวินเซนต์ แวน โกะห์ (บ้างก็เรียก วินเซนต์ ฟาน กอห์ก และบ้างก็เรียก ฟินเซนต์ ฟัน โคค) ศิลปินผู้อาภัพอย่างใกล้ชิด.
        และ Loving Vincent ก็ถือเป็น Animation ที่ไม่เหมือนใคร ตรงที่การผสมผสานเทคนิคทาภาพยนตร์เข้ากับศิลปะดั้งเดิมอย่างภาพวาดสีน้ำมัน โดยใช้เทคนิคโรโตสโคป (Rotoscope) โดยเริ่มจากถ่ายทำนักแสดงกรีนหน้าแล้วพิมพ์เป็นภาพนิ่งทีละเฟรม เพื่อให้ศิลปินวาดภาพสีน้ำมันโดยแยกเลเยอร์ระหว่างตัวนักแสดงแต่ละฉาก ซึ่งด้วยหนังต้องใช้ภาพสีน้ำมันถึง 66,960 ภาพ ทำให้ต้องมีจิตรกรถึง 80 คนจากทุกมุมโลก โดยมีงานเขียนชิ้นเอกของ วินเซนต์ แวน โกะห์ หรือ ฟาน กอห์กถึง 94 ชิ้นเป็นต้นแบบ นับเป็นงานบูชาครู แวนโกะห์อย่างแท้จริง และผลลัพธ์ก็ออกมาดีมาก
        ตั้งแต่งานวาดภาพบุคคลหรือพอร์ตเทรท (Portriat) ที่กลายเป็นตัวละครเอก อย่างภาพ Young man with a cap (ค.ศ.1888) ภาพวาดของมากาเรต กาเชต์ (Marguerite Gachet at the Piano) (ค.ศ.1890) รวมถึงงานชิ้นเอกที่คอศิลปะรู้จักกันดีอย่าง Portrait of Dr.Gachet (ค.ศ.1890) และ Old Man With His Head In His Hands (ค.ศ.1890).

ภาพเขียนโดย แวน โกะห์ "Portrait van Armand Roulin", 1888, ที่มา: www.pinterest.com, วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.
 

มากาเรต กาเชต์ (Marguerite Gachet at the Piano) (ค.ศ.1890), จิตรกร: วินเซนต์ แวน โกะห์
ปัจจุบันภาพอยู่ Kunstmuseum Vasel, Bael, Switzerland, ที่มา: www.wikiart.org, วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.



Portrait of Doctor Gachet, ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ 67.0-56.0 ซม., เป็นภาพสะสมส่วนบุคคล
วาดที่ โอแวร์ซูวร์รวซ (Auvers-sur-Oise) เมื่อ มิถุนายน ค.ศ.1890
ที่มา: www.vggallery.com, วันที่สืบค้น 2 มกราคม 2561



ภาพ Sorrowing Old man (At Eternity's Gate) หรือ Old Man With His Head In His Hands
วาดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1890 ขนาด 80 * 64 ซม. ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Krőller-Műller Museum, เนเธอร์แลนด์
ที่มา: thisismybipolarlife.wordpress.com, วันที่สืบค้น 2 มกราคม 2561.

 
        และที่ขาดไม่ได้คือภาพวาดทิวทัศน์ดัง ๆ อย่าง The Fields (ค.ศ.1890) ภาพคันนาที่มีรถไฟวิ่งอยู่ด้านหลังอันงดงามและเปี่ยมมิติ และที่ขาดไม่ได้คือ Starry Night (ค.ศ.1889) ภาพทุ่งสาลีกับอีกา (Wheatfield with Crows) ภาพห้องนอน (The Bed Rooms) ภาพดอกทานตะวัน แวนโกะห์วาดภาพดอกทานตะวันไว้หลายเวอร์ชั่น และภาพชิ้นเอกที่ใคร ๆ ก็ประทับใจก็ถูกนำมาเสนอเป็นฉากเปิดเรื่องและตลอดทั้งเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ 
 
ราโชมอน (Rashomon) กำกับการแสดงโดย อะกิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) ญี่ปุ่น ปี ค.ศ.1950, 88 นาที
ที่มา: www.janusfilms.com, วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.

