Title Thumbnail: ภาพพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเหล่าเทพบนสวงสวรรค์ ที่มา: prachathai.com, วันที่เข้าถึง 21 ตุลาคม 2566, Hero Image: ภาพพระพุทธเจ้าในหนังสือมหายานปัญจขันธศาสตร์, ที่มา: www.gonghoog.com, วันที่เข้าถึง 21 ตุลาคม 2566.
พระพุทธศาสนา มหายานนิกาย บทที่ 01
First revision: Oct.21, 2023
Last change: Oct.22, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
หน้าที่ 01
มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์ หรือ มหายานศรัทโธตปาทะ (การตื่นรู้แห่งศรัทธาในพุทธศาสนานิกายมหายาน - Mahāyānasraddhotpatti - The Awakening of Faith in the Mahāyāna) หรือ ต้าเซิ่งชี่ซิ่นลุ่น เป็นกวีนิพนธ์ของฝ่ายมหายาน ซึ่งเชื่อกันว่า "พระอัศวโฆษะ (Asvaghosa)"
มหาสิทธาจารย์อัศวโฆษ, ที่มา: www.gonghoog.com, วันที่สืบค้น 10 มิถุนายน 2560.
ท่านเป็นผู้แต่ง "พุทธจริต-Buddhacarita" หรือ "จริยาแห่งพระพุทธองค์" ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญท่านหนึ่งในยุคเริ่มต้นของนิกายมหายาน มีผลงานมากมายทั้งด้านปรัชญาศาสนา บทละครและกวีนิพนธ์ ผลงานที่สำคัญทางปรัชญาและศาสนา เช่น สูตราลังการะ มหายานศรัทโธตปาทะ วัชรสูจี คัณฑีสโตรตระ ที่เป็นบทละคร เช่น ราษฎรปาละ ศาริปุตรปรกรณัม และที่เป็นกวีนิพนธ์ เช่น มหากาพย์เสานทรนันทระ และมหากาพย์พุทธจริต เป็นต้น นอกจากจะรจนางานเขียนไว้หลายเล่มแล้ว ท่านอัศวโฆษะยังเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับสานุศิษย์และนักดนตรีเพื่อขับลำนำอันเป็นเรื่องราวแห่งพระพุทธศาสนาและความไร้แก่นสารของชีวิตในที่ชุมนุมต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศคุณค่าอันเลิศล้ำแห่งพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ชนทั้งหลายที่สัญจรไป เมื่อได้ฟังต่างหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะถูกตรึงไว้ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจ) เป็นผู้แต่งกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตนี้ นับเป็น "บ่อเกิดของมหายาน" แต่ก็มีนักวิชาการหลายท่านแย้งว่ากวีนิพนธ์นี้มิได้แต่งโดยพระอัศวโฆษะ กวีนิพนธ์นี้ นัยว่าแต่งขึ้นเพื่อ "เปิดเผยคำสอนขั้นมูลฐานของพระพุทธเจ้าที่คนทั่วไปและพุทธศาสนิกนิกายหินยานเข้าใจคลาดเคลื่อน".
สาระสำคัญ01. : สรุปตามที่ อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ02. ได้กล่าวไว้ (ผมได้ปรับปรุงบางส่วน) ไว้ดังนี้
1. ความจริงแท้ ได้แก่ ตถตา (ความเป็นเช่นนั้น) คำว่า "ตถตา" มีความหมายหลายนัยจึงมีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ
ตถตา หมายถึง ความมีอยู่ขั้นสุดท้าย เรียกว่าภูตตถตา
ตถตา หมายถึง วิญญาณบริสุทธิ์ เรียกว่า โพธิปรัชญาหรืออาลยวิชญาณ
ตถตา หมายถึง สิ่งสัมบูรณ์ คือ ภาวะที่เป็นศูนย์รวมของสิ่งทั้งปวง เรียกว่า ธรรมกาย หรือ ธรรมธาตุ
ตถตา หมายถึง ความสุขอันไม่สิ้นสุด เรียกว่า ตถตาครรภ์???
2. ตถตา คือสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) เมื่อมองจากแง่สมมุติสัจจะหรือสัมพัทธนัย??? แต่เมื่อมองจากแง่ปรมัตถสัจจะหรือสัมบูรณนัย??? ตถตาก็คือ นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่อาจพรรณนาได้ด้วยคำพูดหรือภาษาพูดบรรยายได้ (อนีรวจนียะ) เพราะปัญญาขั้นเหตุผล (พุทธิปัญญา) ไม่สามารถเข้าถึงได้ และไม่อยู่ในขอบข่ายประพจน์สำหรับทำให้เข้าใจ (ปทารถะ - แปลว่าชนิดหรือประเภท-Category) สี่ประการ คือ
จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มี ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มี ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีและไม่มี ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานไม่เป็นสิ่งที่มีและไม่มี ก็ไม่ใช่
-----------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก: group.wunjun.com และ th.wikipedia.org/wiki/พุทธจริต, วันที่สืบค้น 10-14 มิถุนายน 2560.
02. ในเว็บไซต์ group.wunjun.com/agaliohome/topic/214576-5710 ได้อ้างถึงที่มาอีกทอดหนึ่งใน 1). www.pantown.com/group.php?display=content&id=43359&name=content10&area=3, 2) fws.cc/leavesofeden/index.php?topic=1413.0 และ 3) agaligohome.fix.gs/index.php?topic=246.new#new ซึ่งเปิดเข้าไม่ได้แล้ว, วันที่สืบค้น 13 มิถุนายน 2560.
หน้าที่ 02
3. เมื่อพูดว่า "สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกไม่ใช่สิ่งจริงแท้" หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงปรากฎการณ์ คือ เป็นสมมุติสัจจะเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความจริงแท้คือปรมัตถสัจจะ สิ่งสมบูรณ์หรือธรรมกายเป็นความจริงขั้นสูงสุด ปรากฎการณ์ทั้งปวงเป็นเพียงสัมพัทธ์คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัยให้เกิดเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามจะพูดว่าอวิชชาเป็นสิ่งไม่จริงเลยก็ไม่ได้ เพราะสิ่งไม่จริงไม่อาจเป็นปัจจัยให้เกิดเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามจะพูดว่าอวิชชาเป็นสิ่งไม่จริงเลยก็ไม่ได้ เพราะสิ่งไม่จริงไม่อาจเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งใด ๆ ได้ อวิชชานี้เป็นปัจจัยให้เกิดโลกแห่งวัตถุได้ ดังนั้น จึงอาจจัดอวิชชาว่าเป็นจริงได้ขั้นสมมุติสัจจะ แต่ไม่ใช่เป็นจริงขั้นปรมัตถสัจจะ.
