สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 2 ปราบดาภิเษก
First revision: June 29, 2014
Last change: Jan.15, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
พระราชพิธีหลังทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี1
ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้เจ้าตากมา "ยับยั้ง" อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่. เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรี มายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี.
หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร แต่เอกสารทางราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า "กรุงพระมหานครศรีอยุธยา" เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุปุโรหิตระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ในขณะที่ยังมีพระชนมายุ 34 พรรษา ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ยังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย.
แผนที่แสดงอาณาเขตราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช2
หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2310 เป็นพระราชวังหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุง "ป้อมวิไชยเยนทร์" และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ.
พระราชกรณียกิจ
การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้นั้น ทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่ว พระเกียรติยศของพระองค์จึงแพร่ไปว่าเป็นผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นจาก อำนาจพม่าข้าศึกได้ ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองที่ยังหลบลี้อยู่ตามที่ต่าง ๆ พากันมาอ่อนน้อมเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นกำลังในการศึกสงครามและการบูรณะบ้านเมืองต่อไป พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ดังนี้
ด้านการรวมชาติ
จากผลของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทำให้อาณาจักรอยุธยาไม่อาจกลับมาตั้งใหม่เป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก ทั้งยังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตตามมา ซึ่งตามทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์นั้น ได้อธิบายว่า มีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นด้วยวัตุประสงค์แตกต่างกัน แต่สำคัญคือเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนี้กลุ่มการเมืองหรือ "ชุมนุม" ขนาดใหญ่ ๆ นั้น ยังแตกออกเป็น 4-6 ก๊กใหญ่ แต่ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติกลับคืนมาดังเดิม.
ครั้นพระเจ้ามังระ (Hsinbyushin) ทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี มีกำลังตามพระราชพงศาวดาร 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะ ทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น.
มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน8 ในระยะแรก มีเจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือ "เจ้าศรีสังข์" โอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เมื่อกรุงแตกได้หนีไปอยู่กับพม่าก่อน แล้วหลบหนีพม่าเข้าป่า ออกจากป่าก็ไปอยู่บางปลาสร้อย ท้องที่แถบชลบุรี เมื่อทรงทราบว่าเจ้าตากส่งเรือมารับก็หวาดกลัว อาศัยพวกคริสต์ให้พาหนีไปเมืองเขมร พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงดีพระทัยมาก สร้างวังไม้ไผ่ให้เป็นที่ประทับ ด้วยหวังเอาเจ้าศรีสังข์เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อไป.
อีกพระองค์หนึ่ง คือ "เจ้าจุ้ย" หนีไปอยู่เมืองพุทไธมาศ หรือ บันทายมาศ หรือ ฮาเตียน (ญวน) หรือ เปียม (เขมร) ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา พระยาราชาเศรษฐี เป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งในทำเนียบกัมพูชาเรียก "สมเด็จพระโสร์ทศ" แต่ขึ้นกับญวนด้วย ญวนเรียก มักเทียนดู หรือ ม่อเทียนซื่อ / ม่อซื่อหลิน ในภาษาจีน และพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในเขมรด้วย เพราะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว.
ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีนี้ เจ้าตากได้มีหนังสือขอให้ร่วมกันต่อสู้ช่วยกรุงศรีอยุธยา เมื่อตั้งตัวได้ที่เมืองระยองแล้ว ก็ได้ตอบรับว่า ขอให้พ้นฤดูมรสุมเสียก่อน แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร
สมเด็จพระจักรพรรดเฉียนหลง (จักรพรรดิชิงเกาจง - Qi'anlo'ng)
จักรพรรดิองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ชิง สมภพ พ.ศ.2254 สวรรคต พ.ศ.2342
พระยาราชาเศรษฐี/ม่อซื่อหลิน มีหนังสือในนามเจ้าจุ้ยไปถึงจักรพรรดิเฉียนหลง พระเจ้ากรุงจีน แห่งราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ได้กล่าวโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า พยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์ ไม่นับถือราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเจ้ากรุงจีนได้สัญญาว่าจะช่วย เจ้าจุ้ย และเจ้าศรีสังข์ เอากรุงศรีอยุธยาคืน.
เมื่อเจ้าตาก สามารถตั้งกรุงธนบุรีได้แล้ว ทรงแจ้งไปยังพระราชาเศรษฐีขอให้ส่งตัวเจ้าจุ้ยมาให้ แต่พระยาราชาเศรษฐีกลับส่งบุตรเขยคุมกองเรือ ทำเป็นว่าส่งข้าวมาถวาย และจะคอยจับพระองค์ แต่ข่าวรั่วเสียก่อน จึงทรงนำทัพเรือตีกองเรือเมืองพุทไธมาศแตกกลับไป. กรุงธนบุรีกับเมืองพุทไธมาศจึงเป็นอริกันอย่างเปิดเผย.
