MENU
TH EN

โพชฌงค์เจ็ด

เย ปมตตา ยถา มตา
ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
                                
                                           
...พุทธพจน์...
First revision: Jul.14, 2012
Last change: Jul.26, 2012
โพชฌงค์ ๗ ประการ

๑.   สติ คือ ความระลึกได้
๒.   ธัมมวิจยะ คือ การพิจารณาตามธรรม
๓.   วิริยะ คือ ความเพียรอย่างแกล้วกล้า
๔.   ปิติ คือ ความอิ่มใจ
๕.   ปัสสัทธิ คือ ความสงบใจและอารมณ์
๖.   สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น
๗.   อุเบกขา คือ ความวางใจ เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว
 
       สิ่งที่เรียกว่า โพชฌงค์เจ็ด พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตรด้วย ดังปรากฎอยู่ในตอนแรกของพระสูตรที่ว่า "อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานทั้งสี่อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์"

       ถ้าถามว่า ระบบการปฏิบัติตามหลักอานาปานสติกับระบบการปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์เจ็ดต่างกันอย่างไร?  ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า อานาปานสติเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่ระดับหยาบจนไปถึงระดับที่ละเอียดสุด หรือตั้งแต่ขั้นระดับปุถุชนจนไปถึงขั้นสูงสุดระดับพระอรหันต์

       ส่วนโพชฌงค์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อรักษาสิ่งสูงสุดเอาไว้ อาจจะมีผู้แย้งว่าถ้าต้องรักษาก็แสดงว่ายังไม่ถึงที่สุดซิ ขอแก้ว่ารักษาในที่นี้เป็นการรักษาชนิดที่ไม่ต้องรักษา การรักษาอย่างไม่ต้องรักษา นั่นแหละคือการรักษาที่แท้จริงและสูงสุด

       มีพระสูตรอยู่พระสูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสอุปมาอุปไมยไว้อย่างไพเราะในลักษณะว่า "โพชฌงค์ปรากฎเพราะพระองค์ปรากฎ" มีข้อความดังนี้ :-

       ภิกษุทั้งหลาย เพราะการปรากฎแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช จึงมีการปรากฎแห่งรัตนะทั้งเจ็ด เจ็ดคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว ปรินายกแก้ว นี้เป็นฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย เพราะการปรากฎแห่งตถาคตอรหันตสัมมนาสัมพุทธเจ้า จึงมีการปรากฎแห่งโพชฌงค์รัตนะทั้งเจ็ด เจ็ดคือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

       ภิกษุทั้งหลาย เพราะการปรากฎแห่งตถาคตอรหันตสัมมนาสัมพุทธเจ้า จึงมีการปรากฎแห่งโพชฌงค์รัตนะทั้งเจ็ดดังนี้ แล

       เมื่อได้ศึกษาพระสูตรนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าโพชฌงค์เจ็ดเป็นหลักธรรมที่สำคัญมาก เป็นการปฏิบัติทางจิตล้วน ๆ และเป็นการปฏิบัติชนิดที่ไม่ต้องปฏิบัติ

       คำว่า โพชฌงค์ แปลว่า  องค์แห่งการตรัสรู้ หมายถึงเป็นองค์ประกอบในการตรัสรู้ธรรม กล่าวคือ พระนิพพาน สิ่งที่เรียกว่า โพชฌงค์ มีหนึ่งเดียว แต่มีองค์ประกอบเจ็ด ก็เหมือนกับหมวดธรรมอื่น ๆ เช่น คำว่า อิทธิบาทสี่ อิทธิบาท แปลว่าทางความสำเร็จ มีหนึ่งเดียว แต่มีองค์ประกอบสี่ ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ, วิริยะ ความเพียร, จิตตะ เอาใจจดจ่อ และวิมังสา การใคร่ครวญพิจารณา หรือคำว่า พละห้า พละ แปลว่า กำลัง มีหนึ่งเดียว แต่มีองค์ประกอบห้า ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อ, วิริยะ ความพากเพียร, สติ ความระลึกได้, สมาธิ ความตั้งใจมั่น และปัญญา ความรอบรู้ หมวดธรรมอื่น ๆ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันนี้

      ฉะนั้น โพชฌงค์ คือ องค์แห่งการตรัสรู้ธรรม มีหนึ่งเดียว แต่มีองค์ประกอบเจ็ด ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์


องค์ประกอบของโพชฌงค์
      ต่อไปนี้จะขออธิบายถึงองค์ประกอบแต่ละอย่างไปตามลำดับ

       
องค์ประกอบที่ ๑ สติ แปลว่า ความระลึกได้ หรือความไม่เผลอ หมายถึง ความไม่เผลอ อยู่กับพระนิพพาน มีสติประจักษ์แจ้งต่อพระนิพพานชนิดที่ไม่ขาดตอน ไม่มีช่องทางให้กิเลสแทรกแซงเข้ามาครอบงำได้

       ถ้าพูดโดยภาพรวมสิ่งที่เรียกว่า "สติ" จำเป็นต้องใช้ในทุกกรณีในที่ทั้งปวง ดังพุทธภาษิตที่ว่า สติ สัพพัตถะ ปัตถิยา แปลว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง แม้การมีชีวิตอยู่ของสัตว์เดรัจฉานก็ต้องใช้สติเหมือนกัน เช่น ลิงค่างที่กระโดดอยู่บนกิ่งไม้ ก็ต้องใช้สติ แต่เป็นสติที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณ, แมลตะครุบหนูมันก็มีสติ แต่เป็นสติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนที่เดินไม่สะดุดก้อนหิน เดินไม่ชนเสา เป็นต้น คนเหล่านั้นก็มีสติ แต่เป็นสติในระดับพื้นฐานธรรมดาทั่วไป ส่วนสติในระดับสูงสุดนั้นก็คือความไม่เผลอ อยู่กับพระนิพพานนั่นเอง

