MENU
TH EN

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - บทที่ 4: ขยายพระราชอาณาเขต - ศาสนา

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
บทที่ 4: การขยายพระราชอาณาเขต - ด้านศาสนา

 
First revision: July 20, 2014
Last change: Jan.10, 2017

ทิศเหนือ ตลอด อาณาจักรล้านนา
ทิศใต้ ตลอดกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ตลอดดินแดนลาว เขมร จรดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ตลอดดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี


การขยายพระราชอาณาเขต1
        นอกจากขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังได้ขยายอำนาจเข้าไปในลาว ได้หัวเมืองลาวเข้ามาอยู่ในอำนาจ อาจกล่าวได้ว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นสมัยแห่งการกู้เอกราชของชาติ รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขตไทย และขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระองค์ ไทยจึงยิ่งใหญ่เท่าเทียมเมื่อครั้งรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรือง.

 

        พ.ศ.2319 ในขณะที่ไทยติดศึกพม่าที่เมืองพิษณุโลกนั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางนครราชสีมา คือ เจ้าเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา วิวาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองไปขึ้นต่อเจ้าโอ เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งตั้งตนเป็นอิสระอยู่ พระยานครราชสีมามีใบบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี.

        ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีนำทัพไปปราบ เมื่อปราบได้ให้ประหารเจ้าเมืองนางรองเสีย เจ้าพระยาจักรีปราบได้สำเร็จ พอปราบเสร็จสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบว่าเจ้าโอกับเจ้าอินอุปราช เมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 นาย จะเข้ามาตีเมืองนครราชสีมา. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพไปสมทบอีกทัพหนึ่ง และให้ปราบเมืองจำปาศักดิ์เสีย ทัพไทยตีจำปาศักดิ์แตกและจับตัวเจ้าโอกับเจ้าอินได้ที่เมืองสีทันดร และยังตีได้เมืองอัตตะบือด้วย พร้อมกันนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ออกเกลี้ยกล่อมเมืองเขมรป่าดง ระหว่างจำปาศักดิ์กับนครราชสีมาเป็นพวกได้อีกสามเมือง คือ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ซึ่งทั้งสามเมือง ยอมเข้าเป็นเขตเมืองไทย เสร็จศึกครั้งนี้เจ้าพระยาจักรีได้เลื่อนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ"6 มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม.

        ต่อมาในปี พ.ศ.2321 พระวอเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ แต่สู้เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ ก็พาสมัครพรรคพวกหนีมาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) และขอขึ้นต่อไทย ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ยกทัพมาตีตำบลดอนมดแดงและจับฆ่าพระวอเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขัดเคืองพระทัยมาก. จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ กองทัพไทยได้แสดงความสามารถตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และหัวเมืองลาวทั้งหลายได้พากันมาขึ้นต่อไทย และในครั้งนี้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย.

 
              
พระแก้วมรกต ทรงเครื่องทั้งสามฤดู (ปัจจุบันประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร) และ
พระบาง (ปัจจุบันประดิษฐาน ณ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว)

 
พระบาง (ที่มา: Facebook จากกลุ่มประวัติศาสตร์สโมสร วันที่สืบค้น 10 มกราคม 2560)

 
        การศึกสงครามครั้งนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราช และมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นอาณาเขตของประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรีมีดังนี้
  • ทิศเหนือ ตลอดอาณาจักรล้านนา
  • ทิศใต้ ได้ดินแดนกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
  • ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร จรดอาณาเขตญวน
  • ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี.

ด้านการปกครอง
        หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนัน ให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาล แทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า2..

"...บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วย กลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น..."

         เนื่องจากตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็นช่วงเวลาที่มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ.
  • ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณาเรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด.
  • ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษแต่อย่างใด.
         อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ ศาลทหาร เป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฎว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน.
  • การออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ.2316 เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมร เพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น เจ้าพระยาสุรีสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก.

ด้านเศรษฐกิจ
        ผลกระทบโดยตรงของสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง คือ การเกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย. นอกจากนี้เศรษฐกิจยังเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล้นสะดม และมืองท่าที่สำคัญตกเป็นของพม่าอย่างเด็ดขาดถึงสองเมือง ได้แก่ มะริดและตะนาวศรี และยังเสียปืนใหญ่และปืนคาบศิลารวมหลายหมื่นกระบอกอีกด้วย.