        หนังเดินเรื่องเหมือนการสืบสวนหาความจริง หลายคนพูดความจริง แต่ไม่ครบไม่ทั้งหมด (Partial truth) ปิดบังเรื่องชั่วของตนไว้ (แม้แต่ร่างทรงเชิญผีมาให้การคดีฆาตกรรม ก็ยังไม่พูดความจริงเลย) คล้ายเรื่อง "ราโชมอน" (Rashomon) ที่กำกับการแสดงโดย อะกิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) และหนังไทยที่กำกับโดยหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) "อุโมงค์ผาเมือง"02 
 

อุโมงผาเมือง (The Outrage)


อาร์มาน รูแลง (Armand Roulin) แสดงโดย ดักลาส บูธ (Douglas Booth)

 
        บทเด่นอยู่ที่ อาร์มาน รูแลง (Armand Roulin) ลูกชายบุรุษไปรษณีย์ (โจเซฟ รูแลง - Joseph Roulin) ที่เพียรส่งจดหมายไปให้ถึง "เธโอ" (Theo) น้องชายของวินเซนต์ โดยไม่รู้ว่าเขาตายไปแล้ว เหตุการณ์จึงเปลี่ยนไปกลายเป็นการค้นหาความจริงว่าวินเซนต์ยิงตัวตายจริงหรือไม่
        เรื่องจริงอันแสนเศร้าของศิลปินที่โลกลืม (ชีวิตเศร้าของเขา) ยิ่งทำให้คนดูหรือคนรักงานศิลปะรู้สึกเหมือนน้ำตาท่วมหัวใจ หรือศิลปินมักเป็นเช่นนี้ กว่าโลกจะเข้าใจเขาก็ด่วนลาโลกไปเสียก่อนเวลาอันควร (ดร.บัณฑิต นิจถาวร ได้เขียนคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อปลาย ๆ เดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ในทำนองว่า แวนโกะห์ ดีเกินไปสำหรับโลกนี้)  แต่ท้ายที่สุดแล้วคนดูก็พบว่า ที่จริงศิลปินผู้อาภัพก็มีคนรักเขา มีคนสนใจและชื่นชมในความพยายามสร้างงานศิลปะอย่างไม่หยุดยั้ง โดยงานช่วงสองปีหลังของแวน โกะห์ก่อนเสียชีวิตมากมายราว 2,100 ชิ้น มีภาพสีน้ำมัน สีน้ำ ภาพสเก็ตช์ และภาพพิมพ์ เป็นอาร์ทิสต์ที่ขยันมาก ถือเฟรมกับอุปกรณ์วาดภาพออกจากห้องพักไปวาดภาพทุกวัน และเมืองชนบทในฝรั่งเศส โอแวร์ซูวร์รวซ (Auvers-sur-Oise) ก็ดูน่าอยู่สดใส แม้ในใจของคนวาดแสนหม่นเศร้า...
        ส่วนที่มีสีสันที่สุดคือพระเอกอาร์มาน รูแลง รับโดย ดักลาส บูธ หนุ่มอังกฤษวัย 24 ปี นักแสดงใส่เสื้อแจ็คเก็ตเหมือนรูปที่ แวน โกะห์ วาดเอาไว้ (ผมมีความเห็นว่า เสื้อแจ็คเก็ตสีเหลืองสดใสที่รูแลงใส่ ซึ่งพาดผ่านการดำเนินเรื่องของ Loving Vincent โดยตลอดนั้น อาจแสดงนัยว่า เป็นแสงทองทอดเสาะให้หาความจริงว่าแวน โกะห์นั้น อัตวินิบาตกรรมเองหรือมีคนฆ่า?) ศิลปินชาวดัทช์ วาดรูปคนเหมือนหรือพอร์เทรตเอาไว้มากมายทั้งรูปตัวเองและคนอื่น ๆ ชาวบ้าน ชาวนา และคนรู้จักมักคุ้น เช่น บุรุษไปรษณีย์ พ่อของอาร์มานด์ ก็มีหลายภาพ ภาพคนพายเรือ คนขายสี ลูกสาวเจ้าของโรงแรม ลูกสาวหมอ มาร์เกอริท กาเชต์ และคุณหมอกาเชต์
        แวนโกะห์ เป็นศิลปินยอดขยัน ช่วงสองปีหลัง เขาวาดภาพทุก ๆ 36 ชั่วโมง แต่สุดรันทดที่เขาขายภาพของเขาได้เพียงภาพเดียว คือ The Red Vinyard ในราคา 350 ฟรังค์ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Pushkin ในกรุงมอสโคว์ สหพันธรัฐรัสเซีย.