4. ปัญญาขั้นเหตุผล (พุทธิปัญญา) ไม่สามารถทำให้เรารู้ซึ้งถึงความจริงแท้ขั้นปรมัตถสัจจะได้ ท่านอัศวโฆษะ ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลสามารถรู้อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ก็เชื่อว่าเขากำลังเดินไปสู่ปัญญาญาณแห่งพระพุทธศาสนา นี่แหละคือเหตุผลที่ว่า ทำไมพระตถาคตเจ้าจึงไม่ค่อยทรงพยายามสอนโดยใช้คำพูดและการนิยามความหมาย นอกจากวิธีแนะนำให้ปฏิบัติที่เรียกว่า "อุปายโกศล"01. คือทรงใช้คำพูดและการนิยามความหมาย เพียงเพื่อจะนำสรรพสัตว์ไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น เพราะจุดประสงค์อันแท้จริงของพระองค์ คือทรงให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเลิกละการยึดติดในเรื่องสัญลักษณ์ (ทางภาษาที่เป็นสมมุติบัญญัติขึ้น) และให้มุ่งตรงไปสู่ความจริงแท้ แต่อย่างไรก็ตาม พุทธิปัญญา (ปัญญาขั้นเหตุผล) อันจำกัด ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียโดยสิ้นเชิง ดังที่ท่านอัศวโฆษะกล่าวเน้นไว้ว่า "ถ้าเราทิ้งปัญญาขั้นเหตุผลเสียเราก็ไม่สามารถบรรลุโพธิญาณได้"
5. สิ่งสมบูรณ์ เมื่อมองผ่านอวิชชาจะเห็นเป็นโลกแห่งปรากฎการณ์ มีองค์ประกอบมากมายดังที่ท่านพระอัศวโฆษะอุปมาไว้ว่า น้ำอันสงบในมหาสมุทรเมื่อถูกลมพัดจะปรากฎเป็นคลื่นฉันใด วิญญาณเมื่อถูกอวิชชาเข้าปรุงแต่ง ก็ปรากฎเป็นพุทธิปัญญาอันจำกัดฉันนั้น ตถตาในฐานะที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ อยู่เหนือทุก ๆ สิ่ง แต่เมื่อแปดเปื้อนด้วยอวิชชาก็จะสำแดงตัวออกมาเป็นตถตาปรุงแต่ง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโลกแห่งปรากฎการณ์ทั้งฝ่ายที่เป็นจิตวิสัยและวัตถุวิสัย.
6. เมื่อโพธิญาณเกิดขึ้นแก่เรา เราจะรู้แจ้งว่าเราไม่ใช่ภาวะอันจำกัด แต่เราคือภูตตถตานั่นเอง ภูตตถานี่แหละคือ อมตธรรม พร้อมกับการรู้แจ้งถึงภาวะเช่นนี้ เราจะมีความสุขอันเลิศล้ำ.
7. พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแห่งโพธิญาณได้อุบัติขึ้นในโลก เพื่อทำลายความมืดคืออวิชชา.
8. พระโพธิสัตว์นั้น แม้ท่านจะรู้แจ้งสิ่งที่ควรรู้แล้ว และไม่มีสิ่งใดที่ท่านจะต้องทำเพื่อตัวเองแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังดำเนินตามพระพุทธเจ้าคือต้องรื้อสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส จึงยังไม่ยอมเข้าถึงพระนิพพาน จนกว่าจะทำให้สรรพสัตว์เป็นอิสระจากปวงทุกข์โดยพร้อมกัน.
มีความเชื่อกันในหมู่นักวิชาการว่า สาระสำคัญของคัมภีร์มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์นั้น ตอนที่ว่าความจริงแท้เป็นอนีรวจนียะ (ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่อาจพรรณนาได้ด้วยคำพูดหรือภาษาพูดบรรยายได้) และไม่อยู่ในขอบข่ายของประพจน์ (ปทารถะ) ใด ๆ ในบรรดาประพจน์ทั้งสี่ประการ (ดูข้อ 2) อันเป็นที่มาของศูนยวาท หรือ สุญญตา (Sunyata - Emptiness) (โลกเป็นศูนยะ คือ ไม่ใช่สิ่งจริงแท้ถาวร และ นิพพานก็เป็นศูนยะ คือ ไม่มีวาทะหรือลัทธิใด ๆ สามารถบรรยายได้ถูกต้องครบถ้วน) โดยท่านนาคารชุน02. (หรือ นาคารชุนะ) นำไปดัดแปลงเสียใหม่เป็น
จะพูดว่า นิพพานเป็นศูนยะ ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานเป็นอศูนยะ ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานเป็นทั้งศูนยะและอศูนยะ ก็ไม่ใช่
จะพูดว่า นิพพานไม่เป็นทั้งศูนยะและอศูนยะ ก็ไม่ใช่
และยังเชื่อกันอีกด้วยว่า อาจารย์ผู้สถาปนาพุทธปรัชญาสำนักโยคาจารย์ นำเอาสาระสำคัญตอนที่ว่าด้วยความจริงแท้ (ตถตา) เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกอาลยวิญญาณ ไปดัดแปลงวิญญาณวาท.
-----------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. อุปายโกศล (ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ - proficiency as to means and method, D.III.220; Vbh. 325. ที.ปา. 11/228/231; อภิ.วิ. 35/807/439. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต))
02. ท่านนครชุน ดูรายละเอียดในหน้าที่ 05.
หน้าที่ 03
สัทธรรมปุณฑรีกสูตร บ้างก็เรียก สัทธรรมปุณฑริกสูตร (พระสูตรว่าด้วยบัวขาวแห่งธรรมอันล้ำเลิศ - Saddharmapundarika - The Lotus of the True Law) ประเทศไทยก็มีการสวดมนต์ในแบบญี่ปุ่นที่เรียกสั้น ๆ ว่า "นัมเมียวโฮเร็งเงเคียว" ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมของ "สัทธรรมปุณฑรีกสูตร" นับเป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออก เป็นสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศนาในช่วง 8 ปีสุดท้ายก่อนปรินิพพาน.
ภาพจากซ้ายไปขวา: สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ฉบับอักษรฮันจา (อักษรจีนที่ใช้ในประเทศเกาหลี) สมัยราชวงศ์โครยอ เขียนขึ้นราว ค.ศ.1340, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 10 มิถุนายน 2560 และ คัมภีร์โงะฮนซน (Gohonzon), ที่มา: www.chatchawan.net, วันที่สืบค้น 10 มิถุนายน 2560.
สาระสำคัญ: พระบรมศาสดา ทรงค้นพบว่ามี "จักรวาลภายใน" ที่กว้างใหญ่อยู่ในพระวรกายของพระองค์เอง ทรงก้าวข้ามตัวตนชีวิตภายใน และแผ่ขยายตัวตนชีวิตนี้ออกไป จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจักรวาลภายนอกที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือพลังชีวิตของจักรวาล ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ว่าคือ ธรรมะหรือกฎของชีวิต เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ปัญญาและความเมตตากรุณาของพระองค์ มุ่งไปที่การช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความทุกข์ สิ่งนี้ปรากฎให้เห็นอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจำนวนมาก.
ในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ สัทธรรมปุณฑริกสูตร แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสดงรูปธรรมของธรรมะที่พระบรมศาสดาทรงตรัสรู้และเป็นพระสูตรที่ผู้คนในซีกโลกตะวันออกยึดถืออย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยคุณลักษณะของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ภายใต้สามหัวข้อหลัก ดังนี้:
หนึ่ง: การอยู่ร่วมกันของชีวิตทุกรูปแบบ
ใน "บทกุศโลบาย" (บทที่ 2) ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ทรงเปิดเผยจุดมุ่งหมายที่ได้ปรากฎขึ้นมาในโลกนี้ โดยตรัสถึง "เหตุปัจจัยเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง" คือเพื่อ "เปิดประตู" พุทธปัญญา "ชี้" พุทธปัญญา ทำให้ประชาชน "รู้แจ้ง" พุทธปัญญา และ "เข้าสู่" พุทธปัญญา พุทธปัญญาที่กล่าวถึง ก็คือ ปัญญาที่มีพร้อมอยู่ในพลังชีวิตของจักรวาลและส่องแสงออกมา เป็นความหมายเดียวกับคำว่า ธรรมชาติพุทธะ.
บุคคลทั้งหลายมีพร้อมพุทธปัญญาที่เป็นส่วนหนึ่งภายในชีวิตของพวกเขา ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เพศ อาชีพ หรือวัฒนธรรม เพราะธรรมชาติพุทธะมีพร้อมอยู่ในชีวิตของทุกคน และด้วยการตื่นรู้นี้ ประชาชนทุกคนก็จะสามารถเดินไปบนทางสู่ความสุขได้ ประชาชนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีพร้อมความสามารถที่จะดำเนินชีวิตที่แสดงศักยภาพสูงสุดในชีวิตให้ปรากฎออกมาได้ นี่คือสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมโลกของการอยู่ร่วมกันและความกลมเกลียวให้เป็นจริงได้.
ใน "บทการเปรียบเทียบเรื่องยาสมุนไพร" (บทที่ 5) ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร แนวคิดของการอยู่ร่วมกันและความกลมเกลียวนี้ ถูกแสดงให้เห็นผ่านแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของสมุนไพร 3 ชนิดและต้นไม้ 2 ชนิด สมุนไพรและต้นไม้ทั้งหมดเหล่านี้ ต่างกันทั้งความสูงและรูปร่าง แต่เมื่อฝนตก ทั้งหมดต่างก็ดูดซับสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะของพรรณไม้แต่ละชนิด ท้องฟ้าและฝนที่ตกลงมาคืออาหารหล่อเลี้ยงพลังชีวิตของจักรวาล ซึ่งก็คือคำสอนของพระบรมศาสดา และเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตนับล้าน ๆ ทั่วจักรวาล.
สอง: การแสวงหาความเป็นนิรันดร์
บทที่ 11 ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร เริ่มต้นด้วยการปรากฎออกมาของหอรัตนะ อันยิ่งใหญ่โผล่ขึ้นมาจากพื้นโลกและพระประภูตรัตนพุทธะจากอดีต ที่ประทับอยู่ในหอรัตนะ ทรงเป็นผู้ให้การรับรองว่า สิ่งที่พระบรมศาสดากำลังเทศนาทั้งหมดล้วนถูกต้อง จากนั้นใน "บทการปรากฎขึ้นมาจากพื้นโลก" (บทที่ 15) พื้นดินได้เปิดออกอีกครั้ง เหล่าโพธิสัตว์จำนวนมากมายได้ปรากฎขึ้นมาและทำความเคารพต่อที่ประชุมเทศนาสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระเมตไตรยโพธิสัตว์เป็นตัวแทนในที่ประชุมถามว่า ผู้คนเหล่านี้ทั้งหมดคือใคร ในบทต่อมาคือ "บทการหยั่งอายุกาลของพระตถาคต" (บทที่ 16) พระศากยมุนีพุทธะทรงตอบคำถามของพระเมตไตรยโพธิสัตว์ โดยตรัสเกี่ยวกับพระพุทธนิรันดร์ และให้ความกระจ่างว่าสถานะที่แท้จริงของพระองค์คือ พระพุทธะที่ทรงรู้แจ้งตั้งแต่สมัยเก่ากาล.
พระพุทธนิรันดร์ คือ พระพุทธะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมนิรันดร์ เป็นพระพุทธะผู้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจังหวะพื้นฐานของจักรวาล "บทการหยั่งอายุกาลฯ" เปิดเผยถึงการดำรงอยู่ตลอดกาลของพระพุทธนิรันดร์ ที่ปรากฎขึ้นมาในโลกที่เราอาศัยอยู่ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ทั้งที่พระพุทธะเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว.
หน้าที่ 04
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แกะสลักด้วยไม้ (พบทางเหนือของประเทศจีน สร้างในสมัยราชวงศ์สุง ราว พ.ศ.1568/ค.ศ.1025) ที่มา: tonkungblog.wordpress.com, วันที่สืบค้น 10 มิถุนายน 2560.
สาม: การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพ
สัทธรรมปุณฑริกสูตร ได้เปิดเผยเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในรูปของโพธิสัตว์ทั้งหลายที่โลดแล่นขึ้นมาจากพื้นโลก แสดงถึงพลังชีวิตนิรันดร์ของจักรวาล และโพธิสัตว์อื่น ๆ ที่ปรากฎในบทท้าย ๆ ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร บทเหล่านี้บรรยายถึงพระไภษัชยราชโพธิสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยาและการเยียวยาชีวิต พระคัทสวรโพธิสัตว์ ผู้เป็นสัญลักษณ์การรังสรรค์ด้านศิลปะ เช่น ดนตรี พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้แสดงคุณสมบัติของการเรียนรู้และความคิด และโพธิสัตว์ที่รู้จักกันในนาม พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นผู้ที่คอยรับฟังปัญหาและความกังวลใจของประชาชน โดยทรงรีบรุดไปช่วยเหลือและทำให้ประชาชนเกิดความกล้าหาญและปราศจากความหวาดกลัว.
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เนื่องจากสารัตถะทางด้านสันติภาพ มีพระโพธิสัตว์อีกองค์หนึ่งซึ่งรู้จักกันในนามพระสทาปริภูตโพธิสัตว์ ชื่อนี้มาจากคำกล่าวที่โพธิสัตว์องค์นี้กล่าวกับผู้คนเสมอว่า "ข้าพเจ้ามีความเคารพพวกท่านอย่างลึกซึ่ง ข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะปฏิบัติต่อพวกท่านด้วยการดูถูกเหยียดหยามหรือความจองหอง" การปฏิบัติเช่นนี้แสดงถึงทัศนะที่โพธิสัตว์องค์นี้มีต่อผู้คนทั้งหลาย กล่าวคือ เป็นการแสดงความเคารพธรรมชาติพุทธะภายในชีวิตของประชาชน สัทธรรมปุณฑริกสูตรกล่าวว่า โพธิสัตว์องค์นี้จะโค้งคำนับด้วยความเคารพแก่ประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นวิธีแสดงความเคารพคุณค่าและคุณธรรมที่มีพร้อมอยู่ในชีวิตของพวกเขา.
