MENU
TH EN

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ - รัฐบุรุษอาวุโส #1

First revision: Apr.13, 2013
Last revision: Jan.21, 2017

เรียน ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ที่เคารพรักยิ่ง

        กระผม ในฐานะศิษย์เก่าเหลืองแดง คณะเอื้องฟ้า สำนักท่าพระจันทร์ รหัส ๒๓๒๓๘๔ ใคร่ขอรวบรวม เสาะหา ข้อมูลชีวประวัติของท่านจากหลาย ๆ แหล่ง เท่าที่กำลัง ขีดความสามารถและสติปัญญาที่กระผมมี

      ขอปณิธานว่า จะแสดงข้อมูลที่ละเอียด เที่ยงธรรม ไม่เบี่ยงเบน และด้วยความเคารพ เพื่อประกาศก้องต่อสาธารณชนทั่วไปถึงคุณูปการที่ท่านมีต่อประเทศชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย การศึกษา กิจการระหว่างประเทศ และความมั่นคงของสยาม

       และเป็นการย้ำ ยืนยัน ความเที่ยงแท้ถึงข้อเขียนที่แสดงไว้ใต้ฐานรูปปั้นของท่าน ณ หน้าตึกโดมที่ว่า "ผลของการที่ได้ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูนย์หาย"  อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ

รักและเคารพยิ่ง
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

ปล.
๑. ผมจำได้ว่าหลังจากที่คณาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ทราบว่าท่าน ดร.ปรีดีถึงแก่อสัญกรรม บรรยากาศในธรรมศาสตร์ตื่นตัวมาก แต่ก็แฝงไปด้วยความเศร้า เย็นวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖ มีวงดนตรีคาราวานนำโดยพี่หงา สุรชัย จันทิมาธร ขึ้นเวทีที่บริเวณลานโพธิ์ ผมไปร่วมนั่งฟังด้วย (ผมรู้สึกว่าหน้าตาของพี่หงาดูอิดโรย ตาเหล่ ๆ ยังไงพิกล ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ) พี่หงาร้องเพลงแต่งใหม่สด ๆ ให้ฟัง ผมจำได้ท่อนเดียวเท่านั้น แต่จะขอจำไว้ตราบลมหายใจสุดท้าย.... ดังนี้ "ชื่อปรีดี พนมยงค์ ดาวที่ดำรง ประดับไว้ในใจชน"
๒. จากคำกล่าวที่ท่าน รองศาสตราจารย์ประนอม โฆวินวิพัฒน์ (อาจารย์ประจำคณะพาณิชย์ มธ.ท่านหนึ่งที่ได้เดินทางไปรับศพท่านปรีดีจากฝรั่งเศส สู่ประเทศไทย) ได้กล่าวกับกระผมโดยตรงว่าท่านปรีดีมักจะมีประโยคที่พูดติดปากเสมอ ๆ ว่า "เพื่อชาติ และราษฎรไทย"

        จากประโยคที่ติดปากของท่านนี้ กระผมจะน้อมนำมาเป็นหลักในการเขียนชีวประวัติให้ดีที่สุดครับ



บทนำ

        ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖) เป็นผู้นำคณะราษฎร์สายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

        ท่านได้ให้แนวคิดว่าด้วยสหกรณ์ (Cooperative) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็น "ธนาคารสำหรับคนจน (Bank to the poor)" เป็นครั้งแรก ดังที่ปรากฎในเค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (สมุดปกเหลือง) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งแผนการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

 
                     
ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในสถานะและอริยาบทต่าง ๆ :
ดอกเตอร์อังดรัวท์ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส, ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโส
และถ่ายภาพกับลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบ็ตเท็น อดีตอุปราชอินเดียและพม่าคนสุดท้ายของจักรวรรดิอังกฤษ พร้อมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

        ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ๓ สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
 
                                                 

         ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อรหัสว่า "รุธ (Ruth)" ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนั้นท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"

