First revision: Mar.25, 2012
Last revision: Jul.19, 2018
ตราและเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจักรยานราเล่ย์ ช่วง พ.ศ.2433-2441 (ค.ศ.1890-1898)
ตราจักรยานนกกระสาราเล่ย์ (Raleigh Heron Badge) ในปัจจุบัน
จากสื่อโฆษณาทางภาคเหนือ คำว่า "บ่ปุดตืน" แปลว่า ราคาไม่ตก
ร้านซ่อม/ขายจักรยานที่เมืองยอร์ชทาวน์ ปีนัง มาเลเซีย ติดโลโก้ราเล่ย์และโรบินฮู้ดไว้,
ถ่ายเมือ 23 ตุลาคม พ.ศ.2558, ที่มา: www.pinterest.com
จากซ้ายไปขวา: ราเล่ย์ โรดสเตอร์ DL 1 (2 ภาพแรก) และ ราเล่ย์คลาสิก เดอลุกซ์ (รุ่นปี 2012)
จักรยานราเล่ย์ บ้างก็เรียก "ราลี่ย์" บ้างก็เรียก "ราเล่ห์" (ในบล็อกนี้จะขอใช้คำว่า "ราเล่ย์") ได้ผลิตขึ้นโดย บริษัทราเล่ย์ไบซิเคิล ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตจักรยานเก่าแก่ที่สุดของโลก.
"ราเล่ย์" ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นปี พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888) โดยเซอร์ แฟรงค์ โบว์เด้น (Sir Frank Bowden) ซึ่งตรงกับสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5 ของสยาม).
เซอร์ แฟรงค์ โบว์เด้น ร่ำรวยจากการเล่นหุ้นในลอนดอน ขณะเมื่อมีอายุเพียง 24 ปี และเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ท่านมีอายุได้ 38 ปี ก็เริ่มปั่นจักรยานเพื่อออกกำลัง โดยการแนะนำของแพทย์ว่าจะเป็นการดีต่อสุขภาพ ซึ่งท่านก็ประทับใจในการปั่นจักรยานนี้มาก. ต่อมาไม่นานท่านจึงได้ตกลงใจซื้อกิจการจักรยานมาจากกลุ่มผู้ประกอบการชาวอังกฤษและฝรั่งเศส (Messrs.Woodhead, Angois และ Ellis).
ท่านได้ตั้งฐานการผลิตที่ถนนราเล่ย์ เมืองน็อตติ้งแฮม (Raleigh street, Nottingham) ซึ่งเป็นตำนานและเป็นปฐมบทอันก้องโลกของ "จักรยานราเล่ย์" การผลิตของ "ราเล่ย์" ซึ่งเดิมผลิตได้สัปดาห์ละ 3 คันเท่านั้น และได้ผลิตเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ได้ขยายการผลิตไปที่อาคารสี่ชั้นย่านถนนรัสเซล และภายใน 6 ปี "ราเล่ย์" ก็กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต่อมาก็ขยายโรงงาน มาตั้งที่ย่านถนนฟาราเดย์ เลนตั้น น็อตติ้งแฮม.
คนซ้ายมือสุดคือ เซอร์ แฟรงค์ โบว์เด้น ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.2443 (ค.ศ.1900)
ท่านเซอร์ แฟรงค์ โบว์เด้น ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2464 (ค.ศ.1921) บุตรชายก็รับช่วงกิจการต่อ และได้ขยายกิจการไปเรื่อย ๆ ในอีก 17 ปีต่อมา.
จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ "ราเล่ย์" :-
- พ.ศ.2428 - สองผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศส เมอสิเออร์ รีชาร์ด์ มอร์รีส์ วูเดด (Messrs. Richard Morris Woodhead) และ ปอล อือจือนี่ อังกัวส์ (Paul Eugene Angois) เริ่มผลิตจักรยานในโรงผลิตเล็ก ๆ ย่านถนนราเล่ย์. และต่อมามีชาวอังกฤษชื่อ วิลเลี่ยม เอลลิส (William Ellis) ได้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยการสนับสนุนเงินทุน
- พ.ศ.2430 - อัลเฟรด มิลวาร์ด เรโนลด์ ได้ประดิษฐ์กระบวนการประชิดส่วนปลายของท่อจักรยาน.
- พ.ศ.2431 - บริษัทราเล่ย์ไซเคิล จำกัด จัดตั้งขึ้นที่ถนนรัสเซล เมืองน็อตติ้งแฮม.
