First revision: Apr.01, 2012
Last revision: Jan.17, 2018
จักรยาน "ฮัมเบอร์" นับเป็นรายแรกที่พัฒนาเฟรมจักรยานแบบเพชร (Diamond Frame) มาใช้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้ผู้ผลิตจักรยานรายอื่น ๆ ผลิตจักรยานเฟรมเพชรใช้ในหลาย ๆ รุ่นจวบจนปัจจุบัน
จักรยาน "ฮัมเบอร์" คันซ้ายมือ (ถ่ายเมื่อ 1 มี.ค.55) ส่วนคันขวามือพบที่ร้านอาหารข้าง ๆ ม.ศิลปากร ทับแก้ว นครปฐม (ถ่ายเมื่อ พ.ย.54)
ทั้งสองคันเป็น "ฮัมเบอร์" รุ่น พระเจ้าจอร์จ (By Appointment to the Late King George VI) ได้รับรางวัลมา 7 รายการ ดูได้ดังภาพโปสเตอร์ข้างล่าง ตัวเฟรมทำด้วยเหล็กทนแรงดึงสูง (High tensile steel) รหัส 2030 (ซึ่งก็แน่นอนว่าสู้ไม่ได้กับเฟรมรถจักรยานปัจจุบันที่เป็นเฟรมโครโมลี -Cromoly) เป็นรุ่นผลิตในระยะที่ "ราเล่ย์" ได้เข้าครอบกิจการของ "ฮัมเบอร์" แล้ว
โทมัส ฮัมเบอร์, ที่มา: facebook "NVCC (for Veteran Tricycles)", วันที่สืบค้น 17 มกราคม 2561
โทมัส ฮัมเบอร์ (ถ่ายในปี พ.ศ.2433) จักรยานปั่นล้อหน้าในการขับเคลื่อน (Velocipede)
โทมัส ฮัมเบอร์ เกิดที่เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2384 เขามีความเป็นผู้ประกอบการ เป็นวิศวกร เป็นนักประดิษฐ์ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและต่อยอดสิ่งผู้อื่นคิดไว้แล้วมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ในช่วงต่อ ๆ มา กิจการ "ฮัมเบอร์" ได้ผลิตจักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ ที่มีหลากหลายประเภท (ในเว็บไซต์นี้ขอแสดงรายละเอียดในส่วนที่เป็นจักรยาน "ฮัมเบอร์" เท่านั้น)
โทมัส ฮัมเบอร์ได้ทำงานในโรงตีเหล็ก "วิลเลี่ยม แชมเปี้ยน" และทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรถักทอผ้า ต่อมาผู้บริหารโรงตีเหล็กได้ไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และซื้อจักรยานแบบดั้งเดิมที่ถีบปั่นล้อหน้าในการขับเคลื่อน (Velocipede) ของสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เออร์เนส และ เพแอร์ มิชูซ์ (Ernest & Pierre Michaux)7 (บางแหล่งอ้างอิงก็กล่าวว่า เพแอร์ นั้นเป็นบิดา ส่วน เออร์เนส เป็นบุตร)8 หรือที่เรียกว่า Michaux Velocipede ซึ่งทั้งสองได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "มิชัวดีน (Michaudine)".