       ถ้าเห็นพระนิพพานอย่างเดียว ก็มีค่าเท่ากับเห็นทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต และทั้งธรรม คำว่า สติเห็นกายในกาย ก็คือเห็นความไม่มีกาย การมองเห็นว่ากายไม่มีนั่นแหละเรียกว่าการเห็นกาย พระนิพพานจะปรากฎออกมาได้นั้น ต้องมองให้เห็นว่ากายไม่มี อันนี้เป็นภาษาธรรม หรือภาษาปรมัตถ์ ส่วนภาษาสมมตินั้น กายก็มีอยู่ตามปรกติ ทำหน้าที่ไปตามสมมติบัญญัติของสังคม คำว่า สติเห็นเวทนาในเวทนา ก็คือ เห็นความไม่มีเวทนา แต่นภาษาปรมัตถ์นั้น ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เท่ากับเวทนาไม่มี มีโดยสมมติ แต่ไม่มีโดยปรมัตถ์ ฉะนั้น การเห็นเวทนา หมายถึงเห็นความไม่มี

       คำว่า สติเห็นจิตในจิต ก็คือเห็นความไม่มีจิต ที่ว่า ไม่มีจิต หมายถึงไม่มีจิตที่เป็นความจำ (สัญญา), ไม่มีจิตที่เป็นความคิด (สังขาร), ไม่มีจิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ภายนอก (วิญญาณ) ไม่มีจิตที่เป็นความรู้สึกภายใน เช่น รู้สึกดีใจ (positive) รู้สึกเสียใจ (negative) หรือรู้สึกกลาง ๆ อยู่ระหว่างดีใจกับเสียใจ ภาวะที่ไม่มีจิตนั่นแหละคือ "จิต" เรียกว่าจิตเดิมแท้ หรือจิตว่างนั่นเอง ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะเผชิญหน้าอยู่กับจิตว่าง ซึ่งถือว่าปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง (middle way) ฉะน้้น ความหมายของคำว่าทางสายกลาง ไม่ใช่อยู่ระว่างบวกกับลบ ต้องไม่มีทั้งบวก ไม่มีทั้งลบ และไม่มีทั้งระหว่างกลางด้วย จึงจะเป็นทางสายกลางที่แท้จริง ดังนั้นที่ว่า เห็นจิตในจิต ก็คือเห็นความไม่มีจิต

       คำว่า สติเห็นธรรมในธรรม ก็คือเห็นความไม่มีธรรม ที่ว่าไม่มีธรรม หมายถึง ไม่มีธรรมที่เป็นอนิจจัง, ไม่มีธรรมที่เป็นความจางคลาย, ไม่มีธรรมที่เป็นความดับ, ไม่มีธรรมที่เป็นความสลัดคืน เพราะว่าทั้งสี่อย่างนี้เป็นกิริยาที่อยู่ในลักษณะของการปฏิบัติ แต่พระนิพพานนั้นว่างจากกิริยาทั้งสี่อย่างนี้ ฉะนั้นเห็นธรรมในธรรม ก็คือเห็นความไม่มีธรรม ภาวะที่ไม่มีธรรมนั่นแหละ เรียกว่าธรรมที่แท้จริง กล่าวคือพระนิพพานนั่นเอง

       ผู้รู้ท่านกล่าวไว้ว่า "รู้หนึ่งรู้หมด" รู้หนึ่ง หมายถึงรู้พระนิพพาน รู้หมด หมายถึง รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม การรู้พระนิพพานเพียงอย่างเดียว ก็มีค่าเท่ากับรู้หมดในทุก ๆ เรื่อง ในทางพระพุทธศาสนาจึงใช้คำว่า "มองเห็นโลกตามที่เป็นจริง" ถ้าเห็นแจ้งต่อพระนิพพาน ก็จะมองเห็นโลกอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เป็นอันว่า สติสัมโพชฌงค์ ก็คือ มีสติไม่เผลอ อยู่กับพระนิพพาน

       
องค์ประกอบที่ ๒ ธัมมวิจยะ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า การสอดส่องธรรม หมายถึง มีความรู้สอดส่องเห็นแจ้งต่อพระนิพพานไม่ใช่ความรู้ที่เป็นความจำ ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ในลักษณะของความคิดเอาด้วยเหตุผลตามแบบปรัชญา หรือ philosophy แต่มองเห็นด้วยปัญญาญาณจริง ๆ มีหลักเกณฑ์อย่างวิทยาศาสตร์ มีคำสอนในพระสูตรของฝ่ายพุทธศาสนานิกายเซน เรียกว่า วัชรสูตรอยู่ตอนหนึ่ง
 
       เว่ยหล่าง เป็นสังฆปรินายกองค์ที่หกของนิกายเซน ได้นำมาสอนไว้มีข้อความว่า "เปิดตาขึ้นเพื่อความเห็นแจ้งในธรรม อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้ แสดงความเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้นั้นให้ปรากฎ, ตื่นขึ้นเพื่อความเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้ เป็นผู้ตั้งมั่นในธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"