        เพื่อที่จะหาทรัพย์มาใช้จ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกประเพณีงดเก็บส่วยอากร 3 ปี เมื่อมีพระมหากษัตริย์พระองต์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์ อันเป็นประเพณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ทรงแจกจ่ายข้าวของเงินทองอันได้มาสี่ครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งตีค่ายชาวบ้านกง ครั้งตีเมืองจันทบุรี ครั้งปล้นเรือสำเภาพ่อค้าจีนที่ตราด และครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถช่วยราษฎรได้หลายหมื่นคน. บรรดาข้าราชการทหารพลเรือนได้รับแจกข้าวสารหนึ่งถังยี่สิบวัน และโปรดให้ซื้อข้าวสารบรรทุกมาขายจากพุทไธมาศ3 ถังละ 3-5 บาท เมื่อราษฎรทั้งหลายทราบก็ได้อพยพตามหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก. ต่อมา ทรงให้ข้าราชการทั้งหลายทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล ราคาข้าวเริ่มถูกลงในปี พ.ศ.2311 ก่อนจะกลับมีราคาสูงผิดปกติอีกเมื่อปลายปี พ.ศ.2312 เนื่องจากมีหนูระบาด เมื่อหนูหายไปแล้ว ราคาก็กลับลดลงอีก.

       พระราชทรัพย์ที่ทรงนำมาจับจ่ายในการซื้อข้าวสารเสื้อผ้า พระราชทานแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักอยู่ในเวลานั้น สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงสันนิษฐานว่า "ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิ์สามต้น".5
        
ปากน้ำเมืองฮาเตียน หรือบันทายมาศ ในปี พ.ศ.25124

        พระองค์ทรงวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในกรุงธนบุรี โดยในปี พ.ศ.2314 ทรงให้ปรับพื้นที่สวนป่านอกกำแพงพระนครให้เสมอกันไว้ทำนา ครั้นบ้านเมืองสงบก็ทรงให้แม่ทัพคุมกองทัพมาทำนา ซึ่งทำให้กรุงธนบุรีกลายสภาพเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย.

        พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปหลายสาย ทางตะวันออกถึงจีน ทางตะวันตกถึงอินเดีย ผลกำไรจากการค้าช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมีรายได้จากภาษีเข้าออกของเรือต่างชาติ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขาย ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ ทั้งมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้คนไทยเชี่ยวชาญการค้าขาย ป้องกันมิให้การค้าตกอยู่ในมือชนต่างชาติ และรักษาประโยชน์ของสินค้าพื้นเมืองมิให้ถูกทอดทิ้ง พระองค์ทรงพยายามผู้ไมตรีกับจีน เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติ และประโยชน์ในด้านการค้า.

        ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับจีน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระตุ้นให้ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองแต้จิ๋ว ซึ่งบางส่วนมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา.


ด้านการคมนาคม
        ในยุคนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกความคิดแนวเดิม ๆ ที่ว่าหากถนนหนทาง การคมนาคมดีมากแล้วจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรูและพวกก่อการจลาจล แต่กลับทรงเห็นเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้นในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่า ๆ ในด้านฝั่งธนบุรี ส่วนการขุดชำระคลอง มักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขามจากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น

ด้านการศึกษา
        สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่ โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลี สันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้น ๆ ให้แก่ลูกหลานของตนตามสายตระกูล เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กหญิง จะถือตามประเพณีโบราณคือ เรียนเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน การฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้.

        สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรกเกล้าฯ ให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่าง ๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวงหรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน.


ด้านศาสนา
        ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา แต่พระองค์กลับมิได้ทรงละเลยงานด้านศาสนาจักร ได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา. พระราชกรณียกิจด้านฟื้นฟูพระพุทธศาสนามีดังนี้ เช่น การบทสวดมนต์พุทธชัยมงคลคาถา และสร้างพระยอดธง มีบันทึกโบราณบอกไว้ดังนี้ "เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเล็งเห็นว่า สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยการเจริฐพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"

         สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง เมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาพระราชาคณะจากในกรุงฯ ไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น. นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากเสียกรุงฯ เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2312 ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช บรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จฯ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาด้วย ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา.

         สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ในปี พ.ศ.2316 โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ด้วยความกตัญญูกตเวที.

        สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร6, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร7, วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร8, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร9, วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร10, วัดราชคฤห์วรวิหาร11 วัดเสาธงหิน12 และวัดเจ้าอาม15 เป็นต้น.
 
6.  วัดอินทารามวรวิหาร เดิมคือ "วัดบางยี่เรือนอก" เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดแห่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด และเสด็จฯ มาประกอบพระราชกุศล รวมทั้งทรงปฏิบัติกรรมฐานที่วัดนี้เป็นประจำ ปัจจุบันนี้ยังปรากฎพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัดด้วย พระอุโบสถได้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินวร (เป็นพระที่คู่กับพระชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร) เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถมีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินในท่าประทับนั่ง มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา.
      
ภาพซ้าย: พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดอินทารามวรวิหาร ด้านหน้ามีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพขวา: พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในวัดอินทารามฯ
6

      ด้านหลังของวัดอินทารามฯ ติดกับคลองบางกอกใหญ่ ในบริเวณนี้มีพระอุโบสถหลังเก่า และวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งด้านหน้าพระวิหารประดิษฐานพระบรมรูปของพระองค์อยู่ เป็นพระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระแสงดาบชูขึ้นฟ้า ลักษณะเดียวกับพระบรมรูปตรงวงเวียนสมเด็จพระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่).

      ภายในพระวิหารสมเด็จฯ มีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ และมีแท่นพระบรรทมไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระราชอาสน์สำหรับประทับแรมทรงศีลและทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้าตากสิน นอกจากนั้นก็ยังมีพระบรมรูปจำลองขณะที่พระองค์กำลังทรงกรรมฐานอยู่ด้วย.

      ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าที่อยู่ข้างพระวิหารสมเด็จฯ ภายในมีพระประธาน ซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้นบรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จของพระเจ้าตากสินไว้ด้วย ส่วนเจดีย์สีทองสององค์ด้านหน้านั้น เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์และพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา (สอน) หรือ พระอัครมเหสีหอกลาง.

7.  วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง): ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรง ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้สังคยานาพระไตรปิฏกที่นี่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ประชาชนจึงเรียกว่า วัดระฆังฯ ตั้งแต่นั้นมา ด้วยตัวระฆังมีเสียงดี รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.

(2)    (1)  (5)
 
  (3)    (4)  
ภายในวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
ภาพแรกและภาพที่สอง: ตำหนักจันทน์ หอพระไตรปิฏก โบราณสถานที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์โบราณสถานดีเด่น.
ภาพที่สาม: "พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." รัชกาลที่ 5 ตรัสถึงพระประธานวัดระฆังฯ.
ภาพที่สี่: หอระฆังที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก 5 ลูก.
ภาพที่ห้า: วิหารสมเด็จ ซึ่งมีรูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระราชาคณะอีกสองรูปประดิษฐานอยู่.
7

     สิ่งสำคัญในวัดได้แก่ ตำหนักทอง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าธนบุรีและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระอุโบสถกับหอพระไตรปิฎกหรือตำหนักจันทน์ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับทั้งสองหลัง.

     ร.4 ตั้งชื่อวัดระฆังฯ ว่า วัดราชคัณฑิยาราม แต่ ไม่ค่อยมีใครนิยมเรียกกัน. ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ภาพผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และภาพเดียรถีย์ท้าแข่งรัศมีกับพระพุทธองค์ ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ ผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก ผู้เขียนคือ เสวกโท พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งวาดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465.

     หอไตรฯ นี้เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง แต่เดิมเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ เมื่อต้องเสด็จไปตีเมืองโคราช จึงได้รื้อตำหนักนั้นมาถวายวัดระฆัง หรือวัดบางหว้าใหญ่ในขณะนั้น. ซุ้มประตูตรงนอกชานได้แกะสลักเป็นลายดอกไม้ ส่วนบานประตูของหลอกลางแกะเป็นลวดลายนกวายุภักษ์และลายกนกเครือเถาสวยงาม มาก. ข้างในมีพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ในหอกลาง ส่วนปีกตำหนักด้านซ้ายและขวานั้น มีตู้พระไตรปิฎกเขียนลายรดน้ำปิดทองฝีมืองดงามอยู่ด้านละใบ ตู้นี้เป็นตู้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าฯ ทรงลงหัตถ์แกะลายร่วมกับครูช่างอยุธยาด้วยพระองค์เอง.