- พ.ศ.2431 - เซอร์แฟรงค์ โบว์เด้น ซื้อกิจการจักรยานย่านถนนราเล่ย์จาก เมอสิเออร์ รีชาร์ด์ มอร์รีส์ วูเดด, ปอล อือจือนี่ อังกัวส์ และ วิลเลี่ยม เอลลิส แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทราเล่ย์ไซเคิล จำกัด ณ จุดนี้ "ราเล่ย์" มีพนักงานลูกจ้าง 12 คน ผลิตจักรยานได้ 3 คันต่อสัปดาห์. ท่านได้เจรจาตกลงกับผู้ถือหุ้นเดิมเรียบร้อย ต่างก็มีหุ้นส่วนในบริษัทราเล่ย์ฯ มากน้อยแตกต่างกันไป และให้ ปอล อังกัวส์ เป็นกรรมการรับผิดชอบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์, รีชาร์ด์ วูเดด รับผิดชอบด้านการจัดการการผลิต ส่วนท่านแฟรงค์ โบว์เด้น เป็นประธานและกรรมการผู้จัดการ.
- พ.ศ.2432 - เรโนลด์ ได้จดสิทธิบัตรกระบวนการประชิดส่วนปลายของท่อจักรยาน และตั้งเป็นบริษัท เพเต่นต์ บัตเต็ด ทิว จำกัด (The Patented Butted Tube Company).
- พ.ศ.2438 - นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน "เทร่า ฮูเล่ย์" ได้เข้ามาซื้อหุ้น ควบคุมกำกับผลประโยชน์ของ "ราเล่ย์".
- พ.ศ.2439 - เฟรด แฮนสต๊อค ได้จัดทำจักรยาน "คาร์ลตัน" ขึ้นที่เมืองคาร์ลตัน ประเทศอังกฤษ.
ปัจจุบันจักรยาน "คาร์ลตัน" เป็นหนึ่งในจักรยานตระกูล "ราเล่ย์" (ท่านผู้อ่านคงพอจะจำชื่อ "ปรีดา จุลละมณฑล" ซึ่งเป็นนักปั่นน่องเหล็กที่มีชื่อเสียงของไทยได้ คุณปรีดาก็มักนิยมใช้ "คาร์ลตัน" ปั่นแข่งขัน)
- พ.ศ.2439 - "ราเล่ย์" ได้กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเนื้อที่ราว ๆ 18.97 ไร่ (7.5 เอเคอร์) มีคนงานราว 850 คน และมีกำลังการผลิต 30,000 คันต่อปี.
ช่วงหนึ่งของตราจักรยานราเล่ย์ ได้จัดวางไว้เป็นภาพลักษณ์หรือรูปขุนนางอังกฤษท่านหนึ่ง
คนไทยมักจะเรียกว่า "คุณลุงราเล่ย์" หรือ "ตาแป๊ะ"
- พ.ศ.2443 - จักรยานที่ทำจากเหล็กกล้าทั้งคัน (The All-Steel Bicycles).
- พ.ศ.2445 - "ราเล่ย์" ได้ซื้อบริษัททำเกียร์ วงล้อ ซี่ล้อ และ ไดนาโม ฮับ (แกนวงล้อที่เป็นเครื่องปั่นไฟเล็ก ๆ) ชื่อ "สเตอร์มี่-อาร์เชอร์" (Sturmey-Archer).
- พ.ศ.2447 - "ราเล่ย์เน็ตต์" {จากการศึกษาในหลาย ๆ สื่อ ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์ได้ว่า หมายถึง การที่ราเล่ย์เริ่มควบรวมสายโซ่อุปทาน (Supply chain) และจัดวางกลยุทธ์ระดับกิจการ (Corporate Strategy) เพื่อการเติบโต (Growth) และบูรณาการทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง (Horizontal and vertical integration) เข้าผนวกเป็นของ "ราเล่ย์" เอง โดยเริ่มต้นจากการซื้อ "สเตอร์มี่-อาร์เชอร์" และหมายถึง การเติบโตขยายไปยังธุรกิจอื่น}.
- พ.ศ.2448 - ผลิตรถจักรยานยนต์.
- พ.ศ.2449 - เข้าครอบครองกิจการ "บริษัท โรบินฮู้ด ไซเคิล จำกัด".
- พ.ศ.2457 - ผลิตจักรยานได้มากกว่า 50,000 คัน.
- ช่วงพ.ศ.2457-2461 - ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลิตยุทโธปกรณ์ให้กองทัพอังกฤษเป็นจำนวนกว่า 400 ล้านชิ้น.
จักรยานราเล่ย์ สำหรับกองทัพอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457-ค.ศ.1914)6
- พ.ศ.2463 - เข้าครอบครองบริษัท น็อตติ้งแฮม เพรสเวิร์ค.