       ที่ว่า เปิดตาขึ้น หมายถึงเปิดตาปัญญาที่ปิดอยู่ด้วยอำนาจของอวิชชา เปิดตาปัญญาขึ้นเพื่อความเห็นแจ้งในธรรม คือ พระนิพพาน อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้, พระนิพพานนั้นเป็นเหตุให้มีการตรัสรู้ ยกตัวอย่าง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระนิพพาน การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ก็มีไม่ได้ แต่เพราะมีพระนิพพานนี่เอง การตรัสรู้ของพระองค์จึงมีขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ธรรมะนั้นมีอยู่แล้ว พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบ แล้วนำมาเปิดเผย" เปรียบดั่งเพชรพลอยซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์ไปค้นพบ แล้วนำมาใช้ประโยชน์ฉันใด สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ คือ พระนิพพาน ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ฉะนั้น ประโยคแรกจึงบอกว่า เปิดตาขึ้นเพื่อความเห็นจริงในธรรม อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้

       ที่ว่า "แสดงความเห็นแจ้งในธรรม อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้นั้น ให้ปรากฎ" หมายความว่า มีปัญญามองเห็นแจ้งชัดต่อพระนิพพาน, ภาวะของพระนิพพานปรากฎประจักษ์อยู่จริง ๆ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับคนที่ยืนเห็นหรือนั่งเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฎอยู่เฉพาะหน้าของเขา สิ่งที่เขามองเห็นอยู่นั้น จับต้องด้วยมือได้จริง แต่เป็นการมองเห็นด้วยตาเนื้อหรือเป็นการจับต้องได้ด้วยมือ เพราะว่าสิ่งที่เห็นหรือจับจ้องได้ด้วยมือนั้น เป็นเรื่องของวัตถุภายนอก ส่วนพระนิพพานไม่ได้เป็นวัตถุ และไม่ใช่นามธรรม แต่เป็นสภาวะที่จะปรากฎให้เห็นได้ ต้องปล่อยวางทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุหรือรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดในทางจิตใจ มองให้เห็นว่ารูปนามเป็นเพียงมายา เป็นธรรมชาติที่ไม่ได้มีอยู่จริง ถามว่า ทำไมปุถุชนจึงมองไม่เห็นพระนิพพาน ตอบว่าก็เพราะความเป็นอัตตาของรูปนามเข้ามาปิดบัง แต่ถ้าสังเกตมองให้เห็นว่า รูปนามเป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เรียกว่าพระนิพพานก็ปรากฎออกมาทันที ผู้ที่มีปัญญาประจักษ์แจ้งอยู่กับพระนิพพาน ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในทางและกำลังเดินทาง หมายถึงผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น ไม่ต้องเดินทางอีกต่อไป เพราะว่าได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว

       ที่ว่า "ตื่นขึ้นเพื่อความเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้" หมายความว่าตื่นจากความหลับด้วยอำนาจของกิเลส เรียกว่า กิเลสนิทรา, ไม่ใช่ตื่นอย่างกระต่ายตื่นตูม แต่เป็นความตื่นในทางสติปัญญา แม้ว่าร่างกายลืมตาอยู่ นั่งพูดคุยกันอยู่ แต่ถ้าจิตใจยังถูกครอบงำด้วยกิเลส ผู้นั้นชื่อว่ายังหลับ ฉะนั้น ในภาษาธรรม คำว่า "ตื่น" หมายถึงจิตใจตื่น ตื่นขึ้นมาพบกับความอิสรภาพ, พุทธะ แปลว่า ผู้ตื่น ปุถุชนยังเป็นผู้หลับ แต่พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเป็นผู้ตื่นแล้ว

       มีพุทธภาษิตว่า "พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงสว่างในเวลากลางวัน พระจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างในกลางคืน กษัตริย์ทรงผูกสอดเครื่องครบย่อมมีสง่า พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองด้วยพระเดชตลอดวันและคืนทั้งสิ้น" พระพุทธเจ้าตื่นก่อนผู้อื่นทั้งหมด พระองค์จึงทำหน้าที่ปลุกผู้ที่ยังหลับอยู่ให้ตื่นขึ้น ปุถุชนถ้าไม่มีใครปลุกก็จะหลับชนิดที่ไม่รู้จักตื่น, พระองค์จึงทำหน้าที่ปลุกผู้ที่ยังหลับอยู่ให้ตื่นขึ้น ปุถุชนถ้าไม่มีใครปลุกก็จะหลับชนิดที่ไม่รู้จักตื่น, พระอริยเจ้าระดับโสดาบัน สกิทาคามี และอนาคามี เป็นผู้ที่หลับบ้าง ตื่นบ้างสลับกันไป ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เป็นผู้ตื่นชนิดที่ไม่หลับอีกต่อไป

       ที่ว่า "เป็นผู้ตั้งมั่นในธรรม อันเป็นเหตุให้ตรัสรู้" คำว่า ตั้งมั่น หมายถึงสมาธินั่นเอง ความตั้งมั่นหรือสมาธิ ความหมายที่อยู่ในบทนี้ ไม่ใช่สมาธิที่อยู่ในระดับฌานหรือสมถะ แต่เป็นสมาธิที่อยู่ในระดับโลกุตระหรือวิปัสสนา ก็คือความตั้งมั่นของจิตว่างหรือพระนิพพาน