โทมัส ฮัมเบอร์ ได้ปรับปรุงและออกแบบจักรยานใหม่ และในปี พ.ศ.2411 ก็ได้ผลิตรถจักรยาน "Safety bicycle" ที่ถีบปั่นล้อหลังในการขับเคลื่อน ความต้องการจักรยานที่ออกแบบใหม่นี้ล้นหลาม และในปี พ.ศ.2412 กิจการจักรยาน "ฮัมเบอร์" ก่อตั้งขึ้นโดย "โทมัส ฮัมเบอร์" (ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งสยาม) ที่เมืองบีสตั้น น็อตติ้งแฮมเชียร์
Safety Bicycle ฮัมเบอร์"เฟรมจักรยานแบบเพชร (Diamond-frame bicycle)" ในรุ่นแรก ๆ
ด้วยการผลิตจักรยานที่มีคุณภาพโดยการนำของ "โทมัส ฮัมเบอร์" กลายเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่ความนิยมชมชอบการปั่นรถจักรยานในบรรดาเหล่า "ราชิกุล" ของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) จนถึงกับพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งราชวงศ์วินเซอร์ของอังกฤษได้มีพระบรมราชานุญาตก ให้ประทับตราพระลัญจกร (Seal หรือ Coat of Arms) ไว้เหนือตราของรถจักรยานฮัมเบอร์ได้ ดังภาพข้างล่างนี้
มีหลักฐานที่ปรากฎให้เห็นถึงความนิยมปั่นรถจักรยานฮัมเบอร์ในบรรดาราชนิกุลทั้งหลายในยุโรปในช่วงปี ค.ศ. 1905 หรือ พ.ศ.2448 ดังภาพข้างล่าง
โดยใช้ภาพโฆษณาว่า "Royal Riders of Humber Bikes Circa 1905"
จากภาพข้างต้น หน้าสุดจากขวาไปซ้ายบางท่านดังนี้ 1) กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7, 2) ดยุ๊คแห่งคอร์นเวล, 3) ดัชเชสแห่งฟิฟ เป็นต้น และยังมี
กษัตริย์แห่งเบลเยี่ยม กรีซและขุนนางศักดินาทั้งหลายทั่วทั้งสหราชอาณาจักร มาร่วมปั่นจักรยาน "ฮัมเบอร์" ด้วย
เหตุการณ์สำคัญ ๆ ของประวัติจักรยาน "ฮัมเบอร์" มีดังนี้
- ปี พ.ศ.2430 - โทมัส ฮัมเบอร์ ก็ขายกิจการจักรยานให้แก่ "โยเซฟ ฮอร์ตั้น" ผู้เป็นเจ้าของกิจการ "บริษัท โยเซฟ เดวี้ จำกัด" อยู่แล้ว นับเป็นการสิ้นสุดของการเข้ามาเกี่ยวพันโดยตรงของ "โทมัส ฮัมเบอร์" ที่มีต่อกิจการจักรยานที่เขาพัฒนาขึ้นมา (บางรายงานกล่าวว่า เขาสิ้นสุดการเกี่ยวพันกับ "ฮัมเบอร์" ในปี พ.ศ.2435)
- ในปีเดียวกัน - จักรยาน "ฮัมเบอร์" ก็เข้าเป็นหุ้นส่วนกับ "แมรีอ็อต แอนด์ คูเปอร์" ซึ่งมี "แดเนียล รัดจ์-Daniel Rudge" เป็นเจ้าของ (ผู้เป็นเจ้าของตำนาน บริษัท รัดจ์ วิทเวิร์ธ ไซเคิล จำกัด - เป็นบริษัทผู้ผลิตจักรยานรายสำคัญที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งของอังกฤษ) และได้ผลิตจักรยาน "ฮัมเบอร์" ที่เมืองวูล์ฟเวอร์แฮมตัน ผลิตคู่ขนานไปกับโรงงานที่เมืองบีสตั้น น็อตติ้งแฮมเชียร์
- ปี พ.ศ.2433 - "ฮัมเบอร์" ได้นำ "เฟรมจักรยานแบบเพชร (Diamond-frame bicycle)" ที่คิดค้นโดย เอส.เอช. วอร์ด มาพัฒนาต่อยอดเป็นเฟรมหลักของ "ฮัมเบอร์" ในรุ่นต่อ ๆ ไป
- ปี พ.ศ.2434 - ชาร์ลส์ เทอร์รอนท์ ชนะการแข่งขันจักรยานทางไกลของโลก ระหว่าง "ปารีส-เบรส-ปารีส" เขาได้ขี่จักรยาน "ฮัมเบอร์" เข้าเส้นชัย ซึ่ง "ฮัมเบอร์" ได้ผลิตจักรยานต้นแบบที่ใช้ยางรถชนิดใช้ลมที่เปลี่ยนได้ (Removable pneumatic tyres) ที่ทำโดยมิชลิน (Michelin)
- ช่วงปี พ.ศ. 2434-5 - "ฮัมเบอร์" ก็ประสบปัญหาทางการเงิน มีพ่อมดทางการเงินในยุคนั้น "เทร่าห์ ฮูเล่" ได้เข้ามาซื้อกิจการ "ฮัมเบอร์" ในปี พ.ศ.2435
- ปี พ.ศ.2439 - แฮร์รี่ ลอว์สัน ได้ซื้อตราและลิขสิทธิ์ของ "ฮัมเบอร์" ไป