  8.  วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดราษฎร์ เรียกว่า "วัดเจ๊สัวหง" "แจ๊สัวหง" หรือ "วัดขรัวหง" เพราะตั้งตามชื่อของผู้สร้าง อยู่ใกล้กับวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และกองทัพเรือ (พระราชวังธนบุรีเดิม) เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด ในปี พ.ศ.2319 พระราชทานนามว่า "วัดหงษ์อาวาสวิหาร".
 
         
15ภายในวัดวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร : ภาพซ้าย พระพุทธรูปทองคำ สมัยสุโขทัย14
ภาพขวา พระประธาน หลวงพ่อแสน
 
ภาพอุโบสถ วัดหงส์รัตนาราม
 
     วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี พระบรมวงศานุวงศ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปทองคำ (สมัยสุโขทัย) เก่าแก่พอ ๆ กับพระประธานที่วัดไตรมิตรฯ มีพระแสน (เชียงแตง) หรือหลวงพ่อแสน เป็นพระประธานฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสด็จมานั่งวิปัสนาที่วัดหงส์ฯ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์นี้ด้วย.

     กรมพระราชวังหน้า สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) ทรงผนวชและประทับที่วัดนี้ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ต่อมาประชาชนจึงได้สร้างศาลของพระองค์ขึ้นเป็นที่เคารพสักการะ.

     ภายในวัดหงส์ฯ มีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เล่ากันว่า เมื่อครั้งมีการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ด้วยท่อนจันทร์ (แต่หลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือกล่าวว่า พระองค์ท่านถูกสำเร็จโทษโดยการตัดพระเศียร ขณะยังทรงผนวชเป็นบรรพชิตอยู่) ปรากฎว่าพระโลหิตของพระองค์ตกลง ณ ที่แห่งนี้ จึงได้มีการสร้างศาลขึ้นมา.

     สระน้ำมนต์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะเสด็จมาสรงน้ำเมื่อมีพิธีสำคัญหรือเมื่อจะออกรบ เพื่อเอาฤกษ์ กลางสระน้ำจะมีหินอาคมอยู่ ต่อมาผู้คนมักจะมาอาบ กิน คารวะอธิษฐานเพื่อขออำนวยผลสัมฤทธิ์ตามที่อธิษฐานไว้มากขึ้น จวบจนปัจจุบัน.

 9.  วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ "วัดแจ้ง" เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดอรุณ" เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา (มี มาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) เพราะมีแผนที่เมืองธนบุรีซึ่งเรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin) กับนายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) ชาวฝรั่งเศส ทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) เดิมชื่อวัด "มะกอก" ต่อมามีการสร้างวัดเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า "วัดมะกอกใน" ปัจจุบันคือวัดนวลนรดิศ แล้วเรียกว่าวัดมะกอกที่อยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า "วัดมะกอกนอก".
 
      
ภายในวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพด้านซ้าย: พระพุทธปรางค์วัดอรุณฯ (สร้างในสมัย ร.2 และมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.3)
ภาพด้านขวา: พระประธานในพระอุโบสถ "พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก" หล่อในสมัย ร.2
 
            
ภาพด้านซ้าย: รูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเงื้อดาบ
ด้านขวา: ยักษ์วัดแจ้ง
 
พระพุทธรูปตามแนวระเบียงวิหาร รอบพระอุโบสถ
 
     ส่วนสาเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ..2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปถึงเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว.
 
     เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิไชยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้ง เป็นวัดภายในพระราชวัง จีงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา ถึงกันว่าวัดแจ้งนี้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบางที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ในปี พ..2322 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ..2327.
 
    กิจกรรมที่วัดอรุณฯ มีประเพณีทอดผ้าพระกฐิน พระราชทาน 9 วันหลังออกพรรษา  

10. วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือ "วัดท้ายตลาด" เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฎนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่.

     ในสมัยกรุงธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ส่วนพระวิหาร สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ปัจจุบันตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกให้ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ในรัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามว่า "วัดพุทไธสวรรย์" ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดโมลีโลกยสุธาราม" ภายหลังมาเรียกกันว่า "วัดโมลีโลกยาราม".

