MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: ภาพแผนที่อาณาจักรมาวหลวง, ที่มา: Facebook ห้อง "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว", วันที่เข้าถึง 07 กรกฎาคม 2564. 
II.03 ราชวงศ์เสือข่านฟ้า
First revision: Jul.07, 2021
Last change: Jul.07, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       จากจดหมายเหตุของจีนระบุว่า หลวงพระบาง พงสาลี อุดมไช บ่อแก้ว (และตอนเหนือบางส่วนของไทย เมืองเชียงดาว จ.เชียงใหม่, เมืองละกอน หรือ จ.ลำปาง) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเมืองมาวหลวงของเจ้าเสือข่านฟ้ามาก่อน {ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว พ.ศ.360 (ประมาณ)}01.

       ตามข้อความในหมิงสือลู่ลงวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1391/พ.ศ.1934 จักรพรรดิไท่จู่ทรงปรารภว่า "ได้ยินมาว่า ปาไป่ [ต้าเตี้ยน] และไป่อี๋ [ไทมาว] ได้ทำศึกสงครามกันมานานจนหาความสงบสุขมิได้ " แต่เนื่องจากปาไป่ยอมอ่อนน้อมส่งบรรณาการ จึงได้ทรงให้หาทางช่วยเหลือปาไป่ ภูมิหลังของเรื่องนี้มาจากช่วงปลายราชวงศ์หยวนเมื่ออำนาจของพวกมองโกลได้เสื่อมลง ในครั้งนั้น เสือกาฟ้า (บ้างก็เรียก เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า เจ้าหลวงขุนผางคำ) กษัตริย์มาวแห่งเมืองแส้หลวง (เมืองมาวหรือเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ในจีน) ได้ฉวยโอกาสขยายอำนาจในกลุ่มรัฐไทใหญ่ นอกจากนี้ยังขยายอำนาจเข้าไปในเขตยูนนาน เกิดการรบพุ่งกับราชวงศ์หมิง ซึ่งต้องการสถาปนาอำนาจเหนือบริเวณยูนนานตะวันตก ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า เสือกาฟ้าทรงต้องการสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เหมือนหนานเจ้าและต้าหลี่ในอดีต เพราะทรงปรารถนาที่จะยึดครองเมืองต้าหลี่ด้วย พระราชโอรสของพระองค์คือ เสือโหลงฟ้า (บ้างก็เรียก เจ้าเสือข่านฟ้า) ได้ขึ้นครองราชย์ ค.ศ.1383/พ.ศ.1926 ในช่วงเวลาเพียงสามปี เสือโหลงฟ้ามีกำลังกล้าแข็งถึงขนาดที่ว่า วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1386/พ.ศ.1929 ได้มีรายงานถึงราชสำนักที่ปักกิ่งว่าพระองค์ได้นำพล 100,000 คนเข้าโจมตี จิ่งต้ง และรบได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายจีน แต่ในต้นปี ค.ศ.1388/พ.ศ.1931 เสือโหลงฟ้าได้นำทัพเข้าโจมตียูนนานอีก แต่ทัพของพระองค์ประสบกับความพ่ายแพ้ อันเนื่องมาจากฝ่ายจีนนำเอาปืนไฟมาใช้ และไพร่พลของพระองค์ถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก.
       ความขัดแย้งระหว่างท้าวแสนเมืองมา (ตาวปานเหมี่ยน) กับเสือโหลงฟ้าแห่งเมืองมาวน่าจะมาจากการที่มีเขตอิทธิพลติดกัน (ในตำนานของไทยมาว ซึ่งพูดเกินเลยไปถึงอำนาจของเสือโหลงฟ้านั้น ได้กล่าวถึงเมืองขึ้นของไทมาวจำนวนมากมายรวมทั้งเชียงใหม่ เชียงแสน เชียงรุ่ง หริภุญชัย พุกาม อยุธยา ฯ และแม้กระทั่งต้าหลี่ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย) เพราะเมืองเชียงใหม่ได้ขยายอำนาจไปเหนือดินแดนตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ในช่วงเวลาที่เสือโหลงฟ้ามีปัญหากับกษัตริย์อังวะ เพราะยกกองทัพเข้าโจมตีดินแดนพม่า จนพระองค์ร้องเรียนไปยังราชสำนักหมิงในปี ค.ศ.1395/พ.ศ.1938 และ ค.ศ.1396/พ.ศ.1939 ในท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ทูตของปาไป่ต้าเตี้ยนในการเข้าเฝ้าจักรพรรดิในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1393/พ.ศ.1936 ได้ขออาสาเป็นสื่อกลางติดต่อจีนให้แก่พม่า เพื่อให้ราชสำนักจีนส่งทูตไปพม่าเชื้อเชิญให้พม่ายอมติดต่อสัมพันธ์กับราชสำนักอังวะ พม่าได้ส่งทูตไปจีนในปีเดียวกันนั้นเอง ข้อมูลนี้แสดว่า ท้าวแสนเมืองมาได้ผูกไมตรีกับเมืองอังวะ ต่อต้านการขยายอำนาจของเสือโหลงฟ้า อย่างไรก็ตาม พม่าได้แจ้งแก่ราชสำนักจีนถึงสองครั้งในปี ค.ศ.1395/พ.ศ.1938 และ ค.ศ.1396/พ.ศ.1939 ว่าภายหลังยกทัพมาโจมตีพม่าไม่สำเร็จ เสือโหลงฟ้าก็ถูกตาวกานหมิ่ง (ท้าวคำ) โค่นล้มอำนาจ จนต้องหันไปพึ่งจีนก่อนกลับมาได้ราชสมบัติและพิราลัยใน ค.ศ.1399/พ.ศ.194202.

       มีกษัตริย์เมืองมาวหลวง หรือไทมาว นั่นคือ ซือเยิ่นฝ่า หรือ พระเจ้าเสือครองฟ้า หรือ เจ้าเสืองำฟ้า หรือ เจ้างานฟ้า (Chau Ngan Pha) สำเนียงจีนหลวงอ่าน ซือเหรินฝ่า กษัตริย์ไทมาวโหลงผู้ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อต้นปี ค.ศ.1413/พ.ศ.1956 ได้ทรงเริ่มทำสงครามรื้อฟื้นอำนาจของอาณาจักรนั้นขึ้นใหม่ โดยทรงรบแย่งชิงดินแดนคืนจากพม่า หลังจากนั้น ทรงหันความสนใจมาทางยูนนานและทรงเข้าโจมตีเมืองสำคัญหลายแห่งในยูนนานตะวันตกรวมทั้งเถิงจง หนานเตี้ยน (เมืองตี้) และลู่เจียง เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งคือ การที่พระองค์ทรงรบชนะกองทัพจีนครั้งใหญ่ทั้งในกลางปี ค.ศ.1438 และตอนต้นปี ค.ศ.1439. (อาจจะเป็นแนวคิดของชาวไทหมาวโหลงที่ต้องการจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนกับอาณาจักรน่านเจ้าในอดีต03




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook ห้อง "กลุ่มศึกษาลาว-อีสานเพื่อเผ่าพันธุ์ลาว", วันที่เข้าถึง 07 กรกฎาคม 2564.
02. จาก. การบรรยายของ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เรื่อง ล้านนามหาปกรณัม ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ครั้งที่ 5 ศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564.  
03. จาก. การบรรยายของ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เรื่อง ล้านนามหาปกรณัม ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ครั้งที่ 6 ศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564.  
info@huexonline.com