การปราบชุมนุมต่าง ๆ3
1. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตเมืองพิชัย - เมืองนครสวรรค์ - (สรุป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเริ่มยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นก๊กแรก แต่กระสุนปืนต้องถูกพระองค์ จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลง จนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป ).
เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นต้นสกุล "โรจนกุล" ได้ราชาภิเษกตนเองเป็นพระมหากษัตริย์ "พระเจ้าพิศณุโลก" ครองหัวเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2311.
พระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์
ฤดูฝน8 ปีชวด พ.ศ.2311 เมื่อว่างศึกพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริที่จะสร้างความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักรด้วยการปราบเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปทางเรือ ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวก่อน จึงให้หลวงโกษา (ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์ อยู่เหนือปากน้ำโพไปไม่มากนัก ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ฝ่ายพิษณุโลกยิงปืนมาอยู่ที่พระชงฆ์ (ส่วนหน้าของขา ใต้เข่าลงมา หน้าแข้งก็ว่า ) (...ต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไปจึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรี..)10 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงต้องเลิกทัพกลับพระนคร.
เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงถอยทัพกลับเพราะต้องปืน ก็กระหยิ่มใจว่าเป็นบุญบารมีของตน จึงตั้งพิธีราชาภิเษกตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์ ทำพิธีแล้ว 7 วัน เกิดฝีขึ้นในลำคอถึงแก่ความตาย พระอินทร์อากรน้องชายครองเมืองแทน แต่ไม่กล้าตั้งตัวเป็นเจ้า ประชาก็ไม่นิยม เมืองพิษณุโลกอ่อนแอลง.
เจ้าพระฝางได้ข่าวความอ่อนแอของเมืองพิษณุโลก จึงยกไพร่พลมาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ล้อมอยู่สองเดือน เนื่องจากราษฎรไม่นิยม ไม่ช่วยกันต่อสู้ ซ้ำยังเปิดประตูเมืองรับไพร่พลของเจ้าพระฝางให้เข้าเมืองได้เสียอีก เจ้าพระฝางได้เมืองพิษณุโลก จับพระอินทร์อากรมาประหารชีวิต รวบรวมทรัพย์สมบัติ และศาสตราวุธในเมืองพิษณุโลก กลับไปสวางคบุรี ชาวเมืองพิจิตร พิษณุโลกที่หนีได้ ต่างก็พาครอบครัวลงมาเข้ากับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้สลายตัวไป.
2. ชุมนุมเจ้าพิมาย (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก กรมหมื่นเทพพิพิธ) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองสระบุรี พิมาย ล้านช้าง กัมพูชา (สรุป หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหายจากอาการพระประชวรแล้ว ได้ทรงเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ.2311).
ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
กรมหมื่นเทพพิพิธ5 พระนามเดิม คือ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผนวชในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ต่อมามีความผิดฐานคิดกบฎ จึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่ลังกา (อนุมานได้ว่า การที่พระองค์มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าแขก ก็เพราะถูกเนรเทศไปลังกานั่นเอง) และเมื่อพระเจ้ามังระส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบว่าพม่าทำการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา จึงได้เดินทางกลับไทย. เกลี้ยกล่อมผู้คนทางหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออกเพื่อจะเข้ากู้กรุงศรีฯ แต่ไม่สำเร็จ จึงหนีไปเกลี้ยกล่อม พระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา ให้เข้าร่วมช่วยกอบกู้กรุงศรีฯ แต่พระยานครราชสีมาไม่ยอม จึงทำการเกลี้ยกล่อมชาวบ้านบริเวณนั้น ให้เข้าร่วมเป็นพวกของพระองค์ และให้หม่อมเจ้าประยง พระโอรส กับหลวงมหาพิชัย นำไพร่พลไปลอบสังหารพระยานครราชสีมา และยึดเมืองได้ในที่สุด.
ต่อมาหลวงแพ่ง น้องพระยานครราชสีมาได้ไปเกณฑ์พลจากเมืองพิมาย เพื่อไปตีเมืองนครราชสีมาเอาเมืองคืน ปรากฎว่ารบชนะ จับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ หลวงแพ่งต้องการที่จะประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธเสีย แต่เจ้าพิมายมีความสงสารจึงขอชีวิตไว้ และขอนำกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย ส่วนตนนั้นได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งหมด หลังจากนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ได้สังหารหลวงแพ่ง แล้วยึดเมืองนครราชสีมา และหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงมารวมกับพิมายทั้งหมด.
ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนา กรุงธนบุรี พระองค์ทรงมีบัญชาให้ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และ พระมหามนตรี (บุญมา) ยกทัพมาตีชุมนุมของกรมหมื่นเทพพิพิธ กองทัพพิมายของกรมหมื่นเทพพิพิธมิอาจต่อสู้ได้ พระองค์จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองเวียงจันทน์ แต่ถูก ขุนชนะ กรมการเมืองนครราชสีมาตามจับตัวได้ทัน จึงนำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ในภายแรกพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ พระองค์จึงจำต้องสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ.
"อันตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น ครั้นจะเลี้ยงเจ้าไว้ ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญ พลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลย จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"6
พระอุโบสถวัดเดิม อ.พิมาย เชื่อกันว่ากรมหมื่นเทพพิพิธ ทรงได้สร้างไว้, ที่มา: Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์อยุธยา," วันที่เข้าถึง 29 สิงหาคม 2563.
3. ชุมนุมนครศรีธรรมราช (หนู) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพร - มลายู (สรุป พระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี).
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จว.นครศรีธรรมราช7
กำแพงเมืองและคูเมืองนครศรีธรรมราชด้านทิศใต้
สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ซึ่งพระนารายณ์ก็ได้สร้างกำแพงเมืองโคราช - นครราชสีมา ด้วยเช่นเดียวกัน)
ปีฉลู พ.ศ.2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเตรียมจัดการเรื่องการเมืองทางใต้8 แต่มีใบบอกมาจากเมืองจันทบุรีว่า ณวนยกกองทัพเรือมาเมืองบันทายมาศ คาดว่าจะมาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง 4 ทาง และให้พระยาพิชัย นายทหารจีนข้าหลวงเดิม เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี มีหน้าที่รักษาปากน้ำ แต่ต่อมาได้ทราบความว่า ที่ญวนยกมาครั้งนี้มิใช่มาตีเมืองไทย แต่มาด้วยเหตุภายในของกัมพูชา เนื่องจากนักองนน (นักองโนน-พระรามราชา) กับ นักองตน (พระนารายณ์ราชา) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ชิงราชสมบัติกัน พระนารายณ์ราชาขอกำลังญวนมาช่วย นักองโนนสู้ไม่ได้ จึงหนีมาพึ่งบารมี ขอให้ช่วยในฐานะที่เป็นข้าขอบขันฑสีมาเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา.
ครั้นกองทัพที่จะยกไปจัดระเบียบการเมืองที่นครศรีธรรมราชพร้อมแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) (หลวงนายศักดิ์ครั้งกรุงเก่า) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี เป็นนายกอง นำกองทัพ จำนวน 5,000 นาย ยกไปในเดือน 5 ปีฉลู พ.ศ.2312.
กองทัพที่ยกไปเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ปรากฎว่าแม่ทัพใหญ่ และนายกองชั้นรองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อข้ามแม่น้ำหลวง (ตาปี) พบทหารเมืองนครศรีธรรมราชตั้งค่ายสกัดอยู่ กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเข้าโจมตี แต่ไม่พรักพร้อมกัน พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ บุตรพระยาจักรีถูกจับได้ กองทัพกรุงธนบุรีจึงต้องถอยมาตั้งที่เมืองไชยา.
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า เจ้าพระยาจักรีถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา ทรงพระดำริเห็นว่าลำพังกองทัพเจ้าพระยาจักรีคงจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ และมีโอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชสำเร็จได้ในฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูแล้งจะได้เสด็จกรีฑาทัพไปกรุงกัมพูชาต่อไป เมื่อทรงทราบว่าทางกองทัพที่ยกไปตีกรุงกัมพูชา ยึดได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบองได้แล้ว พระองค์จึงเสด็จทางเรือนำกองทัพหลวง จำนวน 10,000 นาย จากกรุงธนบุรีลงไปนครศรีธรรมราช เมื่อเดือน 8 ปีฉลู พ.ศ.2312 เมื่อถึงเมืองไชยาแล้ว จึงปรับกองทัพให้ยกไปทางบกและทางน้ำ กองทัพหลวงยกไปถึงปากพญา (ปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช) เมื่อเดือน 10 แรม 6 ค่ำ ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชทราบก็ตกใจ สั่งให้อุปราชจันทร์รวบรวมคนตั้งค่ายเตรียมต่อสู้ที่ท่าโพธิ์ ห่างจากเมืองนครฯ ประมาณ 30 เส้น (ประมาณ 1-1.5 กม.) กองทัพหลวงตีค่ายท่าโพธิ์แตก จับอุปราชจันทร์ได้ เจ้านครฯ จึงพาญาติวงศ์ทิ้งเมืองหนีไปเมืองสงขลา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจีงได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย.