       คนส่วนมากพอได้ยินคำว่า สมาธิ มักจะมองในแง่ต่ำ เช่น สมาธิในระดับฌานหรือสมถะ แต่โดยธรรมชาติจริง ๆ นั้น หมายถึงสมาธิของจิตว่าง หรือนิพพาน

       ถามว่า ทำไมจึงพูดว่าสมาธิที่แท้จริง คือ สมาธิของจิตว่างหรือพระนิพพาน ตอบว่า เพราะพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม คือ สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง การไม่ปรุงแต่ง แสดงให้เห็นว่าเป็นสมาธิจริง นอกไปจากพระนิพพาน เรียกว่า สังขตธรรม คือสิ่งที่ปรุงแต่ง ถ้ายังปรุงแต่ง แสดงว่าไม่เป็นสมาธิ ปรุงก็คือไหลเปลี่ยนแปลง ดังนั้น สิ่งที่เป็นสมาธิจริง ๆ ก็คือจิตว่างหรือนิพพาน

       ถ้าพูดกันในภาษาธรรมดา ถามว่า ทำไมคนส่วนมากมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในหน้าที่ของตน ตอบว่าก็เพราะขาดความตั้งมั่นในหน้าที่นั้น ๆ นั่นเอง เป็นคนโลเลไม่จริงจัง แต่ถ้าพูดกันในระดับโลกุตระ ก็คือ ความตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพาน, ถามว่าทำไมบางคนเป็นโสดาบันแล้ว แต่ก็เป็นโสดาบันไปจนตลอดชีวิต ตอบว่าก็เพราะขาดความตั้งมั่นเหมือนกัน ทำไมครั้งพุทธกาลจึงมีพระอรหันต์มากมาย ก็เพราะมีความตั้งมั่นนั่นเอง ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า "ตั้งมั่น" จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ประโยคสุดท้ายจึงบอกว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้ มีปัญญาสอดส่องเห็นแจ้งต่อพระนิพพาน

       
องค์ประกอบที่ ๓ วิริยะ แปลว่า ความพากเพียร หมายถึงเพียรเพื่ออยู่กับพระนิพพาน ถ้าถามว่าในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องมีความเพียรไปทำไมอีก ขอตอบว่าความเพียรของพระอรหันต์ เป็นความเพียรชนิดที่ไม่ต้องเพียร ความเพียรอย่างที่ไม่ต้องเพียรนั่นแหละ คือ ความเพียรที่แท้จริง เคยมีผู้พูดกระทบท่านอาจารย์พุทธทาสว่า "ดีแต่พูด แต่ไม่ปฏิบัติ" ท่านก็พูดแก้ไปว่า "การที่ไม่ต้องปฏิบัติอะไรนั่นแหละ คือ การปฏิบัติที่แท้จริง" คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่า การปฏิบัติ คือ การนั่งสมาธิ การนั่งหลับตานิ่ง ๆ หรือการเดินจงกรมกลับไปกลับมา เป็นต้น เขาเอากิริยารูปแบบภายนอกมาเป็นตัวตัดสินภายนอกนั่งสมาธิ นั่งหลับตานิ่ง ๆ หรือกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่ภายในจิตใจอาจจะปรุงแต่งก็ได้ หรือภายนอกเคลื่อนไหวทำหน้าที่อยู่ด้วยความถูกต้อง แต่จิตใจว่างจากกิเลสบริบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะก็ได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงใช้คำว่าความเพียรชนิดที่ไม่ต้องเพียร นั่นคือความเพียรอันสูงสุด แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอาศัยความเพียรชนิดที่ต้องเพียรไปก่อน มีพุทธภาษิต วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ แปลว่า คนจะล่วงพ้นจากทุกข์ได้เพราะความเพียร
 
       
องค์ประกอบของความเพียร
       องค์ประกอบของความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์มีอยู่ ๔ อย่าง

       ๑)  เพียรระวัง หมายความว่า มีสติสัมปชัญญะสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกการเคลื่อนไหว ทุกสถานที่ ทุกเวลานาที

       สิ่งที่เรียกว่า อินทรีย์ มีอยู่ ๒ ความหมาย คือ อินทรีย์ ๕ กับ อินทรีย์ ๖ คำว่าอินทรีย์ ๕ หมายถึงคุณธรรม ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เขาพูดกันว่าอินทรีย์ยังอ่อน อินทรีย์ย่อหย่อน หรืออินทรีย์แก่กล้า ก็หมายถึง อินทรีย์ห้า นั่นเอง ถามว่า ทำไมในครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ผู้ฟังบรรลุธรรมได้ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนเป็นโสดาบัน บางคนเป็นสกิทาคามี บางคนเป็นอนาคามี บางคนสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ฟังธรรม ตอบว่า ก็เพราะมีอินทรีย์ห้าไม่เท่ากันนั่นเอง ผู้ที่มีอินทรีย์ย่อหย่อนก็บรรลุธรรมในระดับต่ำ ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็บรรลุธรรมในระดับสูง

       คำว่า อินทรีย์ ๖ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เขาพูดกันว่า มีอินทรีย์เศร้าหมองขุ่นมัว หรือมีอินทรีย์ผ่องใส ก็หมายถึงอินทรีย์หกนี่เอง ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมจะมีอินทรีย์เศร้าหมอง มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ส่วนผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้น มีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณวรรณเปล่งปลั่ง พระพุทธเจ้ามีอินทรีย์ผ่องใส ถ้ามีอินทรีย์ห้าหย่อน ก็จะมีอินทรีย์หกเศร้าหมอง ถ้ามีอินทรีย์ห้าแก่กล้า อินทรีย์หกก็ผ่องใส