สัทธรรมปุณฑริกสูตรสอนว่า ธรรมชาติพุทธะมีพร้อมอยู่ในปวงสรรพสัตว์และสามารถแสดงออกมาในความเป็นจริง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันที่มีอยู่ภายในชีวิตของมนุษย์ทุกคน จึงทำให้แนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้.
จากการเทศนาเรื่องพระพุทธนิรัดร์และธรรมนิรันดร์ว่า เป็นพลังชีวิตของจักรวาล สัทธรรมปุณฑริกสูตรสอนถึงวิธีที่พลเมืองโลก จะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพโลกได้ โดยแสดงเป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วยคุณสมบัติพิเศษและการทำหน้าที่ของโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฎในพระสูตรนี้.
ภาพวาด: นาคารชุน, ที่มาของภาพจากซ้ายไปขวา: www.gotoknow.org และ th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 15 มิถุนายน 2560.
หน้าที่ 05
นาคารชุน หรือ นาคารชุนะ (Nagarjuna) มีชีวิตในช่วงประมาณ พ.ศ.700-800 เป็นนักปรัชญาอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ (ทางสายกลาง) ในนิกายมหายาน แห่งพระพุทธศาสนา และกล่าวกันว่านับเป็นนักคิดชาวพุทธที่มีอิทธิพลสูงสุดถัดจากพระบรมศาสดา เป็นที่ศรัทธาและกล่าวถึงในหมู่ผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาชาวยุโรปมาโดยตลอด ท่านเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีผลงานโดดเด่นในด้านปรัชญาและตรรกวิทยา ผลงานที่สำคัญของท่านคือ มาธยมิกการิกา บ้างก็เรียก มัธยมิกการิกา (มาธยมิกศาสตร์) อันเป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดด้านศูนยวาท ประกอบด้วย 400 การิกา ใน 27 ปริเฉท หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องเรื่อยมา ศาสนิกชนมหายานทุกนิกายยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ อย่างไรก็ตามประวัติของท่านกลับไม่ชัดเจนเท่าที่ควร01.
ประวัติพระนาคารชุน02.
มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งเสนอว่า...ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ (ทางสายกลาง) ประวัติของท่านมักมีการกล่าวถึงในแง่ปาฏิหารย์เป็นส่วนมาก ประวัติของท่านในฐานะที่เป็นบุคคลจริง ๆ ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ท่านถือกำเนิดที่เมืองวิทารภะ ในแคว้นโกศลภาคใต้ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้ายัชญศรีเคาตมีบุตร (Yajna Sri Satakarni) แห่งราชวงศ์อันธระ ราวพุทธศักราช 600 - 700 ปี ท่านนาคารชุนน่าจะเกิดในช่วงนี้ ดังเช่นที่อาจารย์มุซาชิ ตาชิกาวะ (Musashi Tachikawa) ผู้เขียน An Introduction to the Philosophy of Nagarjuna ได้กำหนดช่วงสมัยของพระนาคารชุน ราวปี พ.ศ.643-743.
ที่มา: www.amazon.com, วันที่สืบค้น 15 มิถุนายน 2560.
กล่าวกันว่า ด้วยพระมารดาของท่านได้ให้กำเนิดท่านที่ใต้ต้นไม้ที่ชื่อว่า "อรชุน" จึงได้ชื่อตามต้นไม้นี้ ส่วนคำว่า "นาคารชุน" เป็นชื่อที่ได้มาเมื่อท่านได้พบกับพวกนาค ซึ่งคอยดูแลคัมภีร์มหายานที่ชื่อ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ที่เมืองนาคพิภพ.
ท่านนาคารชุน เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทากับพระอาจารย์สราหภัทร หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์ราหุลภัทร ผู้เป็นอธิการบดีของนาลันทา จนกระทั่งเมื่อได้บวชเป็นภิกษุ ก็ได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์ให้เป็นพระผู้ดูแลนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และท่านได้เป็นอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาในกาลต่อมา.
มหาวิทยาลัยนาลันทา หรือนาลันทามหาวิหาร (Nalanda Mahavihara), ที่มา: www.thairath.co.th, วันที่สืบค้น 15 มิถุนายน 2560.
มีตำนานกล่าวว่า เนื่องจากท่านมีความแตกฉานในพระสัทธรรมและนานาลัทธิ ท่านจึงใช้เวลาไปกับการสอนธรรมะแก่พระนักศึกษา และโต้วาทีกับพวกพราหมณ์และเจ้าลัทธิในสมัยนั้น จนครั้งหนึ่งพวกนาคได้มาฟังธรรมจากท่าน แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้นิมนต์ท่านไปยังนาคพิภพ และพาไปชมห้องมหาสมบัติ จากนั้นจึงมอบถวายพระคัมภีร์ "มหาปรัชญาปารมิตาสูตร (Prajnaparamita sutras)" ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญที่เกิดรักษาไว้ที่เมืองนาคมาช้านานแล้ว ท่านนาคารชุน (อรชุน - ผู้ยิ่งใหญ่ของพวกนาค) ท่านได้ศึกษาพระคัมภีร์ดังกล่าวจนถี่ถ้วนและทะลุปรุโปร่ง เมื่อกลับมายังเมืองมนุษย์ก็ได้นำคัมภีร์ดังกล่าวกลับมาจากนาคมณเฑียรติดตัวมาด้วย และท่านก็ได้ตั้งหลักปรัชญามาธยมิกะวาท โดยใช้ฐานจากพระสูตรนี้เอง.
ท่านอาจารย์ เค. สัตจิทานันทะ มูรติ (K. Satchidananda Murty) ได้ให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ต้องมีตำนานการได้คัมภีร์ดังกล่าวมาจากพวกนาค อาจเป็นเพราะว่าท่านได้ตั้งหลักปรัชญาขึ้นบนพื้นฐานของพระคัมภีร์นี้ และเพื่อให้คัมภีร์ (ซึ่งเป็นคัมภีร์ของมหายานที่เกิดขึ้นใหม่ - เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝ่ายมหายานได้แต่งคัมภีร์พระสูตรขึ้นเองมากมาย) นี้ ได้รับการยอมรับ จึงต้องมีตำนานว่า ท่านได้รับคัมภีร์นี้มา ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์โดยแท้ ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่เมืองนาค.