ฝ่ายกองทัพพระยาจักรีซึ่งยกไปทางบก ถูกต้านทานบ้างเล็กน้อย ไปถึงสงขลาหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว 8 วัน จึงโปรดให้พระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา คุมกองทัพบก ทัพเรือไปตามจับเจ้านครฯ เป็นการไถ่โทษ.
เมื่อพระยาจักรี กับพระยาพิชัยราชานำกองทัพออกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพออกจากเมืองนครฯ เมื่อวันศุกร์เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ ไปตั้งที่เมืองสงขลา. เจ้านครฯ ซึ่งหนีไปเมืองสงขลานั้น พระยาพัทลุงกับหลวงสงขลา ก็ช่วยเหลือพาหนีต่อไปถึงเมืองเทพา และไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่าน พระยาจักรีมีหนังสือถึงพระยาปัตตานี ให้ส่งตัวเจ้านครฯ กับพรรคพวกมาถวาย พระยาปัตตานีศรีสุลต่านจึงจับเจ้านครฯ เจ้าพัดบุตรเขย เจ้ากลาง พร้อมทั้งพระยาพัทลุงและหลวงสงขลา กับสมัครพรรคพวก ส่งให้กองทัพพระยาจักรี ๆ ก็นำมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองสงขลา.
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดการเมืองสงขลา และเมืองพัทลุงเรียบร้อย ก็เสด็จกลับถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 2 ค่ำ เนื่องจากเป็นฤดูมรสุม จึงต้องทรงยั้งทัพอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงเดือน 4 ปีฉลู (ศักราชใหม่เริ่มตั้งแต่เดือน 5).
ระหว่างยั้งทัพอยู่ ได้ทรงให้กองทัพปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ เช่น วัดมหาธาตุ เป็นต้น ครั้นสิ้นฤดูมรสุมแล้ว ทรงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ หลานเธอให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช.
ภาพเก่าพระฝาง แห่งวัดพระฝาง หรือวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ปัจจุบันประดิษฐานบนบุษบก หน้าพระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ, ที่มา: Facebook เพจ "บันทึกประวัติศาสตร์," โดยผู้ใช้นามว่า Thongchai Nanil Tigerfish, วันที่เข้าถึง 15 มกราคม 2565.
4. ชุมนุมเจ้าฝาง (เรือน) มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองแพร่ น่าน และหลวงพระบาง (สรุป ในปี พ.ศ.2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง รักษาเมืองสวางคโลกได้เพียง 3 วัน ก็แตกหนี).
เจ้าฝาง (เรือน) เปลี่ยนจีวรสีเหลืองเป็นห่มแดง ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่เป็นภิกษุอยู่
เจ้าพระฝาง12 เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ เดิมมีชื่อว่า "เรือน" ลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนได้เป็นพระพากุลเถระ พระราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้ครองตำแหน่งสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี
เดือนหก ปีขาล พ.ศ.23138 เจ้าพระฝางส่งกองกำลังลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เตรียมกองทัพไปจัดระเบียบทางเมืองเหนือ ประจวบกับเจ้าเมืองตรังกานู ได้ถวายปืนคาบศิลา จำนวน 2,200 กระบอก.
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำทัพหลวงโดยกระบวนเรือจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ เดือนแปด แรม 14 ค่ำ พร้อมรี้พลสกลไกร 12,000 นาย พระยายมราช (พระยาอนุชิตราชา ได้เลื่อนแทนพระยายมราชท่านเดิมซึ่งถึงแก่อสัญกรรม) คุมกองทัพที่สอง จำนวน 5,000 นาย เดินทัพทางตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ และพระยาพิชัยราชา คุมกองทัพที่สาม จำนวน 5,000 นาย เดินทัพทางตะวันตกของลำน้ำ.
ณ วันเสาร์ เดือนเก้า แรมสองค่ำ ประทับ ณ ปากน้ำพิง ฝ่ายพระฝาง เมื่อทราบเหตุก็ให้หลวงโกศา (ยัง) ลงมาตั้งรับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้กองหน้ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลก และก็เข้าเมืองได้ในคืนนั้น.
ครั้นวันจันทร์ แรมสี่ค่ำ เวลาเช้า จึงเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก ทรงนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ แล้วประทับแรมอยู่ในเมือง เมื่อกองทัพพระยายมราชมาถึง ก็ให้รีบไปติดเมืองสวางคบุรี และอีกสองวัน กองทัพพระยาพิชัยราชามาถึง ก็โปรดให้รีบยกขึ้นไปให้ทันกองทัพพระยายมราช. กองทัพทั้งสองเมื่อถึงสวางคบุรี ก็ได้ล้อมเมืองไว้ ทางในเมืองก็เกณฑ์ผู้คนขึ้นรักษาหน้าที่รอบเมือง ยิงปืนใหญ่น้อยเพื่อป้องกันเมือง ระหว่างนี้ช้างพังเชือกหนึ่ง (ในกองทัพของเจ้าพระฝาง) ได้ตกลูกเป็นช้างเผือก.