       ตกลงว่า เพียรระวัง ก็คือมีสติสัมปชัญญะสำรวมระวังอินทรีย์หก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

       ๒)  เพียรละ ถ้าพูดกันในแง่ของผู้ที่ยังต้องฝึก หมายความว่า เมื่อผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยธรรมชาติจะเกิดความรู้สึกทางระบบประสาท เรียกว่า เวทนา ก็มีสติปัญญารู้เท่าทัน ไม่หลงยึดถือต่อเวทนา การไม่ยึดถือต่อเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะแห่งผัสสะ เรียกว่าการละ ถ้าเข้าไปยึดถือต่อเวทนา แสดงว่าไม่ละ แต่กลายเป็นอุปทานคือความยึดมั่นถือมั่น

       ถ้าพูดกันในแง่ของพระอรหันต์ เป็นการละในระดับสูงสุด ก็คือไม่ยึดถือในรูปที่เห็นด้วยตา เห็นก็สักว่าเห็น เป็นเพียงกิริยาที่ผ่านไปตามธรรมชาติ ไม่ยึดถือในเสียงที่ได้ยินทางหู ไม่ยึดถือในกลิ่นที่ผ่านมาทางจมูก ไม่ยึดถือในรสที่มาปรากฎทางลิ้น ไม่ยึดถือต่อโผฏฐัพพะที่มาถูกต้องทางผิวหนัง อันนี้เรียกว่าการละ

       ๓)  เพียรสร้างสรรค์ ถ้าเป็นผู้ยังมีกิเลส หมายความว่าปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง สำรวมระวังอยู่เป็นประจำทุกอิริยาบท พอผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทัน ไม่หลงเพลินยึดถือที่เวทนา ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ บางครั้งก็พ่ายแพ้กิเลสไปบ้าง ชนะไปบ้าง แต่ก็ไม่ท้อถอย ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เปรียบเหมือนกับคนที่ฝึกขี่จักรยาน พอเริ่มต้นจะให้ขี่ได้ทันทีเป็นไปไม่ได้ จะต้องล้ม ต้องเจ็บไปก่อน แต่ถ้ามีความพยายาม ล้มก็ลุกขึ้นมาหัดขี่ใหม่ ฝึกบ่อย ๆ ในที่สุดก็สามารถขี่จักรยานได้ เรื่องของจิตใจก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ถ้าฝึกบ่อย ๆ ในที่สุดก็สามารถขี่จักรยานได้ เรื่องของจิตใจก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ถ้าฝึกบ่อย ๆ ปฏิบัติอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเอาชนะกิเลสหรือความทุกข์ได้

       ๔)  เพียรรักษา ก็คืออยู่กับพระนิพพานต่อไป มีปัญญาเห็นแจ้งต่อพระนิพพานอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ารักษาพระนิพพานไว้ เปรียบเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เกลือไปอยู่ที่ไหนต้องมีรสเค็ม ไม่เปลี่ยนเป็นรสเปรี้ยว รสขม หรือรสอื่น ๆ ผู้เป็นบัณฑิตย่อมใช้ปัญญาและความเพียรอยู่กับพระนิพพาน  การรักษาพระนิพพานของพระอรหันต์ คือ การรักษาชนิดที่ไม่ต้องรักษา การรักษาอย่างที่ไม่ต้องรักษานั่นแหละ คือ การรักษาอันสุงสุด

       การรักษาชนิดที่ต้องรักษา แสดงว่า ยังมีผู้รักษา มีกิริยาอาการรักษา และมีสิ่งที่ถูกรักษา ทั้งสามอย่างนี้เป็นเพียงมายาแห่งตัวตน แต่ถ้าเป็นการรักษาชนิดที่ไม่ต้องรักษาแสดงว่า ไม่มีผู้รักษา ไม่มีกิริยาอาการรักษา และไม่มีสิ่งที่ถูกรักษา ภาวะที่ว่างจากมายาทั้งสามอย่างนี้ นั่นแหละคือสัจธรรมที่แท้จริง หรือพระนิพพานนั่นเอง

       เป็นอันว่าองค์ประกอบโพชฌงค์ประการที่สาม หมายถึง ความเพียรอยู่กับพระนิพพาน โดยเฉพาะเป็นความเพียรชนิดที่ไม่ต้องเพียร ดังที่ได้กล่าวแล้ว

       
องค์ประกอบที่ ๔ ปีติ คือ ความอิ่มใจ หมายถึงความอิ่มใจพอใจต่อพระนิพพาน มีความรักและเคารพต่อพระนิพพาน ปีติที่เป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ ต่างกับปีติในอานาปานสติหรือในรูปฌาน ปีติในอานาปานสติหรือในรูปฌานเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกทางระบบประสาท ส่วนปีติในโพชฌงค์นั้น เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มีลักษณะเป็นกำลัง หมายถึงมีความอิ่มอยู่กับพระนิพพาน มีพุทธภาษิตว่า ธมฺมปีติ สุขํ เสติ แปลว่า ผู้อิ่มในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ธรรมในที่นี้ก็คือพระนิพพาน ผู้ที่อิ่มอยู่กับพระนิพพานเป็นความอิ่มชนิดที่ไม่กลับมาหิวอีก ความอิ่มทางร่างกาย เพราะได้กินอาหาร อิ่มแล้วกผ้ต้องหิวอีก ต้องกินอาหารกันทุกวัน แต่ความอิ่มเพราะได้ดื่มด่ำพระนิพพาน เป็นความอิ่มชนิดที่ถาวร บางแห่งพระพุทธเจ้าตรัสในลักษณะเป็นบุคลาธิษฐานว่า พระนิพพานเป็นน้ำอมฤตธรรม ถ้าผู้ใดได้ดื่ม ผู้นั้นจะไม่ตาย เข้าถึงความเป็นอมตะ
 