ภาพ The Red Vineyard near Arles, วาดเมื่อ ค.ศ.1888 เป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด 75*93 ซม. ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ Pushkin Museum of Fine Arts, กรุงมอสโคว์
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 2 มกราคม 2561.

        ภาพของแวนโกะห์ กระจายออกไปตามพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก บ้างก็ถูกซื้อหรือประมูลไปในราคาแพง เพื่อนำไปจัดแสดงในมิวเซียมประเทศต่าง ๆ แต่ที่มีมากที่สุดคือ พิพิธภัณฑ์วินเซนต์ แวน โกะห์ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ บ้านเกิดของเขาเอง ทุกวันนี้ภาพของเขาได้นำออกประมูลอยู่เนือง ๆ จนไม่สามารถตีราคาที่ตายตัวได้ เช่น เมื่อปี ค.ศ.1987 ภาพดอกทานตะวัน 15 ดอกในแจกัน มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นประมูลจากสถาบันคริสตี้ในราคา 39.9 ล้านยูเอสดอลล่าร์ พอถึงปี 2017 ก็ได้รับการประเมินมูลค่าใหม่เป็น 76.7 ล้านยูเอสดอลล่าร์.

ภาพ The Old Tree; Le vieil if, วาดราว ๆ ค.ศ.1888 เป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 92*72.4 ซม.
ที่มา: www.artnet.com, วันที่สืบค้น 23 มกราคม 2561.

        ภาพทุ่งข้าวสาลี มีมูลค่าประมูลในราคา 57 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ภาพชื่อ Le vieil if ก็ถูกประมูลจากสถาบันคริสตี้ นิวยอร์ก ในราคา 17 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ส่วนภาพพอร์เทรตตัวเขาเอง (มีหลายภาพหลายเวอร์ชั่น) ภาพ Autoportrait ที่วาดไว้เมื่อปี 1888 แวนโกะห์ ใส่เสื้อเหลือง ฉากหลังสีเขียว ได้ชื่อว่าเป็นภาพวาดตัวของเขาเองที่ประมูลไปในราคาสูงสุดคือ 24 ล้านยูเอสดอลล่าร์ จากสถาบันคริสตี้ นิวยอร์ก
ภาพ: Self-portrait, วาดในช่วง November/December 1888, ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด 46*38 ซม. ปัจจุบันแสดงที่นิวยอร์ค, ที่มา: commons.wikimedia.org, วันที่สืบค้น 24 มกราคม 2561.

 
        ภาพดอกไอริสก็ได้ชื่อว่าขายได้ราคาแพงที่สุดคือ 53.9 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ภาพวาด Irises วาดในปี 1889 ก่อนจะอำลาโลก ภาพวาดคุณหมอกาเชต์มีสองเวอร์ชั่นที่ตีมูลค่าสูงโดยเวอร์ชั่นแรกขายไปเมื่อปี 1990 ด้วยราคา 82.5 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ถือว่าแพงที่สุด ซึ่งถ้ามาประเมินค่าเงินในปีปัจจุบัน ราคาก็จะสูงกว่านี้อีก.
 

ภาพดอกไอริส (Irises) วาดเมื่อ ค.ศ.1889 ที่ Saint-re'my-de-provence ฝรั่งเศส
สไตล์: Post-Impressionism ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 71*91 ซม.
ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ J. Paul Getty Museum ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา
ที่มา: www.wikiart.org, วันที่สืบค้น 25 มกราคม 2561
 

ภาพดอกทานตะวันในแจกัน (Sunflowers) วาดที่เมืองอาร์ลีส์ (Arles) เมื่อเดือน มกราคม ค.ศ.1889
เป็นภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 95 * 73 ซม.
ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ Van Gogh Museum กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ที่มา: www.vangoghmuseum.nl, วันที่สืบค้น 25 มกราคม 2561.