- พ.ศ.2464 - เซอร์ แฟรงค์ โบว์เด้นถึงแก่อนิจกรรม. บุตรชาย เซอร์ฮาโรลด์ โบว์เด้น (Sir Harold Bowden) ได้รับช่วงการบริหารและขยายกิจการต่อมาอีก 17 ปี.
เซอร์ ฮาโรลด์ โบว์เด้น (9 กรกฎาคม พ.ศ.2423 - 24 สิงหาคม พ.ศ.2503)
- พ.ศ.2464 - เริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตรถจักรยานยนต์อีกครั้ง.
- พ.ศ.2466 - บริษัท เพเต่นต์ บัตเต็ด ทิว จำกัด (The Patented Butted Tube Company) เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท เรโนลด์ส์ ทิว จำกัด.
- พ.ศ.2468 - โรงงาน "ราเล่ย์" เพิ่มเนื้อที่เป็น 50.59 ไร่ (20 เอเคอร์).
- พ.ศ.2471 - ผลิตจักรยานได้ 114,072 คัน.
- พ.ศ.2474 - เปิดสำนักงานใหญ่ย่านเลนตัน.
- ช่วง พ.ศ.2473-2482 - โรงงานผลิตจักรยาน "คาร์ลตัน" ได้ค่อย ๆ ขยับการย้ายสถานที่ผลิตและเพิ่มสาธารณูปการให้รองรับการผลิตได้มากขึ้น.
- ช่วง พ.ศ.2474-2479 - ผลิตรถเซฟตี้ เซเว่น.
รถเซฟตี้เซเว่น (ซึ่งมีผู้นำมาแสดงที่แคนาดา)
- พ.ศ.2475 - "ราเล่ย์" ได้เข้าซื้อกิจการจักรยาน "ฮัมเบอร์".
- พ.ศ.2477 - เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ราเล่ย์ อินดัสทรี้ จำกัด"
- พ.ศ.2478 - วงการจักรยานของอังกฤษได้มีการพัฒนาเฟรมจักรยาน ด้วยวัสดุที่เป็น "แมงกานีส-โมลีดีนัม" (แมง-โมลี) ใช้ชื่อว่า "เรโนลด์ส์ 531"
- พ.ศ.2479 - ราเล่ย์หยุดผลิตจักรยานยนต์
รถจักรยานยนต์ราเล่ย์ รุ่น บีแสตน 800 ซีซี. ปี พ.ศ.2467 (ค.ศ.1924)
- พ.ศ.2480 - "สเตอร์มี่-อาร์เชอร์" พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ "ไดโนฮับ".
- พ.ศ.2481 - ส่งออกจักรยานไปแคนาดา.
- พ.ศ.2482 - ผลิตจักรยานได้ 409,479 คัน.
- ช่วงปี พ.ศ.2482-2489 - ผลิตยุทโธปกรณ์สำหรับใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้รัฐบาลอังกฤษ.
- ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ราเล่ย์ได้ผลิตจักรยานตระกูล "All Black" สีดำทั้งคัน ทั้งนี้จักรยานจะมีสีฉูดฉาดเตะตาไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเป้าล่อให้เครื่องบินเยอรมันยิงเอา.
- พ.ศ.2486 - ซื้อบริษัทผลิตจักรยาน "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" (Rudge-Whitworth) หรือจักรยานตรามือ.
รัดจ์-วิทเวิร์ธ สปอร์ต ปี พ.ศ.2494 (ค.ศ.1951)
- พ.ศ.2486 - เข้าครอบครองกิจการบริษัท แกรด.ยูล เปย์เม้นต์ จำกัด.
- พ.ศ.2489 - ขยายโรงงานเป็น 70.83 ไร่ (28 เอเคอร์) มีคนงานราว 5,000 คน.
- พ.ศ.2489 - ผลิตจักรยานสามล้อเด็กเล่น "วิงเกิล".
- ช่วงปี พ.ศ.2490-2491 - ตั้ง "บริษัท ราเล่ย์ อินดัสตรี้ฯ" ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา.
- พ.ศ.2492 - ตั้ง "บริษัท ราเล่ย์ อินดัสตรี้ฯ" ในประเทศอินเดีย.
- พ.ศ.2493 - ตั้ง "บริษัท ราเล่ย์ อินดัสตรี้ฯ" ในประเทศแอฟริกาใต้.
- พ.ศ.2494 - ผลิตจักรยานได้ 1,010,077 คัน.