        ท่านปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมือง หลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต โดยท่านถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นเหตุให้ท่านต้องลี้ภัยทางการเมืองไปพำนัก ณ ประเทศจีนและฝรั่งเศส รวมระยะเวลากว่า ๓๖ ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลย จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

        ระหว่างที่ท่านลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนั้น ท่านได้ดำเนินการฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฎว่าศาลตัดสินให้ท่านชนะในทุกคดี และยังได้การรับรองจากทางราชการไทย ตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของไทย

        เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๓๐ ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" และได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่าน ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๓ - ๒๕๔๔ นอกจากนี้ นิตยสารเอเชียวีก (Asiaweek) ยังได้เสนอชื่อท่านเข้าชิงตำแหน่ง "Asian of The Century" อีกด้วย


ชีวิตในวัยเยาว์
        ท่านปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนาไทย (มีฐานะพอมีอันจะกิน หรือเป็นคนชั้นกลาง ระดับนายทุน หรือ บอร์ซัว "Bourgeois")  ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ จากจำนวนพี่น้อง ๖ คน ของนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์
                
พระพุทธไสยาสน์ วัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา

 
                       
นายเสียง และ นางลูกจันทน์ พนมยงค์ บิดา-มารดาของ ท่านปรีดี พนมยงค์

        บรรพบุรุษของท่านปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาเป็นเวลาช้านาน โดยที่บรรพบุรุษข้างบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยอาณาจักรอยุธยา ชื่อ ประยงค์ พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง โดยตั้งชื่อวัดตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือวัดพนมยงค์ กาลเวลาล่วงเลยมาจนเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖ ทายาทจึงใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์" และได้อุปถัมภ์วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

        บรรพบุรุษรุ่นปู่-ย่าของท่านปรีดีประกอบกิจการค้าขายมีฐานะเป็นคณบดีใหญ่ แต่นายเสียงบิดาของท่านปรีดีเป็นคนชอบชีวิตอิสระไม่ชอบประกอบอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษ จึงหันไปยึดอาชีพกสิกรรม เริ่มต้นด้วยการทำป่าไม้ และต่อมาได้ไปบุกเบิกถางพงร้าง เพื่อจับจองที่ทำนาบริเวณทุ่งหลวง อำเภอวังน้อย แต่ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โขลงช้างป่า และแมลงที่รบกวนทำลายต้นข้าว ทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ไม่สามารถขายข้าวได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทขุดคลองแห่งหนึ่ง ขุดคลองผ่านที่ดินของนายเสียงและยังเรียกเก็บค่าขุดคลอง ซึ่งบิดาของท่านปรีดีต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่ากรอกนาในอัตราไร่ละ ๔ บาท แลกกับการได้ครอบครองที่ดินที่จับจองไว้จำนวน ๒๐๐ ไร่ ทำให้ฐานะของครอบครัวย่ำแย่ลงไปอีก ต้องทนเป็นหนี้เป็นสินอยู่หลายปี เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ราษฎรผู้บุกเบิกจับจองที่ดินมาก่อนต้องสูญเสียที่ดินไปจำนวนมากและกลายเป็นชาวนาผู้เช่าที่ดินในที่สุด

        ในช่วงเวลานั้น สังคมไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านหลายประเทศตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ สยามประเทศสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ เมื่อสยามถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) กับสหราชอาณาจักรเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ทั้งยังเสียดินแดนบางส่วนและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ขณะเดียวกันนั้น ชาวนาไทยก็ประสบปัญหาความยากจนมาโดยตลอด ดังบันทึกของมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ 6 ที่ว่า "ชาวนาที่ยากจนขัดสน ด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังด้วยความเหน็ดเหนื่อย แถมเสบียงอาหารและเครื่องนุ่งห่มไม่พอ ต้องซื้อเขาด้วยราคาแพง ถ้าต้องกู้ยืมเงินคนอื่นต้องเสียดอกเบี้ยในราคาแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและยานพาหนะจะขนไปจากลานนวด หรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา ต้องจำเป็นต้องขายข้าวเสียตั้งแต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเอง ได้ราคาต่ำเท่าไหร่ก็จำต้องขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาตามสัญญา"