 
พระวิหาร (ฉางเกลือ) ภายในวัดโมลีโลกยาราม

11. วัดราชคฤห์วรวิหาร เดิมชื่อ "วัดวังน้ำวน" เพราะวัดตั้งอยู่ติดคลองน้ำสามสาย คือ หนึ่ง. คลองบางกอกใหญ่ (อยู่ด้านทิศเหนือของวัด), สอง. คลองบางน้ำชน (อยู่ทิศตะวันตกของวัด), สาม. คลองท่าพระ (อยู่ด้านทิศพายัพ-ตะวันตกเฉียงเหนือ-ของวัด) มาจดชนติดกันเป็นเหมือนสี่แยก เวลาน้ำทะเลหนุนขึ้น น้ำเค็มไหลทะลักเข้ามาตามคลองบางกอกใหญ่บ้าง ไหลทะลักเข้ามาทางคลองบางน้ำชนบ้าง ส่วนคลองบางกอกใหญ่ตามปกติน้ำจืดจะไหลมาตามคลองทางเขตภาษีเจริญ ก็ไหลมาชนกับน้ำเค็ม ตรงกันข้ามระหว่างคลองท่าพระน้ำจืดก็ไหลมาชนกับคลองบางกอกใหญ่ จึงทำให้น้ำที่ไหลมานั้นชนกัน ทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียนเป็นวังวนขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่แถบนั้นว่าวังน้ำวน เมื่อชาวบ้านได้สร้างวัดขึ้นจึงเรียกวัดนี้ว่า "วัดวังน้ำวน" เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย.

     โดยมีชาวมอญกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากพม่าโดยทางเรือจากกาญจนบุรี เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่แถบริมคลองบางกอกใหญ่ และสถานที่แถบนี้เป็นชัยภูมิของทหารสยามในการซุ่มยิงเรือข้าศึก จึงเรียกสถานที่นี้ว่า ตำบลบังยิงเรือ ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า บางยี่เรือ พอศึกสงบแล้ว ชาวมอญโดยมีนายกองชาติรามัญ (มอญ) เป็นประธานช่วยกับชาวมอญกันสร้างวัดนี้ขึ้น. เพื่อจะได้เป็นวัดในการทำบุญทำกุศลและให้ลูกหลานเข้าเรียนหนังสือ เนื่องจากบริเวณนั้นมีวัดอยู่ใกล้ ๆ กันสามวัด ชาวบ้านจึงมีการตั้งชื่อวัดตามทางน้ำเหนือที่ไหลลงมา โดยเรียก วัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือกลาง (วัดจันทาราม) และวัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม). แต่ชาวบ้านเรียกวัดบางยี่เรือเหนือว่า "วัดมอญ" จนติดปาก สันนิษฐานว่ามีชาวมอญมาช่วยสร้างวัดและมีพระมอญจำพรรษาอยู่วัดนี้มาก.

 
                     
ภายในวัดราชคฤห์วรวิหาร ภาพด้านซ้าย: พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ภาพด้านขวา:  ภูเขาจำลอง (ภูเขามอ)
 
      ต่อมาเมื่อเจ้าตากได้ตั้งค่ายรวมพลทหาร ณ สถานที่โพธิ์สามต้นเพื่อกู้ชาติ และเมื่อพม่ารามัญทราบว่าค่ายทหารเจ้าตากอยู่ที่โพธิ์สามต้น จึงได้ยกทัพเรือมาเพื่อรบตีทหารให้แตก เจ้าตากทราบหลักตำราพิชัยสงคราม จึงรับสั่งให้ทหารหาญมีพระยาพิชัย (หลวงพิชัยอาสา) พระยาเชียงเงิน หมื่นราชเสน่หา เป็นต้น แบ่งทหารออกเป็นกอง ๆ เพื่อดักซุ่มโจมตีทหารพม่ารามัญที่มาตามคลองน้ำ โดยให้ประจำตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ริมคลองน้ำทุก ๆ สาย.