- พ.ศ.2495 - "ดยุกแห่งเอดินเบอระ" เปิดโรงงานใหม่ขนาด 101.18 ไร่ (40 เอเคอร์) โดยมีคนงานรวม 7,000 คน.
- พ.ศ.2496 - ซื้อบริษัทผลิตจักรยาน "ไทรอัมพ์"
จักรยาน "ไทรอัมพ์ โรดสเตอร์ กลอเรีย" ปี พ.ศ.2474
- พ.ศ.2498 - ตั้ง "บริษัท ราเล่ย์ อินดัสตรี้ฯ" ในประเทศแคนาดา.
- พ.ศ.2500 - ซื้อบริษัทผลิตจักรยานตราอาวุธ "บีเอสเอ".
จักรยาน "บีเอสเอ แอร์บอร์น" BSA-Airborne
(จักรยานพับได้สำหรับทหารจรยุทธ์เคลื่อนที่เร็วของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2) ปีพ.ศ.2497 (ค.ศ.1954)
- พ.ศ.2501 - ผลิตรถจักรยานติดเครื่องยนต์ "ราเล่ย์ โม-เพ็ด" (Raleigh Mo-ped) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "RM1".
- พ.ศ.2503 - "ราเล่ย์" กับ "ทิวป์ อินเวสเม้นต์ กรุ๊ป" ควบกิจการกัน แล้วจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ "ทีไอ-ราเล่ย์".
- พ.ศ.2508 - ผลิต "RSW16" จักรยานราเล่ย์ล้อเล้กขนาด 16 นิ้ว พับได้.
- พ.ศ.2510 - เข้าครอบครอง "บริษัท มอลตั้น ไซเคิล".
- พ.ศ.2510 - เข้าครอบครอง "บริษัท ค็อกซ์ แอนด์ โค (วัตฟอร์ด)" ผู้ผลิตเบาะจักรยานยนต์ เบาะจักรยานช็อปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์.
- พ.ศ.2511 - สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งอังกฤษ เสด็จเยี่ยมชมโรงงาน "ราเล่ย์".
- พ.ศ.2512 - ผลิตรถเข็นสำหรับเด็กอ่อน "ดรีมไลน์"
- พ.ศ.2513 - ผลิตจักรยาน "ช็อปเปอร์".
- พ.ศ.2513 - ต่อมาเป็นยุคอุตสาหกรรมจักรยานยนต์เฟื่องฟู ราเล่ย์เริ่มกลับมาผลิตจักรยานยนต์อีกครั้ง อุตสาหกรรมโดยรวมของจักรยานยนต์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ราเล่ย์ ไทรอัมพ์ ฮัมเบอร์ รัดจ์-วิทเวิร์ท และอีกหลาย ๆ บริษัทที่ผลิตรถจักรยานยนต์ในยุโรปต้องเผชิญกับคู่แข่งขันที่แข็งแกร่ง จิ๋วแต่แจ๋ว ราคาถูก ประหยัดน้ำมัน ออกแบบดี เปลี่ยนรุ่นบ่อยของญี่ปุ่น เช่น ฮอนด้า ยามาฮ่า คาวาซากิ และซูซุกิ กอปรกับสถานการณ์ราคาน้ำมันได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นจึงได้เปรียบ ทำให้อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ของยุโรปหลาย ๆ ยี่ห้อ ก็ค่อย ๆ ปิดตัวลง และหนึ่งในนั้นก็คือ "ราเล่ย์".
จักรยานราเล่ย์ในประเทศไทย
ย้อนหลังไปปี พ.ศ.2462 หรือ 90 กว่าปีมาแล้ว มีผู้ประกอบการที่เริ่มจากการให้บริการรับซ่อมจักรยาน รับปะยางใต้ต้นโพธิ์หน้าวัดตึกจีน (บ้างก็เรียกวัดญาน) (ตลาดน้อย) (หากเดินเลาะมาจากสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือจอดรถไว้ในวัดไตรมิตรฯ แล้วเดินมาทางถนนเจริญกรุง 20 หรือ 22 ประมาณ 15 นาที) ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เก็บหอมรอบริบ ก็ได้ซื้อห้องแถวหน้าวัดตึกจีน 5 ห้อง แล้วนำเข้ารถจักรยาน "ราเล่ย์" มาจำหน่าย ภายใต้ชื่อ "เซ่งง่วนฮง ตลาดน้อย"
ตราเซ่งง่วนฮง ตลาดน้อย ติดที่แกนท่อเฉียงล่างหน้าของจักรยานราเล่ย์ทุกคัน
ขณะเดียวกันที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีตัวแทนจำหน่ายจักรยาน "รัดจ์-วิทเวิร์ธ" และ "ราเล่ย์" ซึ่งระบุในใบโฆษณาว่า เป็นผู้จำหน่ายแห่งเดียวในภาคใต้. โดยนำเข้ามาจากมาเลเซีย ชื่อ "บริษัท อุทัย พานิช" ตั้งอยู่ที่ 4 ถนนนิพัทธ์อุทิศ หาดใหญ่ (มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า WU THYE CO. Sole Distributors for South Siam) เพราะสะดวกกว่า โดยมีตรา "พระ-นางรำไทยคู่หนึ่ง" ติดที่แกนท่อเฉียงล่างหน้าของจักรยานทุกคัน.
