MENU
TH EN

สติปัฏฐานสี่

First revision: Jul.15, 2012
Last change: Jul.15, 2012
                                                  ขฺนติ ธีรสฺสลงฺกาโร
                               ความอดทน เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์


                                                 ...พุทธพจน์...
 
สติปัฏฐานปาฐะ
   
       มรรค (มีองค์แปดประการ) นี้มีอยู่ พระผู้มีพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงทราบด้วยพระองค์เอง และเห็นหรือประสบด้วยพระองค์จริง ๆ
       
       ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อระงับความโศกและความคร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายะ (คือ อริยมรรค) เพื่อเห็นแจ้งพระนิพพาน ทางเดียวนี้คือปัฏฐาน ๔
 
   
 สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง
         ๑.  ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้เป็นผู้มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เฝ้าตามดู(รูป)กายในกายอยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก (คือกาย) เสียได้
         ๒.  เป็นผู้มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
         ๓.  เป็นผู้มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เฝ้าตามดูจิตในจิตอยู่กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
         ๔.  เป็นผู้มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เฝ้าตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

        (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) และภิกษุเฝ้าตามดูกายในกายอยู่อย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ เฝ้าตามดูกายในกายอย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ เฝ้าตามดูกายในกายภายในอยู่บ้าง เฝ้าตามดูกายในกายภายนอกอยู่บ้าง เฝ้าตามดูกายในกายภายในหรือภายนอกอยู่บ้าง
   
        หรือเฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้น (ลมอัสสาสะและปัสสาสะ) ในกายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ดับไปในกายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปในกายอยู่บ้าง
 
        ก็หรือว่า ภิกษุนั้นเข้าไปตั้งสติไว้ว่ากายมีอยู่ ดังนี้ เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เฉพาะเท่านั้น เป็นผู้ไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่ด้วย ทั้งไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลก (คือกาย) ด้วย

        ภิกษุเฝ้าตามดูกายในกายอยู่ แม้ด้วยประการดังกล่าวนี้

        (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) และภิกษุเฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร

         ภิกษุในศาสนานี้ เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่บ้าง เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอกอยู่บ้าง เฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในหรือภายนอกอยู่บ้าง

         หรือเฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ดับไปในเวทนาทั้งหลายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปในเวทนาทั้งหลายอยู่บ้าง

         ก็หรือว่าภิกษุนั้นเข้าไปตั้งสติอยู่ว่า เวทนาทั้งหลายมีอยู่ดังนี้ เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เฉพาะเท่านั้น ไม่มีผู้มีสิ่งใดอาลัยอยู่ด้วย ทั้งไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย

         ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเฝ้าตามดูเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ด้วยประการดังกล่าวนี้แล

         (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) และภิกษุเฝ้าตามดูจิตในจิตอยู่อย่างไร

         ภิกษุในศาสนานี้ เฝ้าตามดูจิตในจิตภายในอยู่บ้าง เฝ้าตามดูจิตในจิตภายนอกอยู่บ้าง

         หรือเฝ้าตามดูในสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ดับไปในจิตอยู่บ้าง เฝ้าตามดูจิตในจิตภายใน หรือตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปในจิตอยู่บ้าง

         ก็หรือว่า ภิกษุนั้นเข้าไปตั้งสติอยู่ว่าจิตมีอยู่ ดังนี้ เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เฉพาะเท่านั้น ไม่เป็นผู้มีสิ่งใดอาศัยอยู่ด้วยทั้งไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย

         (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) ภิกษุเฝ้าตามดูจิตในจิตอยู่ ด้วยประการดังกล่าวนี้แล

         (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย) และภิกษุตามเฝ้าดูธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างไร

         ภิกษุในศาสนานี้เฝ้าตามดูธรรมทั้งหลายภายในอยู่บ้าง เฝ้าตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่บ้าง เฝ้าตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายภายในหรือภายนอกอยู่บ้าง

         หรือเฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมทั้งหลายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่ดับไปในธรรมทั้งหลายอยู่บ้าง เฝ้าตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปในธรรมทั้งหลายอยู่บ้าง

         ก็หรือว่า ภิกษุนั้นเข้าไปตั้งสติอยู่ว่าธรรมทั้งหลายมีอยู่ ดังนี้เพียงเพื่อรู้ไว้เท่านั้น เพียงเพื่อระลึกไว้เฉพาะเท่านั้น ไม่เป็นผู้มีสิ่งใดอาศัยอยู่ด้วย ทั้งไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย

         ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเฝ้าตามดูธรรมในธรรมทั้งหลายด้วยประการดังกล่าวนี้แล
    
         มรรค (มีองค์แปดประการ) นี้มีอยู่ พระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงทราบด้วยพระองค์เอง และเห็นหรือประสบด้วยพระองค์จริง ๆ

         ทางนี้เป็นทางเดียว พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายเพื่อระงับความโลภและความคร่ำครวญเพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุอริยมรรค เพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานทางเดียวนี้ คือสติปัฏฐาน ๔

          พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์ (ของสัตว์ทั้งหลาย) ทรงเห็นที่สุดความสิ้นไปของความเกิด ทรงทราบหนทางสายเดียว พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน ข้ามโอฆสงสารได้ก็เพราะทางสายนี้ (สติปัฏฐาน)
   


หมายเหตุ
๑.  นายสังวร พรหมเสน เปรียญ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปลจาก สวดมนต์ฉบับหลวง ที่สมเด็จพระสังฆราช ปุส. สเทว สา ทรงชำระ
ผู้ที่สนใจใคร่อ่านคำแปลมหาสติปัฏฐานสูตรโดยตลอด อาจหาดูได้จาก
       (๑) สวดมนต์แปล ของพระศาสนาโศภน (แจ่ม) มหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์
       (๒) พระบาลีมหาสติปัฏฐานสูตร พุทธทาสภิกขุแปล ธรรมทานมูลนิธิ จัดพิมพ์
       (๓) สติปัฏฐานสำหรับทุกคน ของนายธนิต อยู่โพธิ์ บุญนิธิพุทธจักร จัดพิมพ์

ที่มา. จาก ติช นัท ฮันห์ แปลโดย พระประชา ปสนฺนธมฺโม, (๒๕๔๙). ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (The Miracle of Being Awake), (หน้า ๑๓๕ - ๑๓๘). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง.


 
info@huexonline.com