ภาพ "ตีเมืองสวางคบุรี" เขียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร
แสดงถึงเจ้าพระฝางหนีทัพเจ้าตาก โดยนำแม่ช้างพังและลูกช้างเผือกหนีไปด้วย
[ภาพ]
สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน (ปัจจุบัน คือ บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จว.อุตรดิตถ์)
วิหารใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระธาตุพระฝาง เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย
คาดว่าเปลี่ยนมาเป็นทรงลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้บูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4
หาดแม่น้ำน่าน หน้าวัดพระฝาง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5
ครั้นสู้รบกันได้สามวัน เจ้าพระฝางก็แตกพ่ายหนีพาสมัครพรรคพวกออกจากเมืองขึ้นไปทางเหนือ ในเวลากลางคืน และนำลูกช้างเผือกและแม่ช้างไปด้วย กองทัพกรุงธนบุรีก็เข้าเมืองได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลก ไปถึงเมืองสวางคบุรีประทับที่ค่ายหาดสูง ซึ่งกองหน้าได้จัดสร้างถวาย และกองทัพได้ติดตามช้างเผือกมาถวายได้.
เดือน 11 ขึ้นสองค่ำ กรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่าเมืองตานีเข้ามาถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และพวกวิลาศวิลันดาที่เมืองจาร์กาต้าได้ส่งปืนใหญ่มาถวาย (ขาย) หนึ่งร้อยกระบอก.
ทรงฟื้นฟูบำรุงพระพุทธศาสนาในภาคเหนือ โดยนิมนต์พระราชาคณะ และพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรี ขึ้นไปอุปสมบทพระสงฆ์ไว้ทุก ๆ หัวเมืองเหนือ แล้วให้
- พระพิมลธรรม อยู่เมืองสวางคบุรี
- พระธรรมโคดม อยู่เมืองพิชัย
- พระธรรมเจดีย์ อยู่เมืองพิษณุโลก
- พระพรหมมุนี อยู่เมืองสุโขทัย
- พระเทพกวี อยู่เมืองสวรรคโลก
- พระโพธิวงศ์ อยู่เมืองศรีพนมมาศ ทุ่งยั้ง
ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม และพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรีให้บริบูรณ์ดังเดิม ทรงสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์เมืองศรีพนมมาศ และพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก แห่งละสามวัน ครั้นเดือน 12 ขึ้นสาม ค่ำ เสด็จกลับเมืองพิษณุโลกทรงสมโภชพระมหาธาตุ พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ สามวัน ทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมให้อยู่ครองเมืองหัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ
- พระยายมราช เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก
- พระยาพิชัยราชา เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก
- พระยาสีหราชเดโช เป็นพระยาพิไชย
- พระยาท้ายน้ำ เป็นพระยาสุโขทัย
- พระยาสุรบดินทร์ เป็นพระยากำแพงเพชร
- พระยาอนุรักษ์ภูธร เป็นพระยานครสวรรค์
ส่วนหัวเมืองเล็กน้อยทั้งปวง ก็โปรดให้ขุนนางผู้น้อยไปครองทุก ๆ เมือง สำหรับเจ้าพระยาจักรีแขก (หมุด) หรือเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์9 นั้น มิได้ทแกล้วกล้าในการสงคราม โปรดตั้งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ บุตรชาย เป็นที่พระยายมราช (หมัด) บัญชาการกระทรวงมหาดไทย ว่าราชการที่สมุหนายกแทน.
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดระเบียบการเมืองการปกครองเมืองเหนือ ตลอดฤดูน้ำ ปีขาล พ.ศ.2313 แล้วจึงเสด็จกรีฑาทัพกลับกรุงธนบุรี และโปรดให้รับนางพระยาเศวตกิริณี (ลูกช้างพังเผือก) ลงมาด้วย เมื่อถึงกรุงธนบุรีแล้ว ให้มีงานสมโภชสามวัน.
พระราชสันตติวงศ์
โปรดดูในซับบล็อก สาแหรกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สงครามป้องกันประเทศ
ในปี พ.ศ. 2312 เจ้านายเขมรได้เกิดวิวาทกัน คือ สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองตน) กษัตริย์กัมพูชา ไปขอกองทัพญวนมาตีเขมร และ สมเด็จพระรามราชา (นักองโนน หรือ นักองนน หรือ นักองราม) พระมหาอุปราช สู้ไม่ได้ก็พาครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) กับพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) (ระยะนี้เป็นช่วงต้อนรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยังมียศศักดิ์เพียงพระยาอภัยรณฤทธิ์) ยกทัพไปตีเขมรและทำการโจมตีได้เมืองเสียมราฐแล้วพักรอฤดูฝนอยู่. พอได้ข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสิ้นพระชนม์ลง การตีเขมรครั้งนั้นจึงยังไม่เสร็จ.
