MENU
TH EN

จักรยานไทรอัมพ์

First revision: July 28, 2013
Last revision: Dec. 10, 2014

เป็นจักรยานที่มีชื่อเสียงระดับกลาง และในระยะต่อมา ก็ได้ถูกซื้อไปโดย บริษัท ราเล่ย์ อินดัสตรี้ ในปี พ.ศ.2497 (ค.ศ.1954).
 
จักรยานยี่ห้อไทรอัมพ์


 
     บริษัท ไทรอัมพ์ ไซเคิล จำกัด (Triumph Cycle Co., Ltd.) มีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองน็อตติ้งแฮม สหราชอาณาจักร

 
จักรยานไทรอัมพ์รุ่น "โร้ดสเตอร์" พร้อมชุดเบรคแบบท่อนกลมยาว  "ร็อด" (Rod brakes)   

        ปฐมบทของจักรยาน "ไทรอัมพ์" เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ (ค.ศ.1884) โดยชาวเยอรมันชื่อ "ไซจ์ไฟรด์ เบ็ทท์มานน์" (Siegfried Bettmann) ได้ย้ายจากเมืองนูเรมเบิร์ก (เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน-ในสมัยนั้น) มาเมือง โคเวนทรี้ สหราชอาณาจักร ในปีถัดมา เบ็ทท์มานน์ มีอายุได้เพียง ๒๐ ปี ก็เริ่มตั้งบริษัทขึ้น เป็นบริษัทนำเข้า-ส่งออกในกรุงลอนดอน ชื่อ เอส เบ็ทท์มานน์ แอนด์ โก (S. Bettmann & Co.) โดยบริษัทจะจ้างโรงงานอื่นผลิตจักรยานขึ้น แล้วจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อของบริษัท เอส เบ็ทท์มานน์ นอกจากนี้แล้ว เขายังได้นำเข้าเครื่องทอผ้าจากเยอรมันมาจำหน่ายในสหราชอาณาจักรอีกด้วย
 
"ไซจ์ไฟรด์ เบ็ทท์มานน์" (Siegfried Bettmann) (๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ - ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๔)
 
        ในปี พ.ศ.๒๔๒๙ (ค.ศ.1886) เขาได้จัดจำหน่ายจักรยานหลากหลายยี่ห้อ และในที่สุดบริษัทเขาก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "ไทรอัมพ์ ไซเคิ้ล คอมปานี" (Triumph Cycle Company) และในปีต่อมาเขาได้จัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า "บจก.นิว ไทรอัมพ์" (New Trimuph Co., Ltd.) ทั้งนี้เป็นเพราะด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหนึ่งในกลุ่มบริษัท "ดันล็อป" ที่ผลิตล้อยางจักรยานที่ต้องสูบลม (เดิมจักรยานโบราณจะเป็นยางตัน) ที่ชื่อ Dunlop Pneumatic Tyre Company ส่งเสริมให้ไทรอัมพ์ต้องผลิตจักรยานที่ล้อยางต้องสูบลม และในปีนั้นเอง เขาก็ร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มาจากเมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมัน เริ่มทำการผลิตจักรยานอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อจัดจำหน่าย และได้เริ่มผลิตและจำหน่ายจักรยาน "ไทรอัมพ์" ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ (ค.ศ.1894)

        ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ (ค.ศ.1902) บริษัทเริ่มผลิตรถจักรยานยนต์ และในอีก ๓ ปีต่อมา บริษัทก็ประกาศตัวว่าผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็น "ออล-บริติช" (All-British) มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ "ไทรอัมพ์" ผลิตมาต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๕ (ค.ศ.1982) ก็หยุดการผลิตไป (เพราะแข่งขันสู้ผู้ผลิตจากแดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้  อาทิ มอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ "ฮอนด้า" "ยามาฮ่า" "ซูซุกิ" ฯ ซึ่งราคาถูกกว่ามาก มีแบบให้เลือกมากกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า และมีคุณภาพใกล้เคียง
พอสามารถแข่งขันกับไทรอัมพ์ได้)  ช่วงราว ๆ ปี พ.ศ.๒๔๖๓ (ค.ศ.1920s) บริษัทได้ผลิตรถเก๋ง และในอีก ๑๐ ปีต่อมาบริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ไทรอัมพ์ มอเตอร์ คัมปานี" (Triumph Motor Company) และขายส่วนที่เป็นกิจกรรมด้านการผลิตจักรยานให้แก่ผู้ลงทุนรายใหม่ (ทั้งนี้เพราะส่วนด้านการผลิตจักรยานประสบปัญหาด้านการเงิน -ยอดขายตกต่ำลง เพราะการแข่งขันสูงและตลาดผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์มากขึ้น)

      
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงงานผลิตจักรยานแหล่งใหญ่ของ "ไทรอัมพ์" ที่เมืองโคเวนทรี้ถูกทำลายด้วยระเบิดของเครื่องบินเยอรมัน  หลังสงครามสิ้นสุดลง บริษัทก็ถูกขายออกไปในชื่อ "บจก.ไทรอัมพ์ ไซเคิ้ล" บริษัทเน้นการผลิตจักรยานที่มีน้ำหนักเบา สปอร์ต และเน้นการใช้งานการปั่นบนท้องถนนทั่วไป (Sports roadster) เพราะได้ประเมินแล้วว่า ในส่วนตลาดนี้ มีลูกค้าเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ บริษัทได้เริ่มเน้นการจัดจำหน่ายจักรยานไปสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากและมูลค่าที่สูง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๔ (ค.ศ.1951) บริษัท บีเอสเอ (BSA) หรือ เบอร์มิ้งแฮม สมอล อาร์ม ก็ซื้อกิจการของบริษัทไป.

        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.1956) บริษัท ราเล่ย์ ไบซิเคิ้ล จำกัด (Raleigh Bicycle Company) ก็มาซื้อส่วนงานด้านจักรยานของบีเอสเอ (BSA) อีกต่อหนึ่ง และท้ายที่สุด "ไทรอัมพ์" ก็ดำเนินธุรกรรมภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทราเล่ย์

 
ภาพแสดงกระบวนการผลิตจักรยาน "ไทรอัมพ์" ในช่วงที่ "ราเล่ย์" ได้ซื้อกิจการแล้ว
 
 

ที่มาและคำอธิบาย:
๑.   จาก. en.wikipedia.org/wiki/Triumph_Cycle, วันที่สืบค้น ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖.
๒.   จาก. oldbike.wordpress.com/1950s-triumph-raleigh-gents-bike/, วันที่สืบค้น ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖.

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com