 
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)11
(10 เม.ย.2405 - 30 ก.ย.2479)

        จากการเติบโตในครอบครัวของชาวนานี้เอง ท่านปรีดีจึงได้สัมผัสรับรู้เป็นอย่างดีถึงสภาพความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนาทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ราคาพืชผลในตลาด และดอกเบี้ยของนายทุน นอกจากนี้ยังต้องประสบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินศักดินาที่ทำการเก็บภาษีและการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประสบการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ท่านปรีดีคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา

        ท่านปรีดี เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ท่านเป็นเด็กหัวดี ช่างคิด ช่างสังเกต วิเคราะห์ และเริ่มมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี  จากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนที่นำโดย ดร.ซุน ยัดเซ็น (Sun Yat-sen) และเหตุการณ์กบฎ ร.ศ.๑๓๐ ในสยาม ซึ่งท่านปรีดีได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อผู้ที่ถูกลงโทษ(ในคราวกบฎ ร.ศ.๑๓๐) ครั้งนั้น

 
ดร.ซุน ยัดเซ็น
(๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๙ - ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘)
ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน
 
 
คณะกบฎ ร.ศ.๑๓๐

         ถึงแม้ว่าท่านปรีดีจะเกิดในครอบครัวชาวนา แต่บิดาของท่านก็เป็นผู้ใฝ่รู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา จึงสนับสนุนให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยาท่านปรีดี ได้เคยกล่าวถึงนายเสียง พนมยงค์ ว่า "เป็นผู้สนใจในกสิกรรม และที่สนใจที่สุดคือ การทำนา ดูเหมือนว่าพบกันกับข้าพเจ้าครั้งไร ที่จะไม่พูดกันถึงเรื่องทำนาเป็นไม่มี แต่ถึงว่าจะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียง พนมยงค์ มิได้ละเลยที่จะสงเคราะห์ และให้การศึกษาแก่บุตรเลย พยายามส่งบุตรเข้าศึกษาเล่าเรียน"..
 
              
เจ้าพระยายมราช (ปั้ม สุขุม)        และ        ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์


การศึกษา
        ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี ต่อมาก็ได้ศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีประชาชน (เปี่ยม ขะชาติ) สอบไล่ได้ประถมชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ โรงเรียนวัดรวก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นเตรียมมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เรียนได้ประมาณ ๖ เดือน ก็ลากลับไปช่วยบิดาทำนาที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
   
วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา

 
 
อาคารพระพุทธเจ้าหลวง โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร (ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน)

 
  
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

                 

โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ หรือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  และ (ตัวอย่างภาพ) คุณครูประจำชั้น คุณครูระเบียบ พลรัฐ พร้อมนักเรียนสวนกุหลาบ รุ่น ๙๖ (เข้า พ.ศ.๒๕๑๖ ออก พ.ศ.๒๕๒๐)
       
        ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านมีอายุได้ ๑๗ ปีก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา กับอาจารย์เลเดแกร์ (E. Ladeker) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศกระทรวงยุติธรรม ต่อมาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะที่มีอายุ ๑๙ ปี แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

 
 
โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
(ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ปัจจุบันเป็นที่จอดรถ สามารถเดินลัดเข้าตรอกข้าวสารได้ และเดิมก่อนหน้านี้เป็นที่ตั้งของกรมสรรพากร)

       ต่อมาท่านได้รับการคัดเลือกจากกระทรวง ยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ..๒๔๖๓ โดยเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Universite' de Caen) และศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลิเอร์" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซองซิเอ" กฎหมาย (Licencie' en Droit) ตามลำดับ
 
               

มหาวิทยาลัยกอง (Universite' de Caen) มีรูปปั้น "นกฟินิกซ์" หน้าประตูเข้ามหาวิทยาลัย   และภาพ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส


      เมื่อ 28 ธันวาคม 2523 ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารเอเชียวีค ท่อนหนึ่งที่ถูกตัดมาอ้างอิง และถูกนำเสนอบ่อยครั้ง มีเนื้อความดังนี้๑๐ 

      "
ในปี ค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ข้าพเจ้าจะได้รับปริญญาและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้า เป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงมากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ...

