MENU
TH EN

พระธรรมบท 1

พระพุทธรูปปางประทานอภัย (ยืน) (หันหน้าไปทางทิศตะวันตก) ในเจดีย์ประธานโบราณสถานวัดพระสี่อริยบท จังหวัดกำแพงเพชร, ถ่ายไว้เมื่อ 31 ตุลาคม 2564.
พระธรรมบท 101, 02, 03.
 
First revision: Nov.13, 2022
Last change: Apr.09, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย พุทธมามกะ04. อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

ข้าพเจ้ากับพระราชปริยัติดิลก (พระอาจารย์วิชิต อิสฺสโร) เปรียญธรรม ๙ ประโยค ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ธนบุรี อดีตเจ้าคณะ 11 วัดประยูรฯ ถ่ายไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2557.

       ด้วยประโยชน์และอานิสงส์ที่ผู้สนใจได้จากบล็อกพระธรรมบทนี้ ขอน้อมถวายแด่พระราชปริยัติดิลก (พระอาจารย์วิชิต อิสฺสโร) เปรียญธรรม ๙ ประโยค ไว้ ณ ที่นี้ ขอให้ดวงวิญญาณของพระอาจารย์วิชิต ได้ขึ้นสู่ภพภูมิที่สงบ ละเอียดประณีต และเข้าใกล้พระนิพพานโดยเร็วด้วยเทอญ จากลูกศิษย์โต้ง ศิษย์วัดประยูรฯ คณะ 11 ช่วง พ.ศ.2518-2526

      
ระธรรมบท03 นี้ เป็นหนึ่งในหมวดย่อยของขุททกนิกาย (Khuddaka Nikāya) ในพระสุตตันตปิฎก (Sutta Piṭaka) เป็นภาษาบาลีมี 423 คำโคลง แบ่งเป็น 26 บท.1. เป็นนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธมามกะ ซึ่งรวมบทโคลงที่นิยม หรือรวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ แม้ว่าอาจไม่มีพระวจนะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทว่าได้แฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ น้อมนำเหล่ามนุษย์เข้าสู่กระบวนการแห่งความพยายามทางจิตใจและศีลธรรมด้วยความวิริยะบากบั่น. พระธรรม คือ วินัย กฎกติกา และศาสนา2. บท คือ วิถี3. วิธี (อุปายะ) หนทาง (มรรค).
       พระธรรมบทจึงเป็นหนทางแห่งธรรม. บท (Pada) แปลว่า ฐาน; พระธรรมบทจึงเป็นฐานหรือรากฐานของพระศาสนา. หากนำคำว่า บท มาเป็นส่วนหนึ่งของโคลง พระธรรมบท ก็จะหมายถึง ถ้อยคำของพระศาสนา. ชาวจีนได้แปลพระธรรมบทเป็น 'ข้อความในพระคัมภีร์.' เนื่องจากมีข้อความจากหนังสือซึ่งบัญญัติไว้หลายเล่ม.
       เราไม่สามารถกำหนดวันที่ในการจัดทำพระธรรมบทได้แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันที่ในการจัดทำพุทธบัญญัติซึ่งพระธรรมบทเป็นส่วนหนึ่งในพุทธบัญญัตินี้. ประเพณีทางพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านพระพุทธโฆษะเห็นด้วย การถือศีลได้รับการตกลงยอมรับในพุทธสภาแรกหรือปฐมสังคายนา01. จากข้อความของยวน ชวาง02. ซึ่งบันทึกไว้ว่าพระไตรปิฎกได้เขียนขึ้นในตอนท้ายของปฐมสังคายนา ภายใต้พระบัญชาของพระมหากัสสปะเถระ (Kāśyapa หรือ Mahākāśyapa) ซึ่งแสดงให้เห็นแง่มุมที่แพร่หลายต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 2 (คริสต์ศตวรรษที่ 7).