        สำหรับคนรักศิลปะ ผลงานของแวน โกะห์ บอกชาวโลกไว้หลายอย่าง ศิลปะนั้นยังคงอยู่ แม้ศิลปินจะหาชีวิตไม่แล้ว และความสำเร็จที่ตัวศิลปินมองไม่เห็นคือเขาเป็นผู้ริเริ่มงานศิลปะสมัยใหม่ (ในยุคโน้น) เฉดสีและฝีแปรงที่ริเริ่มขึ้นก่อนใครอย่างมีเอกลักษณ์ ถ้าใครรักแวน โกะห์ รักศิลปะก็ไปชมเถิด กว่าหนังจะออกมาให้อารมณ์ทุ่งสาลีกับดาวพร่างพรายขนาดนี้ก็ใช้เวลาถึงหกปี และก็น่าดีใจที่งบสร้าง 5.5 ล้านยูเอสดอลล่าร์ หากทำเงินได้ 21 ล้านยูเอสดอลล่าร์ทั่วโลก.
        ถึงวินเซนต์ที่รัก แม้เขาจากเราไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่มองท้องฟ้าก็จะเห็นประกายดาวสุกสว่าง เขาคงอยู่ ณ ที่นั้น.
        
        ตอนท้ายของหนัง ก็มีการนำเพลงเก่าอย่าง Starry, Starry Night เพลงเก่าของ ดอน แมคลีน (Don McLean) ก็ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเสียงเศร้าของ ลีแอน ลา ฮาวาส (Lianne La Havas) (Loving Vincent OST) ได้อย่างละมุมละไมและบาดลึกถึงขั้วหัวใจจริง ๆ 
 
Starry, starry night
Paint your palette blue and gray
Look out on a summer's day
With eyes that know the darkness in my soul

Shadows on the hills
Sketch the trees and the daffodils
Catch the breeze and the winter chills
In colors on the snowy linen land


Now I understand
What you tried to say to me
And how you suffered for your sanity
And how you tried to set them free

They would not listen, they did not know how
Perhaps they'll listen now


Starry, starry night
Flaming flowers that brightly blaze
Swirling clouds in violet haze
Reflect in Vincent;s eyes of china blue

Colors changing hue
Morning fields of amber grain
Weathered faces lined in pain
Are soothed beneath the artist's loving hand


Now I understand
What you tried to say to me
And how you suffered for your sanity
And how you tried to set them free

They would not listen, they did not know how
Perhaps they'll listen now


For they could not love you
But still your love was true
And when no hope was left in sight
On that starry, starry night

You took your life, as lovers often do
But I could've told you Vincent
This world was never meant for
One as beautiful as you


Starry, starry night
Portraits hung in empty halls
Frame-less heads on nameless walls
With eyes that watch the world and can't forget

Like the strangers that you've met
The ragged men in ragged clothes
The silver thorn of bloody rose
Lie crushed and broken on the virgin snow


Now I think I know
What how you tried to say to me
And how you suffered for your sanity
And how you tried to set them free

They would not listen, they're not listening still
Perhaps the never will.