 

      ในปี พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๖๙ สองปีซ้อน ท่านได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม
 

        ฯพณฯ .ดร.ปรีดี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี ..๒๔๖๙ ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีมาก (Tre's Bien) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกแห่งรัฐ (Doctorat d'Etat) เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (ดอกเตอร์ อังดรัวท์ - Docteur en Droit)  ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) นอกจากนี้ ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplo^me d'Etudes Supe'rieures d'Economie Politique) อีกด้วย

 
                       
ตรามหาวิทยาลัยปารีส และ ตึกวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) ของมหาวิทยาลัยปารีส ในฝรั่งเศส
 
การสมรสและครอบครัว
        ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้สมรสกับท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ (นามสกุลเดิม "ณ ป้อมเพชร์") ท่านผู้หญิงพูนศุข เป็นธิดามหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๑
 
                  
        ท่านทั้งสอง มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด ๖ คน คือ

  
  • นางสาวลลิตา พนมยงค์
  • นายปาล พนมยงค์ (สมรสกับ นางเลิศศรี พนมยงค์ (จตุรพฤกษ์))
  • นางสาวสุดา พนมยงค์
  • นายศุขปรีดา พนมยงค์ (สมรสกับ นางจีรวรรณ พนมยงค์ (วรดิลก))
  • นางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล (สมรสกับ นายชาญ บุญทัศนกุล)
  • นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (สมรสกับ นายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์)

  
"ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น"

หน้าที่การงานก่อนเข้าสู่การเมือง
        เมื่อ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี กลับถึงกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๗๑ ท่านได้รับยศเป็นรองอำมาตย์เอกและอำมาตย์ตรีตามลำดับ และได้รับพระราชทานเป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม" ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๒๘ ปี (พ.ศ.๒๔๗๑) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกรมร่างกฎหมาย

        ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้นั้น ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี ได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า "ประชุมกฎหมายไทย" และได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ เป็นโรงพิมพ์ที่ตั้งอยู่ที่ถนนสีลม ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของท่านเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้กับท่านเป็นอย่างมาก
 
  
ปกหนังสือ "ประชุมกฎหมายไทย" พ.ศ.๒๔๗๓

              
เครื่องพิมพ์บางส่วนที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับการโอนมาจากโรงพิมพ์นิติสาสน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓

         นอกจากมีงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรก ท่านได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ลูกศิษย์ลูกหาของท่านในช่วงนี้ประกอบด้วย ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์, ศ.จิตติ ติงศภัทิย์, ศ.ดิเรก ชัยนาม, ดร.เสริม วินิจฉัยกุล, ฯพณฯ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์, ฯพณฯ ไพโรจน์ ชัยนาม, จินดา ชัยรัตน์, โชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และศิริ สันตะบุตร ใคร่ขอแสดงภาพและข้อมูลศิษย์ของ ท่าน ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ บางท่านสั้น ๆ ดังนี้
 
 
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
อดีตนายกรัฐมนตรี, ประธานองคมนตรี, ประธานศาลฎีกา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(๕ เมษายน ๒๔๕๐ - ๖ มกราคม ๒๕๔๕)

 
 
ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์
อดีตประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา
(๑๖ มีนาคม ๒๔๕๑ - ๓ มีนาคม ๒๕๓๘)
 
 
ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
(๑๘ มกราคม ๒๔๔๗ - ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๐)


 
ดร.เสริม วินิจฉัยกุล
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(๒ มิถุนายน ๒๔๕๐ - ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘)