หมายเหตุ การขยายความ
01. ปฐมสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลี และพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญในการวิสัชนาพระวินัย พระธรรม (พระสูตร และพระอภิธรรม) ตามลำดับ ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก, ที่มา: www.dhammathai.org/monk/monk06.php, วันที่เข้าถึง 4 เมษายน 2566.
02. ยวน ชวาง (Yuan Chwang) หรือ พระภิกษุเสวียนจั้ง (Hsuan Tsang - 玄奘) หรือ Hionen Thseng หรือ Hionen Thsang หรือพระถังซัมจั๋ง (Táng sānzàng - 唐三藏) รายละเอียดดูใน หมายเหตุ การขยายความ หน้าที่ viii ของ
สรรพทรรศนะสังเคราะห์ 1.
---------------
1. มีพระธรรมบทฉบับภาษาจีนและภาษาทิเบตซึ่งแตกต่างจากข้อความในภาษาบาลีเล็กน้อย แม้ว่าเนื้อหาทั้งหมดจะสอดคล้องกันก็ตาม ฉบับภาษาจีนมี 39 บท ส่วนภาษาบาลีมี 26 บท เดิมมี 8 บทในตอนต้น 4 บทในตอนท้าย และบทที่ 33 เพิ่มเติมจากที่พบในฉบับภาษาบาลี แม้แต่ในบทที่เป็นภาษาจีนและฉบับภาษาบาลีก็มีบทภาษาจีนมากกว่าภาษาบาลีถึง 79 บท.
2. ธรรมมะ โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งของ หรือ รูปร่าง (
ดู 279!!!???) หรือ วิถีแห่งชีวิต (167).
3. ข้อมูลทางบรรณานุกรมของ อปฺปมาโท อมตํ ปทํ. - appamādo amatapadam, 21; ความไม่ประมาทเป็นหนทางที่ไม่ตาย (สู่ชีวิตนิรันดร์).


 
หน้าที่ 2
ในคัมภีร์มหาวงศ์ได้บอกเราว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏกามานิ01. (พ.ศ.455-467 หรือ 88 ถึง 76 ปีก่อนคริสตกาล) 'เหล่าภิกษุผู้มีปัญญาเป็นเลิศจึงกล่าวด้วยวาจา1 ให้เป็นอมตะด้วยภาษาบาลีแห่งปิฏกตฺตยะและอรรถกถา02. (คำบรรยาย) แต่ในห้วงขณะนี้ เหล่าภิกษุเล็งเห็นถึงความมลายเสื่อมทรุดของประชาชน จึงชุมนุมสงฆ์กันเพื่อจะธำรงพระศาสนาที่อาจจะสถิตคงอยู่กาลนาน พร้อมได้สาธกและจารไว้เป็นคัมภีร์'.2 คัมภีร์มหาวงศ์นี้ ถึงกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.1002-1020 {หรือคริสต์ศตวรรษที่ 5 (ค.ศ.459-77)} แม้ว่าจะมีรากฐานมาจากอรรถกถาที่เก่ากว่าซึ่งแสดงถึงการเชื่อมโยงกับแนวประเพณีของศรีลังกาอยู่ แต่ในมิลินทปัญหา03. ซึ่งอยู่ในช่วงหลัง พ.ศ.453 หรือต้นคริสต์ศักราช ก็ได้กล่าวถึงพระธรรมบท. ในคัมภีร์กถาวัตถุ04. มีข้อความอ้างอิงมากมายจากพระธรรมบท มหานิทเทส05. และ จูฬนิทเทส06. ในพระไตรปิฎกนั้น ก็มิได้มีการอ้างถึงการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งสามในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชที่เมืองปาฏลีบุตร (Pāṭaliputra) เมื่อ พ.ศ.296 (ก่อน ค.ศ.247 ปี)  มีการอ้างถึงการสังคายนาฯ ครั้งที่หนึ่งที่เมืองราชคฤห์ (Rājagṛha) เมื่อ พ.ศ.66 (ก่อน ค.ศ.477 ปี) และการสังคายนาฯ ครั้งที่สองที่เมืองไพศาลี (Vaiśalī) เมื่อ พ.ศ.166 (ก่อน ค.ศ.377 ปี).  พระไตรปิฎกได้รับการอัญเชิญยังเหล่าพุทธมามกะ และได้สรุปประมวลเสร็จสมบูรณ์ภายหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สอง ได้มีการพิจารณาเบี่ยงไปจากพระวินัยอันเคร่งครัด 10 ประการที่ได้บัญญัติขึ้นในสมัยแรก ๆ ที่พระวินัยมิได้บัญญัติไว้ (ก่อนการสังคายนาฯ ครั้งที่สองนี้) ก็ได้มีการบัญญัติพระวินัยปิฎก (Vinaya Piṭaka) ที่พึงมีไว้ ณ เมืองไพศาลี. บรรดาอรรถคำสอนแห่งพระธรรมบทนั้น เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยครั้งสังคายนาฯ ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งไตรปิฎกที่ได้จารึกบัญญัติขึ้นนี้เป็นพุทธดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง3.