     วินเซนต์ วิลเลี่ยม แวนโก๊ะ บ้างก็เรียก ฟินเซนต์ ฟัน โคค (ชาตะ 30 มีนาคม พ.ศ.2396 - มรณะ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2433) เป็นจิตรกรชาวดัตช์แนวลัทธิประทับใจยุคหลัง (Post-Impressionism)03 จิตรกรนามอุโฆษ และทรงอิทธพลต่อรูปแบบประวัติศาสตร์ศิลปะในโลกตะวันตก. เพียงช่วงสิบปีกว่า ๆ เขาได้รังสรรค์งานศิลปะราว ๆ 2,100 ชิ้น, ซึ่งได้รวมถึงงานระบายด้วยสีน้ำมันราว 860 ชิ้นไว้ด้วย. ผลงานของแวนโก๊ะเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงสองปีสุดท้ายของชีวิตเขา. รวมทั้งงานที่เรียกว่า "เหล่าไม้และพืชพันธุ์ใต้ไม้ใหญ่ (Landscapes - Trees and Undergrowth)", "ภาพวาดคน สิ่งของ ดอกไม้ แจกันนิ่ง ๆ - still lifes", "ภาพวาดผู้คน - portraits" และ "ภาพวาดตัวเอง - Self-portraits", และเป็นภาพที่วาดโดยสีเป็นลิ่มก้อนและหยดย้อย, ห้วน และแสดงวิธีการปัดฝีแปรง ซึ่งนำมาสู่การสถาปนาศิลปะสมัยใหม่ในช่วงต่อ ๆ มา. แวนโก๊ะได้อัตวิบาตกรรมเมื่อมีอายุเพียง 37 ปี ขณะที่มีอาการป่วยทางจิตและความยากไร้.
     เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน, วินเซนต์ช่วงเยาว์วัยนั้น เขาดูเครียด เงียบและรอบคอบ. เมื่อเป็นหนุ่มขึ้น วินเซนต์ทำงานเป็นพ่อค้างานด้านศิลปะ เดินทางบ่อย ๆ, เขาเริ่มรู้สึกหดหู่หลังจากที่บริษัทได้ย้ายเขาให้ไปอยู่ที่ลอนดอน. เขาหันมาสนใจศาสนา, และใช้เวลาส่วนใหญ่ในฐานะที่เป็นมิชชันนารีคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ทางตอนใต้ของเบลเยี่ยม. สุขภาพเขาแย่ลงและรู้สึกอ้างว้าง ก่อนที่วินเซนต์จะเริ่มวาดภาพในปี พ.ศ.2424 (ค.ศ.1881) โดยได้กลับมาบ้านพบพ่อและแม่. ธีโอ (Theo) น้องชายของเขา เป็นผู้จุนเจือช่วยเหลือวินเซนต์ด้านการเงิน สองพี่น้องติดต่อสื่อสารกันด้วยข้อความยาว ๆ ในจดหมาย.
ธีโอ แวน โก๊ะ (Theo van Gogh) ชาตะ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2400 (ค.ศ.1857) - มรณะ 25 มกราคม พ.ศ. 2434 (ค.ศ.1891)
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2561
.

     งานชิ้นแรก ๆ ของวินเซนต์, ส่วนใหญ่เป็นงานประเภท still lifes - "ภาพวาดคน สิ่งของ ดอกไม้ แจกันนิ่ง ๆ" และพรรณนาถึงการดำเนินชีวิตของชาวนา, ในระยะหลัง ๆ จะมีเพียงงานไม่กี่ภาพที่เขาระบายด้วยสีสดใสให้ดูโดดเด่น. ในปี พ.ศ.2429 (ค.ศ.1886), เขาย้ายไปปารีส, ได้พบกับสมาชิกกลุ่มแนวหน้า (แอวังท์-การ์ด์-avant-garde), ประกอบด้วย อีมิล แบร์อาร์ด (E'mile Bernard) และปอล โกแกล (Paul Gauguin), ผู้ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อต้านความรู้สึกอ่อนไหว ของแนวภาพวาด Impressionism. ขณะที่งานของวินเซนต์ได้ถูกพัฒนาขึ้น เขาสร้างแนวทางของตนเองเกี่ยวภาพ still lifes และภาพภูมิประเทศในชนบท (Local landscapes).
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีมิล แบร์อาร์ด ภาพ Self-portrait, ที่มา: everyhistory.org, และ
ปอล โกแกล วาดเมื่อปี ค.ศ.1893, ที่มา: nn.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 6 มีนาคม 2561. 

