MENU
TH EN
หลวงพรหมเสนา หรือ เจ้าพระยานครสวรรค์
 
First revision: May 30, 2014.
Last change: Oct. 10, 2014
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       หลวงพรหมเสนา เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ปีมะโรง พุทธศักราช 2279 ณ บ้านเชียงของ (ปัจจุบันคือบ้านเชียงทอง) จ.ตาก บิดาท่านสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงของ หลวงพระบาง สปป.ลาว. มารดาท่านเป็นญาติใกล้ชิดกับพระเชียงเงิน (ธงชัย).  ท่านได้ไปเติบโตที่ฝั่งลาว และได้กลับมาเป็นเจ้าคุ้มเชียงทอง ท่านจึงมีอีกนามหนึ่งว่า "เจ้าฟ้าเชียงทอง" และคุ้มของท่านอยู่บานเนินเขาเตี้ย ๆ ริมฝั่งแม่น้ำปิง (ปัจจุบันคือวัดเชียงทอง จ.ตาก) จากนั้นท่านได้ติดตามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาเป็นทหารเอกคู่พระทัย อาทิ พระเชียงเงิน (ธงชัย) หลวงพิชัยอาสา (จ้อย) หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี1.

        เดิมท่านเป็นเพียงทหารชั้นประทวน มียศเป็นจ่าเมือง รับใช้ใกล้ชิดพระยาตาก มาแต่ครั้งอยู่เมืองตาก เป็นคนที่ชอบทางด้านไสยศาสตร์ วิชาอาคม เก่งในเรื่องการใช้ธนู เป็นหมอสักยันต์ให้แก่บรรดาทหาร2.

        หลวงพรหมเสนา รับราชการเป็นสามารถและได้ใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เช่นเดียวกับนายทหารทั้งหลายที่ร่วมรบกันมาตั้งแต่แหกค่าย หลวงพรหมเสนาเป็นนักรบที่มีความสามารถสูงและไม่ย่อท้อในการศึก จึงได้รับโปรดเกล้าตำแหน่งจนถึงพระยาอนุรักษ์ภูธร เมื่อก่อนศึกเจ้าพระฝาง.

        ต่อมาท่านได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดตูม จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านก็ได้ศึกษาความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ จากวัดแห่งนี้ ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ทรงพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระพรหมเสนา"

        เมื่อเสร็จศึกเจ้าพระฝาง บ้านเมืองเริ่มเป็นปึกแผ่น สมเด็จพระเจ้าตากสินสินมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับลงมายังเมืองพิษณุโลก ทรงได้จัดพิธีสมโภชพระมหาธาตุและพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ร่วมสามวัน แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งมีความชอบในการสงคราม ให้อยู่ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง.

        บรรดาหัวเมืองใหญ่นั้น โปรดให้พระยายมราช เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ครองเมืองพิษณุโลก ถือไพร่พลหมื่นห้าพัน ให้พระยาพิชัยราชา เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ถือไพร่พลเจ็ดพัน ให้พระยาสีหราชเดโช เป็นพระยาพิชัย ถือไพร่พลเก้าพัน ให้พระยาท้ายน้ำเป็นพระยาสุโขทัย ถือไพร่พลห้าพัน ให้พระยาสุรบดินทร์เป็นพระยากำแพงเพ็ชร ให้พระยาอนุรักษ์ภูธร เป็นพระยานครสวรรค์ ทั้งสองเมืองนั้นถือไพร่พล เมืองละสามพันเศษ.