ท่านได้ใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตในการตั้ง หลักปรัชญาศูนยวาท หรือ มาธยมิวาท ด้วยเหตุที่หลักปรัชญาของท่านนั้นลึกซึ้ง ท่านจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง (The Second Buddha).
ส่วนบั้นปลายชีวิตท่านนั้น เหตุการณ์หรือประวัติการมรณภาพของท่านนั้น ส่วนมากมีกล่าวไว้เป็นตำนานมากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ที่พอจะกล่าวถึงเป็นหลักฐานได้บ้างคือ ท่านมรณภาพเมื่อมีอายุได้ 60 ปี ตลอดในช่วงชีวิต ท่านมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากและเป็นเหมือนสหายธรรม คือ พระเจ้ายัชญศรีเคาตมีบุตร (พ.ศ.709-739/ค.ศ.166 - 196) ท่านได้เขียนสุหฤล เลขะ (จดหมายสอนธรรมถึงเพื่อนท่าน) ไว้หลายฉบับ.
-----------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ปรับปรุงจาก: th.wikipedia.org/wiki/นาคารชุนะ, วันที่สืบค้น 15 มิถุนายน 2560.
02. ปรับปรุงจาก: pantip.com/topic/30497342, โดย chohokun วันที่สืบค้น 15-26 มิถุนายน 2560.
หน้าที่ 06
ผลงานของพระนาคารชุน
คัมภีร์ที่ท่านได้รจนาไว้นั้นมีหลายเล่มด้วยกัน จึงใคร่ขอแสดงไว้โดยสังเขปดังนี้:
1. คัมภีร์หมวดศาสนา-ปรัชญา
1) มูลมัธยมิกการิกา หรือ มาธยมิกศาสตร์ หรือ โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง เป็นคัมภีร์ที่ประกอบด้วย 400 การิกา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 27 บท เนื้อความได้กล่าวถึงการใช้วิภาษวิธี (อันจะกล่าวต่อไป) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นศูนยตาของสรรพสิ่ง สิ่งที่น่าสนใจของคัมภีร์นี้คือ ท่านนาคารชุนได้กล่าวถึงพระสูตรในฝ่ายเถรวาทสูตรหนึ่ง คือ กัจจานโคตตสูตร ซึ่งในพระสูตรดังกล่าวได้แสดงถึง "ความเป็น" และ "ความไม่เป็น" ว่า "การบอกว่าสิ่งนี้มี เป็นสุดโต่ง" และ "การบอกว่าสิ่งนี้ไม่มี ก็สุดโต่ง"
2) ศูนยตาสัปตติ เป็นคัมภีร์ที่แต่งเป็น 70 คาถา อธิบายเรื่องศูนยตา และความว่างเปล่า
3) มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ เป็นคัมภีร์ที่แต่งอธิบายมหาปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น
2. คัมภีร์หมวดศิลปะการโต้วาที
1) วิครหวยาวรตนี เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องการปฏิเสธข้อโต้แย้งต่าง ๆ รวม 70 คาถา พร้อมด้วยอรรถาธิบาย โดยพระนาคารชุนเอง
2) ไวทัลยสูตร / ไวทัลยปกรณะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการแยกแยะข้อวินิจฉัยต่าง ๆ ออกเป็นส่วน ๆ แบบวิภาษวิธี.
3. งานประเภทจดหมายถึงสหาย
1) สุหฤล เลขะ เป็นคัมภีร์ที่มีลักษณะเป็นจดหมาย หรือการเขียนสนทนาของท่านไปถึงสหาย คือ พระเจ้ายัชญศรีเคาตมีบุตร แต่งเป็นคาถา 123 คาถา เนื้อหากล่าวถึงการประกอบกรรมดี หลักศีลธรรมที่ควรกระทำ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า พระนาคารชุนท่านไม่ได้กล่าวถึงแต่เรื่องศูนยวาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลักธรรมอื่น ๆ ที่สำคัญท่านก็กล่าวสอนไว้ด้วย.
2) รัตนาวลี เป็นหนังสือสอนธรรมที่ท่านส่งไปยังสหายของท่าน (พระเจ้ายัชญศรีเคาตมีบุตร).
นอกจากคัมภีร์ที่พระนาคารชุนแต่ง เพื่ออธิบายปรัชญาธรรมของท่านแล้ว ท่านยังมีศิษย์ชื่อ "พระอารยะเทพ" ซึ่งได้ "คัมภีร์ศตศาสตร์การิกา" อธิบายหลักมาธยมิกวาทไว้ด้วย.
หลักปรัชญาศูนยวาท หรือ หลักสุญญตา01.
การจะอธิบายให้เข้าใจถึงหลักปรัชญาศูนยวาท หรือหลักสุญญตานั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจและต้องตั้งสติจดจ่อ เพราะเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง และยากที่จะทำความเข้าใจได้ง่าย ลำพังเพียงอ่านผ่าน ๆ อนึ่งหลักศูนยวาทนั้น เป็นหลักธรรมที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย ดังคำกล่าวที่ว่า "ผู้ใดพูดคำว่าสุญญตา โดยไม่มีสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องรองรับ ผู้นั้นย่อมเป็นอุจเฉททิฏฐิ {ความเห็นว่าขาดสูญ เช่นเห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญ; ตรงข้ามกับ สัสสตทิฏฐิ, (ข้อ 2 ในทิฏฐิ 2), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)} โดยถ่ายเดียว".
ข้อนี้หมายความว่า หลักปรัชญาสุญญวาท เป็นหลักเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการไม่ไปสู่สิ่งสุดโต่งสองด้าน ทั้งความมีและความไม่มี แต่เพราะคำว่า สุญญตา หมายถึงความเป็นสูญ คือความไม่มีอะไร จึงเสี่ยงมากที่จะเข้าใจไปว่า หมายถึงการไม่มีอะไร ๆ เลย.
ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจคำว่า สุญญตา โดยความเป็นสุญญตาจริง ๆ ก็จะประหัตประหารกิเลส แต่ถ้าพูดคำว่าสุญญตา โดยไม่รู้จักว่า สุญญตา คืออะไร มีที่ไปที่เดียวคือโลกันตนรก.
ดังนั้นคำว่าสุญญตา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ได้หมายถึงปรัชญาแห่งความศูนย์เปล่าแต่อย่างใด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ศูนยวาทหรือมาธยมิกวาทะ ก็จะกลายเป็นอุจเฉทวาท อันเป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดร้ายแรง.
การจะทำความเข้าใจเรื่องศูนยวาทนั้น จึงต้องทำความเข้าใจไปทีละขั้น ๆ และต้องรู้จักหลักการอธิบายสุญญวาท โดยวิธีการที่พระนาคารชุน และสำนักปรัชญาสุญญวาท (ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า มาธยมิก) ได้เสนอเอาไว้ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป.