     พระยาพิชัยนำทหารหาญมาดักซุ่มโจมตีแถว ๆ เนินดินวัดวังน้ำวน โดยยิงปืนใส่ทหารพม่ารามัญที่มาจอดเรือที่วังน้ำวน ทหารพม่ารามัญบ้างก็ตาย บ้างก็หลบหนีไปได้ เมื่อเจ้าตากกู้ชาติและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มอบหมายให้พระยาพิชัย ทหารสนิทราชองครักษ์ เป็นนายกองควบคุมดูแลการปฏิสังขรณ์วัดวังน้ำวนนี้ขึ้นใหม่. ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดราชคฤห์วรวิหาร" ก็ได้เป็นวัดที่เก็บเรือรบสำหรับยุทธนาวีของพระเจ้าตากไว้อีกด้วย.

     ได้มีการสร้างพระอุโบสถ สร้างพระปรางค์เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ อยู่ทั้งสี่ด้านของพระอุโบสถ มีการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นำมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย (ซึ่งเป็นที่มาในการเปลี่ยนชื่อจาก "วัดมอญ" หรือ "วัดวังน้ำวน" มาเป็น "วัดราชคฤห์วรวิหาร" ในปัจจุบัน) สร้างพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง และสร้างภูเขาจำลอง (มอ) พร้อมทั้งสถุปนำเอาพระบรมธาตึมาบรรจุไว้.

     นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์บรรจุอัฐิของพระยาพิชัย หรือ พระยาสีหราชเดโช ไว้อีกด้วย.

 
 
พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก
 
        ภายหลังจากที่รบชนะเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระบางกลับมายังกรุงธนบุรีด้วย โดยให้เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคถึง 246 ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ต่อมารัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง.
ที่มาและคำอธิบาย:
01.  ปรับปรุงจาก. th.wikipeida.org/wiki/สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, วันที่สืบค้น 20 กรกฎาคม 2557-02 มกราคม 2558.
02.  จาก. กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 หน้าที่ 63-64.
03.  พุทไธมาส/พุทไธมาศ หรือ บันทายมาศ (บันเตยเมียส/Banteay Meas) จีนเรียกเมือง "เหอเซียน" ทางใต้สุดของดินแดนเขมร ซึ่งติดกับเมืองฮาเตียน (Ha Tien) ของญวน
04.  จาก. www.bloggang.com/viewdiary.php?id=slight06&group=3&month=09-2012&date=22. วันที่สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557.
05.  จาก. iseehistory.socita.com, วันที่สืบค้น 26 กรกฎาคม 2557.
06.  ดูข้อมูลข้างต้น วัดอินทารามวรวิหาร, ที่มา: www.myfirstbrain.com, วันที่สืบค้น 3 มกราคม 2558.
07.  ดูข้อมูลข้างต้น วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, ที่มา: www.dhammathai.org, วันที่สืบค้น 4 มกราคม 2558.
08.  ดูข้อมูลข้างต้น วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร, ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร, www.myfirstbrain.com, และ www.wathong.com, วันที่สืบค้น 4-6 มกราคม 2558.
09.  ดูข้อมูลข้างต้น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/วัดอรุณราชวรรามราชวรมหาวิหาร, www.touronthai.com, วันที่สืบค้น 6 มกราคม 2558.
10. ดูข้อมูลข้างต้น วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร, ที่มา: th.wikipedia.org/wiki/วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร, www.tripsthailand.com, และ www.watmoli.org, วันที่สืบค้น 6 มกราคม 2558.
11. ดูข้อมูลข้างต้น วัดราชคฤห์วรวิหาร, ที่มา: www.watrajkrueh.com, วันที่สืบค้น 7 มกราคม 2558.