     งานหลาย ๆ ชิ้นของวิเซนต์เติบโตขึ้นจากสไตล์ที่เขาได้พัฒนาขึ้นให้มีสีสันสดใส และตระหนักชัดได้เต็มเปี่ยมในระหว่างที่เขาพักอยู่ที่เมืองอาร์ลิส์ (Arles) ทาตอนใต้ของฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2431 (ค.ศ.1888). ในช่วงนั้น วินเซนต์ได้รังสรรค์ผลงานเป็นชุดที่ประกอบด้วยกลุ่มต้นมะกอก (olive trees) ทุ่งข้าวสาลี (Wheat fields) และดอกทานตะวัน (Sunflowers)
 

ภาพ: The Olive Trees, ปี ค.ศ.1889 วาดบนผ้าใบด้วยสีน้ำมัน ขนาด 92 ซม.*72.5 ซม. 
ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ Museum of Modern Art, นิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา, วันที่สืบค้น 8 พฤษภาคม 2561.
ที่มา: en.wikipedia.org. "A painitng of intense green gnarled old olive tree with distant rolling blue
moutains behind under a light blue sky with a large fluffy white cloud in the center."

 
 

ภาพทุ่งข้าวสาลีและเหล่าอีกา (Wheatfield with Crows), กรกฎาคม ค.ศ.1890 ปัจจุบันแสดงที่ Van Gogh Museum,
กรุงอัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์, ที่มา: en.wikipeida.org, วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2561.

     วินเซนต์ทุกข์ทรมานกับอาการทางจิตและอาการหลงผิด (delusions) และแม้ว่าเขาจะกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางจิตใจ เขาก็มักจะละเลยสุขภาพ ไม่ทานอาหารที่มีคุณค่าและดื่มหนัก.


ที่มาและคำอธิบาย:
01.  ปรับปรุงเพิ่มเสริมจากที่มา: เลิฟวิ่ง วินเซนต์ ศิลปินโลกไม่ลืม, พันธุ์นรา, กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์, วันที่ 31 ธันวาคม 2560 และ www.beatai.com, วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.
02.  อุโมงค์ผาเมือง เป็นหนังไทย พีเรียดดราม่า แนวคดีฆาตกรรมปริศนา ออกฉายเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ.2554 กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 10 สร้างเพื่อฉลอง 100 ปี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และครบรอบ 40 ปี สหมงคลฟิล์ม ซึ่งทั้งสองวาระได้เวียนมาครบในปี พ.ศ.2554. ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากบทละครของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง ราโชมอน ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าว อากิระ คุโรซาวา ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ราโชมอน" เมื่อปี พ.ศ.2493 เข้าชิงและคว้ารางวัลอีกหลายสถาบัน รวมถึง รางวัลออสการ์เกียรติยศ. อุโมงผาเมือง เล่าเรื่องราวของนครผาเมืองในอาณาจักรสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเกิดคดีฆาตกรรมขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า โดยมีแม่หญิงคำแก้ว นางสนม โจรป่าสิงห์คำ และร่างทรงวิญญาณของขุนศึกเป็นผู้ให้การ ถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านพระอานนทภิกขุ พรานป่า และสัปเหร่อ., ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 31 ธันวาคม 2560.
03.  ลัทธิประทับใจยุคหลัง (Post-impressionism) เป็นคำที่คิดขึ้นในปี ค.ศ.1910 โดยรอเจอร์ ฟราย (Roger Fry) ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ เพื่อบรรยายศิลปะที่วิวัฒนาการขึ้นในฝรั่งเศสหลังสมัยเอดัวร์ มาแน (E'douard Manet) จิตรกรลัทธิประทับใจยุคหลังยังคงสร้างงานศิลปะลัทธิประทับใจ (Impressionism) แต่ไม่ยอมรับความจำกัดของศิลปะลัทธิประทับใจ จิตรกรสมัยหลังจะเลือกใช้สีจัด เขียนสีหนา ฝีแปรงที่เด่นชัดและวาดภาพจากของจริง และมักจะเน้นรูปทรงเชิงเรขาคณิต เพื่อจะบิดเบือนจากการแสดงออก นอกจากนั้นการใช้สีก็จะเป็นสีที่ไม่เป็นธรรมชาติและจะขึ้นอยู่กับสีที่จิตรกรต้องการจะใช้., ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2561.
humanexcellence.thailand@gmail.com