       พุทธศาสนิกชาวจีนถือว่าผลงานนี้เป็นของพระอารยะ ธรรมทราต (Ārya Dharmatrāta)
แม้ว่าเป็นการยากที่จะกำหนดวันที่เกิดผลงานนี้ได้อย่างชัดเจนก็ตาม4.
หมายเหตุ การขยายความ
01.
พระเจ้าวัฏฏกามานิ หรือ พระเจ้าวัฏฏคามิณีอภัย (Vaṭṭagāmani - वट्टगामणि) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรอนุราชปุระของศรีลังกา พระองค์ทรงสร้างวัดอภัยคีรีวิหาร (Abhayagiri Dagaba) ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 4 ซึ่งเป็นยุคสมัยแรก ๆ ที่มีการจารพุทธพจน์ลงในใบลาน สำนักอภัยคีรีวิหารเป็นแหล่งต้นตอในการสร้างหนังสือปกรณ์วิเศษ ชื่อ วิมุตติมรรค อันเป็นคัมภีร์หนึ่งที่มีความสำคัญของพุทธศาสนา นิกายเถรวาท คณาจารย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูของสำนักอภัยคีรีวิหาร ชื่อ พระอุปติสสะเถระ ผู้รจนาคัมภีร์วิมุตติมรรคไว้เป็นแบบ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 20 เมษายน 2565.
02. อรรถกถา บ้างก็เขียนว่า อฏฐกถา.
03. มิลินทปัญหา
(บาฬี: Milinda Pañha - มิลินฺทปญฺห - สส.
- मिलिन्दा पञ्हा) นาคเสนภิกษุสูตร (สส.: नागसेनाभिक्षुसूत्र - Nāgasenabhiksusūtra, นาคเสนภิกฺษุสูตร) หรือ ปัญหาพระยามิลินท์ เป็นเอกสารทางศาสนาพุทธช่วง พ.ศ.443 หรือ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึง พ.ศ.200 หรือ คริสต์ศักราช 200 อ้างถึงบทบันทึกการสนทนาระหว่างพระนาคเสน (Nāgasena, นาคเสน) นักบวชทางพุทธศาสนา กับพระยามิลินท์ (Milinda, มิลินฺท) หรือพระเจ้าเมลันเดอร์ที่ 1 แห่งแบ็กเตรีย กษัตริย์ชาวโยนก (คือชาวกรีก) ผู้ครองกรุงสาคละ (Sagala; ปัจจุบันคือเมืองซีอัลโกต ประเทศปากีสถาน) โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงการปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับปัญหาหลักธรรมต่าง ๆ ตั้งแต่หลักธรรมพื้นฐานไปจนถึงหลักธรรมชั้นสูงคือการบรรลุนิพพาน ผู้อ่านสามารถเข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้โดยง่าย มิลินทปัญหา ได้รับการยกย่องอย่างมากในประเทศพม่า โดยถูกรวมไว้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีหมวดขุททกนิกาย ส่วนฉบับย่อถูกรวมไว้ในพระคัมภีร์ของนิกายมหายานฉบับภาษาจีน ในประเทศไทยเพิ่งมีการแปล มิลินทปัญหา จากภาษาสิงหลเป็นไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล ในเอกสารฉบับจีนมี นาคเสนภิกษุสูตร ซึ่งเนื้อหาสอดคล้องกับสามบทแรกของ มิลินทปัญหา ถูกแปลในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ตรงกับ พ.ศ.860-963 หรือ ค.ศ.317–420, ปรับเสริมจาก: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 21 เมษายน 2566.
04. กถาวัตถุ (บาฬี: Kathāvatthu - Points of Controversy) ปรากฎขึ้นราว พ.ศ.240 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก ของเถรวาทนิกาย เป็นคัมภีร์ที่ 5 ของอภิธรรม 7 คัมภีร์ เป็นคำแถลงวินิจฉัยทัศนะต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลาย สมัยสังคายนาครั้งที่สาม กถาวัตถุได้รับขนานนามจากเหล่านักปรัชญาว่าเป็นไข่มุขแห่งปรัชญาตะวันออก เพราะในกถาวัตถุแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กถาวัตถุบริสุทธิ์ (ของพระพุทธเจ้า) และ 2. ที่เติมมาในภายหลังเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่สาม, ที่มา: เสนาะ ผดุงวัตร. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2529.
05. มหานิทเทส
(the Mahā niddesa) เป็นชื่อของพระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระไตรปิฎก 45 เล่ม และจัดอยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ 5 คัมภีร์นี้ได้เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์สายพระพุทธศาสนาเถรวาทว่าเป็นผลงานของสารีบุตร อัครสาวกของพระพุทธเจ้า เนื้อหาของคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องกาม การข้องอยู่ในเบญจขันธ์ การกล่าวประทุษร้ายกันด้วยมานะทิฏฐิ การพิจารณาความหมดจด การยึดถือทิฏฐิที่เยี่ยม การพรรณนาชีวิตและความตาย การถามถึงวิธีหลีกออกจากเมถุนธรรม การยึดมั่นศาสดาตนและการดูหมิ่นศาสดาอื่น มาคันทิยพราหมณ์ถามปัญหาและฟังธรรม ทัศนะและศีลของพระอรหันต์ สาเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท การวิวาทกันด้วยทิฏฐิขนาดเล็ก(ทิฏฐิที่สำนักตนยึดถือ) และขนาดใหญ่ (ทิฏฐิ 62) การกำจัดบาปอย่างเร็วพลัน ความกลัวที่เกิดจากโทษของตน การสรรเสริญพระพุทธคุณ และการถามปัญหาของพระสารีบุตรเถระ,
ที่มา: ดร.ประพันธ์ ศุภษร (2551) www.mcu.ac.th, วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2566.
06. จูฬนิทเทส
(the Cūḷa niddesa) (เดิมรวมอยู่ในเล่มเดียวกันกับมหานิทเทส) จัดอยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่มที่ 11 ซึ่งอรรถาธิบายข้อความจากพระสุตตันตปฏิฎก (ปรากฎขึ้นราวไม่เกิน 400 ปีก่อนพุทธศักราช).
07. พระพุทธโฆสะ หรือ พระพุทธโฆษาจารย์ (Buddhaghoṣa)
---------------
1. มุขปาฐะ (สส. मुखपाठेन - mukhapāṭhena).
2. โปตะเกสุ ลิคาพะยม (pottakesu likhāpayum) (คัมภีร์มหาวงศ์ หน้าที่ 37).
3. มัคส์ มึลเล่อร์ คิดว่า งานประพันธ์อรรถคำสอนในพระธรรมบทที่พระพุทธโฆสะ
07. ได้ให้ความเห็นนั้น มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 4. เมื่อพระเจ้าวัฏฏกามานิ ได้มีพระบัญชาให้ลดการจารพระไตรปิฎกลง, {เหล่าหนังสือหายากแห่งบูรพาทิศ - Sacred books of the East - S.B.E.
เล่มที่ 10 (พ.ศ.2424/ค.ศ.1881) หน้าที่ 14}.
4. ซามูเอล บีล กล่าวว่าพระอารยะ ธรรมทราตนี้ มีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ.473 หรือ 70 ปีก่อนคริสตกาล, ดูในหนังสือ ธรรมบท ของท่าน (พ.ศ.2445) หน้าที่ 9.
 