นครวัต หรือ Angor Wat ที่เมืองเสียมราฐ
เมื่อชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตก อภัยคามณี โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่พม่าตั้งขึ้น เห็นเป็นโอกาสจะแผ่อาณาเขตลงมา จึงยกทัพลงมาล้อมสวรรคโลกไว้ เมื่อปี พ.ศ.2313 แม่ทัพธนบุรีรักษาเมืองไว้มั่นคง ครั้นกองทัพธนบุรีที่ยกมาช่วยเหลือ พอถึงก็เข้าตีกระหนาบพ่ายกลับไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสบโอกาส ก็ยกทัพขึ้นไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่ล้อมได้เพียงเก้าวันก็ต้องยกถอยกลับมา.
พระธาตุดอยสุเทพ เมืองเชียงใหม่
ประตูกำแพงเมืองและป้อมมุมเมืองเชียงใหม่ ประมาณปี พ.ศ.2508
ประตูท่าแพ ประตูกำแพงเมืองด้านตะวันออก
แจ่งหัวริน ป้อมมุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองตน) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ฉวยโอกาสยกทัพมาตีเมืองตราดและเมืองจันทบูร แต่ถูกตีแตกกลับไป ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็เคืองพระทัย หลังจากพักรี้พลได้พอสมควรแล้ว ก็ทรงเตรียมทัพจะไปตีกัมพูชา สามารถเข้าไปจนถึงเมืองบันทายเพชร ราชธานีกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนารายณ์ราชาทรงเล็งเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็หนีไปพึ่งญวน.
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้พระรามราชา (นักองนน) เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงกัมพูชาต่อไป แล้วเลิกทัพกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2314 แต่ต่อมาญวนเกิดกบฏไตเซิน สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดกำลังสนับสนุน จึงหวนกลับมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงได้ทรงยกให้เป็นมหาอุปโยราช มีฐานะรองจากพระรามราชา.
ในปี พ.ศ.2314 นักองตนซึ่งเป็นมหาอุปราชนั้น ได้ข่าวพม่ายกมาตีไทย จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีและตราด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร ทัพไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ เมืองพระตะบอง เมืองบริบูรณ์ เมืองกำพงโสม และเมืองบันทายมาศ (เมืองฮาเตียน หรือ เมืองพุทไธมาศ) นักองตนพ่ายแพ้หนีไปอยู่กับญวน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองนนครองเขมรสืบไป.
ในปีเดียวกันนี้ ได้เกิดวิวาทกันในหมู่เจ้าเมืองแคว้นกรุงศรีสัตตนาคนหุต (เมืองหลวงพระบาง (ในสมัยเจ้าสุริยวงศาหรือเจ้าสุริยวงศ์) ขัดแย้งกับ เมืองเวียงจันทร์ (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 หรือพระเจ้าศิริบุญสาร)) ฝ่ายหนึ่งสู่ไม่ได้ก็ขอกำลังพม่ามาช่วย เมื่อปราบปรามเสร็จแล้ว แม่ทัพพม่าก็ยกทัพมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่าน ก็แบ่งกำลังให้นายทัพหน้าตีเมืองน่าน ที่มีบางส่วนของแผ่นดินภายใต้เขตแดนของพระเจ้ากรุงธนบุรี ลึกเข้าไปถึงเมืองพิชัย ปลายปี พ.ศ.2315 เจ้าเมืองพิชัยป้องกันเมืองไว้มั่นคงแล้ว ก็ขอกำลังทางด้านพิษณุโลกไปช่วย พอทัพของเมืองพิษณุโลกมาช่วย ก็ออกตีกระหนาบ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายแตกพ่ายไป ต่อมาในปี พ.ศ.2316 ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกัน และพม่ายกเข้ามาตีเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพนายกองของกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ซุ่มสกัดข้าศึกตรงบริเวณเมืองชัยภูมิ พอมาถึงก็ตีทัพพม่าแตกกลับไป การรบครั้งนี้เองที่เกิดวีรกรรม ท่านเจ้าคุณพระยาพิชัยดาบหักขึ้น.
ต่อมาพม่า (ตะเลง) กับ รามัญ (มอญ) เกิดรบกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ได้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อยกไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ได้ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ เมื่อทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเดิมตั้งคอยรับชาวมอญที่เมืองตากมาถึงเชียงใหม่แล้ว ทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ระดมตีค่ายพม่า จนโปมะยุง่วนต้องทิ้งเมืองหนี เสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2317 เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน และแพร่ก็ปลอดจากพม่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.