ราคาจักรยานราเล่ย์ในสมัยนั้นสูงมากถึงคันละ 800-1,200 บาท โดยทั่วไปแล้ว รถจักรยานนำเข้าจากยุโรปจะใหญ่เทอะทะเมื่อเทียบกับสรีระคนไทย รุ่นที่ขายดีที่สุดจะเป็นแบบผู้หญิง วงล้อขนาด 26 นิ้ว กว้าง 1 + 3/8 นิ้ว (หรือ 590 มม.-มาตรขนาดวงล้อมาตรฐานใหม่) ราเล่ย์ขายดีมากถึงกับทุกจังหวัดมีตัวแทนจำหน่าย.
จุดเปลี่ยนก็มาถึงในช่วงปี พ.ศ.2520 กว่า ๆ มีคนนิยมรถจักรยานยนต์กันมาก จักรยานเริ่มขายไม่ออก ออร์เดอร์สุดท้ายคือ ราเล่ย์รุ่นปี พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984) ร้านจึงหยุดกิจการ หันมาผลิตและประกอบรถยนต์ "มิตซูบิชิ" แทน ภายใต้ชื่อ "สิทธิผลมอเตอร์".
คุณทนง ลี้อิสสระนุกูล (ผู้รับช่วงธุรกิจจักรยานของตระกูล) กรรมการผู้จัดการบริษัท สิทธิผล 1919 จำกัด
กับราเล่ย์-ผู้หญิง ล้อ 26" สี Rich Burgundy.
เมื่อต้นปี พ.ศ.2554 เซ่งง่วนฮง เริ่มกลับมาทำธุรกิจรถจักรยานอีกครั้ง โดยเริ่มนำเข้า "มอนทานเต้" มีหลายรุ่น ส่วนใหญ่ออกแนวรถจักรยานวินเทจ หรือ คลาสิก เดอลุกซ์ สัญชาติอิตาลี เข้ามาจำหน่ายก่อน และปัดฝุ่นนำจักรยาน "ราเล่ย์" ที่เก่าเก็บมาจำหน่าย ปัจจุบันยังเหลืออีกไม่มากนัก เป็นแบบผู้หญิง วงล้อ 26" มีทั้ง "ราเล่ย์" และ "ฮัมเบอร์" โดยทั่วไปมีสองสี สีแรกคือ สีแดงไวน์องุ่นเบอร์กันดีเข้ม (Rich Burgundy) และสีเขียวทหาร (Regency green).
ที่มาและหมายเหตุ:
1. จาก. en.wikipedia.org/wiki., วันที่สืบค้น 25 มีนาคม 2555 - 26 ธันวาคม 2557.
2. จาก. oldbike.wordpress.com/9-bicycle-history-nottingham/, วันที่สืบค้น 25 มีนาคม 2555 - 26 ธันวาคม 2557.
3. จาก. www.raleigh.co.uk., วันที่สืบค้น 25 มีนาคม 2555.
4. จาก. nonlany.wordpress.com/2011/06/21/ตำนานราเล่ย์/, วันที่สืบค้น 25 มีนาคม 2555.
5. จาก. www.thaiscooter.com/forums/showthread.php?t=706814#.UfKEmneBV8E, วันที่สืบค้น 26 กรกฎาคม 2556.
6. จาก. bsamuseum.wordpress.com/ww1-military-bicycles-in-world-war-one-wwi/, วันที่สืบค้น 21 ธันวาคม 2557.
หากผู้สนใจท่านใดต้องการติชม เพิ่มเติม ปรับปรุง หรือตัดทอน เพื่อประโยชน์ในด้านความเหมาะสมและความสมบูรณ์ของข้อมูล ขอเชิญส่งข้อความมาได้ที่ info@huexonline.com และใคร่ขอขอบพระคุณมาล่วงหน้าครับ.
อภิรักษ์ กาญจนคงคา