MENU
TH EN

จักรยานตรามือ รัดจ์-วิทเวิร์ธ

First revision: Oct.02, 2012
Last revision: Dec.22, 2014

จักรยานรัดจ์-วิทเวิร์ธ เป็นจักรยานเก่าแก่ยุคแรก ๆ ที่มีชื่อเสียงมากยี่ห้อหนึ่ง จนประกาศว่าตนเป็นจักรยานที่ดีที่สุดของบรรดากลุ่มประเทศบริเทน "Britain's Best Bicycle - BBB" เลยทีเดียว.
เป็นจักรยานที่มีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจคือ "านปั่นเป็นรูปมือขวาหงายขึ้น" นั่นเอง.

 
                            
เดเนียล รัดจ์ (พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๔๒๓)                   ชาร์ล เอช.พัคห์ 5


                              
จากซ้ายไปขวา ๑) ตราจักรยาน "วิทเวิร์ธ" ในระยะแรก ๒) ตราในปี พ.ศ.๒๔๖๗ (ค.ศ.1924)
และเปลี่ยนเป็น ๓) ตราจักรยาน "รัดจ์-วิทเวิร์ธ"
4 ในระยะต่อมา 

 
        เดเนียล รัดจ์ (Daniel Rudge) เป็นผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรม Tiger Inn แถบสต๊าฟฟอร์ดไชร์ (Staffordshire) และเป็นเจ้าของที่ดินย่านถนนเชิร์ช (Church street) แถบวูล์เวอร์แฮมตัน (Wolverhampton)  เดเนียล หรือ แดน ชอบการแข่งขันจักรยาน เขากับเพื่อนช่วยกันผลิตจักรยานทรงสูงเพื่อแข่งขัน พร้อมกับปรับปรุงลูกปืนล้อ (Wheel bearing) ต่อมาเขาได้จดสิทธิบัตรตลับลูกปืน (Ball bearing) มีผู้สนใจต้องการจักรยานทรงสูงของเขามาก เขายิ่งสร้างชื่อเสียงเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยการแข่งจักรยานชนะเลิศ. เขาจึงตัดสินใจผลิตจักรยานทรงสูงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ.1874) กล่าวกันว่าจักรยานของเขาดีที่สุดในยุคนั้น ในปีพ.ศ.๒๔๒๑ (ค.ศ.1878) เขาได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานแสดงโชว์จักรยานแข่งขันในกรุงลอนดอน.

        แต่ทว่าเขามีอายุสั้น เพียงแค่ ๔๐ ปีเศษ เดเนียล รัดจ์ก็ถึงแก่อนิจกรรม ภรรยาม่ายได้ดำเนินธุรกิจต่อไปเพียงระยะสั้น ๆ ก็ขายกิจการให้ผู้สนใจ มีการย้าย และควบรวมกับบริษัทอื่นหลายทอด ท้ายที่สุดก็ตั้งรูปแบบธุรกิจเป็นบริษัทจำกัดขึ้นชื่อ D. Rudge & Co. โดยมีสถานประกอบการอยู่ที่ครอว์ เลน (Crow Lane) เมืองโคเวนทรี้ (Coventry) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท รัดจ์ ไซเคิล จำกัดขึ้น (Rudge Cycle Co., Ltd.) เป็นบริษัทมหาชนด้วยทุนจดทะเบียนสองแสนปอนด์ และได้ตั้งตัวแทนจำหน่ายจักรยานรัดจ์ขึ้นที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา.

        บริษัท รัดจ์ ไซเคิล จำกัด มีผู้บริหารสำคัญชื่อ จอร์จ วู้ดคอร์ค (George Woodcock) ซึ่งได้ทำภารกิจสำคัญอย่างลุล่วง ให้รัดจ์มีชื่อเสียงต่อ ๆ มา. บริษัทรัดจ์ฯ ได้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน (Original Equipment Manufacturer-OEM) จักรยานสำคัญ ๆ ให้แก่จักรยานหลายยี่ห้อเช่น ฮัมเบอร์, จักรยานน้ำหนักเบาที่เรียก "Bicylette", ร็อคเก็ต, โรด สกัลเลอร์, ยีราฟ (Giraffe) ของฝรั่งเศส.

        ภายหลังที่ จอร์จ วู้ดคอร์คถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ (ค.ศ.1891) ผู้บริหารชุดต่อมาได้บริหารงานผิดพลาดในหลาย ๆ เรื่อง (เรื่องสำคัญก็คือ ระบายจักรยานแบบครอสเฟรมที่ล้าสมัยไปจำหน่ายที่ฝรั่งเศส ซึ่งล้อจักรยานเป็นยางแบบตัน ปรากฎว่ามีนวัตกรรมจักรยานที่สูบลมยางได้มาแทน-pneumatic tyres ทำให้ขายไม่ได้) จนบริษัท รัดจ์ฯใกล้ล้มละลาย.

