MENU
TH EN

จักรยานกาเซล

First revision: July 25, 2013
Last revision: Dec. 23, 2017

เท่าที่ทราบจากอาจารย์ทวี บริบูรณ์ (แห่งบ้านจักรยาน ซอยสวนผัก 6) เมื่อกลางเดือน ก.ค.2556 ที่ผ่านมา  เดิมทีเดียวนั้นห้าง "เซ่งง่วนฮง" ผู้แทนจำหน่ายจักรยาน "ราเล่ย์"  อยูู่เดิม ห้างฯ ได้รับการขอร้องจากเอเย่นต์ให้ช่วยขายจักรยาน "กาเซล" อีกยี่ห้อหนึ่ง ด้วยความเกรงใจเอเย่นต์ ห้างฯ จึงรับ "กาเซล" มาจำหน่ายเพียงพันคันเท่านั้น
ปรากฎว่า "กาเซล" เป็นที่นิยมได้รับการยอมรับจากลูกค้า  และชาวดัท์ชที่อยู่เมืองไทยก็ขอบคุณ ห้าง "เซ่งง่วนฮง" ที่นำจักรยานยี่ห้อดังของประเทศตนมาจำหน่าย
เดิมนั้นตรา "กาเซล" จะเป็นเพียงรูปหัวกวาง (ซึ่งผลิตที่เมืองน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ)
ต่อมาได้ย้ายมาผลิตที่ฮอลแลนด์ ตรากาเซลก็เปลี่ยนไปเป็น "กวางวิ่งทั้งตัว" จวบจนปัจจุบัน

 
 
จักรยานยี่ห้อกาเซล (Gazelle Bicycle)
  
         โดยปกติจักรยานกาเซลจะใช้จานปั่น R.I.N. หากเป็นวงล้อ 28 นิ้ว จะมีซี่ล้อ 44 ซี่ (44T) ( R.I.N. มาจาก Raleigh Industry Nottingham เพราะซัพพลายเออร์ที่ผลิตให้ Gazelle ในช่วงแรก ๆ นั้น เป็น Raleigh Industry.)
 
        


        ข้อมูล และจำนวนตลอดจนรุ่นต่าง ๆ ของจักรยาน "กาเซล" จะมีมากที่ประเทศอินโดนีเซีย (เพราะเคยตกเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์มาร่วม 300 ปี อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชมาเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมานี้)

        บริษัท รอยัลดัทช์ กาเซล จำกัด (Royal Dutch Gazelle) เป็นบริษัทผู้ผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันบริษัทฯ มีการว่าจ้างพนักงานรวม 550 คน มีโรงงานผลิตอยู่ที่เมือง ไดเรน (Dieren) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันผลิตได้ 300,000 คันต่อปี รวมยอดผลิตที่ผ่านมาจวบจนปัจุบันผลิตได้ 13 ล้านคัน
     

        กาเซล ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2435 (ค.ศ.1892) โดยวิลเล็ม โคล์ลิ่ง (Willem Kolling) และ รูดอล์ฟ อเรนท์เซน (Rudolf Arensen) เบื้องต้นจะสั่งซื้อจักรยานจากอังกฤษ (เมืองน็อตติ้งแฮม) มาจำหน่าย โดยติดตรา กาเซล รูปหัวกวางไว้

       ในอีก 10 ปีต่อมา (ปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ.1902)) ทั้งสองได้เริ่มทำการผลิตเอง โดยซื้อที่ดินและก่อสร้างโรงงานขึ่้นที่เมือง "ไดเรน" โดยใช้ชื่อ กาเซล (น่าจะเป็นตรารูปกวางวิ่งทั้งตัว) (จากการศึกษาก็ไม่พบว่ามีเปลี่ยนตรารูปกวางกาเซลจากเดิมเป็นแบบใหม่เมื่อไหร แน่ชัดนัก...!!! แต่ก็พอจะสันนิษฐานไว้ตามที่เบื้องต้นได้อธิบายมา)
  
  • ปี พ.ศ.2448 รูดอล์ฟ อเรนท์เซน ก็ลาออกไปทั้ง ๆ ที่กิจการกำลังไปได้ดี ก็มี เฮนดริก โคล์ลิ่ง (น้องชายของวิลเล็ม) เข้ามาถือหุ้นและบริหารงานแทน.
  • ปี พ.ศ.2455 โรงงานผลิตจักรยาน "กาเซล" มีการขยายกำลังการผลิตขนานใหญ่ เพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้น ยอดจำหน่ายจักรยาน "กาเซล" เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ปี พ.ศ.2458 ครอบครัวของ "โคล์ลิ่ง" และหลาน "ฟาน บริวกิง" ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "NV Gazelle Rijwielfabriek" บริษัท "กาเซล" เริ่มมีประสบการณ์และความชำนาญมากขึ้น ความต้องการรถจักรยานมีมากทั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดจักรยานในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงเวลานั้น อินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของดัทช์อยู่ นอกจากนี้ "กาเซล" ก็ผลิตจักรยานหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็น จักรยานแบบมาตรฐานทั่วไป จักรยานที่มีมอเตอร์ (สลับกับการปั่นและใช้น้ำมันในการขับเคลื่อน) จักรยานส่งของ จักรยานสามล้อที่ใช้บรรทุกของ เป็นต้น
  • ปี พ.ศ.2478 "กาเซล" ได้ออกจักรยาน "แทนเด็ม-Tandem" ซึ่งสามารถปั่นได้สองคนในคันเดียวกัน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก (เป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)










 
  • ปี พ.ศ.2480 "กาเซล" ได้ออกจักรยานไฟฟ้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก และยุโรป พร้อมทั้งประเทศทั่วโลกก็เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ สร้างปัญหาความยุ่งยากให้แก่ "กาเซล" มาก เพราะเครื่องจักรที่ใช้ผลิตจักรยานหลายเครื่อง ได้ถูกทหารนาซีเยอรมันยึดไป และได้แก้ไขปรับแต่งให้เป็นเครื่องจักรในการผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในสงครามแทน
คำว่า rijwielen เป็นภาษาดัตช์ แปลว่า จักรยาน

        ปัจจุบัน กาเซล เป็นกลุ่มบริษัทนานาชาติ "Pon" ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติดัทช์เอง และเป็นเจ้าของยี่ห้อจักรยานแข่งขันสัญชาติแคนาดาอันเลื่องชื่อในปัจจุบัน นั่นคือ เคอร์เวลโล่ (Cerve'lo) อีกด้วย
 


      

        
าพตรา "กาเซล" ในปัจจุบัน และรถจักรยาน รุ่น Flowrider และ Tour Populair ตามลำดับ ซึ่งมีรูปทรงเหมือนกับจักรยาน "กาเซล" เมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังมีจำหน่ายอยู่


ที่มาและคำอธิบาย:
1.  จาก. en.wikipedia.org/wiki/Gazelle_(bicycle), วันที่สืบค้น 25 กรกฎาคม 2556.
2.  จาก. thecycle-hell.blogspot.com/2011/03/gazelle-bicycles.html., วันที่สืบค้น 25 กรกฎาคม 2556.
3.  จาก. www.gazellebikes.com, วันที่สืบค้น 30 กรกฎาคม 2556.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com