ในปี พ.ศ.2317 หลังจากที่ราชอาณาจักรพม่าภายใต้การปกครองของราชวงศ์อลองพญา ได้ทำสัญญาสันติภาพกับจีนแล้ว พระเจ้ามังระ (เซงพะยูเชง) ก็ทรงส่งทหารมาอีก 5,000 นาย เข้ามาตีในอาณาจักรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก แต่กองทัพถูกล้อมไว้ที่บางแก้ว ราชบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีดำริให้ตั้งล้อมไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าตี และรอจนทัพพม่าเป็นฝ่ายอดอาหารยอมจำนนเอง หลังจากที่กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีล้อมไว้นานถึง 47 วัน พม่าก็ยอมจำนน โดยพระองค์ทรงหวังว่าจะเป็นการปลุกขวัญคนไทยให้หายกลัวพม่า.
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และ แผนที่จังหวัดพิษณุโลก
ในปี พ.ศ.2318 อะแซหวุ่นกี้ (ชื่อนี้เป็นตำแหน่งขุนนาง อนุมานแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า หวุ่งยีมหาเสนาบดี พม่าออกเสียงว่า หวุ่งยีตีหะตุระ Maha Thiha Thura หรือ มหาสีหสุระ นั่นเอง) (อะแซหวุ่นกี้ เป็นแม่ทัพเฒ่าชาวพม่า ผู้เคยทำสงครามพิชิตแคว้นมณีปุระ และปกป้องกรุงอังวะจากกองทัพจีน) ได้เข้าตีหัวเมืองทางเหนือ เป็นสงครามที่ใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญศึก มีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางด้านฝ่ายไทยนั้น มีเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) และ พระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพยันอริราชศัตรูไว้ ในการศึกหนนี้ พม่าได้กะเกณฑ์ทหารมาร่วม 30,000 นาย โดยเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ส่วนทัพพม่าอีก 5,000 นายได้เข้าล้อมเมืองสุโขทัยไว้ โดยในเมืองพิษณุโลกมีทหารของฝ่ายไทยประจำการอยู่เพียง 10,000 นายเท่านั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกกองทัพไปช่วย และในท้ายที่สุดอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าก็จำต้องล่าทัพกลับกรุงอังวะ เนื่องจากกษัตริย์พม่าได้เสด็จสวรรคต (พระเจ้ามังระ หรือ พระเจ้าเซงพะยูเชง หรือ สินพยุฉิ่น - Hsinbyushin, แห่งราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์คองบอง - Alaungpaya Dynasty or Konbaung Dynasty ครองราชย์ช่วง พ.ศ.2306-2319) กองทัพพม่าที่ตามกลับไปไม่ทันบางส่วน ได้ถูกทหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมจับตัวไว้ได้.
พระเจ้าจิงกูจา (เซงกูเมง-Singu Min) (พระโอรสพระเจ้ามังระ) โปรดให้เกณฑ์ทัพพม่ามอญ 6,000 นาย ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่านครเชียงใหม่ ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นเมืองร้างถึง 15 ปี มีราษฎรอยู่ทำมาหากินตามปกติ ฟื้นฟูมาตามลำดับจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์.
หลังจากทัพไทยกลับจากเขมรในปี พ.ศ.2323 แล้ว สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองตน) ก็ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ส่วน พระรามราชา (นักองนน) เกรงกลัวญวนจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด ต่อมาองไกเซนเป็นกบฎ สามารถยึดญวนไว้ได้ นักองตนหมดที่พึ่ง จึงเจรจาประนีประนอมให้นักองนนครองกรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระรามราชา (นักองนน) เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา พระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองตน) เป็นมหาอุปโยราช และนักองธรรมเป็นมหาอุปราช.
ต่อมานักองธรรมถูกลอบฆ่าตาย และนักองตนก็เป็นโรคตาย เป็นที่สงสัยว่าถูกวางยาพิษ ฟ้าทะละหะ (มู) เข้าใจว่าพระรามราชาแกล้งสังหารทั้งสองพระองค์ จึงพร้อมด้วยข้าราชการรวมกันจับพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย แล้วยกนักองเองราชบุตรขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา มีฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาฟ้าทะละหะ (มู) ได้เอาใจออกห่างไทยไปฝักใฝ่ญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)11 เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมือง พอจะตีเข้าเมืองหลวง ก็เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จำเป็นต้องยกทัพกลับ.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. www.kkbook.tha.im, วันที่สืบค้น 29 มิถุนายน 2557.
02. จาก. www.rfatchonburi.com, วันที่สืบค้น 29 มิถุนายน 2557.