           มีพุทธภาษิตว่า "บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม"

       ที่ว่า "บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ" ยกตัวอย่าง คนเป็นโรคเบาหวาน หมอบอกว่าต้องตัดขาทิ้ง แต่ถ้ามีเงินสัก ๕ แสนบาท สามารถสั่งยาจากอเมริกา รักษาให้หายเป็นปรกติได้ (สมมติ) โดยไม่ต้องตัดขาทิ้ง ยอมจ่ายเงิน ๕ แสนบาท เพื่อไม่ต้องตัดขา ธรรมภาษิตจึงบอกว่า บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ๕ แสนบาท  ก็ยอมจ่ายเพื่อรักษาอวัยวะไว้ ทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย ในอนาคตเราก็สามารถหาใหม่ได้อีก อวัยวะของชีวิตสำคัญกว่า

       ที่ว่า "พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต"  ยกตัวอย่าง อีกคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน หมอบอกว่าต้องตัดขาข้างซ้ายออก จะรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ถ้าไม่ตัดอาจจะต้องเสียชีวิตก็ได้ แต่ถ้าตัดขาออก ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปอีก ฉะนั้นก็ยอมตัดขาข้างซ้ายทิ้งตามที่หมอแนะนำ เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ธรรมภาษิตจึงบอกว่า พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

      ที่ว่า "พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ" คำว่า "ธรรมะ" ก็คือพระนิพพานนั่นเอง ยกตัวอย่าง คนเป็นโรคมะเร็งที่ปอด เป็นในระยะสุดท้ายแล้วด้วย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย หมอบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณสามวัน แม้ชีวิตจะต้องตายภายในสามวัน ก็ยอมรับความจริงของธรรมชาติ แต่ไม่ยอมสูญเสียพระนิพพาน แม้จะต้องตายก็ยอม แต่ให้ตายด้วยจิตใจที่ปรกติ ปราศจากความขุ่นมัวเศร้า ตายด้วยจิตที่อยู่กับพระนิพพาน

       เรารักเคารพพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด แม้ว่าเราจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง แม้จะต้องสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือแม้จะต้องสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือแม้จะต้องสูญเสียกระทั่งชีวิต แต่ไม่ยอมสูญเสียธรรมะ คือ พระนิพพาน เราเคารพพระนิพพานว่าเป็นสิ่งสูงสุด

       ตกลงว่า ปีติในสัมโพชฌงค์ ก็คือ ความอิ่มใจพอใจต่อพระนิพพาน
 
       
องค์ประกอบที่ ๕ ปัสสัทธิ แปลว่า ความสงบทั่ว หมายถึงความสงบอยู่อย่างทั่วถึงต่อพระนิพพาน ไม่ข้องติดอยู่กับสิ่งใด ไม่ผูกพันอยู่กับอะไร ไม่ยึดติดทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต เรียกว่า อยู่เหนืออดีต ปัจจุบัน อนาคต ดังมีคำพูดที่ว่า "เมื่อความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอดีต ไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการปล่อยวางในส่วนที่เป็นอดีต, เมื่อความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปัจจุบัน ไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการปล่อยวางในส่วนที่เป็นปัจจุบัน, เมื่อความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอนาคต ไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการปล่อยวางในส่วนที่เป็นอนาคต นี้เรียกว่า การปล่อยวางที่สูงสุดทั้งสามกาล"
 
       เกี่ยวกับญาณ ๓ อธิบายได้ดังนี้ ความรู้ความฉลาดที่สามารถปล่อยวางเรื่องของอดีตได้ ไม่อาลัยอาวรณ์ต่ออดีตที่ผ่านมาแล้ว ตัดอดีตได้โดยเด็ดขาดด้วยประการทั้งปวง ความรู้ความฉลาดนี้เรียกว่า อตีตังสญาณ, ความรู้ความฉลาดที่สามารถปล่อยวางปัจจุบันได้ อยู่เหนือปัจจุบัน ไม่ข้องติดอยู่กับปัจจุบัน ความรู้ความฉลาดอันนี้ เรียกว่า ปัจจุบันนังสญาณ, ความรู้ความฉลาดที่สามารถปล่อยวางต่ออนาคตได้ ไม่กังวลต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ตัดอนาคตได้ด้วยประการทั้งปวง เรียกว่า อนาคตังสญาณ ภาวะจิตของพระอรหันต์อยู่เหนือทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นความอิสรภาพและสุขสงบถึงที่สุด เป็นสุขที่ไร้สุข ก็คือสุขสงบเย็น


   
 ความสุข ๒ ความหมาย
      สิ่งที่เรียกว่า ความสุขมีอยู่ ๒ ความหมาย คือ

       ๑) สุขสนุกสนาน หมายถึง ความสุขฝ่ายบวกฝ่ายพอใจ เป็นความสุขี่เหน็ดเหนื่อยสิ้นเปลือง เช่น ความสุขที่เกิดจากการได้ดื่มสุรา ความสุขที่เกิดจากการไปเที่ยวสถานที่เริงรมย์ ความสุขที่เกิดจากการได้หัวเราะกัน เป็นต้น ที่จริงความสุขในลักษณะอย่างนี้ทางพระศาสนาเรียกว่าความทุกข์เหมือนกัน เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตใจเหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ ดีใจเกินไปกินข้าวไม่ลง ตื่นเต้นเกินไปนอนไม่หลับ