1). ความหมายของคำว่าสุญญตา
คำว่า สุญญตา ไม่ได้หมายถึงความไม่มีอะไรเลย คำ ๆ นี้ หมายถึงการปฏิเสธคำบัญญัติหรือความยึดถือในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้ เช่น เชือกยาว/เชือกสั้น, ใหญ่/เล็ก, ดี/ชั่ว, มี/ไม่มี, อวิชชา/วิชชา ฯลฯ.
การยึดถือในบัญญัติเหล่านี้ หลักปรัชญามาธยมิก ถือว่าเป็นความสุดโต่ง เพราะเมื่อใดที่บอกว่า "เป็นนั่น" หรือ "เป็นนี่" ก็จะมีความรู้สึกกับสิ่งนั้นในแบบหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกนั้น คือความยึดติด. ดังนั้นคำว่า สุญญตา คือความว่างเปล่าจากการบอกว่า มีสิ่งนั้นอยู่ หรือมีสิ่งนี้อยู่ หากจะอธิบายให้เห็นชัด ยกตัวอย่างเช่นเราบอกว่า "นรกสวรรค์นั้นมี" สุญญตาก็จะบอกว่า "นรกสวรรค์ไม่มี".
แต่คำว่าไม่มี ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การเป็นอุจเฉททิฏฐิ แต่หมายถึง คำบัญญัติอย่างนั้นนั้นนะ ไม่มี มันมีสภาพที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกันและกันเท่านั้น เช่น คนทำชั่ว ก็ไปตกนรก คนทำดี ก็ไปสวรรค์ ทั้งนรก และสวรรค์ ล้วนแต่ไม่มีทั้งนั้น มันมีความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน.
2). ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าสุญญตา
มีผู้เข้าใจผิดว่า สุญญตา ที่ท่านนาคารชุนนำเสนอขึ้นมานั้น เป็นการกล่าวถึงความไม่มีอะไรเลย อย่างอุจเฉททิฏฐิ คือทุกอย่างขาดสูญไปหมด ซึ่งการเข้าใจอย่างนี้ ถือว่าเข้าใจผิด เพราะคำว่า "ไม่มีอะไรเลย" ก็เป็นทางสุดโต่งทางหนึ่งเหมือนกัน สุญญตา เป็นการปฏิเสธแม้แต่จะบอกว่า "มี" หรือ 'ไม่มี" อะไร เพราะสิ่งนั้นก็เป็นความ "มี" อย่างหนึ่งเหมือนกัน (มีในความมีอะไร, มีในความไม่มีอะไร).
ความเข้าใจผิดอีกแบบหนึ่งเกี่ยวกับคำว่าสุญญตา คือมีผู้เข้าใจว่า สุญญตาเป็นสภาพสูงสุด หรือ สภาพสัมบูรณ์ หรือ ความดีงามสูงสุด อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เข้าใจกันว่า มีการเข้าถึงอะไรสักอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า สุญญตา ซึ่งเป็นความจริงสูงสุดบางอย่าง ความเข้าใจอย่างนี้ก็ผิดเช่นกัน เพราะมาธยมิก ถือว่า สุญญตา ไม่ใช่การเข้าถึงอะไรทั้งนั้น แต่เป็นการปฏิเสธความยึดถือในบัญญัติทั้งปวง หรือในการบอกว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งนี้.
เนื่องจากการทำความเข้าใจในความหมายของคำว่าสุญญตานั้นยังคลุมเครืออยู่มาก เพราะสุญญตา ไม่อาจเป็นไปได้แม้แต่ว่า มี หรือ ไม่มีอะไร แต่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างสองสิ่ง หรือก็คือ ไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับทิฏฐิทั้งสองประการ.
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะสรุปความหมายของคำว่าสุญญตา ที่แปลว่า "ความว่าง" ได้ว่า มีความหมายเดียวกับคำว่า "อนัตตา" ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะอย่างน้อยที่สุด สุญญตา ก็ไม่ได้หมายถึงความมีตัวตน หรือความปราศจากตัวตนอย่างแน่นอน ดังนั้นเราอาจใช้คำ และความหมายของคำว่า "อนัตตา" เพื่อใช้อธิบายสุญญตา ให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ เพราะเหตุที่สุญญตา เป็นคำปฏิเสธความมีอยู่ของตัวตนทั้งปวงนั่นเอง.
ดังที่ท่านนาคารชุน กล่าวถึงสุญญตา ในลัทธิปรัชญาของท่านว่า:...
"สรวมฺ อนาตมํ" - สิ่งทั้งปวงไม่เป็นอัตตา
"สรวมฺ สุญญํ" - เพราะเหตุนั้น สิ่งทั้งปวงจึงว่างเปล่า
3). การใช้หลักปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้หยั่งเห็นสุญญตา หรือทางสายกลาง
สำหรับพุทธปรัชญามาธมิกแล้ว ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักคำสอนที่ใช้อธิบายความเป็น สุญญตา ได้ดีที่สุด เพราะปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงไว้ทั้งสายเกิดและสายดับ.
มาธยมิก ใช้หลักปฏิจจสมุปบาท เพื่อทำความเข้าใจในทุกสภาวะทุกสิ่งที่ปรากฎแก่เราว่า ไม่มีแก่นสารในตัวเอง บางครั้งก็ใช้คำว่า ปรากฎการณ์หรือบางครั้งก็ใช้คำว่ามายาแทน สรรพสิ่งล้วน เกิดจากเงื่อนไขต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นมาเช่นเดียวกับหลักการของปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้สิ่งนั้น ๆ จะมีอยู่ก็มีอยู่แบบอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (สัมพัทธ์) ดังนั้นจึงไม่สามารถยึดถืออะไรได้เลย เพราะว่างเปล่าจากตัวตนและว่างเปล่าจากการยึดถือใด ๆ ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย เหตุและผลลัพธ์จะต้องเกิดขึ้นร่วมและเป็นไปควบคู่กันไปอย่างไม่ขาดสาย ไม่มีสิ่งใดพิเศษแยกต่างหากจากสิ่งอื่น เมื่อบุคคลเข้าใจกระบวนการปฏิจจสมุปบาท ก็เท่ากับเข้าใจกระบวนการเกิดและการดับของความทุกข์ เพราะการเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท ก็คือการหยั่งรู้อริยสัจ 4 โดยตรง ดังคำกล่าวที่ว่า บุคคลใดหยั่งเห็นการองอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เท่ากับว่า บุคคลนั้นหยั่งเห็นความทุกข์ การเกิดขึ้นของความทุกข์ การดับไปของความทุกข์และหนทางที่จะนำไปสู่ความสุข.