03. จาก. นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 3, พ.ศ.2536.
04. จาก. www.thaigoodview.com/node/149863, วันที่สืบค้น 1 กรกฎาคม 2557.
05. จาก. th.wikipedia.org/wiki/กรมหมื่นเทพพิพิธ, วันที่สืบค้น 10 กรกฎาคม 2557.
06. จาก. แบบเรียนพงศาวดาร พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128 ถึง 1144. พิมพ์ครั้งที่ 5, พระนคร: กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, 2472.
07. จาก. http://www.suratphotoclub.net/forum/lofiversion/index.php/t264.html, วันที่สืบค้น 24 กรกฎาคม 2557.
08. จาก. iseehistory.socita.com, วันที่สืบค้น 24-26 กรกฎาคม 2557.
09. จาก. th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาจักรี_(หมุด), วันที่สืบค้น 25 กรกฎาคม 2557.
10. จาก. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), วันที่สืบค้น 26 กรกฎาคม 2557.
11. จากการพิจารณาเรียงลำดับเหตุการณ์ โดยอ้างจากหนังสือ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้าที่ 319-328 สามารถจัดทำเป็นตารางเรียงช่วงปี-เหตุการณ์ได้จากตอนท้ายของ "พระเจ้าตากสินมหาราช - บทที่ 4: ขยายพระราชอาณาเขต - ศาสนา" http://huexonline.com/knowledge/14/65/
12. ปรับปรุงจาก. ข้อมูลจากบทความ ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ.2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ใน "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับ มีนาคม 2559) "เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก พระพากุลเถระได้ซ่องสุมผู้คน ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง โดยมิได้สึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า "้เจ้าพระฝาง" เป็นที่เกรงกลัวของบรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป". หลักฐานจากพงศาวดารอ้างว่า กองทัพเจ้าพระฝางนอกจากจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีแล้ว ยังถูกเสนอในภาพของกลุ่มพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ("ประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา" พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา) การกระทำของพระภิกษุในชุมนุมเจ้าพระฝาง จึงเป็นภัยต่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร.
ขณะที่ ธีระพงษ์ มีไธสง นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญาเสนอว่า "โดยสถานภาพการเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ น่าจะมีสามัยสำนึกต่อความอยุติธรรม และมีความเห็นอกเห็นใจประชาชน... ทำให้เจ้าพระฝางซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านศรัทธาอยู่แล้ว ลุกขึ้นมาช่วยเหลือชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยไม่ยอมรับอำนาจจากส่วนกลาง (ธนบุรี) ซึ่งอยู่ห่างไกล และไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในแง่ของสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ แต่ได้เอารัดเอาเปรียบด้วยการเก็บบรรณาการในฐานะเป็นเมืองขึ้นของธนบุรี" (ข้อมูลจาก พระสงฆ์กับอำนาจรัฐไทย: บทเรียนจากอดีต-พระธรรมยุติสายอีสาน โดย ธีระพงษ์ มีไธสง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2557)
ธีระพงษ์กล่าวต่อไปว่า การที่กองทัพของเจ้าพระฝางถูกตีแตกในสามวัน มิใช่เพราะกองทัพอันเกรียงไกรของเจ้าตาก แต่เป็นเพราะชุมนุมของเจ้าพระฝางเป็นเพียงการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากอำนาจรัฐ โดยมีพระสงฆ์แสดงบทบาทเป็นผู้นำชุมชนเท่านั้น และการที่เจ้าพระฝางยอมแพ้อย่างง่ายดาย อาจเป็นไปเพื่อเลี่ยงความรุนแรง จนเสียเลือดเสียเนื้ออีกด้วย.
ธีระพงษ์มองว่า เจ้าพระฝางได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพระนักพัฒนาที่ไม่ละเลยต่อความทุกข์ยากของประชาชนในขณะนั้น แต่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในบริบทของประวัติศาสตร์ชาตินิยม เป็นกบฎต่อบ้านเมืองและเป็นอลัชชีในฐานะสงฆ์ที่ละเมิดวินัย.
ในทางกลับกัน ธีระพงษ์กล่าวว่า พระอาจารย์ธรรมโชติแห่งหมู่บ้านบางระจัน ที่ได้รับนิมนต์มาปลุกขวัญชาวบ้านบางระจัน ที่ได้รับนิมนต์มาปลุกขวัญชาวบ้าน เพื่อต่อต้าน "พม่า" โดยการแจกตระกรุด ทำพิะีไสยศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านบางระจันไปทำสงคราม ซึ่งในทางธรรมวินัย ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการละเมิดต่อชีวิต (ปาณาติบาต) แล้ว แต่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม กลับเชิดชูให้พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระเอก เป็นวีระภิกษุไป.