- ปี พ.ศ.2441 - "ฮัมเบอร์" ได้ผลิตจักรยานรุ่น "บีสตั้น ฮัมเบอร์" เฟรมเป็นอลูมิเนียม ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรก
- ปี พ.ศ.2443 - "ฮัมเบอร์" ก็ย้ายมาผลิตย่านสโต้ค เมืองโคเวนทรี้
- ในปี พ.ศ.2443 - ด้วยกำลังการผลิตจักรยานจำนวนมากในหลาย ๆ โรง (โรงงานที่น็อตติ้งแฮม, บีสตั้น, วูล์ฟเวอร์แฮมตัน และโคเวนทรี้) ทำให้ "ฮัมเบอร์" กลายเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ
- ปี พ.ศ.2449 - "ฮัมเบอร์" ได้ออกจำหน่ายจักรยานรุ่นที่มี 3 เกียร์
- ปี พ.ศ.2454 (ค.ศ.1911) - "ฮัมเบอร์" ผลิตจักรยานสำหรับใช้งานด้านการทหารให้แก่กองทัพอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1
จักรยาน "ฮัมเบอร์" สำหรับงานไปรษณีย์/เอกสารทางการทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2454)
(1911 Humber Despatch Rider's Bicycle)9
จักรยาน"ฮัมเบอร์" รุ่น "เดอะซูเพิร์บ บีสตั้น" (The Superb Humber Beeston Humber Model)
รุ่นพระเจ้าจอร์จ
บีสตั้น ฮัมเบอร์ ปี พ.ศ.2464 พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งราชวงศ์วินเซอร์ สหราชอาณาจักร
- เป็นจักรยานรุ่นที่มีชื่อเสียงรุ่นหนึ่งของ "ฮัมเบอร์" ผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1921 หรือ พ.ศ.2464 ซึ่งตรงกับปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 6 ของสยาม จักรยานรุ่นนี้ผลิตพร้อมกับเกียร์สเตอร์มี่ อาร์เชอร์ 3 เกียร์ จัดผลิตเพื่อสนองก ต่อพระเจ้าจอร์จที่ 5 ของอังกฤษ (The The Beeston Humber Gents Model No.1 with Three-Speed Gear As Supplied to H.M. King George V)
ใช้เกียร์ โมเดล-เค ของสเตอร์มี่ อาร์เชอร์ มี 3 เกียร์ (Sturmey Archer Model K, Low-N-High)
- เป็นที่ทราบกันดีและโดยทั่วไปว่า สมาชิกในราชนิกุลทรงโปรดการปั่นจักรยานมาก ประกอบด้วยพระเจ้าจอร์จที่ 5, ดยุ๊กแห่งคอนนอจ์ท, เจ้าหญิงหลุยส์, ดยุ๊กและดัชเชสแห่งคอร์นวอลและยอร์ค, ดัชเชสแห่งฟิฟ, และเจ้าหญิงม้อดรวมทั้งเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเวลส์ ต่างรวมกลุ่มราชนิกุลปั่นจักรยานที่มีชื่อเสียงระดับโลก "ฮัมเบอร์" นี้ขึ้น
- พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงปั่นก จักรยาน "ฮัมเบอร์" นี้มาหลายปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1898 หรือ พ.ศ.2441 (ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ดำรงพระอิสริยายศก เป็น ดยุ๊กแห่งยอร์ค) พระองค์เคยทรงขับจักรยานยนต์สามล้อของ "ฮัมเบอร์" มาก่อนอีกด้วย
- หลังจากที่ "ฮัมเบอร์" ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประทับตราพระลัญจกร (Seal หรือ Coat of Arms) ไว้เหนือตราของรถจักรยานได้นั้น "ฮัมเบอร์" ได้แสดงตราพระลัญจกรดังกล่าวไว้ร่วมเก้าสิบปี บนส่วนต่าง ๆ ของจักรยาน เช่น คอแกนหมุนแฮนด์และล้อหน้าจักรยาน (Headstock) กรอบเหล็กกันโคลนด้านหลัง (Rear mudguard) และฝาเหล็กที่ครอบโซ่ (Chaincase) ซึ่งเห็นและอ่านได้ชัดเจน
รายละเอียดในแคตตาล็อกจักรยาน "ฮัมเบอร์" รุ่นพระเจ้าจอร์จ ปี ค.ศ.1921