        บริษัท วิทเวิร์ธ ไซเคิล จำกัด โดยมีชาร์ล เอช. พัคห์ (Charles H. Pugh) เป็นกรรมการผู้จัดการ เข้ามากู้สถานการณ์ และต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๙ (ค.ศ.1896) ทั้งสองบริษัทได้รวมเป็นหนึ่งตั้งชื่อว่า บริษัท รัดจ์-วิทเวิร์ธ จำกัด  ผู้บริหารของบริษัทฯ ได้สร้างผลงานไว้เป็นเลิศ อีก ๒๐ ปีต่อมา ผู้บริหารของบริษัทและลูก ๆ หลาน ๆ ของเขาก็ได้เปิดสายการผลิตผลิตจักรยานที่สวยงามหลากหลาย มีความเป็นหนึ่งเดียว สนองต่อกษัตริย์จอร์จที่ ๕ และพระบรมวงศานุวงศ์ จักรยานที่ไว้แข่งบนถนนเพื่อประชันความเร็ว ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ กิจการของรัดจ์-วิทเวิร์ธก็ได้แตกสายการผลิตย่อยเป็น "รถมอเตอร์ไซค์" ที่มีชื่อเสียงและเป็นอีกหนึ่งในตำนานให้กับ "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" ในระยะต่อมา

 
  • ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ (ค.ศ.1914) - รัดจ์-วิทเวิร์ธ ได้ผลิตจักรยานสำหรับกองทัพอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

จักรยานรัดจ์-วิทเวิร์ธ รุ่นสำหรับทหารราบระดับกองพันของอังกฤษ ปี พ.ศ.๒๔๕๗ ในสงครามโลกครั้งที่ ๑
(1914 Rudge-Whitworth Military Model & Sussex Cyclist Battalion)
3
  • ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ (ค.ศ.1935) - กิจการของรัดจ์-วิทเวิร์ธ ก็ถูกซื้อโดยบริษัทจานเสียงที่ชื่อ "อีเอ็มไอ" และภายใต้การบริหารงานของ "แจ๊ค เลาเตอร์วอสเซอร์" การผลิตจักรยานก็ก้าวขึ้นถึงระดับโลก
  • อย่างไรก็ตาม "อีเอ็มไอ" ก็พิจารณาว่าธุรกิจด้านจักรยานนั้น "อีเอ็มไอ" ไม่ถนัดและไม่เหมาะกับธุรกิจหลักด้านจานเสียง จึงตัดสินใจขาย "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" ให้กับ "ราเล่ย์" ในปี ค.ศ.1943 (พ.ศ.๒๔๘๖) หลังจากที่ "ราเล่ย์" ได้ซื้อ "ฮัมเบอร์" เมื่อปี ค.ศ.1933 (พ.ศ.๒๔๗๖) และได้ซื้ออีกหลาย ๆ บริษัท เมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้มีการใช้ตราของรัดจ์และจานโซ่ (เป็นรูปมือ) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา




Rudge-Whitworth Sports ปี พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.1956)



โปสเตอร์โฆษณาจักรยานรัดจ์
(แสดงให้เห็นถึงการจัดจำหน่ายจักรยาน "รัดจ์" ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประเทศในแอฟริกาด้วย
โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ)

 
  • หลังจากนั้น "ราเล่ย์" ก็พัฒนาจักรยาน "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" ในสายพันธุ์ที่เรียกว่า "เลนตั้น (Lenton)" และ "คลับแมน (Clubman)" ต่อไป
  • ต่อมาชื่อของ "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" ก็ค่อย ๆ หายไป มาปรากฎให้เห็นอีกครั้ง ในการส่งออกรถจักรยานไปจำหน่ายต่างประเทศช่วงต้นของ ค.ศ.1960s (ราว พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๗) และปรากฎตรา  "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" เป็นจักรยานพับได้ในปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.๒๕๓๒)
    
จักรยาน "ราเล่ย์ เลนตั้น" (Raleigh Lenton)       และจักรยาน "ราเล่ย์ คลับแมน" (Raleigh Clubman)

ที่มาและหมายเหตุ:
1. จาก. http://www.classicrendezvous.com/British_isles/Rudge_main.htm.,วันที่สืบค้น: Oct.02, 2012.
2. จาก. http://veloweb.ca/2012/05/17/wondrous-wolverhampton-bicycle-history-recalls-the-golden-age-of-cycling/ ,วันที่สืบค้น: Oct.02, 2012.
3. จาก. bsamuseum.wordpress.com/ww1-military-bicycles-in-world-war-one-wwi/, วันที่สืบค้น 27 ธันวาคม 2557.
4. เดิมเป็นตราของ The Whitworth Co., Ltd. มาก่อน (An open hand with a cycle wheel behind) แล้ว D. Rudge & Co. มาร่วมใช้ตราด้วย
5. จาก. rudgewhitworth.wordpress.com/about/, วันที่สืบค้น 27 ธันวาคม 2557.
humanexcellence.thailand@gmail.com