       ๒) สุขสงบเย็น หมายถึง เป็นความสุขที่จะปรากฎออกมาได้ เพราะจิตใจว่างจากกิเลส ไม่มีทั้งดีใจ ไม่มีทั้งเสียใจ ก็คือความสุขเพราะอยู่กับพระนิพพานนั่นเอง มีธรรมภาษิตว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง แปลว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง หมายถึงสุขสงบเย็น นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง แปลว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

       ฉะนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็คือ ความสงบอยู่อย่างทั่วถึงต่อพระนิพพาน เป็นความสงบของพระอรหันต์


       
องค์ประกอบที่ ๖ สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจมั่น หมายถึงตั้งใจมั่นแน่วแน่อยู่กับพระนิพพาน ตั้งใจมั่นแน่วแน่เพื่ออยู่กับความว่าง ตั้งใจมั่นแน่วแน่เพื่อป้องกันไม่ให้ดีใจเสียใจเกิดขึ้น

       คำว่า สมาธิเป็นธรรมชาติกลาง ๆ เช่น กระรอกหรือพญากระรอกดำที่กระโดดอยู่บนกิ่งไม้ก็ต้องใช้สมาธิ แต่เป็นสมาธิที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณ ที่สวนโมกข์ ฯ พวกกระรอกขนาดเล็กมีอยู่มาก ส่วนพญากระรอกดำมีไม่มาก สังเกตดูเวลามันไล่กัดกัน ต้องใช้สมาธิมากเหมือนกัน แต่เป็นสมาธิในระดับพื้นฐานที่มีอยู่ตามธรรมชาติ, คนที่ขับรถอยู่บนถนนก็ต้องใช้สมาธิ แต่เป็นสมาธิในการขับรถ

       คนส่วนมากพอได้ยินถึงสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ มักจะเล็งไปที่การนั่งสมาธิ คือ เขาจะมองไปที่รูปแบบภายนอก การนั่งสมาธิแต่จิตไม่เป็นสมาธิก็ได้ บางคนนั่งสมาธิได้อย่างต่อเนื่องหลาย ๆ ชั่วโมง แต่จิตไม่ค่อยเป็นสมาธิ ยังเป็นคนขี้โกรธ ขี้โมโห เข้าทำนองที่ว่า "สมาธิขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ" ฉะนั้น การนั่งสมาธิแต่จิตไม่เป็นสมาธิก็ได้ หรือจิตเป็นสมาธิโดยที่ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้เหมือนกันถ้าฝึกอบรมมาดี ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง" นั่นเอง ข้างนอกเคลื่อนไหว แต่ข้างในเป็นสมาธิ

       อีกประโยคหนึ่งว่า "อันจิตว่างมีได้ในกายวุ่น" ทางร่างกายภายนอก ต้องวุ่นอยู่กับหน้าที่การงาน แต่จิตใจภายในว่างปรกติเป็นสมาธิ ฉะนั้น จิตเป็นสมาธิโดยที่ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ยังได้ ถ้าฉลาดพอ หรือการนั่งสมาธิก็เป็นอุบายอย่างหนึ่ง เพื่อฝึกให้จิตเป็นสมาธิที่สวนโมกข์ฯ ก็มีการนั่งสมาธิ โดยเฉพาะการฝึกตามระบบอานาปานสติ ซึ่งเป็นระบบของพระพุทธเจ้า ฝึกฝนเพื่อให้จิตเป็นสมาธินั่นเอง การนั่งสมาธิกับจิตเป็นสมาธิไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ความมุ่งหมายโดยตรงระบุไปที่จิตเป็นสมาธิมากกว่าการนั่งสมาธิ
 
 
    คุณสมบัติของจิตที่เป็นสมาธิ
    จิตที่เป็นสมาธิแท้จริง ต้องมีคุณสมบัติ ๓ อย่าง

       ๑) ปริสุทโธ คือ จิตบริสุทธิ์ จิตที่เป็นสมาธิตามหลักของพุทธศาสนานั้น มีความบริสุทธิ์ถึงที่สุด หมายถึงไม่มีนิวรณ์เข้ามารบกวน เช่น ไม่มีกามฉันทะ คือ ความพอใจในกาม, ไม่มีพยาบาท คือ ความคิดประทุษร้าย, ไม่มีถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ง่วงซึม, ไม่มีอุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญ และไม่มีวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เป็นจิตที่สะอาดเกลี้ยงเกลา

       ๒) สมาหิโต คือ จิตตั้งมั่น จิตที่เป็นสมาธิถึงที่สุด มีลักษณะตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มาปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นจิตคงที่ ไม่ขึ้นลง ไม่ฟู ไม่แฟบ พระพุทธเจ้าทรงอุปมาจิตที่เป็นสมาธิไว้ว่า เหมือนกับภูเขาหินที่มีแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือนต่อลมพายุที่พัดมากระทบฉันใด จิตที่เป็นสมาธิก็ไม่หวั่นไหวโยกโคลงต่ออารมณ์ที่มากระทบฉันนั้นเหมือนกัน