พระพุทธโฆษาจารย์, ที่มา: facebook เพจ "IIT - International Institute of Theravada," วันที่เข้าถึง 9 เมษายน 2567.
 
 
หน้าที่ 3
       โดยทั่วไปบรรดาอรรถคำสอนแห่งพระธรรมบทนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติและแสดงให้เห็นถึงวิธีเทศนาที่พระองค์นำมาใช้. ในอรรถกถาภาษาบาลีของพระพุทธโฆษาจารย์นั้นได้ให้ความหมายของอรรถคำสอนแห่งพระธรรมบทต่าง ๆ โดยอธิบายอ้างอิงถึงอุปมาที่พระบรมศาสดาทรงนำมาใช้ ไม่เพียงแต่พระองค์จะเป็นครูที่ฉลาดเท่านั้น แต่ยังแสดงพระองค์เป็นมิตรที่มีความเห็นอกเห็นใจกับเพื่อนมนุษย์ในการเทศนาแก่เหล่าชนที่มาเฝ้าและสดับพระธรรมของพระพุทธองค์.

       คำบรรยายเกี่ยวกับธรรมบทที่เรียกว่า ธรรมบทอรรถกถา (Dhammapada Aṭṭhakathā) นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธโฆษาจารย์ ดังจะเห็นได้จากสัญลักษณ์ที่ปรากฎในหนังสือที่จัดพิมพ์. พระพุทธโฆษาจารย์เดิมนั้นท่านเป็นพราหมณ์ผู้รอบรู้ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองเริ่มประมาณ พ.ศ.143 หรือคริสตศักราช 400.






ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. พุทธวจนะในธรรมบท (The Buddha's words in THE DHAMMAPADA), โดยราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก ISBN: 974-497-496-6, พิมพ์ครั้งที่ 11 สำนักพิมพ์: ธรรมสภา และสถาบันบันลือธรรม กรุงเทพฯ, พ.ศ.2552
02. The Dhammapada, Introduced & Translated by Eknath Eswaran, Nilgiri Press, พิมพ์ครั้งที่ 2, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา, พ.ศ.2550.
03. The Dhammapada: With Introductory Essays, Pali Text, English Translation, and Notes (Oxford India Paperbacks), ฉบับปรับปรุงโดย ส. ราธากฤษณัน, พ.ศ.2547.
04. พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะหรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา. อ้างอิงจาก: พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.2548.

 
info@huexonline.com