ดังนั้น ทางสายกลาง (มาธยมิกะ) ก็คือ การหยั่งรู้ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น และเป็นไปของสรรพสิ่ง เพราะสรรพสิ่งปราศจากการมีอยู่ด้วยตัวเอง (สวภาวะ) ซึ่งเรียกว่า ว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้ นั่นคือ ทางสายกลางคือความว่างจากแก่นแท้หรือการยึดถือเอาแก่นสารไม่ได้ ซึ่งก็คือกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น ทางสายกลาง ความว่าง (สุญญตา) และกระบวนการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอริยสัจ 4 เช่นเดียวกัน จึงมีฐานะเป็นความจริงอันเดียวกัน.
กล่าวโดยสรุป นิกายมาธยมิกะ ยอมรับหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยใช้ในการอธิบายลักษณะที่ไม่มีแก่นแท้ที่แท้จริง (สวภาวะ) ของสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น จึงว่างเปล่าจากความมีอยู่ในตนเองอย่างแท้จริงที่เรียกว่า สุญญตา ดังนั้น หลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทและสุญญตา จึงเป็นหลักการที่อธิบายถึงความปราศจากลักษณะที่ไร้แก่นสารที่แท้จริงของสรรพสิ่ง เช่นเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทและสุญญตา จึงอาจเรียกได้ว่า ทางสายกลางของมาธยมิกะ.
ดังนั้น คำว่า มาธยมิก ที่แปลว่า "ทางสายกลาง" นั้น จึงเป็นคนละความหมายที่เข้าใจกันในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท หรือที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในธัมมจักกัปปวตนสูตร เพราะทางสายกลางในพุทธศาสนานิกายเถรวาท เป็นหลักปฏิบัติ แต่คำว่า มาธยมิก ที่แปลว่าทางสายกลาง เพราะไม่ตกอยู่ในข่ายของการบอกว่า ความมี และความไม่มี หรือการบอกว่าอะไรเป็นอะไร.
-----------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ที่มา: www.slideshare.net, วันที่สืบค้น 26 มิถุนายน 2560.
หน้าที่ 07
4). การใช้วิภาษวิธีเพื่อหยั่งเห็นความจริง
เนื่องด้วยปรัชญามาธยมิก เป็นปรัชญาที่กล่าวถึงทางสายกลาง คือการไม่ไปอยู่ในระหว่างการบอกว่าอะไรเป็นอะไร อะไรไม่เป็นอะไร ดังนั้นการที่จะชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจผิดในทฤษฎีหรือความคิดความเชื่อใดก็ตาม จึงต้องใช้การหาความจริง โดยการโต้ตอบ ให้ผู้ที่เชื่อในความคิดใดความคิดหนึ่ง หรือเชื่อในความคิดของตนเอง จะได้ยืนยันให้แน่ชัดว่า สิ่งที่ตนเองเชื่อนั้น เป็นจริงหรือไม่? หรือสิ่งที่ตนเองเชื่อนั้น มั่นใจขนาดไหน? วิธีการสนทนาโต้ตอนนี้ ได้กลายมาเป็นวิธีการหลักของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะมาธยมิก และเป็นวิธีการที่แพร่หลายทั่วไปในพระพุทธศาสนามหายานสายต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเผยแผ่หลักปรัชญาของนิกายตนเองอย่างหนึ่ง รวมถึงเพื่อที่จะแก้ไขข้อเข้าใจผิดของบุคคลในลัทธิอื่น ๆ อีกอย่างหนึ่ง หลักวิธีการดังกล่าวนี้ เรียกว่า วิภาษวิธี (Dialectic) หรือ ตรรกวิภาษ.
การเรียนรู้ธรรมะของภิกษุชาวธิเบต จะมีการตั้งปุจฉาด้วยท่าทางที่รุนแรงก้าวร้าวและผู้วิสัชนาธรรมะจะนั่งลงตอบอย่างสงบนิ่ง ผลัดเปลี่ยนกันไป, ที่มา: www.gotoknow.org, วันที่สืบค้น 26 มิถุนายน 2560.
วิภาษวิธี เป็นวิธีการที่พระนาคารชุนได้นำมาใช้ โดยใช้กับบุคคลสองจำพวก คือ พวกที่ยึดถือคัมภีร์หรือมีศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยการพิสูจน์ หรือ พวกที่ยืนยันทัศนะบางอย่างแน่นอนเกี่ยวกับสัจภาวะ หรือเชื่อในภาวะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างแน่นอน.
โดยปกติ การโต้เถียงหรือการกล่าวถึงวาทะธรรมประการใดประการหนึ่ง จะมีลักษณะอยู่สี่ด้านหรือสี่มุม เรียกว่า จตุกโกฏิ หรือ จตุกโกณะ (Tetralemma) ซึ่งจะมีโครงสร้างคือ 1) วาทะที่ยืนยัน 2) วาทะที่ปฏิเสธ 3) วาทะทั้งยืนยันและปฏิเสธ และ 4) วาทะทั้งไม่ยืนยันและไม่ปฏิเสธ.
ยกตัวอย่างเช่น วาทะว่า "นิพพานเป็นอัตตาหรือไม่?" จตุกโกฎิก็จะสื่อออกมาว่า
1) นิพพานเป็นอัตตา 2) นิพพานไม่เป็นอัตตา (เป็นอนัตตา) 3) นิพพานเป็นทั้งอัตตาและอนัตตา และ 4) นิพพานไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา
ถ้าหากวาทะทั้งสี่แบบนี้เกิดขึ้น วิภาษวิธีก็จะใช้วิธีการเพื่อเอาชนะ หรือเพื่อจะบอกว่าความเห็นของฝ่ายมาธยมิกถูกต้องกว่าฝ่ายอื่น หรือจะบอกว่าทุกอย่างเป็นสุญญตา "ซึ่ง" เป็น "สภาวะแบบหนึ่ง" แต่อย่างใด วิภาษวิธีเป็นแต่เพียงการชี้ให้เห็นถึงความยึดมั่นของผู้ยึดถือในวาทะหรือความเห็นของตนเองว่า ไม่มีแก่นสารสาระแต่อย่างใด หรือก็คือ เมื่อยังยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองคิดเห็น หรือเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นจริง ก็ไม่มีทางจะเข้าถึงปรมัตถ์ หรือการหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ ได้.
ยกตัวอย่างเช่น การที่ชาวพุทธเถรวาทกล่าวว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" กับชาวพุทธอีกสำนักหนึ่งกล่าวว่า "นิพพานเป็นอัตตา" เมื่อผู้ยึดถือวาทะเหล่านั้น ต้องถูกวิภาษวิธีมาจับ หรือมาโต้ตอบหรือให้ผู้ที่ยึดถือความเห็นเช่นนั้น ได้ยืนยันความเห็นของตนเอง โดยถูกถามไปเรื่อย ๆ ผู้ยึดถือความเห็นเช่นนั้นก็จะรู้สึกเองว่า ความเชื่อของตนเองนั้นไม่จริง หรือไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว จึงเรียกว่า สุญญตา.