       ๓) กัมมนีโย คือ จิตควรแก่การงาน จิตที่เป็นสมาธิจะน้อมไปทำหน้าที่อะไรจะทำได้ดี มีสมรรถนะในการทำงานทุกชนิด เช่น การอ่านหนังสือ ถ้าจิตเป็นสมาธิ คือ บริสุทธิ์ ตั้งมั่น การอ่านหนังสือก็จะอ่านได้ดี เข้าใจทุกขั้นตอนในขณะที่อ่าน หรือทำหน้าที่อื่น ๆ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน

       ตกลงว่า สมาธิในสัมโพชฌงค์ ก็คือความตั้งใจมั่นแน่วแน่เพื่ออยู่กับพระนิพพาน

       
องค์ประกอบที่ ๗ อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย หมายถึงมีความวางเฉยเพื่ออยู่กับพระนิพพาน ใครมาด่าหรือตำหนิก็วางเฉย ไม่โกรธ เพื่ออะไร? ก็เพื่ออยู่กับพระนิพพาน ใครมาชมสรรเสริญก็วางเฉย ไม่ดีใจพอใจ เพื่ออะไร? ก็เพื่ออยู่กับพระนิพพานเป็นความวางเฉยที่ประกอบด้วยสติปัญญา

       คำว่า อุเบกขา มีอยู่ ๓ ระดับ

       ๑) อุเปกขาปารมี หมายถึงความวางเฉยในระดับพื้นฐานธรรมดา เช่น คนอื่นมาด่าตำหนิก็ไม่ด่าตอบ แม้ว่าภายในจิตใจอาจจะโกรธไม่พอใจ แต่ก็ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ควบคุมกายวาจาไว้ได้ ดูข้างนอกเป็นคนสงบเสงี่ยม ไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น
   
       บางคนมีโจรมาลักขโมยทรัพย์สิน แม้รู้อยู่ว่าโจรนั้นเป็นใคร แต่ก้ไม่แจ้งความเอาผิดเขา ภายในจิตใจอาจจะโกรธ เรียกว่าเฉยข้างนอก แต่ไม่เฉยข้างใน ผู้ที่ควบคุมกายวาจาได้ในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งในระดับพื้นฐาน คือ อุเบกขาบารมี เป็นอุเบกขาในระดับศีล ก็เป็นประโยชน์ในส่วนของสังคม

       ๒) อุเปกขาอุปปารมี หมายถึง ความวางเฉยที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เป็นระดับกลาง อุเบกขาที่อยู่ในระดับฌานหรือสมาธิ เช่น ฌานที่ ๔ ซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ ๒ อย่างได้แก่ อุเบกขากับเอกัคคตา, ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ เรียกว่า รูปฌาน, ฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน มีคุณสมบัติอยู่ ๕ อย่าง ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน มีคุณสมบัติอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่ ปีติ สุข และเอกัคคตา, ฌานที่ ๓ คือ ตติยฌาน มีคุณสมบัติอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่ สุขกับเอกัคคตา , ฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน มีคุณสมบัติอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่ อุเบกขา หมายถึงความวางเฉย กับ เอกัคคตา หมายถึงความมีจิตเป็นอารมณ์เดียว ฉะนั้น อุเปกขาอุปปารมี ก็คือความวางเฉยในระดับสมาธิ โดยเฉพาะในระดับฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน

       ๓) อุเปกขาปรมัตถปารมี หมายถึง ความวางเฉยขั้นสูงสุด เป็นความวางเฉยที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง หรือมีความหมายอันลึกซึ้ง ก็คือความวางเฉยเพื่ออยู่กับพระนิพพานนั่นเอง ในเมื่อตาเห็นรุป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องกับโผฏฐัพพะและใจรู้ต่อธรรมารมณ์ ก็วางเฉยได้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นความวางเฉยในระดับวิปัสสนาหรือปัญญาเพื่ออยู่กับพระนิพพาน มีใครมาด่าก็วางเฉยเป็นอุเบกขา ไม่โกรธ มีใครมาชมก็วางเฉยเป็นอุเบกขา ไม่ดีใจ การวางเฉยในลักษณะอย่างนี้ เป็นอุเบกขาในขั้นปรมัตถปารมีเฉยด้วยปัญญา ฉะนั้น อุเบกขาในระดับสูงสุด ก็คืออุเบกขาของจิตว่างนั่นเอง เพราะว่าจิตว่างเป็นอสังขตธรรม เป็นภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ถ้ายังเป็นสังขตธรรม แสดงว่ายังไม่เฉยจริง

       ดังนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็คือความวางเฉยของจิตว่าง หรือพระนิพพาน ซึ่งเป็นความวางเฉยอันสูงสุด

       สรุปตรงนี้ว่า อานาปานสติเป็นระบบปฏิบัติตั้งแต่ขั้นหยาบพื้นฐาน จนไปถึงขั้นละเอียดสุด หรือตั้งแต่ขั้นต่ำสุดจนไปถึงขั้นสูงสุด กล่าวคือพระนิพพาน ส่วนโพชฌงค์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นระบบปฏิบัติเพื่อรักษาพระนิพพานเอาไว้ และเป็นการรักษาชนิดที่ไม่ต้องรักษานั่นแหละคือการรักษาอันสูงสุด


 
ที่มา. จาก พระคัมภีรญาณ อภิปุญฺโญ, (๒๕๕๐). อานาปานสติ คือทางสู่พระนิพพาน, (หน้า ๙๗ - ๑๐๙). กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.

 
humanexcellence.thailand@gmail.com