       เมื่อแต่งตั้งข้าหลวงเดิมไว้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว โปรดมีรับสั่งให้บรรดาผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นลงมาเฝ้าที่เมืองหลวง เพื่อสั่งสอนอบรมการปกครองและการยุทธอยู่เสมอ พระยานครสวรรค์เป็นขุนนางที่ลงมาเฝ้ามิได้ขาด จึงเป็นที่โปรดปรานมาก (พระยาพิชัยไม่ลงมาเฝ้า 1 ครั้ง - โปรดให้เฆี่ยนมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง) ประกอบกับพระยานครสวรรค์เป็นผู้มีความเด็ดขาดในการรบมาก ในคราวศึกบางแก้ว ก่อนที่พระยานครสวรรค์จะไปช่วยหนุนพระยาธิเบศบดี ในวันนั้นเจ้าพระยานครสวรรค์ยกไปถึงโคกกระต่าย ทรงพระกรุณาให้หามาเฝ้า แล้วพระราชทานพระราชอาญาสิทธิและพระแสงดาบข้างหนึ่งให้เจ้าพระยานครสวรรค์ ๆ สามารถถือพระราชอาญาสิทธิ หากผู้ใดย่อหย่อนให้ลงพระราชอาชญาตามกำหนดพิชัยสงคราม. แล้วพระราชทานเกนหัดถือปืน 40 คน ลูกหาบ 40 คน ม้าต้นม้าหนึ่ง แก่เจ้าพระยานครสวรรค์แล้วพระราชทานทหารกองนอก ถือปืน 150 ลูกหาบ 150 คน ให้หลวงอภัยสรเพลิงไปเข้ากองเจ้าพระยานครสวรรค์ แล้วถอดพระธำมรงค์เพ็ชร์องค์หนึ่งพระราชทานเจ้าพระยานครสวรรค์ ทรงพระราชทานพรว่า ชะยะตุภวัง สัพพะศัตรู วินาสสันติ3. ในทันใดนั้นเป็นอัศจรรย์ มหาเมฆยัง ฝอยฝนให้ตกลงมาหน่อยหนึ่ง.

        ท่านเป็นผู้รอบรู้หลากหลายทั้งการเจรจาติดต่อการฑูต วางแผนต่าง ๆ ทั้งหลักศาสนพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา และไสยเวทย์ รวมทั้งโหราศาสตร์พระเวทย์ต่าง ๆ แต่ท่านมีอุปนิสัยดุ เจ้าระเบียบแบบแผน ไม่ยอมใคร จะยอมให้แต่เจ้านายเพียงองค์เดียว.

       ต่อมาเมื่อสิ้นราชวงศ์ธนบุรีแล้ว ท่านได้พากรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย) หนีไปทางภาคอีสาน เพื่อหวังจะพาพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้รอดพ้นจากราชภัย ไปขอพักอาศัยกับญาติของท่านทางฝั่งลาว. แต่ทว่าเจ้าฟ้าจุ้ยทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่บ้านลานสะกา (ปัจจุบันบ้านหนองไฮน้อย ด้านหลังเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร) ท่านจึงได้ไปตั้งถิ่นฐานบ้านพักที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณบ้านจอมมณี จ.หนองคาย.

       ณ สถานที่นี้ ท่านได้เป็นที่พึ่งให้กับบุคคลทั้งหลายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แนะนำสั่งสอนการดำเนินชีวิต และรับขึ้นครูกลุ่มลูกศิษย์ด้านพระเวทย์อาคม สุดท้ายพระพรหมเสนาได้ปลีกวิเวก และได้เดินทางไปพบพระเชียงเงินที่เขาธงชัย จ.เพชรบุรี แต่พระเชียงเงินได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว โดยการนั่งสมาธิจนลูกนัยน์ตากลับ แล้วจึงสิ้นลม ท้ายที่สุดพระพรหมเสนาได้กลับมาถึงแก่กรรม ณ จ.หนองคาย อย่างสงบ2.

      ขอสดุดีวีรกรรมหลวงพรหมเสนา ที่ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในการปกปักษ์รักษาสยามประเทศไว้ ณ ที่นี้.


ที่มาและคำอธิบาย:
1.   ปรับปรุงจาก. เว็บไซต์ kingthonburi.myreadyweb.com/webborad/topic16547.html, วันที่สืบค้น 30 พฤษภาคม 2557.
2.   ปรับปรุงจาก. เว็บไซต์ druthit.com/detailhtip.asp?tip=14, วันที่สืบค้น 31 พฤษภาคม 2557.
3.   ที่มา. หนังสือพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ.



 
humanexcellence.thailand@gmail.com