12. วัดเสาธงหิน, อยู่ที่ตำบลเสาธงหิน อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย. เดิมชื่อว่า "วัดสัก" มีผู้สูงอายุท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า "ในสมัยของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระองค์ได้เสด็จกรีฑาทัพเพื่อที่จะทำการกู้ชาติไทยจากพม่าข้าศึก ได้เสด็จนำทัพผ่านมาทางวัดสัก ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นสักจำนวนมากเป็นที่ร่มรื่นจึงรับสั่งให้หยุดทัพพักพล รบ ณ ที่วัดสักแห่งนี้ เพื่อพักเอาแรงและรวบรวมกำลังพลจากที่ต่าง ๆ เพื่อออกรบ ไม่ว่าจะเป็นทัพของผู้ใด ย่อมมีธงชัยประจำทัพ หรือธงประจำตัวของแม่ทัพคนนั้น ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เช่นเดียวกัน ได้มีรับสั่งให้ปักธงประจำทัพของพระองค์ลงบนกองทราย ณ ตำบลนั้น โดยให้หัวหมู่ทหารนำพลพรรคไปหาเอาหินก้อนใหญ่ ๆ มากองทัพเสาธงและล้อมรอบธงไว้มิให้ธงล้ม เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของทัพและเป็นสัญลักษณ์จุดนัดหมายของทหาร แม่ทัพนายกองและไพร่พลทั้งหลายจึงพากันเรียกขานจุดนัดหมายนี้ว่า "เสาธงหิน" จากปากต่อปากเรียกกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ขณะที่ทรงประทับอยู่ ณ ที่แห่งนี้ได้ทรงสังเกตเห็นว่า "วัดสัก" นั้นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก องค์พระประธานก็ชำรุดจนแทบจะไม่เป็นองค์พระ เมื่อทรงเสร็จสิ้นการรบจึงคิดที่จะบูรณะซ่อมแซมเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงมีรับสั่งให้ทหารเอกคู่พระทัยนามว่า "อำดำดิ่ง" เดินทางไปที่ ตำบลกระจิว (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ซึ่งเป็นภูมิลำเนาภริยาของท่านที่มีนามว่า"อำแดงสุก" ให้รวบรวมกำลังคนและกำลังทรัพย์เท่าที่จะหาได้มาก่อสร้างวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ให้เป็นวัดใหม่ที่สมบูรณ์ พร้อมกับให้สร้างพระประธานและพระสาวก คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ขึ้นใหม่ด้วย เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้ใช้ในกิจพระพุทธศาสนามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้.

     ชาวบ้านที่อยู่แถว "วัดสัก" ที่ร่วมอาสาออกรบไปในครั้ง เมื่อเสร็จงานทัพกลับมาถึงบ้านแล้วก็ได้มาร่วมช่วยสร้างวัดและอุโบสถด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นจุดนัดหมายของกองทัพพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่เรียกกันว่า"จุดหมายเสาธงหิน" รวมถึงชาวบ้านละแวกนั้นก็ได้มีส่วนร่วม สร้างและบูรณะ จึงเรียกกันติดปากว่า"วัดเสาธงหิน" จนกระทั่งมีการจัดระบบปกครองทางการเมืองก็ให้ชื่อว่า "ตำบลเสาธงหิน" ส่วนวัดก็คงเรียกว่า"วัดเสาธงหิน"จากนั้นจนถึงปัจจุบัน. ผู้ที่ทราบประวัติเดิมของ"วัดสัก"หรือ "วัดเสาธงหิน" ทั้งสองท่านที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วในราว พ.ศ. 2510" ปรับปรุงจาก: th.wikipedia.org/wiki/วัดเสาธงหิน, วันที่สืบค้น 10 มกราคม 2558.

13. วัดเจ้าอาม, สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2322 โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับสนมหรือเจ้าจอมท่านหนึ่ง มีนามว่า "อาม" หรือ "เจ้าอาม" ที่ถูกพระองค์สั่งประหารชีวิตด้วยเข้าพระทัยผิดว่ากระทำความชั่ว พร้อมกับได้ทรงสร้างปรางค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของพระสนมอาม แต่การก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ยังไม่เรียบร้อยตามพระราชดำริ ด้วยเหตุที่พระองค์ต้องมีพระราชภารกิจในด้านการปกครองบ้านเมือง ต่อมาได้สิ้นสมัยของพระองค์เสียก่อน การก่อสร้างวัดในระยะต่อมาได้อาศัยชาวบ้านในละแวกนั้นช่วยกันตามกำลังความสามารถ

     ต่อมา จอมพลประภาส จารุเสถียร และท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร เมื่อครั้งยังมีอำนาจวาสนาทางการเมืองได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ในชั้นแรก ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเชียงใหม่มาประดิษฐานไว้ที่ปรางค์ส่วนยอด นำต้นศรีมหาโพธิ์ และต้นสาละที่เอกอัครราชทูตอินเดียได้นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย นำมาปลูกไว้ที่วัดเจ้าอามปรากฎอยู่ตราบทุกวันนี้, ปรับปรุงจาก: office.bangkok.go.th/bangkoknoi/travel/watchoarm.htm, วันที่สืบค้น 10 มกราคม 2558.

14. พระพุทธรูปทองคำโบราณองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างทำตามแบบสุโขทัยยุคกลาง ซึ่งเป็นฝีมือประติมากรรมศิลปะขั้นเยี่ยมทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติสูงสุดของไทย คือพระเกตุมาลาลักษณะเปลวเพลิง มีอุณาโลมเป็นเกลียวไหวขึ้นสูง และด้านข้างมีรัศมีแผ่ทั้งสอง มีรูปเป็นกลีบขึ้นเป็นชั้น ๆ รูปพระเศียรและวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระโขนงโก่งดังคันศรและงดงามเป็นสัน พระเนตรดังตาเนื้ออยู่ในอาการสำรวม พระนลาฏกว้างไม่มีเส้นไรพระศกและมีเม็ดพระศกย้อยลงมาตรงกลางเบื้องบนพระนลาฏ พระนาสิกเป็นรูปของอโง้งงุ้มดุจจะงอยนกแก้ว พระโอษฐ์เล็กคล้ายแย้มเผยอตรัส ฯลฯ. (www.wathong.com, วันที่สืบค้น 5 มกราคม 2558).

15. หลวงพ่อแสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง (เป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง) ขนาดหน้าตักกว้าง 2.60 เมตร สูง 3.50 เมตร ไม่มีพระนามและไม่ทราบประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยใดจึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา.(www.wathong.com, วันที่สืบค้น 5 มกราคม 2558).
16. จากการพิจารณาเรียงลำดับเหตุการณ์ โดยอ้างจากหนังสือ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้าที่ 319-328 สามารถจัดทำเป็นตารางเรียงช่วงปี-เหตุการณ์ได้ดังนี้

 
   ช่วงปี-เหตุการณ์ .................................              รัชกาลที่ 1 .........................................         พระราชวังหน้าฯ ......................................... หมายเหตุ
ช่วงกรุงศรีฯ -กรุงศรีฯ แตก ไม่ได้รับราชการ อาศัยอยู่กับพ่อตาซึ่งเป็นคนในตระกูลสูงของเมืองราชบุรี รับราชการเป็นมหาดเล็กนายสุดจินดาหุ้มแพร (ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ)  
กรุงศรีฯ แตก หลบหนีพม่าที่บางกุ้ง, มาอยู่ที่อัมพวา สมุทรสงคราม    
พ.ศ.2311 - ตั้งกรุงธนฯ แล้ว     พระมหามนตรี (บุญมา) เชิญพี่ชาย มารับราชการ. ร.4 เล่าให้หมอสมิธฟังว่า ร.1 เข้ารับราชการหลังจากพระเจ้าตากสินตีเมืองนครศรีฯ แตกแล้ว
  เป็นพระราชวรินทร์ (ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ศักดินา 1,000 ไร่) พระมหามนตรี (ตำแหน่งสมุหพระตำรวจในขวา ศักดินา 2,000 ไร่) ยังหาข้อมูลชั้นต้นตรวจสอบไม่ได้
พ.ศ.2313   พระอนุชิตราชา (หลังปราบหัวเมืองเหนือได้-กินเมืองพิษณุโลก) กรมพระราชวังบวรฯ ก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว
พ.ศ.2313-2317-8 พระยายมราช (เสนาบดีจตุสดมภ์) แต่ยังมีอำนาจน้อยกว่าเจ้าเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ (ได้ยศมาตั้งแต่ พ.ศ.2314) เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช หลังปราบเมืองพุทไธมาศ (ยศเจ้าพระยา-ตำแหน่งเจ้าเมือง)
พ.ศ.2317 ช่วงตีเมืองเชียงใหม่ ว่าที่สมุหนายก    
พ.ศ.2318 พระยาจักรี    
พ.ศ.2323 เจ้าพระยาจักรี   ส่วนที่กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้รับยกย่องขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่พบในหลักฐานชั้นต้นที่น่าเชื่อถือใดยืนยันเลย เข้าใจว่าเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดจากการที่ผู้ชำระพระราชพงศาวดารต้องการกล่าวถึง ร.1 อย่างยกย่องในภายหลังเท่านั้น.
พ.ศ.2325 ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  

 

info@huexonline.com