 
ฯพณฯ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
อดีตรองนายกรัฐมนตรี
(๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ - ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕)

 
         ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif) กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ท่านเป็นอย่างมาก เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะเดียวกันก็ได้อาศัยการสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ปลุกสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้น ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเดิมให้เป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เปิดอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและสนับสนุนคณะราษฎรอีกหลายท่านในเวลาต่อมา

ที่มาและคำอธิบาย:
๑.   ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์, วันที่สืบค้น ๑๓ เมษายน ๒๕๕๖.
๒.   จาก. เค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พิมพ์ครั้งที่ ๒,ตุลาคม ๒๕๕๒, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพฯ.
๓.   ท่านปรีดีมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ๖ คน คือ ๑) นางธราทรพิทักษ์ (เก็บ กนิษฐะเสน), ๒) นายปรีดี พนมยงค์, ๓) นายหลุย พนมยงค์, ๔) นางนิติทัณฑ์ประภาศ (ชื่น สุจริต), ๕) นางเนื่อง ลิมปินันท์ และ ๖) นายถนอม พนมยงค์  พร้อมนี้ท่านมีน้องต่างมารดาอีก ๒ คน คือ ๑) หลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์) และ ๒) นางน้อม ตามสกุล., ที่มา "https://www.facebook.com/notes/ศาสตราจารย์-ดร-ปรีดี-พนมยงค์/", วันที่สืบค้น ๐๘ กันยายน ๒๕๕๖.
๔.   จาก. 123ne.blogspot.com, วันที่สืบค้น ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖.
๕.   จาก. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, พ.ศ.๒๔๙๓, หน้า ๕.
๖.    จาก. www.pridiinstitute.com, วันที่สืบค้น ๑๑ กันยายน ๒๕๕๖.
๗.    คุณครูระเบียบ พลรัฐ เป็นครูประจำชั้นที่เคารพรักยิ่งของกระผมเอง (ส.ก.๒๑๖๓๘) ท่านได้ถึงแก่กรรมหลายปีแล้ว ในนามของ ส.ก.รุ่น ๙๘ (โดยเฉพาะ ม.ศ.๑/๑๔ ปีเข้า พ.ศ.๒๕๑๘) ขอฝากความระลึกถึง และด้วยคุณความดีของคุณครูท่าน จงอำนวยและดลบันดาลให้คุณครูไปเกิดในภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป และหากเป็นไปได้ ขอให้ท่านกลับมาเป็นคุณครูของพวกเราในทุก ๆ ภพ ทุก ๆ ชาติด้วยเทอญ.
๘.    จาก. ปกหนังสือ "ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น ๙๔ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์" สำนักพิมพ์มูลนิธิปรีดี พนมยงค์,
๙.    จาก. www.tu.ac.th/org/tuprint/about.html, "โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดยการรับมอบกิจการโรงพิมพ์นิติสาสน์จาก ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.๒๔๘๓...", วันที่สืบค้น ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖.
๑๐.   จาก. www.bloggang.com, (ต้นฉบับจริง มาจากผู้ใช้นามว่า คุณเหยี่ยวเหินฟ้า ใน http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=ecfa7bbefefd776d1f06182817bd6372&showtopic=25885&st=0  แต่บล็อกดังกล่าวได้ถูกปิดหรือหมดอายุไป), วันที่สืบค้น ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐.
๑๑.   จาก. th.wikipedia.org/wiki/พระยาสุริยานุวัตร_(เกิด_บุนนาค), วันที่สืบค้น 21 มกราคม พ.ศ.2560.
๑๒.   ปรับปรุงจาก. www.bloggang.com, (ต้นฉบับจริง มาจากผู้ใช้นามว่า คุณเหยี่ยวเหินฟ้า ใน http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=ecfa7bbefefd776d1f06182817bd6372&showtopic=25885&st=0  แต่บล็อกดังกล่าวได้ถูกปิดหรือหมดอายุไป), วันที่สืบค้น 21 มกราคม พ.ศ.2560.  
info@huexonline.com