รศ.ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย (ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้เขียนไว้ในพุทธศาสนามหายานว่า: "การใช้วิภาษวิธีโต้แย้งแนวคิดต่าง ๆ ให้เห็นว่าแนวคิดเหล่านั้นเอียงไปในขั้วใดขั้วหนึ่ง จากนั้นก็ประกาศว่า แนวคิดเหล่านี้ เป็นสุญญะ (คือว่าง) สุญญตาไม่ใช่เนื้อหาทางความคิดของมาธยมิกะ แต่สุญญตาเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนคลายความยึดมั่น ดังนั้นต่อคำถามที่ว่า "เราจะตระหนักเห็นสุญญตา (ทางสายกลาง) ได้อย่างไร" ก็คงจะตอบได้ว่า สุญญตาเป็นการเปิดเผยให้เห็น 'สิ่งที่ไม่มีอยู่" มากกว่า "สิ่งที่มีอยู่" การเผยให้เห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่นี้ (ในรูปแบบของการปฏิเสธ) เป็น "วิธีการ" ที่จะนำไปสู่อิสรภาพมากกว่าเป็น "ความหมาย" ของอิสรภาพ" ส่วนคุณสันตินา??? ชี้ว่า สุญญตา ไม่ใช่อะไรบางอย่างที่มีเนื้อหาในตัวเอง สุญญตาไม่ใช่ทัศนะ ไม่ใช่จุดยืนทางทฤษฎีอะไร แต่สุญญตา เป็นทัศนคติวิพากษ์ในเชิงปรัชญา (Philosophically Critical Attitude).
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่นักปรัชญาสายมาธยมิกมักประสบก็คือ การถูกโจมตีจากพุทธนิกายอื่น ๆ ว่า มาธยมิกดีแต่ใช้การโต้เถียงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นอื่นว่าใช้ไม่ได้ และถือว่าความเห็นของตนเองดีกว่าคนอื่น ซึ่งเท่ากับว่ามาธยมิกได้เสนอความเห็นอีกอันหนึ่งออกมาเช่นเดียวกัน และความเห็นของมาธยมิกนั้น ก็ต้องถือว่าใช้ไม่ได้ไปด้วย เพราะเป็นทัศนะอันหนึ่งที่มาธยมิกเองก็ปฏิเสธในทุก ๆ ทัศนะอยู่แล้ว หรือถูกตำหนิว่า มาธยมิกเห็นอะไร ๆ เป็นสุญญตาไปเสียหมด ถ้าเป็นเช่นนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าก็เชื่อถือไม่ได้ คำสอนในพระพุทธศาสนาก็ไม่จริงไปหมด เพราะอะไร ๆ ก็เป็นสุญญตา ดังที่นักพุทธปรัชญาสายอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์พุทธปรัชญามาธยมิกอย่างรุนแรง อย่างพุทธปรัชญาสายโยคาจาระ เป็นต้น.
สำหรับเรื่องนี้ ชาวมาธยมิกจะตอบว่า แท้จริงแล้วมาธยมิกไม่ได้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง และถือว่าทุกสิ่งเป็นสุญญตาไปเสียหมดแต่อย่างใด เพียงแต่มาธยมิก ไม่เห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมีฐานะเป็น "ตัวแก่นสารสาระ" หรือตัวแก่นแท้แต่อย่างใด แต่เป็น "วิถี" หรือ "อุบาย" เหมือนกับการที่เรารู้ว่า "ตะเกียง" ใช้ทำให้เกิดแสงไฟ, "แพ" ใช้ข้ามฟาก แต่ถ้าเราไม่จุดไฟที่ตะเกียง หรือนั่งแพข้ามทะเลไป ของเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเอาแต่เชิดชูกันว่า พระธรรมเป็นของดีเลิศ นิพพานเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะเหล่านั้นแต่อย่างใด.
หน้าที่ 08
สำหรับเรื่องของวิภาษวิธีกับหลักสุญญตานั้น ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจหลักวิภาษวิธีอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะรู้ว่าแท้จริงมาธยมิก เพียงแต่ปฏิเสธในความยึดถือของสิ่งทั้งปวงด้วยความยึดมั่นถือมั่นเอง โดยไม่ประจักษ์ถ่องแท้ มาธยมิกเองก็มีหลักการเรื่องของความจริงสองแบบ คือแบบสมมติ กับแบบปรมัตถ์ อย่างที่ชาวพุทธเถรวาทเข้าใจเช่นเดียวกัน.
สำหรับเรื่องการโต้เถียงในสภาวะต่าง ๆ นั้น พระนาคารชุนได้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการที่บุคคลทั้งหลายมีวาทะเห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มาจากความยึดถือส่วนตัวทั้งนั้น โดยอาจไม่มีใครรู้สภาวะที่แท้จริงเลย (เพราะสภาวะนั้นไม่อาจรู้ได้ด้วยศัพท์บัญญัติ).
ในมูลมัธยมกการิกา (หรือ มูลมาธยมิกการิกา) บทที่ 18 โศลกที่ 7-8 ท่านนาคารชุนได้กล่าวไว้ว่า
สิ่งที่ภาษาระบุถูกตัดทิ้งไป
ดินแดนของความคิดก็ถูกตัดทิ้งไป
ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ
ความเป็นจริงก็เหมือนกับนิพพาน
ทุกสิ่งเป็นจริง และก็ไม่เป็นจริง
ทั้งจริง และไม่จริง
มิได้เป็นจริง และมิได้ไม่เป็นจริง
นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า
มิได้อิงอาศัยสิ่งอื่น สงบ
และมิได้ปรุงแต่งด้วยการคิดปรุงแต่งใด ๆ
มิได้มีการคิดแยกแยะ มิได้มีการแบ่งแยก
นี่คือลักษณะของสิ่งตามที่เป็นจริง
จากโศลกดังกล่าว จะทำให้เราเห็นได้ว่า สุญญตา เป็นการกล่าวถึงความว่างจากการยึดมั่นถือมั่นในศัพท์บัญญัติ หรือในการยึดถือสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าอะไร ก็ไม่อาจบอกได้เลยว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้คือสิ่งนี้ มันมีเพียงแต่การเกี่ยวเนื่องของเหตุปัจจัย ที่ทำให้สิ่งทั้งหลาย มีการบัญญัติศัพท์เรียกเท่านั้น โดยแท้จริงไม่มีสภาวะใดเป็นอยู่จริงเลย.
ดังนั้น การเข้าถึงความหมายของสุญญตา ไม่ใช่การเข้าใจว่าความว่างคืออะไร แต่ให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นสวภาวะ (ภาวะความมีอยู่) และ อภาวะ (ความไม่มีอยู่) นั้น ล้วนแต่ไม่มีอะไรจริงแท้สักอย่างเดียว เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัยเท่านั้น นี่คือความหมายของสุญญตา ปรัชญาว่าด้วย "ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในบัญญัติแห่งสภาพธรรมทั้งปวง เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปด้วยเหตุปัจจัย".