- บทนำ เป็นเวลาถึง 53 ปี นับตั้งแต่ที่จักรยาน "ฮัมเบอร์" คันแรกได้นำออกจำหน่ายและได้สร้างชื่อเสียงเกียรติประวัติสืบต่อ ๆ มานั้น 53 ปีของเรานับเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และเป็นประสบการณ์ในการผลิตจักรยาน ซึ่งได้นำเราไปสู่จักรยานรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ครอบครองมีฐานะที่สูงส่งอย่างสมบูรณ์ เราไม่ได้เก็บ (กั๊ก) ความพยายามอื่นใดเหลือไว้อีกเลยในการเปลี่ยนและปรับปรุงในทุก ๆ รายละเอียด ด้วยความตั้งใจหรือใส่ใจต่อรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อผลักดันและยกระดับตลาด (อุตสาหกรรม) จักรยานให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งปรากฎให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสูง สะดวกสบายในการปั่น อย่างไร้ผู้เปรียบเทียบ
- ข้อแนะนำในการปรับปรุงและดูแลจักรยาน "ฮัมเบอร์" ทุกชิ้นส่วนได้มีการปรับแต่งไว้ถูกต้องแล้ว ก่อนที่จักรยานจะนำออกจากโรงงานของเรา และไม่ควรมีการปรับแต่งใด ๆ หากไม่จำเป็นจริง ๆ ท่านควรจำไว้ด้วยว่าทุกน็อตและสกรู ยกเว้นที่เหยียบด้านซ้าย (Left pedal) (ที่สกรูเข้าไปในข้อเหวี่ยง-Crank) เป็นเกลียวหมุนวนขวา (The right-hand threads) - ตัวอย่างเช่น เราควรหมุนหรือขันตามเข็มนาฬิกาเพื่อทำให้สกรูและน็อตนั้นแน่น
- ด้ามจับจักรยานไว้สำหรับหันเลี้ยว (Handlebar) ปรับแต่ง - หรือผ่อนน็อตบนหัวเข็มคลิ๊บและจัดน็อตเล็ก ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกับเหล็กแกนเบรคให้เข้าไปในแกนท่อ ด้ามจับจักรยานฯ ก็สามารถปรับยกขึ้นลงได้ตามที่ต้องการด้วยการขันน็อตให้แน่น
- หัวบอลตรงด้ามจับ (Ball Head) ผ่อนน็อตหกแฉกด้านบนของหัวบอล ด้วยเครื่องมือที่เอาน็อตออก (The peg spanner) ที่เราได้จัดเป็นชุดเตรียมไว้ให้ท่าน ล็อคหัวน็อตให้แน่นไว้ (ทดลองปั่น-ปรับไปปรับมา) จนกว่าการสั่นสะเทือน(ที่เกิดจากการปั่นแล้วทำให้ด้ามจับจักรยานสั้นผิดปกติ) จะหายไป จากนั้นจึงล็อคน็อตหกแฉกให้แน่น
- ปี พ.ศ.2475 - "ราเล่ย์" ได้เข้าซื้อกิจการของ "ฮัมเบอร์"
จักรยาน "ฮัมเบอร์ สปอร์ตส์" รุ่นปี พ.ศ.๒๔๙๐ (ค.ศ.1947) วงล้อ 26" 3 สปีด ได้ปรับแต่งใหม่ สามารถใช้ปั่นทัวริ่งได้
ที่มาและหมายเหตุ:
1. จาก. en.wikipedia.org/wiki/Humber_(bicycle)
2. จาก. www.oldbike.eu/humber
3. จาก. www.gracesguide.co.uk/humber:_cycles
4. จาก. oldbike.wordpress.com
5. จาก. www.oldbike.eu/museum/1921-beeston-humber-gents-no-1/
6. จาก. http://3speedtouringinjapan.blogspot.com, วันที่สืบค้น ๑๕ เมษายน ๒๕๕๖.
7. จาก. oldbike.wordpress.com/3-bicycle-history-the-vade-mecum-1885/, วันที่สืบค้น ๑๙ มกราคม ๒๕๕๗.
8. จาก. en.wikipedia.org/wiki/Pierre_Michaux, วันที่สืบค้น ๑๙ มกราคม ๒๕๕๗.
9. จาก. bsamuseam.wordpress.com/ww1-military-bicycles-in-world-war-one-wwi/, วันที่สืบค้น ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๗.
หมายเหตุ:
ก. ผู้เขียนอาจใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนและหรือขาดความสมบูรณบ้าง ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
หากผู้สนใจท่านใดต้องการติชม เพิ่มเติม ปรับปรุง ตัดทอน เพื่อความเหมาะสมและสมบูรณ์ของข้อมูล เชิญส่งข้อความมาได้ที่ info@huexonline.com หรือ www.facebook.com/human.excllence ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
อภิรักษ์ กาญจนคงคา